Hikaru Utada : BAD Mode กลับมาแบบยิ่งใหญ่และไม่แคร์ใคร! โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
ฮิคารุ อูทาดะ กลับมาอีกครั้งกับอัลบั้มชุดที่ 8 ซึ่งห่างจากผลงานชุดที่แล้ว Hatsukoi ราวสามปีครึ่ง ประกาศข่าวออกมาก็ทำเอาแฟนคลับตะลึงงันในหลายแง่ ทั้งชื่ออัลบั้ม BAD Mode ที่ชวนงงว่านี่มันอะไรกันคะ คุณแม่อารมณ์ไม่ดีหรืออย่างไร แถมชวนให้อ่านผิดเป็น Bad Mood อีกต่างหาก ไหนจะหน้าปกอัลบั้มสุดเหวอ ประหนึ่งแม่บ้านถ่ายรูปเล่นที่บ้าน มีลูกชายวิ่งตัดผ่านหน้ากล้อง แต่เข้าใจว่าว่าปกคงจงใจบรรยากาศแบบ candid เพื่อสะท้อนยุคสมัยแห่งโรคระบาดและการ WFH นั่นเอง (หลังจากเดินทางไปมาระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกาอยู่หลายปี ปัจจุบันอูทาดะกับลูกชายพำนักอยู่ที่ลอนดอน)
สำหรับชื่ออัลบั้ม BAD Mode อูทาดะให้สัมภาษณ์ว่ามาจากบรรยากาศการทำงานในช่วงโควิดที่ก็ค่อนข้างชวนหดหู่พอควร แต่ถึงจะยากลำบากอย่างไรสุดท้ายก็ผ่านมาได้ (เอาเข้าจริงโควิดก็มีข้อดีอยู่บ้าง เช่นทำให้วงดนตรีที่แยกวงกันไปรู้สึกเซ็งๆ ไม่มีอะไรทำ จนกลับมารียูเนียน หรือศิลปินหลายคนก็เขียนเพลงได้เยอะมากในช่วงอยู่บ้าน) แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว BAD Mode เป็นอัลบั้มที่ให้ความรู้สึกแบบ Badass หรือทำนองว่า ‘ยัยตัวแสบ’ เพราะนี่อาจเป็นอัลบั้มที่ทดลองและท้าทายที่สุดของอูทาดะ หรือพูดแบบง่ายๆ ว่า ‘ติสต์’ ที่สุดของเธอ
ขอเริ่มจากสิ่งที่ไม่ชอบใน BAD Mode ก่อน ข้อหนึ่ง-มันให้ความรู้สึกเหมือนอัลบั้มรวมฮิตไปสักหน่อย เพราะจาก 10 เพลงในอัลบั้ม (ไม่นับโบนัสแทร็คอีก 4 เพลง) มีถึง 7 เพลงที่เราเคยได้ยินมาแล้วจากการเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ ละคร และโฆษณานั่นนี่ ข้อสอง-มันเหมือนอัลบั้มรีมิกซ์อยู่กลายๆ เพราะมีเพลงหลายแนวมาก แล้วก็มีบางเพลงที่ใส่มาทั้งเวอร์ชันอังกฤษและญี่ปุ่น แล้วก็อีกเพลงที่ใส่เวอร์ชันรีมิกซ์มาอีกสองแทร็ค
อย่างไรก็ดี ความหลากหลายของแนวเพลงที่อาจจะชวนเหวอบ้างของ BAD Mode ก็ถือเป็นจุดแข็งของงานชุดนี้ อูทาดะเล่าว่าเธอทำอัลบั้มด้วยความรู้สึกอยากเป็นอิสระแบบสมัยที่ทำชุด Exodus (2004 / อัลบั้มภาษาอังกฤษชุดแรกของเธอ) งานสองชุดก่อนอย่าง Fantôme (2016) และ Hatsukoi (2018) จะมีองค์ประกอบของดนตรีสดเยอะ แต่ชุดนี้จะเน้นดนตรีอิเล็กทรอนิก นอกจากนั้นแม้จะเป็นอัลบั้มภาษาญี่ปุ่น เธอก็ไม่แคร์ที่จะใส่เพลงภาษาอังกฤษล้วนไปด้วย “ฉันไม่อยากตั้งข้อจำกัดอะไรแล้วค่ะ เมื่อในฉันหายใจเป็นทั้งสองภาษา” อูทาดะกล่าว
สิ่งที่น่าสนใจของ BAD Mode คือการใช้โปรดิวเซอร์หลักๆ อยู่ 3 คน ซึ่งมาจากคนละสายเพลง คนแรกคือ นาริอากิ โอบุคุโระ (Nariaki Obukuro) ศิลปิน R&B ที่ร่วมงานกับอูทาดะมาตั้งแต่ชุด Fantôme เพลงที่โอบุคุโระโปรดิวซ์จะฟังไม่ยากเท่าไร อย่างเช่น "Pink Blood" หรือ "Time" ส่วนโปรดิวเซอร์คนที่สองคือ เอ. จี. คุก (A. G. Cook) ศิลปินแนว hyperpop ปกติเพลงของคุกจะเป็นอิเล็กทรอกนิกส์ที่ไม่ยึดติดกับโครงสร้างเดิมๆ หากแต่ในงานของอูทาดะ เขาก็ไม่ได้หนักมือจนเกินไป จนกลายเป็นบีทลอยๆ ในเพลง Kimi ni Muchu และจังหวะติดหูสุดป๊อปอย่างเพลง One Last Kiss
โปรดิวเซอร์คนที่สามถือเป็นคนที่กำลังมาแรงที่สุด นั่นคือ Floating Points ศิลปิน/ดีเจชาวอังกฤษที่โด่งดังจากการผสมผสานดนตรีอิเล็กทรอนิกเข้ากับเพลงแจ๊ซ และอัลบั้ม Promises (2021) ของเขาได้รับคำชมอย่างล้นหลาม โดย Floating Points โปรดิวซ์ 3 เพลงที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อนอย่าง "BAD Mode", "Not in the Mood" และ "Somewhere Near Marseilles" ซึ่งสองเพลงหลังนั้นมีความยาวถึง 7 และ 12 นาทีตามลำดับ กลายเป็นเพลงที่ห่างไกลจากเจป็อปที่เราคุ้นชิน แต่ก็พาเราไปสำรวจมิติใหม่ๆ เป็นข้อสรุปว่างานนี้อูทาดะเธอ ‘มาเหนือ’ จริงๆ
พูดภาคดนตรีไปเยอะแล้ว มาที่ฝั่งเนื้อหาบ้าง อูทาดะเล่าว่าในอัลบั้มสองชุดก่อนเธอเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของเธอกับคนรอบตัว (แรงบันดาลใจน่าจะมาจากการที่เธอมีลูกและคุณแม่ของเธอฆ่าตัวตาย) แต่ BAD Mode จะเน้นที่ความสัมพันธ์กับตัวเธอเอง จากการที่เธอตั้งคำถามว่า “ถ้าฉันมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเอง มันก็น่าจะทำให้ความสัมพันธ์ต่อคนอื่นดีขึ้นด้วยใช่มั้ยนะ?”
เช่นนั้นแล้ว ใน BAD Mode จึงมีหลายเพลงที่พูดถึงการรักตัวเอง (Self-love) หรือความภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem) อย่างเช่น เพลง "BAD Mode" ที่ร้องว่า “ไม่ว่าจะวันที่ดีหรือวันที่เลวร้าย ฉันก็จะปกป้องเธอ ไม่ยอมปล่อยเธอไป” โดยเธอในที่นี้อาจจะหมายถึง ‘ตัวเอง’ หรือ Pink Blood ที่ว่าด้วยการเรียนรู้ถึงความงดงามของตนโดยไม่ต้องสนใจกระแสสังคม ส่วนเพลง "Find Love" ก็มีเนื้อหาที่ดีมาก อูทาดะร้องซ้ำๆ ถึงการตามหารัก การเป็นคนขาดความรักไม่ได้ แต่เนื้อเพลงก็มีนัยว่าเราต้องแยกแยะให้ได้ระหว่าง ‘การคลั่งรัก’ และ ‘ความรัก’
โดยสรุปแล้วผู้เขียนคิดว่า BAD Mode เป็นอัลบั้มที่เติบโตอย่างมากของอูทาดะทั้งในฐานะศิลปินและมนุษย์คนหนึ่ง แม้จะมีซาวด์ที่แปลกใหม่ (เมื่อเทียบกับงานก่อนหน้าของเธอ) ผลงานชุดนี้ก็ไม่ได้ฟังยากจนเกินไป และแท้จริงมันก็มี ‘ความรัก’ เป็นจุดศูนย์กลาง อย่างที่อูทาดะกล่าวไว้ว่าสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการทำ BAD Mode คือ “ฉันเคยกลัวมากเลยค่ะว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่รู้ว่า ‘ความรู้สึก’ ที่เรียกว่ารักนี่คืออะไร แต่ตอนนี้ฉันได้ค้นพบแล้วว่าตัวเองเป็นคนที่เปี่ยมด้วยความรักทีเดียว”
____________________
ผู้เขียน - คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
(Kanchat Rangseekansong)
เปิดโลกดนตรีและไอดอลกับคันฉัตร
อัลบั้มภาพ 6 ภาพ