เรื่องเล่า 21 ปี ในชุมชนคนดนตรีของ “SCRUBB” | Sanook Music

เรื่องเล่า 21 ปี ในชุมชนคนดนตรีของ “SCRUBB”

เรื่องเล่า 21 ปี ในชุมชนคนดนตรีของ “SCRUBB”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • SCRUBB วงดนตรีป็อปชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงฮิต อย่าง “ใกล้” “คู่กัน” และ “เข้ากันดี” ก่อตั้งโดย บอล - ต่อพงศ์ จันทบุบผา และ เมื่อย - ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ เมื่อปี 2543
  • ชื่อเสียงของ SCRUBB กลับมาโด่งดังในหมู่นักฟังเพลงรุ่นใหม่อีกครั้ง จากซีรีส์วาย "2gether เพราะเราคู่กัน" ที่แต่งขึ้นจากเพลงของ SCRUBB
  • "Surfing" เพลงภาษาอังกฤษเพลงแรกของ SCRUBB แต่งขึ้นเพื่อขอบคุณแฟนเพลงชาวต่างชาติ ที่รู้จักวงนี้จากซีรีส์ "2gether เพราะเราคู่กัน"
  • "พรุ่งนี้" ซิงเกิลใหม่ล่าสุดของ SCRUBB แต่งขึ้นเพื่อเยียวยาจิตใจของศิลปินและเป็นกำลังใจให้แฟนเพลง
  • สำหรับอนาคตของวงการเพลงไทย บอลและเมื่อยมองว่า ทุกวันนี้ศิลปินยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ ทว่ายังขาดการสนับสนุนจากรัฐในแง่พื้นที่การแสดงออกและเงินทุนในการสร้างสรรค์และส่งออกผลงาน

(ซ้าย) เมื่อย - ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ (ขวา) บอล - ต่อพงศ์ จันทบุบผา(ซ้าย) เมื่อย - ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ (ขวา) บอล - ต่อพงศ์ จันทบุบผา

สำหรับวัยรุ่นยุค 2000 คงไม่มีใครไม่รู้จัก SCRUBB วงดนตรีไอคอนแห่งยุคอินดี้ ด้วยเพลงป็อปฟังสบายอย่าง “ใกล้” “คู่กัน” และ “เข้ากันดี” รวมไปถึงเพลงรักหลายๆ เพลง ที่กลายเป็นเพลงคลาสสิกประจำเพลย์ลิสต์งานแต่งงาน เรียกได้ว่า SCRUBB เป็นวงดนตรีอีกวงหนึ่งที่เติบโตอยู่คู่กับคนฟังเพลงไทยมานาน แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานถึง 21 ปีแล้ว เพลงของ SCRUBB ก็ยังคงถูกเล่นอยู่ในโอกาสต่างๆ และชื่อของวงดนตรีอินดี้นี้ก็ยังเป็นที่รู้จักและจดจำในหมู่นักฟังเพลงอยู่เสมอ

SCRUBB เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของ 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยอย่าง บอล - ต่อพงศ์ จันทบุบผา และ เมื่อย - ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ เมื่อปี 2543 โดยเริ่มจากการทำเพลงใต้ดินและเผยแพร่ในเว็บไซต์ฟังเพลงต่างๆ ก่อนที่จะเปิดตัวผลงานเพลง “ชูบีดูบีดั้บ” ทางคลื่นวิทยุ และเติบโตอย่างสวยงามในยุคอินดี้ ซึ่งเมื่อยเปิดเผยว่า ช่วงเวลาที่เขาประทับใจที่สุดในการทำงานเพลง คือวันที่เพลงของเขาได้เปิดในวิทยุครั้งแรก เมื่อ 21 ปีก่อนนั่นเอง

ขณะที่บอลเล่าว่า ช่วงเวลาที่พิเศษที่สุดของเขา คือการที่แฟนเพลงของ SCRUBB มารวมตัวกันในคอนเสิร์ต ทั้งคอนเสิร์ตของวง 3 ครั้ง และงานอื่นๆ ที่ถึงแม้จะเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและกังวล แต่เมื่องานจบ พวกเขารู้สึกโชคดีที่มีแฟนเพลงเหล่านี้ เพราะนั่นหมายความว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องพยายามเป็นใครเลย นอกจากเป็นตัวเอง

“ถ้าจำไม่ผิดมันเป็นคอนเสิร์ตที่เป็นครั้งที่ห้าวมาก เสี่ยงที่จะไม่มีแขกรับเชิญมาในโชว์ คือ 3 ชั่วโมงกว่าๆ ต้องรันกันเอง แล้วไอ้สองคนที่พูดไม่เก่ง ผมก็บอกว่า พี่ (Show Director) จะเอาจริงๆ เหรอ เขาก็บอกว่าเชื่อสิว่ามันไปได้ เพราะว่าคนที่เข้ามาเขาต้องการจะมาดูในสิ่งที่เป็นเราอยู่แล้ว และเขาก็เป็นคนแบบที่คุณเป็นนั่นแหละ น้องข้างนอกก็บอกว่าบรรยากาศก่อนเข้าคอนเสิร์ตมันเหมือนเจอเพื่อนน่ะ คนแต่งตัวประมาณนี้ พูดจาประมาณนี้ ถือกระเป๋า มีไลฟ์สไตล์ มันเหมือนเป็นที่ที่รวมคนที่โตมาด้วยกันกับเพลงของเรา ก็เลยรู้สึกว่ามันได้พลังงานที่เป็นมวลที่ใหญ่ แล้วก็เป็นกำลังใจที่ดี” บอลเล่า

เพลงที่เติบโตไปพร้อมกับคนฟัง

“เพลงมันเป็นเรื่องของเราอยู่แล้วน่ะ เป็นเรื่องที่เราคิดอยู่ในเวลานั้น ถ้าไล่ฟังก็จะเห็นเลยว่าช่วงไหนเราเป็นอย่างไร ช่วงแรกๆ ที่เราอาจจะไม่ได้มีความสะดวกสบายมากนัก เพลงก็จะเป็นเรื่องความฝันซะเยอะ ช่วง 10 ปีให้หลังอาจจะเริ่มจริงจังมากขึ้น เรื่องที่มันเพ้อฝันลอยๆ ปาร์ตี้ขี้เมา อาจจะไม่ค่อยมีแล้ว เป็นเรื่องชีวิตใกล้ๆ ตัวมากขึ้น จนเลยเถิด จนไม่มีเรื่อง ก็เราจะเล่าเรื่องใครดีวะ ก็ชวนน้องๆ มาเล่าเรื่องกัน” เมื่อยเล่าถึงสไตล์เพลงของ SCRUBB ซึ่งสำหรับเขา เพลงเป็นเหมือนไดอารีที่รวบรวมเรื่องราวในชีวิตของเขาและคนรอบข้างเอาไว้ด้วยกัน นั่นจึงทำให้แฟนเพลงหลายคนรู้สึกว่าเพลงของ SCRUBB เติบโตตามวัยของพวกเขาไปด้วย

“ผมคิดว่ามันแค่มีคุณสมบัติที่มันมาจากการบันทึกเรื่องราวของเราในช่วงเวลานั้น แล้วมันอาจจะมีใครบางคนโตตามขึ้นมา แล้วก็ไปผ่านช่วงเวลาแบบนั้น หรือไปผ่านเหตุการณ์แบบนั้น เพลงของเรามันก็เลยไม่ใช่การสร้างเรื่องขึ้นมาแล้วเราเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้จากจินตนาการ คือจินตนาการแหละ แต่มันมาจากสิ่งที่เป็นความรู้สึกนึกคิดของเราในวันนั้นๆ จริงๆ เสน่ห์มันอยู่ตรงนี้” บอลอธิบาย

หลังจากที่เข้าวงการเพลงมาแบบ “มวยวัด” เด็กมหาวิทยาลัยทั้งสองในวันนั้นได้เรียนรู้ว่า คนที่จะอยู่รอดในวงการดนตรีได้นั้น นอกจากความสามารถแล้ว ยังจำเป็นต้องมี “โอกาส” ในการเติบโตในฐานะศิลปินด้วย ซึ่งทำให้ทั้งบอลและเมื่อยต้องเคี่ยวกรำตัวเองอย่างหนัก ทดลองแนวทางต่างๆ และปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามสถานการณ์ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป จากที่ไม่ได้คาดหวังจะเป็นนักดนตรีอาชีพ ทุกวันนี้พวกเขากลับยังคงเดินอยู่ในเส้นทางนี้ ทั้งในบทบาทนักดนตรีและฟันเฟืองหนึ่งของอุตสาหกรรมดนตรี ที่มีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม บอลเผยว่า ไม่น่าเชื่อว่า SCRUBB จะมีที่ยืนอยู่ในวงการเพลงได้นานขนาดนี้

“ก็ต้องขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ช่วยกันฟัง ช่วยกันส่งต่อ เพราะว่าโดยหน้าที่เรา เราทำได้แค่ผลงาน แต่มันจะไปได้ไกลแค่ไหนก็ต้องได้ทุกคนช่วยสนับสนุนด้วย ก็ถือว่าเกินจากที่ทำไปเยอะมาก จนทุกวันนี้เราทั้งสองคนก็สามารถต่อยอดไปทำอะไรอย่างอื่นได้ ผมก็ยังทำงานเบื้องหลังด้วย เมื่อยก็ยังมีกิจกรรมที่ทำเพื่อสนับสนุนคนที่เล่นดนตรี คนที่อยากทำเพลงกันเอง ก็เป็น 20 ปี ที่ยังได้เล่นดนตรีของตัวเองอยู่ แล้วก็ยังได้สนุกอยู่ในชุมชน สังคมของคนที่ทำเพลงกันเอง มีความฝันที่อยากมีผลงานของตัวเอง” บอลกล่าว

เพราะเรา “คู่กัน”

แม้ว่าในยุคหนึ่ง SCRUBB จะถือเป็นวงดนตรียอดฮิต แต่ก็เช่นเดียวกับวงดนตรีอื่นๆ ที่มีทั้งช่วงที่กราฟความนิยมพุ่งสูงขึ้นและลดลง ทว่าขณะที่พวกเขายังคงทำงานเพลงที่ตัวเองรักอยู่นั้น กราฟความนิยมของพวกเขาก็สูงขึ้นอีกครั้ง จากกระแสฟิคชั่นและซีรีส์วายชื่อดังอย่าง “2gether เพราะเราคู่กัน” ซึ่งสำหรับคนวัยผู้ใหญ่อย่างบอลและเมื่อยนั้น วัฒนธรรมวายน่าจะอยู่ห่างไกลจากความสนใจของพวกเขามากทีเดียว

“เราได้เห็นคอมเมนต์ใน YouTube บ้าง เช่นบอกว่า ตามมาจากคั่นกู ตามมาจากสารวัตรไทน์ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่วันที่เราไปสัมภาษณ์ที่ JOOX ตอนที่เสร็จแล้ว กำลังจะกลับ มีน้องคนหนึ่งมาขอถ่ายวิดีโอ บอกว่าอยากถ่ายวิดีโอให้กำลังใจคุณ JittiRain ที่เป็นคนเขียนฟิคชั่น เขาบอกว่ามีน้องคนหนึ่งชอบเพลงของ SCRUBB มาก แล้วเอาเพลงของ SCRUBB ไปเขียนเป็นฟิคชั่นในอินเตอร์เน็ต” บอลเริ่มเล่า

scrubb

แต่แล้วเส้นทางของฟิคชั่นเรื่องนี้ก็มาบรรจบกับ SCRUBB จริงๆ จนได้ เมื่อค่าย GMM ได้ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์เพลงของ SCRUBB ถึง 18 เพลง เพื่อนำไปประกอบในซีรีส์ที่ดัดแปลงจากฟิคชั่นดังกล่าว

“สุดท้ายเราเลยรู้ว่า เขาไม่ได้เขียนนิยายแล้วเอาเพลงเราไปวาง เขาเอาเพลงเรามาตั้งเป็นโครงทั้งหมดก่อน แล้วก็ค่อยๆ ปั้นเรื่องขึ้นมาตามเพลงต่างๆ ซึ่งตอนมีโอกาสได้คุยกัน เขาก็บอกว่าชอบเพลง แล้วเขารู้สึกว่าอยากเล่าเรื่องอะไรสักอย่างที่อยากให้คนมาฟังเพลงของ SCRUBB มากขึ้น เพราะเขาเป็นแฟนเพลง ก็เลยเขียนเรื่องขึ้นมา โดยมีเพลงของ SCRUBB เป็นแรงบันดาลใจ แล้วก็เป็นแก่นในการดำเนินเรื่อง แล้วเขาก็ค่อยๆ เขียนเรื่องประกอบเข้าไป เราก็ โห... ใส่ใจเพลงเรามากกว่าเราอีก” บอลเล่า

บอลเล่าว่า ขณะนั้นเขาและเมื่อยรู้สึกขอบคุณผู้เขียนฟิคชั่นที่นำแรงบันดาลใจจากเพลงของพวกเขาไปต่อยอดให้เกิดผลงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ ทว่าสิ่งที่เกินความคาดหมายยิ่งกว่านั้น คือเสียงตอบรับจากแฟนเพลงกลุ่มใหม่ ซึ่งเป็นวัยที่บอลเองคิดว่าไม่น่าจะชอบฟังเพลงของ SCRUBB แล้ว

ตอนนี้กลายเป็นว่าเหมือนได้แฟนอีกรุ่นหนึ่งที่เพิ่งมาเริ่มฟังเพลงใหม่ หลายๆ ครั้งก็ไปเล่นงานเหมือนต้องไปเล่นให้น้องๆ ดู โดยที่ตัวเองต้องเริ่มเล่นดนตรีใหม่อีกที มันก็เป็นโมเมนต์ที่ก็ขำดี แล้วก็รู้สึกดีด้วยว่าเรายังได้เล่นดนตรีอยู่ แล้วก็ยังมีแฟนเพลงรุ่นใหม่ๆ มารู้จัก”

“Surfing” เพลงสากลเพลงแรกของ SCRUBB

นอกจากแฟนเพลงที่เป็นคนรุ่นใหม่แล้ว แฟนอีกกลุ่มที่หันมาติดตามผลงานเพลงของ SCRUBB คือแฟนซีรีส์ชาวต่างชาติ ทั้งจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเม็กซิโก เสียงชื่นชมจากแฟนเพลงกลุ่มใหม่นี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้บอลและเมื่อยสร้างผลงานชิ้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งบอลเล่าว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ที่พวกเขายังไม่ได้ออกเล่นคอนเสิร์ต กิจกรรมที่ทำร่วมกันคือการออกกำลังกายและเล่นเซิร์ฟสเก็ต ขณะเดียวกันก็พยายามมองหาความท้าทายใหม่ๆ ในการทำงาน และนั่นก็เป็นที่มาของเพลง “Surfing” เพลงภาษาอังกฤษเพลงแรกของ SCRUBB

“Surfing” เป็นเพลงป็อปเนื้อหาสดใส เย็นใจ ที่ทำขึ้นเพื่อเป็นการขอบคุณแฟนเพลงชาวต่างประเทศ ซึ่งแม้จะมีทีมงานคอยช่วยเหลือเรื่องภาษา แต่บอลก็ยอมรับว่าการแต่งเพลงภาษาอังกฤษนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งการพยายามทำความเข้าใจเพื่อให้อินกับเนื้อเพลง และการออกเสียงให้ถูกต้องขณะร้องเพลง

“ผมก็ไม่อยากเอาภาระไปกดดันเมื่อยมากเกินไป อยากให้เขารู้สึกสบายที่สุด คือทำเมโลดีให้ร้องได้เรียบง่ายที่สุด ร้องให้มันดู sing along ร้องด้วยกันสองสามคน แล้วก็เนื้อเพลงเป็นคำที่สะกดไม่ยาก แล้วก็คำที่ดูเป็นกลางๆ คือดูแล้วมันไม่ใช่เพลงสากลของคนอเมริกัน คนยุโรปหรอก มันอยู่แถวๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่แหละ แต่ว่าความถูกต้องที่ควรจะมีมันก็ควรต้องมี ก็ใช้พลังเยอะในการร้องพอสมควร” บอลกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้เพลง “Surfing” นี้จะไม่ถึงกับฮอตฮิตมากในหมู่คนไทย แต่เมื่อพิจารณาจากยอดคนฟังและยอดสตรีมมิง ก็พบว่าได้รับความนิยมในระดับสูงในต่างประเทศ ซึ่งบอลถือว่าบรรลุจุดประสงค์แล้ว

ส่งต่อความหวังผ่านเพลง “พรุ่งนี้”

หลังจากที่ปล่อยเพลง Surfing ทั้งบอลและเมื่อยยังคงทำงานกันอย่างต่อเนื่องในฐานะศิลปินอิสระ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันตัวเองให้แอคทีฟอยู่เสมอ ซึ่งผลงานล่าสุดของพวกเขาก็คือเพลง “พรุ่งนี้” ที่ได้พี่น้องในวงการเพลงมาช่วยกันปั้น ทั้งฟั่น - โกมล บุญเพียรผล โปรดิวเซอร์คู่บุญของ SCRUBB, โต - เลอทัศน์ เกตุสุข จากวง Mirrr และปู๋ - ปิยวัฒน์ มีเครือ จากวง HENS

“จริงๆ แล้วตั้งเพลงขึ้นมาจากทำนองก่อน แล้วก็เจอจังหวะที่มันสนุก จังหวะที่ถ้ามันไปอยู่ในคอนเสิร์ตก็จะกระโดดกันได้ ผมก็เลยขึ้นกลอง ขึ้นดนตรีไปให้เมื่อย แล้วเขาก็ฮัมมา ก็ได้เพลงที่ค่อนข้างสดแล้วก็เร็วมากในการขึ้นโครง แต่เนื้อเพลงไฟท์กันนานมากว่ามันจะเป็นเรื่องแบบไหน”

มันเป็นเพลงที่รู้สึกว่าถ้ามันมีโอกาสได้กลับไปเล่นดนตรีอีก ก็เป็นเพลงที่เราเอาไว้เยียวยาตัวเอง ให้กำลังใจตัวเราในวันที่มันยากๆ เราก็ไม่รู้หรอกว่าพรุ่งนี้มันจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าให้กำลังใจตัวเองได้ มันก็มีวันพรุ่งนี้ให้เราค้นหา ให้เราเดินทางต่อไปแหละ สักวันมันก็คงจะเจออะไรที่ดีขึ้นได้ แล้วก็เผื่อว่ามันจะให้กำลังใจใครที่กำลังเจอช่วงเวลาที่ยากๆ อยู่” บอลกล่าว

เพราะมีเรื่องเล่า จึงมี SCRUBB

แม้ว่าบอลและเมื่อยจะสนุกกับการทำเพลงและเล่นคอนเสิร์ต แต่ทั้งคู่ก็ยอมรับว่ามีบางช่วงที่รู้สึกเบื่อ ซึ่งเป็นปกติของการทำงาน ทว่าเมื่อมองย้อนกลับไป ก็พบว่าการแต่งเพลงและเล่นดนตรีเป็นสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีที่สุด

“พอสุดท้ายแล้ว ผมก็ต้องย้อนกลับไปที่ผมทำอะไรได้ดีที่สุด ผมก็เป็นคนที่ชอบแต่งเพลง แล้วก็มีเพื่อนทำด้วย อย่างอื่นก็วางไว้ก่อน แล้วพอมันตั้งสมาธิว่าเราจะทำแบบนี้แล้ว มันก็กลายเป็นเรื่องที่ว่าทำอย่างไรให้เราอารมณ์เบิกบาน พร้อมที่จะมีแรงบันดาลใจ ทำอย่างไรก็ได้ให้คู่หูเราไม่เดือดร้อนน่ะ เขาต้องการงาน เราก็ต้องทำตัวให้พร้อม เพื่อให้วงได้เดินหน้าต่อไป” เมื่อยกล่าว

สำหรับบอล เขามองว่าการทำเพลงเป็นความท้าทายตัวเองและการฝึกสมอง

“ผมรู้สึกว่าการทำเพลงทำให้ผมสามารถตอบได้ว่าผมสามารถทำสิ่งนี้คนเดียวได้เสร็จ ทำบริษัท ทำธุรกิจอาจจะต้องมีเพื่อน มีหุ้นส่วน ผมไม่ได้เป็นคนเก่งขนาดนั้น ถ้าบอกให้ผมทำเพลง 1 เพลง ด้วยตัวคนเดียว ผมรู้ว่าผมจะต้องเริ่มต้นอย่างไร และเสร็จเมื่อไร ด้วยบุคลากรแบบไหน ในระยะเวลาเท่าไร งบประมาณอย่างไหน เออ ผมทำสิ่งนี้ได้นี่หว่า ผมเลยมักจะเอาสิ่งนี้ไว้ขับเคลื่อนตัวเอง แล้วก็โชคดีที่มีคู่หูที่ผมไม่ต้องไปยุ่งเรื่องความคิดสร้างสรรค์น่ะ ผมว่าผมเป็นนักจัดการที่สามารถจัดการอะไรพวกนี้ได้”

นอกจากนี้ บอลยังมองว่า ในการทำงานของ SCRUBB ยังมีความสนุกที่ได้คอยดูว่าพวกเขาจะเดินทางต่อไปได้ไกลแค่ไหน และจะมีอะไรใหม่ๆ ออกมาอีกบ้าง

“เราไม่ใช่คนอายุน้อยๆ แล้ว แต่ยังเล่นดนตรีอยู่เลย ยังมีคนฟังเพลงอยู่เลย กลายเป็นความท้าทายที่ผมรู้สึกว่า เฮ้ย... อยากรู้ว่ามันจะเล่นได้ถึงเมื่อไรวะ จนป่านนี้แล้วยังเล่นดนตรีกันอยู่เลย ลองดูสิว่าไปได้ถึงแค่ไหน สมมติว่า 50 กว่ายังเล่นอยู่ ปล่อยเพลงอยู่ แล้วมันยังพอมีคนมาฟังได้ ตลกมากเลยนะ” บอลกล่าว

“แต่ก็ไม่ได้ตั้งไว้ว่าจะทำถึงเมื่อไร อาจจะสุดแค่ว่าวันหนึ่ง ถ้ามันไม่มีเรื่องเล่าแล้ว หรือว่าไม่มีเรื่องเล่า รวมกับคนไม่อยากจะช่วยงานเราแล้ว วันนั้นอาจจะเป็นวันสิ้นสุด ก็คงทำไปเรื่อยๆ ตราบใดที่มันยังมีเรื่องเล่าอยู่ และเรายังออกไปใช้ชีวิตข้างนอกอยู่ ยังมีเรื่องที่อยากจะพูดอยากจะคุย แล้วก็ซ้อมดนตรี เพื่อคนจะได้จ้างเราเสมอๆ” เมื่อยเสริม

scrubb

วงการเพลงไทยในสายตาของ SCRUBB

ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้ วงการเพลงไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตจากโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับวงการอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนทำงานในอุตสาหกรรมดนตรีอย่างรุนแรง ซึ่งบอลมองว่า สถานการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียนว่า อาชีพนักดนตรีในประเทศไทยยังไม่มั่นคงมากพอ และคนในวงการต้องเรียนรู้และช่วยเหลือกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของบอล บุคลากรในสายดนตรีนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และยังคงสร้างสรรค์ผลงานกันอย่างต่อเนื่อง และเขาเชื่อว่า คนกลุ่มนี้จะสามารถเติบโตและอยู่รอดได้ในอนาคตอย่างแน่นอน

ผมว่าเขาจะมีภูมิที่ดี เพราะเขาเติบโตขึ้นมาเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ในช่วงเวลาที่มันวิกฤตมากๆ ศิลปินที่ปล่อยเพลงในช่วงนี้ เขาปล่อยเพลงในช่วงเวลาที่แย่ที่สุด คือเขาปล่อยเพลงได้อย่างเดียว ไปเล่นคอนเสิร์ตไม่ได้ ไม่มีรายได้ ทุกอย่างเป็นศูนย์เลย และเราหวังว่านี่น่าจะเป็นกรณีที่มันดำดิ่ง ที่แย่ที่สุด ในสถานการณ์ที่เราเคยเจอมาในชีวิต อย่างน้อยก็พวกผม ก็เลยคิดว่าถ้าเขายังรอดชีวิตจากสถานการณ์นี้ได้ อะไรที่มันบวกขึ้นมานิดหนึ่ง ผมว่าเขาอยู่ได้หมดแหละ” บอลกล่าว

เช่นเดียวกับเมื่อย ที่เห็นว่าทุกวันนี้ศิลปินไทยยังคงสร้างสรรค์ผลงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะศิลปินรุ่นใหม่ ที่เริ่มแต่งเพลงสากล และพร้อมที่จะเดินทางไปสู่เวทีในต่างประเทศได้ ขอเพียงมีพื้นที่ให้ศิลปินกลุ่มนี้ได้แสดงออก เพื่อสั่งสมทักษะและประสบการณ์ รวมทั้งการสนับสนุนด้านอื่นๆ จากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบด้านนี้

“ในแง่ธุรกิจผมมองว่า ใน 3 – 5 ปีต่อจากนี้ เราอาจจะมีศิลปินไทยที่ทำเพลงสากลที่อาจจะเชื่อมโยง ยังไม่ต้องไประดับโลกหรอกครับ แต่ว่าในแค่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณอาจจะไปไต้หวัน ไปฟิลิปปินส์ ไปเกาหลี สิงคโปร์ ดีหน่อยไปญี่ปุ่น ไปเทศกาลที่ฮ่องกง คือมันจะเกิดการเชื่อมโยงระหว่างคนในภูมิภาคกันก่อน ซึ่งมันก็เป็นการส่งออกวัฒนธรรมทางศิลปะชนิดหนึ่ง ซึ่งมันควรจะได้รับการสนับสนุน อย่างน้อยในแง่ของการเดินทาง ภาษี เงินทุนสนับสนุนบางอย่าง เพราะการออกไปมันมีค่าใช้จ่าย” บอลกล่าวปิดท้าย

อัลบั้มภาพ 39 ภาพ

อัลบั้มภาพ 39 ภาพ ของ เรื่องเล่า 21 ปี ในชุมชนคนดนตรีของ “SCRUBB”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook