ตลาดเทปมาเงียบๆ แต่แรงเคยไม่ตก โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

ตลาดเทปมาเงียบๆ แต่แรงเคยไม่ตก โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

ตลาดเทปมาเงียบๆ แต่แรงเคยไม่ตก โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

National Audio Company เป็นบริษัทผลิตเทป (เพลงออดิโอแม่เหล็ก) เพียงหนึ่งเดียวของอเมริกาในขณะนี้ทำสถิติยอดขายสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมา นั่นเป็นหลักประกันได้เลยว่าเทปได้เข้ามามีส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นในช่วงหลายปีมานี้

สมาพันธ์ Smithsonian ของอเมริกาประกาศอย่างเป็นทางการผ่าน Smithsonian นิตยสารของสมาพันธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้

National Audio Company ตั้งอยู่ที่สปริงฟีลด์ รัฐมิสซูรี อเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 1969 โดย Steve Stepp ร่วมกับ Warren Williams Stepp บิดาของเขา โดยผลิตเทปแบบโอเพน รีลแถบแม่เหล็กที่ใช้ในการบันทึกเสียงในสตูดิโอหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์เป็นหลัก จากนั้น ความนิยมของเทปออดิโอได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เทปพัฒนาเป็นแบบเทปตลับหรือคาสเซ็ตต์เทป ในช่วงทศวรรษที่ 70 ถึง 80 ทำยอดขายได้ปีละ 10 ล้านถึง 15 ล้านตลับ นำบริษัทก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้า

1-nac_building_mr

ส่วนในบ้านเราเริ่มแพร่หลายมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 70 มาจนถึงหลังปี 2000 ด้วยซ้ำไป ส่วนในต่างประเทศก็เริ่มซาลงราวช่วงกลางถึงปลายทศวรรษที่ 90 จุดพีคก็ช่วงทศวรรษที่ 80 ที่มีฟอร์แมตแผ่นเสียงกับเทปเป็นหลัก กระทั่งซีดีถือกำเนิดขึ้น หลายบริษัทต่างทยอยเลิกผลิตเทปแถบแม่เหล็กเพื่อใช้บันทึกเสียงออกจำหน่าย แต่ National Audio Company ยังคงผลิตเทปแถบแม่เหล็กในรูปแบบเทปคาสเซ็ตต์ต่อไป อีกทั้งยังรักษาระดับยอดขายในแต่ละปีได้อย่างน่าพอใจ หลังจากนั้น ประเทศเกาหลีซึ่งเป็นประเทศสุดท้ายที่ผลิตเทปก็ประกาศเลิกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2016 ซึ่งในมุมมองของนักเล่นเทป มันคือวิกฤตการณ์ขาดแคลนเทปอย่างแน่นอน เทปเก่าที่ยังไม่ใช้งาน หรือแม้แต่เทปมือสองกลายเป็นที่ต้องการของคนเล่นเทป ผ่านมา 2 ปี National Audio Company ไม่ได้วางมือไปเลย พวกเขานำเครื่องไม้เครื่องมือในยุค '80s มาปรับปรุงใหม่ ย่างเข้าปี 2018 จึงลงมือผลิตเทปคาสเซ็ตต์ใหม่อีกครั้ง

ปัจจุบัน National Audio Company กลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกที่ผลิตเทปคาสเซ็ตต์ป้อนตลาดและป้อนบริษัทแผ่นเสียงราวปีละ 25 ล้านถึง 30 ล้านตลับ

เมื่อวิกฤตโคโรนา ไวรัสพันธุ์ใหม่ระบาดขึ้นเมื่อกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ยังผลให้ศิลปินดังหลายรายทั่วโลกต้องระงับการแสดงคอนเสิร์ตของตนเองไว้ก่อน อีกทั้งต้องคิดค้นวิธีออกผลงานใหม่ของตนเองไปด้วยในตัว ส่วนศิลปินที่ไม่ได้เซ็นสัญญากับค่ายระดับเมเจอร์ ก็มีทางออกด้วยเทปคาสเซ็ตต์นี่เอง ข้อดีของเทปก็คือ ผลิตขั้นต่ำเพียง 50 ม้วนก็ได้ ต้นทุนของม้วนหนึ่งตกประมาณ 2.5 ดอลลาร์ (ประมาณ 80 บาท)เท่านั้น ส่วนซีดีนั้น ขั้นต่ำก็ต้องเป็นหลักพันแผ่น ที่ต้นทุนสูงที่สุดก็หนีไม่พ้นแผ่นเสียงที่ศิลปินทั่วไปไม่สามารถผลิตได้เพราะราคาสูงมากนั่นเอง

ศิลปินที่ไม่ได้เซ็นสัญญากับค่ายเมเจอร์ เมื่อไม่ได้เล่นไลฟ์ ไม่ยอมปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่ทำอะไร พวกเขาจำเป็นต้องออกผลงานในรูปแบบเทปแทน เพื่อแข่งขันกับศิลปินระดับเมเจอร์ที่มีงานในฟอร์แมตดิจิทัลซึ่งเผยแพร่ได้ง่ายและเข้าถึงคนฟังได้ง่ายกว่า ศิลปินระดับโลกอย่าง Lady Gaga, Billie Eilish, Taylor Swift เองก็ไม่น้อยหน้า พวกเขาเองก็มีผลงานของตนเองในรูปแบบของเทปคาสเซ็ตต์ด้วยเช่นกัน และล่าสุด เราสามารถหาซื้ออัลบัมซาวน์ดแทร็กภาพยนตร์ดังระดับเมเจอร์หลายเรื่องในฟอร์แมตเทปได้แล้วด้วย

ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้น เป็นมูลเหตุที่ National Audio Company ทำสถิติยอดขายสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมา

loader_line_mr

Steve Stepp ประธานบริษัทระบุว่ากลุ่มคนที่อุดหนุนเทปคาสเซ็ตต์เป็นหลักคือคนที่อายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่ยอมควักเงินเพื่อซื้อเพลงดิจิทัลของยุคนี้อีกด้วย "หูเราเป็นอนาล็อก โลกรอบตัวเราก็เป็นอนาล็อก เวลาฟังดนตรี ไม่ว่าจากศิลปินหรือวงดนตรี แม้แต่ออร์เคสตราที่เล่นดนตรี เราจะได้ยินทุกคลื่นความถี่ในทุกวินาที หูเราฟังและจับคลื่นเหล่านั้นได้ เราเรียกสิ่งนั้นว่า ฮาร์โมนิกส์ แต่สำหรับการบันทึกเสียงแบบดิจิทัลไม่มีฮาร์โมนิกส์ มันครอบคลุมไว้ทั้งหมดจนได้ยินเท่ากันหมดในทุกๆ วินาที"

"เวลาเราดาวน์โหลดดนตรี เราไม่ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรเลย เพราะโทรศัพท์มือถือสามารถเล่นได้หมด เราจ่ายเงินไปมากน้อยแล้วแต่กรณี แต่กลายเป็นเราไม่รู้สึกว่าได้ครอบครองดนตรีเหล่านั้นเอาไว้กับตัวเลย เอามันมาวางบนโต๊ะไม่ได้ แลกเปลี่ยนกันฟังกับเพื่อนก็ไม่ได้ ขณะที่เทปคาสเซ็ตต์ มันมีตัวตนให้เราเห็น เราซื้อมา ได้ครอบครองมัน หยิบมาฟังเมื่อไหร่ก็ได้ จะยกให้ใคร หรือแลกเปลี่ยนกันฟังกับใครก็ได้ นี่คือความแตกต่างที่ชัดเจน" Stepp กล่าวทิ้งท้าย

เราคงไม่ต้องไปสนใจว่าเทปคาสเซ็ตต์จะถูกผลิตมาด้วยวิธีใด ตราบที่ยังมีบริษัทผลิตออกมาให้ใช้งาน ส่วน National Audio Company บริษัทที่ทำรายได้จากเทปเพลงนี้ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ 135,000 ตารางฟุต เปิดให้บุคคลภายนอกไปทัศนศึกษาที่นั่นได้โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ จัด 2 สัปดาห์ต่อ 1 รอบ รับกรุ๊ปทัวร์ได้ครั้งละ 10-20 คน พร้อมทั้งมีไกด์พาทัวร์โรงงานแทบจะทุกซอกมุมเลยทีเดียว

tape 

ย้อนกลับมาที่บ้านเราครับ ซึ่งเคยเขียนมาหลายครั้งแล้วว่าตลาดเทปบ้านเราไปได้เรื่อยๆ แบบไม่กระโตกกระตาก ราคาไม่เคยตก ยังมีเทปแรร์ เทปสะสมถูกปล่อยออกมาตลอดเวลา ตลาดเทปมือสองบนเฟซบุ๊กและเพจต่างๆ ยังคึกคักไม่น้อยหน้ากว่าตลาดแผ่นเสียงและซีดีเลย ขณะเดียวกัน ศิลปินไทยทั้งระดับแนวหน้าและกึ่งอาชีพก็ทำเทปขายแฟนเพลงของตนเองมาตลอด ดูเหมือนว่าปัญหาเดียวของคนฟังเทปในบ้านเราก็คือ ราคาครับ เพราะตอนนี้ไม่มีบริษัทผลิตเทปเพลงในไทยอีกแล้ว ต้องจ้างต่างประเทศผลิต ใกล้ๆ หน่อยก็มาเลเซีย ไกลหน่อยก็แถบยุโรป ดังนั้น จึงไม่แปลกเลยที่ราคาเทปเพลงไทยของวงรุ่นใหม่หรือรุ่นใหญ่ที่ออกมาจึงสูงกว่าปกติ ตกอยู่ระหว่าง 400-750 บาทต่อม้วน ซึ่งเมื่อเทียบกับสิบกว่าปีก่อน เทปยังม้วนละ 150-250 บาทอยู่เลย

นี่เอง ทำให้ตลาดเทปบ้านเราไม่บูมมาก ไม่แพร่หลายมาก คนที่สะสมมาก่อนแล้วก็สะสมต่อไป นักฟังเทปหน้าใหม่ก็ต้องมีทุนรอนมากพอสมควร หากแก้ปัญหาตรงโรงงานผลิตได้ เช่น มีโรงงานในไทย ต้นทุนการผลิตจะถูกลงเป็นเท่าตัวเลยครับ อาจจะเหลือม้วนละ 200-250 บาท ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่ายด้วยซ้ำไป นักฟังเทปหน้าใหม่ก็มีโอกาสได้ซื้อ ได้จับต้องง่ายขึ้นด้วย ศิลปินรายเล็กๆ ก็กล้าผลิตงานของตนเองเป็นเทปได้มากขึ้นด้วย โอกาสเผยแพร่ผลงานก็มีมากขึ้น ก็ต้องติดตามกันต่อไปครับว่า ตลาดเทปในบ้านเราก็เดินมาถึงจุดนี้แล้วไปต่อแบบเนิบๆ หรือจะค่อยๆ หมดความนิยมไปตามกลไกตลาดที่ของแพงเกินจริง จะสูญเสียลูกค้าส่วนหนึ่งไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook