ปัญหาที่มักเกิดบนเวที โดย ต้า Paradox
วันนี้อยากเล่าเรื่องปัญหาต่าง ๆ ที่นักดนตรีต้องเตรียมเจอ ในช่วงเวลาขึ้นเล่นคอนเสิร์ต เพราะน้องๆ หลายคนอาจจะยังไม่มีประสบการณ์ แต่กำลังจะต้องขึ้นเวทีโชว์ ผมจะเล่าให้ปัญหาให้ฟัง เผื่อได้ใช้เป็นประโยชน์บ้างนะครับ
1. เกิดความตื่นเต้นและไม่เป็นตัวของตัวเอง
ปัญหาเรื่องจิตใจเป็นปัญหาอันดับแรกที่ใหญ่มาก เขาถึงมีการเปรียบเทียบว่า ”แพ้ในมุ้ง” ผมว่าใกล้เคียงเลย ก็คือ ถ้าจิตใจสั่นไหวแล้ว หรือที่เป็นกันมาก เช่น ซ้อมมา 100% ถึงเวลาจริง จะเหยียบบันไดขึ้นเวที ความมั่นหายไปเหลือแค่ 20% ก็มี อยู่ที่บ้านซ้อมกีตาร์โซโล่เป็นเทพ ถึงเวลาจริงมือไม้สั่น นิ้วแข็งทื่อลนลานไปหมด พอขึ้นเวทีก็เล่นผิดเล่นถูก กลายเป็นนิ้วพันกันเปะปะไปซะเฉย พาลรู้สึกท้อใจหลังคอนเสิร์ตจบ กลับบ้านไปซ้อมใหม่ พอถึงเวลาจริงก็เป็นแบบนี้อีก วนลูปนรก ปัญหานี้เป็นกันมาก ผมพิสูจน์มาแล้วว่า เกิดจาก ”สมาธิ” ซึ่งต้องฝึกฝนแยกย่อย
สมาธิ หรือ ความนิ่ง เกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ เหมือนนักกีฬาที่ขึ้นแข่งบ่อย ก็จะมีความนิ่งขึ้น และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีสติ ส่วนเล่นดนตรีนั้นคล้ายกันมาก ถ้าจะแนะนำ ก็คือ ต้องใช้วิธีการ ”ฝึกสมาธิบ่อยๆ” คิดว่าช่วยได้เยอะครับ อย่างน้อยก็ประมาณ 20% ก็ถือว่ายังช่วยได้บ้าง ที่เหลือก็แล้วแต่จิตใจของแต่ละคน ผมเคยเขียนเคล็ดลับไปแล้ว ว่า ให้ลอง ”จ้องมองไปที่คนดูหน้าเวทีจนคุ้นตา” วิธีนี้จะคลายความตื่นเต้นลงไปได้เยอะเลยครับ
2. การได้ยินการได้ยินเสียงจากมอนิเตอร์บนเวทีเปลี่ยนไป หรือ ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง
ปัญหาอันดับหนึ่งเลยสำหรับตัวผมเอง คือการขึ้นเล่นบนเวที ถึงเวลาจริงแล้วเสียงเปลี่ยน เสียงที่ได้ยินตอนซาวด์เช็คเปลี่ยนไป อาจจะด้วยอุณหภูมิหรืออากาศ อะไรตามทฤษฎีที่ทำให้เสียงเปลี่ยน ต้องบอกไว้เลยว่า 100%เสียงจะเปลี่ยนไปนะครับ น้อง ๆ ที่ซาวด์เช็คก่อนเล่นช่วงบ่าย พอตอนเล่นจริง ตัวแปรที่จะทำให้เสียงจากมอนิเตอร์ที่ตั้งไว้เปลี่ยน มีมากมาย สรุปแล้ว ปัญหาส่วนใหญ่โดยเฉพาะนักดนตรีสมัครเล่น หรือนักดนตรีประกวด คือการฟังเสียงบนเวทีไม่รู้เรื่อง ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในการเล่นดนตรี อันนี้สำคัญมาก วิธีแก้ปัญหานี้ค่อนข้างยากหน่อย ปัจจุบันผมเองก็ยังแก้ไม่ค่อยได้ ถึงแม้จะมีระบบหูฟังส่วนตัวแล้วก็ตาม เพราะเสียงจะเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา คาดเดาไม่ได้ โดยเฉพาะการเล่นวงต่อวง มีหลายวง ไม่ใช่วงเราวงเดียว แก้ปัญหาง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็คือ จดหรือใส่ใจกับการตั้งเสียงซาวด์เช็คให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจำเป็นต้องเลือกเสียงที่เราใช้ฟังจริงๆเป็นหลัก และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ staff ผู้ดูแลเรื่องมอนิเตอร์ให้เค้าช่วยสแตนด์บายล่วงหน้า เผื่อฉุกเฉินเวลาเล่นจริง อาจจะใช้ลูกอ้อนหน่อยก็ได้ เผื่อไม่ให้ดูเรื่องมากสำหรับวงหน้าใหม่ พยายามอย่าเปิดเสียงดนตรีดังเกินไป โดยเฉพาะต้องเผื่อให้เสียงร้องได้ยินชัดที่สุด เพราะวงดนตรีก็ต้องฟังเสียงร้องกันทุกคนอยู่แล้ว
3. อุบัติเหตุต่างๆที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิด
ตอนขึ้นเล่นบนเวที บ่อยครั้งที่จะมีเหตุขัดข้องจากเครื่องมือหลายอย่าง เกิดขึ้นมาโดยไม่ได้รู้ตัว เช่น ไฟดับ สายขาด กลองแตก หรือแอมป์กีตาร์เสียงติดๆ ดับๆ สิ่งนั้นทำให้ความตื่นเต้นยิ่งเพิ่มทวีคูณ วิธีแก้ปัญหาแบบนี้ คงต้องใช้ประสบการณ์ในการเอาตัวรอด เช่น ไฟดับ ถ้าเหลือแต่ไมโครโฟนก็สามารถพูดคุยกับคนดูได้ชั่วคราว หรือให้มือกลองตีจังหวะแก้ขัดไปก่อน เหมือนอินโทรเพลงเพิ่มความคึกคักแล้วนักร้องก็เล่นมุก พูดคุยกับคนดูไปก่อน แต่ถ้าสายขาดก็จะต้องเตรียมกีตาร์ไว้ 2 ตัว สำรองเวลาสายขาดก็สามารถเปลี่ยนได้ทันที โดยเฉพาะวงดนตรีที่มีกีตาร์เพียงตัวเดียว หรือปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาอีกมากมายโดยมิได้นัดหมาย วิธีแก้ปัญหาโดยรวมก็คือ พยายามประเมินสถานการณ์ว่าใหญ่มากแค่ไหน เช่น ครั้งหนึ่งผมเคยไปเล่นแล้วไฟดับ ส่วนใหญ่ไฟจะดับประมาณไม่เกิน 1 นาที ซึ่งเราก็ยังสามารถเล่นกับคนดูไปได้ แต่ครั้งนั้นไฟดับเกิน 1 นาที ผมตัดสินใจชวนวงดนตรีลงไปยืนหลังห้องแต่งตัวกันใหม่ เพื่อรอให้เขาแก้ปัญหาให้ได้เสียก่อน ดีกว่ายืนเด๋อบนเวที สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้ แต่มีแน่นอนครับไม่ต้องกลัว (ฮ่าๆๆ)
3 ข้อ ที่ยกมาเป็นเรื่องที่มักจะเกิดบ่อยที่สุด เป็นภาพรวมของปัญหาที่นักดนตรีทุกคนจะต้องได้เจอแน่นอน อยากฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังจะขึ้นเวทีสำคัญ ซึ่งบางคนอาจจะกำลังวิตกกังวลว่า จะเจออะไรบ้าง ผมก็แนะนำเพื่อให้เตรียมตัวแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้าดีที่สุดครับ และสรุปแล้วทั้งหมดของปัญหา สามารถช่วยได้ด้วยการ ”เตรียมตัวฝึกซ้อมล่วงหน้าให้พร้อมมากที่สุด” จาก 100% ซ้อมไปให้ถึง 200% ไปเลย เผื่อขึ้นเวทีหายไปเหลือ 90% ก็ยังดีครับ
ขอให้ทุกคนเล่นดนตรีอย่างสนุกสนานนะครับ