วิเคราะห์ดนตรี NMIXX - O.O จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก
NMIXX น้องใหม่ไฟแรงจากค่าย JYP Entertainment ที่มาพร้อมกับบทเพลงเปิดตัวแบบไม่ธรรมดา เรียกได้ว่าแปลก แหวกแนว เล่นเอาคนฟังถึงกับสับสนจับต้นชนปลายไม่ถูกจนตาโตไม่ต่างไปจากชื่อเพลง O.O เลย บทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจการจัดวางรูปแบบของเพลงและรายละเอียดต่างๆ ที่ถูกซ่อนเอาไว้กัน ซึ่งงานนี้ขอบอกเลยว่าท้าทายสุดๆ สำหรับผู้เขียน
NMIXX - O.O
Written by ENAN (이난), Chanti, Dr. JO, Brian U, 마카롱 (Kim Ju Won) (Markalong), Charlotte Wilson, EJAE, Awry (THE HUB), Ayushy (THE HUB), Jan Baars & Rajan Muse
Composed by ENAN (이난), Chanti, Brian U, 마카롱 (Kim Ju Won) (Markalong), Charlotte Wilson, EJAE, Awry (THE HUB), Ayushy (THE HUB), Jan Baars & Rajan Muse
Arranged by ENAN (이난), Brian U & 마카롱 (Kim Ju Won) (Markalong)
Lyric by Dr. JO
E Minor, A Major - 135, (115-125), 100 BPM
โครงสร้างเพลงของ O.O
INTRO 0:05-0:19
SECTION A
INTRO 0:19-0:35
VERSE 1 0:35-0:50
PRE-CHORUS 0:50-1:03
CHORUS 1:04-1:18
SECTION B
INTRO 1:24-1:35
VERSE 1 1:35-1:54
VERSE 2 1:54-2:13
BRIDGE 2:13-2:23
SECTION A'
CHORUS 2:23-2:37
POST-CHORUS 2:37-2:52
OUTRO 2:52-3:01
INTRO (0:05-0:19)
เป็นการเริ่มต้นเพลงที่เหมือนจะ Simple เสียง Synthesizer หรือเสียงสังเคราะห์ เสียงเครื่องกระทบต่างๆ ที่นำเสนอจังหวะแพทเทิร์นหลัก รวมไปถึงโน้ตที่บ่งบอกว่าเพลงนี้อยู่ในคีย์ E Minor การเริ่มต้นเสียงเบาๆ ราวกับถูก muted ไว้แล้วจึงค่อยๆ คมชัดขึ้นเรื่อยๆ จนตอนท้ายอินโทรที่มีเสียงเคาะจังหวะเตรียมส่งเราไปสู่ท่อนถัดไป มาทรงนี้เชื่อว่าใครหลายคนก็คงจะคิดว่าเพลงจะดำเนินต่อไปในรูปแบบและจังหวะเดิม แต่หารู้ไม่…
SECTION A
INTRO (0:19-0:35)
คุณ โดน หลอก!! นี่มันอะไรกันเนี่ยทุกคน ภายในเวลาไม่กี่วินาทีเพลงกลับเปลี่ยนไปแบบที่ทำเอาเราผงะ เปลี่ยนคีย์ เปลี่ยนสีสันยังพอว่า แต่นี่เปลี่ยนจังหวะเลยนะ!!! จากความเร็วตอนต้นที่ 135 BPM ลดลงไปเหลือแค่ 115 BPM ที่เรียกได้ว่าช้าลงไปเยอะจนเหมือนเป็นคนละเพลงเลย
ตัว Harmony หรือเสียงประสานเองก็น่าสนใจนะ แม้เสียงดนตรีจะมาเป็นแผงดังสนั่นหวั่นไหวแต่มันกลับขาดโน้ตตัวกลางที่กำหนดว่าเพลงนี้อยู่ในคีย์ Major ที่สว่างสดใส หรือ Minor มืดหม่น คนฟังสามารถรู้สึกได้ทั้งสองแบบตามแต่จินตนาการ นั่นทำให้ท่อนนี้มันเต็มไปด้วยปริศนา
พอเข้าสู่นาทีที่ 0:28 จังหวะก็เปลี่ยนอีกรอบ กลายมาเป็นจังหวะ 125 BPM แนวทำนองร้อง/แร็ปถี่ละเอียดกว่าเดิม มีการเพิ่มมาของ Snare drum (กลองแต๊ก) พอ 0:32 มีการเพิ่มเสียง Bass drum (กลองใหญ่) มาช่วยเสริมทัพให้เพลงเต็มไปด้วยความหนักแน่น และที่สำคัญที่สุดคือการที่จังหวะเปลี่ยนกลับมากลายเป็น 135 BPM เท่ากับตอนต้นเพลงแล้ว บ้าที่สุด คนแต่งเก่งมากที่ทำให้การเปลี่ยนจังหวะในแต่ละครั้งมันสมูธไหลลื่นแบบที่ผู้เขียนฟังครั้งแรกก็แยกแทบไม่ออก รู้ตัวอีกทีดนตรีก็กลับมาเร็วเหมือนตอน Intro แรกแล้ว บ้าจริง
VERSE 1 (0:35-0:50)
ดนตรีจากช่วง Intro แรกของเพลงกลับมาอีกครั้งในท่อน Verse นี้ มีการใช้เสียงที่หลากหลายมากที่ทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นดนตรีท้องถิ่น ทั้งเสียงสังเคราะห์คล้ายกับเสียงปี่แหลมๆ ซึ่งเล่นโน้ตที่นำเสนอความเป็นละติน, เสียงกรุ๊งกริ๊งของ Tambourine, เสียงโดรนคล้ายกับเสียงของ Didgeridoo และเสียงก้องสะท้อนลอยๆ ที่จะว่าไปก็คล้ายกับเสียงของ Bass Flute แบบพื้นบ้านอเมริกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเต็มไปด้วยซาวด์สมัยใหม่ เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานกันของเสียงหลากหลายที่สร้างบรรยากาศอันน่าตื่นเต้นให้กับคนฟัง
ตัวอย่างเสียง Tambourine
ตัวอย่างเสียง Didgeridoo
ตัวอย่างเสียง Native American Bass Flute
PRE-CHORUS (0:50-1:03)
สีสันของเพลงเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ความสว่างสดใสเข้ามาแทนที่จากการใช้คอร์ดที่เป็น Major นำเสนอโดดเด่นออกมา เสียงดนตรีแห่งความวุ่นวายถูกปรับลดความสำคัญลง และเพิ่ม Volume ให้กับเสียงประสานที่ฟังสบายชูออกมา ดนตรีมีความมั่นคงแข็งแรงมากยิ่งขึ้นไปอีกเพราะมีแนวเบสที่ชัดเจน
แนวทำนองสลับกันไปมาระหว่างเสียงไล่สูงขึ้นอย่างแข็งแรงกับการร้องช่วงเสียงต่ำอย่างอ่อนแรงเหมือนคนทอนถอนหายใจ และโดยเฉพาะในนาทีที่ 0:55 การใช้คอร์ด D Minor ทำให้อารมณ์ของเพลงมันหม่นลงไปอีก เกิดความรู้สึกไม่แน่นอน ก่อนที่ดนตรีจะค่อยๆ บิวด์ขึ้นใหม่ บีตหนักกลับมาอีกครั้ง จังหวะถี่ละเอียดขึ้น เสียงทำนองร้องไต่ระดับสูงขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุด ดนตรีต่างๆ หยุดหายไปราวกับว่าร่างกายถูกเหวี่ยงขึ้นไปยังที่สูงลอยคว้างกลางอากาศ ปลดปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้เบื้องล่าง และพร้อมที่จะพุ่งชนกับทุกสิ่งข้างหน้า
CHORUS (1:04-1:18)
ตู้มมมม!!! สารพัดซาวด์สุดเท่ห์ภายในเวลา 2 วินาทีพาเราเดินทางเข้าสู่ท่อนฮุคสุดมัน พร้อมเฉลยจากเนื้อร้องคำว่า Baile ในภาษาสเปนที่แปลว่าการเต้น อย่างที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไปว่าเพลงนี้มีการใช้เสียงและองค์ประกอบหลายอย่างที่นำเสนอความเป็นละติน มีสไตล์แบบ Baile Funk หรือ Funk carioca จากแถบอเมริกาใต้ที่เป็นการผสมผสานดนตรีหลากหลายรูปแบบทั้ง Samba, เพลงละติน รวมไปถึง Old school hip-hop เข้าด้วยกัน
ตัวอย่าง แนวดนตรี Baile Funk
เรียกได้ว่ายิ่งใหญ่อลังการ องค์ประกอบมากมายไปหมดแต่กลับไม่มีเสียงใดเลยที่ลากค้างยาว ทุกเสียงถ้าไม่เล่นโน้ตสั้นแค่ลงจังหวะหนักก็จะเป็นลักษณะคล้ายทำนองร้องที่เป็นโน้ตสั้นที่แยกกันหมดแต่มีความถี่ละเอียดแทน นั่นทำให้ท่อนฮุคนี้มีความแข็งแรง ดุดัน หนักแน่น แต่ไม่รู้สึกว่ามากจนเกินไป มีสเปซให้พอหายใจหายคอบ้าง
นาทีที่ 1:07 แนวดนตรีสุดกระหึ่มกับโน้ตตัว D♯ โอ้โห อยู่ดีๆ เพลงก็เกิดเสียงแปร่งๆ คล้ายกับมันเป็นอะไรสักอย่างที่อันตรายซุกซ่อนอยู่ในความมืด ก่อนที่นาทีที่ 1:13 มันจะกลับไปลงโน้ตตัว D ตามปกติ เบสค่อยๆ ไต่ระดับต่ำลงไปหาโน้ตหลักของเพลงที่ตัว E แต่เฮ้ยยยย ไปแตะโน้ตหลักแค่สั้นๆ เท่านั้นแล้วเพลงก็สะดุด เสียงลอยค้างโน้ตตัว B ซึ่งเป็นโน้ตรองอยู่อีกแป๊บก่อนที่ทุกอย่างจะเงียบสนิท… นี่มันอะไรกัน เกิดอะไรขึ้นกันแน่????
บ้าน่า บ้าที่สุด ความเงียบประมาณ 5 วินาทีมันทำให้ผู้ฟังลอยเคว้งคว้าง ไร้ซึ่งหลักจับยึด ในหัวเต็มไปด้วยคำถามและความคาดหวังต่อการกลับมาของเสียงดนตรี ความเงียบคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนเกิดอารมณ์ที่รุนแรง ที่จริงต้องบอกเลยว่าความเงียบเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากของดนตรีที่คนเราไม่ควรมองข้าม เพลงนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว
SECTION B
INTRO (1:24-1:35)
โลกกลับตาลปัตร เราเดินทางออกสู่อีกมิติหนึ่งมาได้ยังไงกันเนี่ย ดนตรีที่เปลี่ยนไปชนิดที่ทำเอางงว่าเพลงเดียวกันจริงเหรอ ทำให้แอบนึกไปถึงอย่างเพลง Next Level ของวง aespa ที่ก็เคยสร้างปรากฏการณ์ทำเอาคนงงกันไปเป็นแถบมาก่อน
ตัวอย่าง เพลง aespa - Next Level นาทีที่ 2:02 การเปลี่ยนท่อนราวกับเปลี่ยนเพลง ใช้ความเงียบเข้าช่วยเช่นกันแต่ก็แค่สั้นๆ ไม่มากเท่าเพลง O.O
จาก Minor สู่ Major สดใสพลังบวกขั้นสุดยอด ไม่ใช่แค่นั้นนะ มันเปลี่ยนไปเป็นคีย์ A Major ซึ่งไม่ได้รีเลทกับคีย์ก่อนหน้าด้วยซ้ำ จะว่าเชื่อมโยงกันตามหลักทฤษฎีพอได้มั้ยก็อาจจะ แต่ในฐานะคนฟังมันเป็นการเปลี่ยนคีย์ที่กระโดดมาก ไม่ได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของจังหวะที่เปลี่ยนลงมาช้าถึง 100 BPM โอ้โห ไม่มีอะไรใกล้เคียงกันเลยนะ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่คนแต่งใช้ความเงียบเข้าแทรกเพื่อให้เราเกิดอาการหลงลืมเสียงจากท่อนก่อนหน้าและยินดีที่จะโยกไปกับเสียงใหม่ที่มาถึง
แถมยังมีการใส่ Intro เพื่อที่จะค่อยๆ แนะนำท่อนใหม่นี้โดนการเพิ่มเสียงต่างๆ เข้ามาทีละนิดสลับกับความเงียบ ไม่ปุบปับเกินไป พอให้คนได้เกิดความสงสัยใคร่รู้ ทั้งเสียงกลองใหญ่ เสียงคล้ายไซเรน และโดยเฉพาะเสียงกีตาร์ไฟฟ้าซึ่งไม่เคยได้ยินมาก่อน มันเป็นตัวบ่งบอกที่ชัดเจนมากว่าอะไรบางอย่างกำลังจะเกิดขึ้น
VERSE 1 (1:35-1:54)
ชัดเจน สไตล์ดนตรีเปลี่ยนไปแบบคนละเรื่องเลย กลายเป็น Pop-Rock ฟังง่าย เสียงเครื่องดนตรีกีตาร์ เบส กลองชุดให้ความรู้สึกที่คุ้นเคย มีความสนุกสนานสดใส ทำนองร้องเป็นไลน์เมโลดี้ชัดเจน และเต็มไปด้วยสีสันสวยงามจากเสียงร้องประสาน Background vocals ที่เข้ามาเติมเต็มทำให้เพลงไม่เหลือช่องว่างอย่างช่วงก่อนหน้า
จุดที่น่าสนใจคือแม้จะเปลี่ยนท่อนที่เหมือนกับการเปลี่ยนเพลง แต่ตัวทำนองร้องก็ยังคงยึดหลัก 3 คำ อยู่เหมือนเดิม ทั้งร้องคำเดิมซ้ำหรือเปลี่ยนคำศัพท์ก็จะยังคงจังหวะ หรือ Rhythm 3 โน้ตอยู่
เช่น Intro ตอนต้นเพลงที่ร้อง Shoog, shoog, shoog / poppin' it, poppin' it, poppin' it
ท่อน Verse ที่ร้อง Calm down, down, down
ท่อน Pre-chorus Dan-da-ra-dan-da-ra-dan แบ่งออกเป็น 3 ชุด
ท่อนฮุค baila, baila, baila
พอมาถึงท่อนนี้ก็อย่างเช่น Bam, bam, bam / See more, more, more / Scream, oh, oh, oh เป็นต้น
ทำนองเพราะมากจริงๆ ยิ่งช่วงนาทีที่ 1:45 ที่เป็นการร้องสลับโน้ตต่ำกระโดดไปสูง และไต่ระดับขึ้นไปในทุกครั้ง ก่อนที่ท้ายท่อนนี้จะไล่สเกลสูงขึ้น บวกกับ Chord progressions มีการเลือกใช้คอร์ดที่สร้างสีสันตระการตา แสดงออกถึงชัยชนะ ความรุ่งโรจน์ซึ่งพบได้บ่อยจากตามเกมเช่นเวลาผ่านด่านในเกมส์ Mario หรือเลเวลอัพใน Final Fantasy
ตัวอย่างเสียง Final Fantasy
VERSE 2 (1:54-2:13)
กีตาร์กลับมาโดดเด่นอีกครั้งเมื่อแนวทำนองลดบทบาทลง โอ๊ย ผู้เขียนยอมรับเลยว่ามันเป็นท่อนที่สนุกมากเพราะการสลับไปมาของแนวทำนองที่เดี๋ยวร้องเป็นเมโลดี้สวยๆ เดี๋ยวสลับไปแร็ป สลับไปพูดตะโกน อีกแป๊บกลายเป็นทำนองพร้อมเสียงประสานงดงามมาก มันไม่จำเจ มันคาดเดาอะไรไม่ได้เลย
จะว่าไปท่อน Verse ทั้ง 2 ท่อนนี้ก็ให้ฟีลที่เหมือนกับท่อน Chorus และ Post-chorus มากเลยนะ แต่เพื่อความไม่สับสนกับฮุคหลักของเพลงที่จะกลับมาอีกรอบผู้เขียนจึงขอเรียกว่ามันเป็นเพียงท่อหนึ่งใน Section B แล้วกัน
BRIDGE (2:13-2:23)
ขาดไม่ได้เลยสำหรับเพลง K-pop ก็คือท่อน Bridge ที่แม้แต่เพลงนี้ซึ่งเต็มไปด้วยสารพัดสิ่งแล้วก็ยังต้องจัดมาให้เรา เป็นครั้งแรกเลยสินะที่เราได้ผ่อนคลายจากเสียงเครื่องดนตรีมากมายอย่างแท้จริง (ความเงียบก่อนหน้านี้ไม่นับ อึดอัดจะตาย!) แนวเบสลากค้าง กีตาร์เกาคลอไปเบาๆ กับแนวทำนองร้องที่เบาบาง ฟังสบาย เหมือนกับกำลังล่องลอยอยู่บนก้อนเมฆนุ่มฟู แต่เดี๋ยวก่อน แป๊บเดียวพี่กลองชุดก็กลับมาฟาดป้าบเล่นเอาตกใจเพราะไม่ได้เตรียมใจมาก่อน
แต่แล้วเราก็เข้าใจว่าทำไมกลองชุดขึ้นมาเร็วขนาดนั้น เพราะ Bridge สั้นมาก แค่ครึ่งหนึ่งของ Verse เองนะ NMIXX ไม่ให้เราได้พักเลยเมื่อแนวร้องปรับเปลี่ยนกลับไปมีพลังอีกครั้ง ส่งเราไปถึงตัว A5 ราวกับการตะโกนประกาศออกไปให้โลกได้รับรู้ถึงชัยชนะ ความไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้ต่ออะไรก็ตาม
SECTION A’
ขาไปว่าหนักหนาสาหัสแล้ว ขากลับเข้าสู่ท่อนเดิมนี่โหดมาก ไม่ให้ตั้งตัวใดๆ เลย ยังกรีดร้องไฮโน้ตไม่จบก็ถูกฉุดวูบลงมาสู่ความมืดทะมึนดุดันโกรธเกรี้ยวอีกครั้ง อกอีแป้นจะแตก!!!!!!
ที่ผู้เขียนเรียก Section ถัดไปว่า A’ เนื่องจากมันคือการกลับมาของ Section A โดยยึดอยู่บนพื้นฐานทางดนตรีแบบเดียวกันแต่มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย ซึ่งโครงสร้าง A-B-A’ มีชื่อเรียกว่า Ternary form พบมากในเพลงยุคคลาสสิก
CHORUS (2:23-2:37)
เอาล่ะ เริ่มมา Watch out, baila, baila, baila แน่นอนว่าเราเปลี่ยน Section ของเพลงเปลี่ยนคีย์กลับมาเป็นเพลงตอนต้นแล้ว เชื่อว่าคนฟังหลายคนไม่สามารถจับจังหวะของจุดนี้ได้เลยเนื่องจากดนตรีห่างไปเกือบหมด ไม่มีการลงบีตอย่างต่อเนื่อง
แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วเรายังอยู่ในจังหวะเดิมของท่อนก่อนหน้าซึ่งก็คือ 100 BPM อยู่ ก่อนที่นาทีที่ 2:26 บีตจะส่งในจังหวะใหม่แล้วเพลงก็กลายเป็นกลับเข้าสู่จังหวะ 135 BPM อีกครั้งนึงแบบเนียนๆ ท่อน Chorus กลับมาแบบเต็มสตรีมแล้ว.. อู้หูย สุดยอด ขอซูฮกคนแต่งจริงๆ
POST-CHORUS (2:37-2:57)
ดนตรียังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน เอาอีกๆๆๆ มันยังไม่สาแก่ใจ ท่อนฮุคที่องค์ประกอบต่างๆ ยังอยู่เหมือนเดิมช่วยพาเพลงดำเนินไปข้างหน้า มีการปรับเปลี่ยนแนวร้องชูเสียง Synthesizer ที่แตกต่างออกไปขึ้นมา แล้วพาวนกลับเข้าครึ่งหลังของท่อนฮุคอีกครั้งเพื่อเป็นการบ่งบอกว่านี่แหละคือประโยคที่ฉันอยากจะบอกและสื่อสารออกไปให้ได้ยินกันเป็นครั้งสุดท้าย จนกระทั่งนาทีที่ 2:50 มีเสียง Distortion เสียงแตกต่ำๆ สวนขึ้นมาไม่ต่างจากฮุคก่อนหน้าแต่ในครั้งนี้มันถูกปรับให้ดังเด่นชัดออกมาดั่งสัญญาณสิ้นสุดท่อนฮุค แต่โอ๊ย ไม่จบไม่สิ้น ยังจะไปต่อ OUTRO (2:52-3:01) ขออีกสักนิดให้เราทรมานใจเล่น และในที่สุดก็เพลงจบลงอย่างค้างคาที่โน้ตตัว B เหมือนกับการจบ Section A ที่สุดแสนจะใจร้ายเลย
เป็นเพลงที่น่าสนใจมาก ทั้งโปรดิวเซอร์ ผู้แต่ง ค่าย และตัวศิลปินล้วนแสดงออกถึงความกล้าที่จะพาเอาเทรนด์ที่กำลังเป็นที่ฮอตฮิตอยู่ไปให้ไกลกว่าเดิม แตกต่างยิ่งกว่าเดิม อาจเรียกได้ว่าไปสุดเท่าที่จะทำได้แล้วในขณะนี้ ผู้เขียนขอนับถือมากเลย
จริงๆ หลายคน (รวมถึงตัวผู้เขียนเอง) รู้สึกว่าเพลงนี้มันอาจจะ "เยอะ" เกินไปหน่อย เพลงมีความซับซ้อน มีการเปลี่ยนแปลงเยอะแยะไปหมดในเวลาแค่ 3 นาที ซึ่งไม่แปลกเลยเพราะมันคือสิ่งที่พวกเราหลายคนไม่คุ้นชิน
แต่ผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตรูปแบบของศิลปะที่คนเราเสพกันจะค่อยๆ เปลี่ยนไปตามกระแสสังคมและโลกที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดเพลงนี้ก็จะกลายเป็นที่กล่าวถึงในฐานะผู้มาก่อนกาล ผู้ที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการ K-POP