วิเคราะห์ดนตรี NCT - Beautiful จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก | Sanook Music

วิเคราะห์ดนตรี NCT - Beautiful จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก

วิเคราะห์ดนตรี NCT - Beautiful จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ส่งท้ายปีกับการรวมตัวของศิลปินจักรวาล NCT ที่จะมาส่งผ่านความ positive ความรัก และความหวังอันแสนงดงามให้แก่ทุกคนผ่านบทเพลง "Beautiful" ที่เชื่อว่าใครหลายคนเมื่อได้ฟังแล้วก็ต้องยิ้มตาม หรือแม้กระทั่งน้ำตาซึมกับความไพเราะกินใจของเนื้อเพลง งานนี้ได้โปรดิวเซอร์ประจำค่ายอย่างคุณยูยองจินมารังสรรค์จนออกมาเป็นเพลงที่สมบูรณ์แบบตามสไตล์ SM Entertainment อีกด้วย

Album NCT 2021: Universe - The 3rd Album

Written by 유영진 (Yoo Young Jin), Johnny (NCT), Taeyong (NCT), Jeno (NCT), Mark (NCT) & Hendery (NCT)

Composed By 유영진 (Yoo Young Jin) & 유한진 (Yoo Han Jin)

Arranged by 유영진 (Yoo Young Jin) & 유한진 (Yoo Han Jin)

 

C♯ Major - 128 BPM

NCT 2021 엔시티 2021 'Beautiful' MV

 

โครงสร้างเพลงของ Beautiful

INTRO 0:00-0:15

VERSE 1 0:15-0:45

CHORUS 0:45-1:15

VERSE 2 1:15-1:45

CHORUS 1:45-2:15

BRIDGE 2:15-2:45

VERSE 3 2:45-3:15

INSTRU 3:15-3:29

CHORUS 3:29-4:32




INTRO (0:00-0:15)

เปิดเพลงมาด้วยเสียงเปียโนที่บรรเลงคอร์ดหลักของเพลง แม้ว่าแพทเทิร์นจะซ้ำเดิมไปมาแต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้มันไม่เนิบนาบน่าเบื่อคือสัมผัสที่แข็งแรง มีการกระแทกหัวเสียงชัดเจน รุนแรง หากใส่หูฟังก็จะได้ยินเสียงบีตคลอไปเบาๆ ที่จะว่าไปก็แอบคล้ายเสียงดีดกีตาร์ที่ถูกอุดสายอยู่ เมื่อเสียงพูดที่ทุ้มต่ำแทรกเข้ามามันช่างแสนจะอบอุ่นราวกับจะปลอบประโลมเราที่อยู่ท่ามกลางเสียงอันดุดันของเปียโน

unnamed

VERSE 1 (0:15-0:45)

เสียงเปียโนยังคงดำเนินต่อไปแต่ถูกปรับให้เบาลงเพื่อที่จะเปิดทางให้กับเสียง Synthesizer หรือเสียงสังเคราะห์ที่เล่นในจังหวะถี่ละเอียด ทำหน้าที่แทนบีตควบคุมจังหวะ มีเสียงของเครื่องสายสอดแทรกเข้ามาเป็นพักๆ และแนวทำนองที่เน้นร้องอยู่บนโน้ตหลักซึ่งก็คือตัว C♯

การดำเนินของคอร์ดที่ค่อนข้าง Simple จังหวะของเปียโนที่กดย้ำซ้ำๆ แนวทำนองเคลื่อนอยู่บนโน้ตหลักเป็นส่วนใหญ่ ทุกอย่างมันฟังดูสบายและสามารถย่อยได้ง่ายมาก ทำให้คนฟังสามารถโฟกัสไปที่เนื้อหาที่เพลงนี้ต้องการจะสื่อได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอะไรมาขัด

นาทีที่ 0:22 การร้องพร้อมกันสองเสียงด้วยโน้ตเดียวกันเป๊ะๆ ในมุมมองของผู้เขียนนั้นเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ มันคือการนำสีสองสีมาผสมกันให้กลมกลืนออกมาเป็นสีใหม่ ไม่ได้ต่างไปจากนักแต่งเพลงสมัยก่อนอย่างเบโธเฟน หรือ โมสาร์ท ที่ก็แต่งให้เครื่องดนตรีหลายเครื่องเล่นพร้อมกันจนถือกำเนิดเป็นเสียงของเครื่องดนตรีชิ้นใหม่ขึ้นมา และนี่ไม่ใช่สิ่งที่เราได้ยินบ่อยๆ ในเพลงของค่าย SM ซะด้วย

เข้าสู่ครึ่งหลังของ verse 1 มีเสียงเบสเพิ่มเข้ามา ตามมาด้วยเสียงกลอง ซึ่งทั้งสองเสียงนี้โผล่มาแค่เล็กน้อยจนแทบจะไม่ทันสังเกต มันค่อยๆ พาอารมณ์ของเราไต่ระดับขึ้นทีละนิดเท่านั้น

CHORUS (0:45-1:15)

ไอ้เราก็นึกว่าจบ Verse เมื่อกี้น่าจะต่อเข้า Pre-chorus เพื่อพาเราไปสู่จุดพีคตามสเต็ป แต่ไม่ค่ะ เพลงพาเราเข้าท่อนฮุคทันทีเล่นเอางง จะว่าไปเพลงสมัยก่อนยุค 2000 ต้นๆ ก็ไม่ได้มีรูปแบบที่ต้องมีท่อนพรีฮุคมากนัก

เป็นท่อนฮุคที่แนวร้องหนา ไลน์ประสานหลากหลาย ยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างเหมือนกับวงคอรัสในบทเพลง Ode to joy ของเบโธเฟนอย่างงั้นเลย ประกอบกับการเข้ามาของกลองชุด, เสียงเครื่องสายเข้ามาเติมเต็ม, แนวร้อง Background vocals เพิ่มสีสัน และเสียง Synthesizer ที่มีกลิ่นอายของความเก่า ทั้งหมดทั้งมวลนี้มันทำให้ท่อนฮุคเต็มไปด้วยพลัง พลัง Positive ที่มาจากคอร์ดในคีย์ Major แสนสดใส

ตัวอย่างเพลง L.v. Beethoven - Ode to Joy เสียงร้องประสานในนาทีที่ 6:49 แถมเพลงนี้ยังพูดถึงความรักที่มีต่อเพื่อนร่วมโลก ความสวยงาม เป็นเสมือนตัวแทนของชัยชนะแห่งมวลมนุษยชาติ

Beethoven - Symphony No.9 (10000 Japanese) - Freude schöner Götterfunken

 

พอพูดถึงเสียงร้องประสานหนาๆ กับดนตรี Upbeat ก็ยิ่งรู้สึกว่าเพลงนี้มีกลิ่นอายของเพลง K-POP จากค่าย SM Entertainment ในช่วงยุคปี 2000 มาก

ตัวอย่างเพลง TVXQ - Balloon นาทีที่ 0:16 เสียงร้องประสานค่อนข้างหนามากในท่อนฮุค

TVXQ! 동방신기 '풍선 (Balloons)' MV

การสลับเสียงร้องประสานหนาๆ กับการร้องแบบแนวเดียวมันช่วยให้ท่อนฮุคนี้ไม่เยอะอัดแน่นจนเกินไป ไม่ใช่ทุกอย่างถาโถมประดังประเดมาใส่หน้าหมด แต่มีการจัดบาลานซ์ให้คนฟังได้มีช่วงที่ผ่อนคลาย และนั่นทำให้พอเข้าสู่ครึ่งหลังของท่อนฮุคในนาทีที่ 1:00 เพลงสามารถพาเราโบยบินไปได้มากกว่าเดิมด้วยการดึงโน้ตประสานช่วงเสียงสูงให้โดดเด่นออกมา เหมือนกับเป็นโลกใหม่ ท้องฟ้าที่เคยสดใสอยู่แล้วกลับสว่างงดงามยิ่งกว่าเดิม และมาปิดท้ายฮุคด้วยความไพเราะเหมือนกับการนำน้ำมาชะโลมหัวใจที่เคยเหี่ยวแห้ง ฝนสาดเทตกลงมายังพื้นดินที่แห้งแล้งให้กลับชุ่มชื้น

ว่าแล้วก็นึกไปถึงเพลงของ SM ยุคเก่าเพลงอื่นอีก อย่างเพลง "Happiness" ของ Super Junior ที่ก็มีแนวร้องประสานหนาและมาปิดท้ายฮุคด้วยเสียงร้องแนวเดียว หรือ "Show Me Your Love" ที่ก็เป็นการสลับร้องพร้อมกันกับร้องเดี่ยวในท่อนฮุค ซึ่งไม่ค่อยเจอการจัดแนวร้องแบบนี้เท่าไหร่ในเพลงยุคใหม่ๆ ของค่าย

ตัวอย่างเพลง TVXQ & Super Junior - Show me your love นาทีที่ 1:33

TVXQ! & SUPER JUNIOR 동방신기 & 슈퍼주니어 'Show Me Your Love' MV



VERSE 2 (1:15-1:45)

ถึงแม้ว่าจะมีการเพิ่มบีตของ Snare drum เข้ามาแต่ด้วยแนวเบสที่ลงเสียงค่อนข้างห่างกันอาจทำให้คนฟังรู้สึกว่า เห้ย เพลงมันช้าลงเหรอ ซึ่งมันช่วยเบรคอารมณ์ของเราให้กลับเข้าสู่ความสงบที่ก็ยังมี่ความสนุกตื่นเต้นซุกซ่อนอยู่

โหหหห นาทีที่ 1:19 ทำนองเปลี่ยนจากที่ควรจะเป็นตัว F ไปเป็น E แค่โน้ตตัวเดียวที่ห่างกันครึ่งเสียง แต่พาเพลงจาก Major กลายเป็น Minor ทันที ไม่น่าเชื่อว่าแค่นี้จะสามารถเปลี่ยนบรรยากาศของเพลงไปได้ชั่วขณะ มันมืดหม่นลงอย่างชัดเจน ซึ่งก็ต้องยอมรับเลยว่านี่มันช่างเป็นลูกเล่นที่ยูยองจินชอบใช้และเจอได้มากในเพลง R&B สไตล์โปรดของผู้แต่ง และนั่นทำให้ทำนองต่อมาที่เริ่มจากโน้ตต่ำไล่ขึ้นสูงมันมีอิทธิพลต่อใจเราได้อย่างง่ายดาย เหมือนกับแสงที่กำลังค่อยๆ ส่องประกายหลังจากผ่านช่วงเวลาที่ลำบาก แต่ก็ยังไม่สว่างสุดนะ ดนตรีมันยังดำเนินต่อไปและมาสะดุดอีกครั้งในนาทีที่ 1:38 กับโน้ตตัวเดิมเพิ่มเติมคือการสไลด์เสียงเล็กน้อย เชื่อว่าหลายคนฟังก็รู้สึกได้ทันทีว่า นี่แหละ ยู ยอง จิน!

ตัวอย่างเพลง Yoo Young Jin & D.O. - What is love เต็มไปด้วยสารพัดเทคนิคที่ยูยองจินชอบใช้

[STATION] 유영진 X D.O. 'Tell Me (What Is Love)' Epilogue

 

ทั้ง Verse แรกและ Verse นี้จบลงด้วยการไล่โน้ตต่ำลงจนเราคาดหวังว่าจะมีการเพิ่ม Pre-Chorus ทุกครั้ง แต่ไม่เลย กระโดดเข้าท่อนฮุคให้แปลกใจเล่น ยังดีที่รอบนี้มีกลองชุดช่วยส่งเข้าที่ชัดเจนกว่ารอบแรก

CHORUS (1:45-2:15)

ดนตรีทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือเสียงร้องของเมมเบอร์ที่ก็สร้างความแตกต่างได้ไม่น้อยเลยนะ ไม่ได้ต่างไปจากการเปลี่ยนเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงทำนอง เนื้อเสียงของแต่ละคนมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจตามแบบฉบับของตัวเอง รวมไปถึงการตีความและนำเสนอประโยคใจความเดียวกันก็แตกต่างกันไปตามความเข้าใจและประสบการณ์ เป็นจุดนึงที่ทำให้วงซึ่งมีนักร้องหลายคนได้เปรียบ

จบท้ายท่อนพาเราไต่ระดับขึ้นโน้ตสูงเพื่อส่งไปต่อยังท่อน Bridge เอ้า let’s gooooo

unnamed(1)

BRIDGE (2:15-2:45)

ทำนองในท่อน Bridge เรียกได้ว่าสูงขึ้นมาอีกสเต็ปนึงเลยจากช่วงที่ผ่านมา อารมณ์ของผู้ฟังถูกปลุกเร้าให้พลุ่งพล่านจากดนตรีที่อัดแน่นมาตั้งแต่ต่อเนื่องฮุคยาวนานอย่างไม่มีช่วงให้หยุดพัก 

2:31 เสียง Synthesizer มีความ 8bit เหมือนกับเกมมากๆ ฟังไปก็ทำให้นึกถึงสมัยเด็กๆ ความทรงจำเก่าๆ ในช่วงวัยที่ไร้ซึ่งความกังวล

โน้ตสุดท้ายที่มาจบลากค้างยาวที่ตัว G♯ ถึง 2 ห้องเพลงเป็นจุดที่หัวใจของคนฟังกำลังบีบรัดจนถึงขีดสุด โหยหาการลงคอร์ด C♯ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ที่คุ้มค่ากับการรอคอย

VERSE 3 (2:45-3:15)

เข้าสู่ Verse ที่ถูกเพิ่มขึ้นมาหรือในอีกมุมจะมองว่ามันคือ Bridge ที่ยังคงยืดต่อออกไปก็ได้ แต่ที่ผู้เขียนเรียกมันว่า Verse เนื่องจากดนตรีกลับมาบรรเลงในลักษณะเดียวกันกับช่วงต้นเพลง แนวแร็ปในช่วงเสียงต่ำเองก็ไปคล้ายคลึงกับ Intro ของเพลง

เสียงกีตาร์ในนาทีที่ 2:53 เข้ามาเสริมให้เกิดสีสันที่แปลกใหม่ แนวแร็ปเริ่มถี่ละเอียดมากขึ้น มีการเพิ่มเสียงตะโกนประสานเข้ามาด้วย เอาล่ะ มาแล้ว มาเตรียมบิ๊วกันอีกรอบนึง

ครึ่งหลังของ Verse นาทีที่ 3:00 เสียง Synthesizer เล่นคอร์ดโดดเด่นออกมาเป็นครั้งแรกของเพลงนี้ เหมือนกับการเปลี่ยนมุมมองความคิดและเริ่มต้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ งั้นเลย คอร์ดเดิมแต่ซาวด์ใหม่เสมือนตัวฉันคนเดิมบนเส้นทางที่แตกต่าง เสียงตะโกนที่สลับเข้ามามันยิ่งเป็นการช่วยยืนยันความคิด ให้กำลังใจและปลุกพลังในตัวให้ร้อนระอุขึ้นมา

เสียงร้องแอดลิบตะโกนกู่ก้องอย่างมั่นใจคลอไปกับแนวร้องที่กลับลงมายังเสียงต่ำอย่างมั่นคง และยิ่งไต่ระดับต่ำลงไป คล้ายกับจะต้องการส่งผ่านข้อความนี้ลงไปให้ลึกที่สุดถึงก้นบึ้งของหัวใจผู้ฟัง

unnamed(2)

INSTRU (3:15-3:29)

โอ้โหหหหหห!!!!! บ้าที่สุด!!!!! เพราะมาก!!!!! มู้ดเพลงเปลี่ยนแบบกะทันหันกลายเป็นท่อนที่แสนจะสงบ ราวกับหลุดออกจากความวุ่นวายมาอยู่ท่ามกลางหุบเขาแห่งธรรมชาติ บีตต่างๆ หายไปเกลี้ยงไม่เหลืออะไรเลย เรากำลังล่องลอยอยู่ในสวรรค์หรือเนี่ย เสียงขลุ่ยคล้ายกับเสียงผิวปากเบาๆ เหมือนกับกำลังส่งสัญญาณเรียกหากันจากคนละทิศละทางโดยมีคอร์ดที่กระเพื่อมไปมารองรับเบาๆ โดยที่ตลอดท่อนนี้ทุกอย่างแทบจะไม่ยึดกับจังหวะแล้ว ไร้ซึ่งขอบเขต ไร้กฎเกณฑ์ขีดจำกัด นี่มันคือความอิสระอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

นาทีที่ 3:13 และ 3:26 จะได้ยินเสียงหวี่ๆ ที่ผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่าคนแต่งต้องการจะเลียนแบบเสียงของลมพัด เสียงเครื่องขลุ่ยแบบเบาๆ หรือเสียงคล้ายชนเผ่าร้องรำจากที่ไหนสักแห่งไกลๆ

อันที่จริง ผู้เขียนก็แอบรู้สึกว่ามันมีความโฮลี่ ความศักดิ์สิทธิ์ และสงบ ทั้งคอร์ดลากเหมือนกับเสียงร้องประสานบทเพลงสรรเสริญพระเจ้า และเสียงสะท้อนก้องตามลักษณะอะคูสติกของโบสถ์เลย หรือท่อนนี้จะเป็นการเทิดทูนบูชาอะไรอยู่มั้ยนะ?

ตัวอย่าง เสียงขลุ่ยในท่อนนี้คล้ายกับการเอาคันชักของเครื่องสาย (เชลโลหรือดับเบิลเบส) มารูดบนเครื่องดนตรี Vibraphone จนเกิดเป็นเสียงคล้ายเครื่องเป่า

Square Peg Round Hole - No. 8 from "Postludes For Bowed Vibraphone" by Elliot Cole

 

หลังจากที่เราหลงอยู่ในวังวนอันราวกับความฝันนี้กันได้สักพัก อยู่ดีๆ จังหวะจากกลองชุดก็กลับมาแบบไม่ให้ทันตั้งตัว โดยมี Snare drum กระแทกพาเรากลับเข้าสู่ความเป็นจริงในท่อนฮุคอีกครั้ง.. ถ้าหากลองนับจังหวะตลอดช่องท่อน Instru แล้วจะรู้เลยว่ากลองชุดมาก่อนจังหวะตามที่ควรจะเป็น แต่นั่นก็ทำให้มันสร้างความน่าตื่นเต้นให้กับคนฟังได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

เราเดินทางกันมาถึงท่อนฮุคสุดท้ายที่พร้อมจะระเบิดเอาทุกสิ่งที่อัดอั้นอยู่ข้างในออกมาให้หมด

CHORUS (3:29-4:32)

จับใจมากๆ ใครจะไปคิดล่ะว่าเพลงจะย้ำท่อนฮุคที่ปกติก็ซ้ำอยู่แล้วเพิ่มต่อไปอีกสองรอบ โดยที่แทบไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย ไม่มีแม้แต่แอดลิบด้วยซ้ำ มีแค่โน้ตทำนองร้องเล็กน้อยที่อาจจะแตกต่างออกไป เปลี่ยนนักร้อง แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือเนื้อเพลงที่สื่อสารออกมา การที่ดนตรีคงเดิมแบบนี้มันเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนและมั่นคงมากๆ ตอกย้ำความมั่นใจ หนักแน่น พลัง Positive ในท่อนนี้มันมากมายจนเอ่อล้นจริงๆ นะ

จนกระทั่งมาถึงรอบสุดท้ายของคอรัสในนาทีที่ 3:59 ก็คือจัดแน่น จัดเต็ม เสียงทำนองหลักเคลื่อนที่มาสูงขึ้น ไลน์ประสานแข่งกันดังออกมามากกว่าตลอดทั้งเพลงแบบที่เราแทบไม่รู้ตัวเลยว่าดนตรีกำลังพาเราไปสู่จุดไคลแมกซ์ที่สุดแล้ว

นาทีที่ 4:21 ในที่สุดทำนองก็แตกต่างจากทุกรอบแบบอย่างชัดเจนที่สุดด้วยการเปลี่ยนไปเป็นโน้ตสูงแทนอย่างชัดเจน เป็นสัญญาณบอกให้ทุกคนรู้ว่านี่แหละ สุดท้ายจริงๆ ไม่หลอกไม่ไปต่อแล้วนะ โน้ตค่อยๆ ไล่กลับลงไปหาเสียงต่ำก่อนที่จะจบลงโดยที่ดนตรีหายไปหมดเหลือเพียงเสียงร้องที่ร้องออกมาสบายๆ ไม่ได้ยึดอยู่ในจังหวะเดิม เป็นการลงจบที่สวยงามและเชื่อว่าจะฝังอยู่ในหัวใจของคนฟังไปอีกนาน…

unnamed(3)

นอกจากเพลง "Beautiful" จะให้ความรู้สึกเหมือนเพลงยุคเก่าของค่าย SM Entertainment แล้ว เพลงนี้ก็ยังให้ความรู้สึกที่คล้ายกับเพลงประกอบอนิเมะอีกด้วย เนื่องจากช่วงเริ่มต้นของ K-POP หลังจากผ่านสงครามก็ได้รับอิทธิพลทางด้านดนตรีมาจากญี่ปุ่นค่อนข้างมาก การตีตลาดในช่วงแรกก็เน้นไปที่ฝั่งญี่ปุ่นเป็นหลัก แถมเพลงนี้ยังเต็มไปด้วยพลังงานบวก สดใส สนุกสนาน สไตล์เครื่องดนตรีที่ใช้กีตาร์ เบส กลอง เปียโน และเสียง Synthesizer ที่มีทั้งความเก่าแถมบางช่วงยังออกเป็น 8bit อีกด้วย

ตัวอย่างเพลง Digimon - Brave heart เพลงประกอบอนิเมะ

Digimon Song Brave Heart

ถึงแม้ว่าเพลงนี้จะไม่ได้มีองค์ประกอบทางดนตรีหรือการใช้คอร์ดและเสียงประสานที่หวือหวา อลังการ หรือแปลกใหม่ตามสไตล์ Neo Culture Technology แต่ความ Simple ของมันกลับทำให้ผู้ฟังรู้สึกได้ถึงการสื่อสารที่เต็มไปด้วยความจริงใจ เป็นของขวัญส่งท้ายปี 2021 ที่สวยงามและเต็มไปด้วยคุณค่าอย่างแท้จริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook