วิเคราะห์ดนตรี GOT the Beat - Step Back จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก | Sanook Music

วิเคราะห์ดนตรี GOT the Beat - Step Back จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก

วิเคราะห์ดนตรี GOT the Beat - Step Back จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ต้อนรับปี 2022 กับการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่ของ 7 สาวทรงพลังแห่งค่าย SM Entertainment “Girls on Top” ในยูนิต GOT the beat ที่มาพร้อมบทเพลงแรกซึ่งนำเสนอความแข็งแกร่งผ่านทั้งเสียงร้องของโวคอลตัวท็อป การแร็ปอันดุเดือด การแสดงที่ไม่แพ้ใคร และดนตรีที่ก็น่าสนใจไม่แพ้ความสามารถของเหล่าศิลปินเลย

Written by Dem Jointz, Tayla Parx, 유영진 (Yoo Young Jin) & Ryan S. Jhun

Composed by Dem Jointz, 유영진 (Yoo Young Jin), Tayla Parx & Ryan S. Jhun

Arranged by 유영진 (Yoo Young Jin), Dem Jointz & Ryan S. Jhun

Lyric by 유영진 (Yoo Young Jin)

 

F Minor - 81 BPM

 

โครงสร้างเพลงของ Step Back

INTRO 0:00-0:12

VERSE 1 0:12-0:24

VERSE 2 0:24-0:35

PRE-CHORUS 0:35-0:47

CHORUS 0:47-1:11

VERSE 3 1:11-1:23

VERSE 4 1:23-1:35

PRE-CHORUS 1:35-1:47

CHORUS 1:47-2:11

BRIDGE 2:11-2:47

DROP 2:47-3:14

CHORUS 3:14-3:38

OUTRO 3:38-3:44


INTRO (0:00-0:12)

โอ้โห แค่เปิดมาก็ทำให้ตื่นเต้นได้ทันทีกับเสียงร้องของผู้ชายที่มีความคล้ายกับบทสวด เสียงร้องชานท์คอรัสเพลงทางศาสนา ทั้งน่าเกรงขามและน่ากลัวในเวลาเดียวกัน หากใส่หูฟังอย่างตั้งใจจะได้ยินเสียง Percussion เครื่องกระทบคล้ายกับเสียงของ Wood block เล่นโน้ตครั้งละ 3 ตัวคลอไปด้วยเบาๆ และดีเลย์จากจังหวะหลักเล็กน้อย

แนวร้อง (ที่ผู้เขียนไม่สามารถบอกได้ว่าร้องคำว่าอะไร) ร้องวนเวียนอยู่บนโน้ตตัว F, D♭, C และ B♭ ซึ่งทำให้เพลงมีความหม่น ดาร์ก น่ากลัว

ก่อนที่จะตามมาด้วยเสียงปรบมือ เสียงตะโกนอย่างดุร้ายป่าเถื่อน และ Producer tag “Incoming” ของคุณ Dem Jointz ที่หลายคนอาจจะรู้สึกคุ้นหูกันอยู่แล้ว และถ้าหากสังเกตดีๆ ในวินาทีที่ 0:10 เป็นเสียงปรบมือสองครั้งติดกันคล้ายกับเกิดการกระตุก ทำไมกันนะ.. ในท้ายที่สุดเสียงปรบมือก็หายไปเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับแนวร้องที่พาเราเข้าสู่เพลงหลัก

เชื่อว่าหลายคน ไม่ใช่แค่ผู้เขียน เมื่อได้ฟังอินโทรเปิดนี้แล้วก็พาลให้นึกไปถึงเพลงของ EXO ที่ก็เริ่มมาด้วย Gregorian Chant อันยิ่งใหญ่อลังการ

ตัวอย่างเพลง EXO K - MAMA นาทีที่ 1:39 Intro

VERSE 1 (0:12-0:24)

เกินคาดจริงๆ ที่เสียงร้องบทสวด (ขออนุญาตเรียกแบบนี้) ยังคงอยู่กับเราแม้จะเข้าสู่เพลงแล้ว กลายเป็นว่าเสียงนี้มันคือ Ostinato หรือแนวทำนองอย่างหนึ่งที่จะอยู่กับเราไปแทบจะตลอดทั้งเพลง เจ๋งไปเลย

องค์ประกอบไม่กี่อย่างถูกเพิ่มเข้ามา ที่เด่นชัดที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นแนวเบสที่สไลด์เสียงจากโน้ตตัว F กับ C ซึ่งเป็นโน้ตหลักสลับขึ้นลงไปมา และมีเสียงของบีตในช่วงเสียงต่ำคล้าย Kick Drum กับเสียงสูงของ Hi-hat กับ Snare ..จำนวนเครื่องดนตรีที่น้อยชิ้น การขาดไปของเสียงช่วงกลางหรือ Harmony คอร์ดต่างๆ ทำให้เสียงร้องโดดเด่นออกมาชัดเจนมาก ฟังแล้วก็นึกถึงเพลง "Sticker" ที่ Dem Jointz เองก็เป็นโปรดิวเซอร์หลัก เป็นอีกเพลงที่องค์ประกอบน้อยมากไม่ได้ต่างไปจากเพลงนี้เลย

ตัวอย่างเพลง NCT 127 - Sticker

 

ความน่าสนใจอีกอย่างของท่อน Verse คือตัวทำนองที่มีการร้องโน้ต A (Natural) แทนที่จะเป็นโน้ต A♭ ตามคีย์ของเพลงที่เป็น Minor อ้าว กลายเป็น Major เฉยเลย แต่แนวร้องบทสวดก็ยังอยู่นะ นั่นทำให้สีสันของเพลงมีความน่าสนใจมาก มันผสมผสานหลากหลายอารมณ์เข้าด้วยกัน

VERSE 2 (0:24-0:35)

หลายคนอาจจะเรียกท่อนนี้รวมเป็น Verse 1 กับท่อนก่อนหน้า แต่ผู้เขียนขอจับมันแยกออกจากกันเนื่องจากสองท่อนนี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนมาก และเพื่อให้ง่ายต่อการกล่าวถึงในอนาคต

เอาเว้ยยยยยย ตอนผู้เขียนฟังท่อนนี้ครั้งแรกถึงกับนั่งทึ้งหัวตัวเองเลย ช็อกมาก! นี่มันลูกผสมของดนตรีอะไรกันแน่นะ เสียงเครื่องสายที่เล่นโน้ตหลายแนวที่กัดกันไปมาตลอดเวลา คู่ประสานที่แสนจะบีบคั้นหัวใจ ไหนจะแนวการเดินโน้ตที่แอบซุกซ่อน Chromatic หรือการไล่เสียงห่างทีละครึ่งเสียงให้เรารู้สึกอึดอัดเอาไว้อีก ไม่พอ ยังมีการลงโน้ตตัว F เสียงดังกระแทกเข้ามาให้เราตกใจเล่น แต่ใดใด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแนวทำนองก็ยังคงดำเนินต่อไปแบบเดิม สุดมาก

แนวดนตรีเครื่องสายฟังแล้วผู้เขียนนึกถึงดนตรี A-tonal ดนตรีที่ไม่ได้มีคีย์ที่ตายตัว ดนตรีที่แหกกฎเกณฑ์แบบเก่าๆ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 มันเต็มไปด้วยความมืดมน ลึกลับ และอันตราย ซึ่งถูกนำมาใช้ในเพลง "Step Back" ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ตัวอย่างเพลง Arnold Schönberg - String Quartet No.4

 

ตัวอย่างเพลง Alban Berg - Lyrische Suite

ที่จริงแนวบีตจังหวะกลองของท่อนนี้ก็น่าสนใจอยู่นะ ทุกแนวล้วนแล้วแต่มีจังหวะที่แปลกประหลาด ในที่นี้คือหมายถึงการที่มันมักจะไม่ได้ลงจังหวะหนักอย่างคงที่ ต่างคนต่างเล่นจังหวะยกบ้าง ตกบ้าง ขัดบ้างสลับกันไป หากฟังแยกไลน์คงได้ปวดหัวน่าดู แต่เมื่อนำมารวมกันมันกลับเติมเต็มซึ่งกันและกันได้อย่างพอดิบพอดี

PRE-CHORUS (0:35-0:47)

เป็นครั้งแรกที่เพลงมีการลงจังหวะละเอียดถี่หลังจากเสียงปรบมือเมื่อตอนต้นเพลง แต่แนวเบสนี้ก็ยังคงคอนเซปต์ความไม่มั่นคงของมันอยู่จากการที่เสียงมีการสไลด์ให้เกิดความเพี้ยนเล็กน้อยแม้จะเน้นอยู่บนโน้ตหลักสองตัวอย่าง F และ C ก็ตาม

เสียงร้องคล้ายกับคอรัสในโบสถ์กลับมาในรูปแบบใหม่ การร้องที่เสียงสูงมากลอยอยู่เหนือทุกสิ่ง มีแนวร้อง Background Vocals ย้ำคำว่า Level (เสียงยูยองจินชัดเจนมาก) และแน่นอนว่าแนวทำนองที่พุ่งโดดออกมาไต่ระดับสูงขึ้นอย่างไม่ยอมให้เราได้หยุดพักเพื่อพาเราไปสู่ another level ก่อนที่จะจบปิดท้ายด้วยเสียงร้องประสานอันยิ่งใหญ่ สดใส Major สุดๆ ดั่งการประกาศชัยชนะอย่างนั้นเลย


CHORUS (0:47-1:11)

เข้าสู่ท่อนฮุคที่รอคอย เอาอีกแล้วววว ใครมันจะไปคิดว่าทุกอย่างจะสามารถมาผสมรวมกันหมดได้ (เหมือนเพลง "Sticker" เลย) นี่ก็มาหมดทั้งแนวเบสสไลด์ ทำนองบทสวด บีตต่างๆ และเสียงเครื่องสายสุดหลอน โอย อกอีแป้นจะแตก คนแต่งจงใจแกล้งเราหรือเปล่าเนี่ย

แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแนวทำนองก็ยังคงยึดมั่นแข็งแรง เล่นเอาผู้เขียนแอบงงว่าร้องกันได้ยังไงนะ แถมแนวทำนองนี้เองก็ยังคงร้องวนเวียนอยู่บนโน้ตที่มีกลิ่นอายผสมผสานกันของทั้ง Major และ Minor ฟังไปฟังมาก็ดันไปคล้ายกันกับอีกเพลงนึงที่อยู่ในคีย์เดียวกัน และมีลักษณะการใช้โน้ตที่ใกล้เคียงกันมากของ SuperM อีกด้วย

ตัวอย่างเพลง SuperM - Tiger Inside ตั้งแต่ต้นเพลงที่มีความ Minor สลับเข้า Verse 2 ที่เป็น Major และท่อนที่ใช้โน้ตคล้ายกันอย่างชัดเจนมากคือนาทีที่ 2:06

 

อีกอย่างที่น่าสนใจคือแนวทำนองร้องหลักมีแค่ทำนองเดียวอย่างชัดเจน ไม่ได้มีโน้ตประสานให้เกิดคอร์ดหรือ Harmony ใดๆ เลย เป็นแค่เสียงร้องโน้ตเดียวของคนหลายคนพร้อมกัน มันแสดงออกถึงความมั่นคงอันแรงกล้าไม่ต่างจากการเดินขบวนของเหล่าทหารกองร้อยที่พร้อมเพรียงกัน

VERSE 3 (1:11-1:23)

อ้าว Verse 3 ที่ควรจะกลับไปเหมือน Verse 1 ตามสูตรกลับไม่เป็นแบบนั้น กลายเป็นแนวดนตรีจาก Verse 2 แทนแบบที่บวกเพิ่มเบสจากท่อน Pre-Chorus เข้าไป จัดหนักจัดเต็มด้วยแนวร้องแร็ปอันแสนดุเดือด เอาให้ไม่ต้องพักหายใจกันเลยค่ะ

กลายเป็นท่อน VERSE 4 (1:23-1:35) นี้ที่กลับไปคล้ายกับท่อน Verse 1 แทน นี่มันเหมือนกับกระจกสะท้อนถอยหลังกลับกันอย่างงั้นเลย แต่แนวเบสกลับหายไปเพราะถูกจับไปใส่ในช่วงก่อนหน้าแทนแล้ว เออ เจ๋งนะ เป็นการปรับเปลี่ยนเพลงใหม่แบบง่ายๆ แต่ได้ผลสุดๆ

แนวร้องสูง มาก มาก!!! ถึงดนตรีจะผ่อนลงมาแต่นักร้องบอกว่าไม่ได้นะ การรวมตัวของโวคอลระดับท็อปค่ายขนาดนี้ต้องปล่อยของจัดเต็ม เอาให้สมกับเพลงที่นำเสนอมุมมองอันแข็งแกร่งไม่ยอมใครของพวกเธอ


PRE-CHORUS (1:35-1:47)

หากไม่นับการเปลี่ยนผู้ร้อง (ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเพลงมากอยู่แล้วแน่นอน) ท่อนนี้ดนตรีไม่ได้มีอะไรที่เปลี่ยนไปสักเท่าไหร่ มีเพียงแค่เสียงของ Hi-hat ซึ่งถูกปรับให้เบาลงจาก Pre-chorus รอบแรกเยอะมากจนแทบไม่ได้ยิน เช่น นาทีที่ 1:36, 1:37 เป็นต้น หากใส่หูฟังก็จะสามารถได้ยินได้แบบเบาๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ท่อนฮุครอบที่ 2 CHORUS (1:47-2:11) ซึ่งไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไป ยังคงไว้ซึ่งความดุดันเร่าร้อนเหมือนเดิม จนมาในตอนท้ายมีการปล่อยทิ้งเสียงเบสให้สไลด์ต่ำลงโดยมีการเพิ่มห้องสุดท้ายให้ยาวขึ้นอีก 2 จังหวะเพื่อให้ผู้ฟังได้ปรับมู้ดก่อนที่จะช็อกกับท่อนถัดไป

unnamed

BRIDGE (2:11-2:47)

โอ้โหหหหหหห ดนตรีฟังสบายไพเราะครั้งแรกของเพลงนี้หลังจากผ่านไปมากกว่า 2 นาที ในที่สุดเราก็มีคอร์ดในช่วงเสียงกลางคอยรองรับแนวร้องเสียที ทำนองมีความ Lyrical เสียงเชื่อมต่อกันเป็นประโยคยาวๆ แตกต่างจากที่ผ่านๆ มาซึ่งเน้นคำและกระแทกเสียง แถมทำนองท่อนนี้ยังมีความฟรีมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ด้วยความที่คอร์ดนั้นนุ่มนวลผสมความ jazzy และไม่ได้มีบีตกำกับหนักๆ มีเพียงเสียงดีดนิ้ว กับแนวเบสที่ก็ค่อนข้างชิล laid-back และมีการเล่นแบบ improvise หรือด้นสดด้วยทำให้แนวร้องสามารถร้องออกมาได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องเคร่งกับจังหวะเป๊ะๆ

คอร์ดในท่อน Bridge นี้มันแสนจะสดใสซาบซ่า Major จนทำเอางง ก่อนจะค่อยๆ กลับมาหม่นอีกครั้งสลับกันไป นี่มันช่างแตกต่างจากช่วงก่อนหน้าแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลยแฮะ ขนาดเตรียมใจมาก่อนแล้วว่า Bridge จะต้องมีอะไรแน่ๆ แต่ก็อย่างว่า Bridge ของ SM ค่อนข้างขึ้นชื่ออยู่แล้ว

เข้าสู่นาทีที่ 2:24 เสียง Hi-hat กลับเข้ามาอีกครั้งช่วยทำให้เพลงมีความแอคทีฟมากขึ้น แนวร้องเองก็ค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะมาจบปิดท้ายด้วยคอร์ดซึ่งพาเราออกนอกอวกาศไปไกลกับแนวร้องบนโน้ตตัว D♭ ที่สุดแสนจะหลุดโลก เอาละเว้ยเห้ยยยยยย

ท่อน Bridge ยังไม่จบแค่นี้ ไปต่อกันกับท่อนแร็ปสุดมันส์ที่ยกเอาดนตรีมาจากท่อน Pre-Chorus แบบเป๊ะๆ เลย เอ๊ะยังไงนะ และในห้องสุดท้ายนั่นเองดนตรีและเสียงทุกอย่างดรอปเงียบหายสนิทพร้อมกับประโยค “Girls, bring it on” ไปค่ะ!


DROP (2:47-3:14)

ท่อนนี้เป็นท่อนที่ผู้เขียนขอแนะนำให้ทุกคนได้ลองใส่หูฟังฟังเลย เพราะมันเต็มไปด้วยสารพัดเสียงที่ถูกจัดวางไว้หลากหลายตำแหน่งมาก เราจะสามารถได้ยินเสียงองค์ประกอบต่างๆ จากด้านบนบ้าง ด้านหลังบ้าง หรือแม้แต่การแพนเสียงจากข้างนึงไปอีกข้างนึง

เรียกได้ว่าเป็นท่อนที่ให่คนแต่งได้ปล่อยของอย่างเต็มที่กับ Sound มากมายจาก Synthesizer เสียงสังเคราะห์ เสียงเบสที่ถูกปรับแต่ง และบีตที่มีทั้งความ Acoustic และ Electronics ผสมปนเปกันไป ในขณะที่ศิลปินเองก็ได้โชว์สเต็ปการเต้นที่เร่าร้อนแบบไม่มียั้ง

ไม่พอแค่นั้นหรอก รวมตัวโวคอลทั้งทีก็ต้องปล่อยของด้วยแนวร้องไฮโน้ตกันไป จนมานาทีที่ 3:09 บีตถูกเล่นอย่างถี่เร็ว ก่อนที่จะดรอปหายไปพร้อมกับเสียงร้องที่ไต่ระดับสูงขึ้น เป็นโมเมนต์ที่เชื่อว่าหลายคนถึงกับต้องกลั้นหายใจ การใช้ความเงียบนี้มันสร้างอิมแพคให้กับคนฟังได้เป็นอย่างมากหลังจากที่หูของเรารับเสียงเยอะแยะเต็มไปหมดมาพักใหญ่ พอดนตรีเงียบลงนั่นทำให้เราโฟกัสกับเสียงร้องได้อย่างเต็มที่ แล้วการสไลด์เสียงอย่างช้าๆ ไม่ได้ลงในจังหวะหลักพอดี บวกกับการลากค้างเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ห้องเพลงนี้เองมันสร้างความอึดอัดแบบขั้นสุด เราโหยหาการระเบิดอยากจะกรีดร้องออกไปให้สุดแรงเกิด นั่นทำให้การเข้าสู่ท่อนฮุคสุดท้ายเป็นอะไรที่ถึงใจที่สุดแล้ว คนแต่งเล่นกับใจคนฟังได้เก่งมาก!

unnamed(1)

CHORUS (3:14-3:38)

ตู้ม!!! เข้าสู่ฮุคสุดท้ายอย่างยิ่งใหญ่อลังการ แต่ก็เพียงแค่แป๊บเดียวดนตรีต่างๆ ก็หายไป เหลือไว้เพียงเสียงร้องสลับกับเสียง Snare โอ้โห เนี่ย เหมือนกับทหารที่กำลังเดินขบวนเปิดตัวเข้ามาก่อนจะเริ่มทำการแสดงอย่างยิ่งใหญ่ส่งท้าย มันช่างเด็ดเดี่ยวและแน่วแน่จริงๆ นะ

เสียงร้องบทสวดกลับเข้ามาอีกครั้งก่อนที่จะตู้มสุดท้ายของจริง จบอย่างมั่นคง แข็งแกร่งดั่งวีรสตรีที่ไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคแค่ไหนก็ไม่มีใครมาทำอะไรได้


OUTRO
(3:38-3:44)

จบส่งท้ายด้วยเสียงเครื่องสาย(?) สุดหลอนกับเสียงของอะไรบางอย่างที่กระทบไปมา มันช่างก้องกังวาลราวกับอยู่ในมหาวิหารขนาดใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็เสียดแทงหูเสียเหลือเกิน นี่สินะ ความขลังที่เต็มไปด้วยอันตรายของเหล่าสตรีทั้ง 7 คน

เกร็ดน่าสนใจอีกเล็กน้อยเกี่ยวกับเพลงนี้คือการที่ Tuning หรือการตั้งเสียงนั้นแตกต่างไปจากเพลงโดยปกติค่อนข้างมาก โดยทั่วไป (หรือเท่าที่ผู้เขียนเคยชิน) มักจะมีการตั้งเสียงโดยใช้โน้ตตัว A เป็นหลักอยู่ที่ประมาณ 440-443 Hz หากจะแตกต่างไปจากนี้ก็มักจะไม่เกิน 2-3 Hz แต่เพลง Step Back กลับมีการตั้งเสียงสูงถึง 450 Hz โดยประมาณ นั่นถือว่าสูงมากจนทำให้บางคนอาจรู้สึกไม่คุ้นชิน เกิดความอึดอัดขณะฟัง (ยังไม่นับอีกสารพัดองค์ประกอบในเพลงที่ทำให้อึดอัด)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook