วิเคราะห์ดนตรี NCT DREAM - Glitch Mode จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก
ผลงานใหม่ล่าสุดของ NCT DREAM วงน้องเล็กแห่งจักรวาล NCT ที่ในครั้งนี้ต้องบอกเลยว่ามาสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับแฟนๆ ด้วยดนตรีที่แปลกใหม่ พาให้ 7 ดรีมโตขึ้นไปอีกขั้นแต่ก็ยังคงไม่ทิ้งลายความสนุกสนานตามสไตล์น้องดรีมผ่านองค์ประกอบมากมายที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในเพลง Glitch Mode
Composed by Sam SZND, Alony 55 & Benjamin 55
Arranged by Alony 55 & Benjamin 55
Lyric by 유재은 (Yoo Jae Eun) (JamFactory) & MARK (마크)
B♭ Major - 84 BPM
โครงสร้างเพลงของ Glitch Mode
INTRO 0:09-0:22
CHORUS 0:22-0:45
VERSE 1 0:45-0:57
VERSE 2 0:57-1:09
PRE-CHORUS 1:09-1:34
CHORUS 1:34-1:57
VERSE 3 1:57-2:08
VERSE 4 2:08-2:20
PRE-CHORUS 2:20-2:43
BRIDGE 2:43-3:09
CHORUS 3:09-3:31
INTRO (0:09-0:22)
ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ดู MV ก็คิดว่าเพลงเริ่มที่ประโยค Scratch that, bring it back แต่เมื่อได้ฟังเวอร์ชั่น audio จึงได้ค้นพบว่าเสียงประกาศต้อนรับนั้นคือ Intro ของเพลงจริงๆ ที่ช่วยสร้างบรรยากาศและอารมณ์ร่วมให้กับคนฟังชนิดที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลยว่าจะเริ่มตรงไหน อย่างไร จังหวะและสไตล์ของเพลงจะเป็นแบบไหนกันแน่
จนกระทั่งเสียงร้องเข้ามา โอ้โห ตกใจเลยนะเพราะทุกสรรพเสียงมันเงียบหายไปสนิท เหลือไว้แค่เสียงแร็ปที่มีความกระแทกกระทั้น รุนแรง เฉียบคม แถมยังเป็นจังหวะที่ไม่ต่อเนื่องกัน มีการสลับรูปแบบไปมาในระยะเวลาสั้น เล่นเอางงหนักกว่าเดิมไปอีก นี่มันอะไรกัน!
CHORUS (0:22-0:45)
เริ่มเพลงมาด้วยท่อนฮุคเลย! เฮ้ย นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยมากกับเพลงไตเติลของ NCT DREAM มีแค่เพลง "Ridin’" เท่านั้นที่หลังจาก Intro นำเข้ามาแล้วจะนำเสนอท่อน Chorus ทันที ("Chewing Gum" และ "Hot Sauce" ยกเอาองค์ประกอบแค่เพียงบางส่วนของท่อนฮุคมาใช้เป็น Intro เริ่มต้นเพลง) เรียกได้ว่าไม่รีรอใดๆ ทั้งสิ้น
ตัวอย่างเพลง NCT DREAM - Ridin’ นาทีที่ 0:12 เริ่มเพลงด้วยท่อน Chorus
ตัวอย่างเพลง NCT DREAM - Chewing Gum
ตัวอย่างเพลง NCT DREAM - Hot Sauce
แนวเบสโดดเด่นมาก่อนใครเพื่อนหลังจากที่เราเจอกับความเงียบมา เสียงโน้ตสไลด์อยู่บนสเกล Chromatic หรือการไล่เสียงห่างกันทีละครึ่งเสียงถือเป็นหนึ่งในลักษณะเด่นอย่างนึงที่อยู่คู่กับเพลงของ NCT DREAM มาทุกยุคทุกสมัย
น่าสนใจมากที่แนวเบสมันมีความดาร์ก ให้ความรู้สึกว่าเหมือนจะอยู่ในคีย์ Minor แนวร้องแร็ปเองก็ดุเดือดกระแทกรุนแรง แต่คำลงท้ายของแต่ละประโยคกลับเลือกใช้โน้ตที่นำเสนอความเป็น Major อย่างชัดเจนเสมอเลย สีสันที่ผสมกันไปมามันทำให้เห็นเป็นภาพที่แตกออกและซ้อนทับกันอยู่
แต่แล้วในนาทีที่ 0:34 แนวเบสย้ายจากโน้ตหลักของเพลงที่ตัว B♭ ไปเป็น G♭ แทน อ้าวเฮ้ย งงเลย การใช้คอร์ด ♭VI มันทำให้เกิดสีสันที่น่าสนใจมาก คล้ายกับในเพลง "Hello Future" ที่ก็มีการใส่คอร์ดนี้เข้ามาทำให้เพลงมีความรู้สึกล้ำมากขึ้น ออกจากกรอบแต่ไม่ได้ไกลมากจนเกินไป แต่เพลงนี้เล่นใช้มาเป็นคอร์ดหลักเลยนี่สิ อื้อหือ เปรี้ยวมากๆ แล้วจึงกลับเข้าสู่ B♭ Major อย่างสมบูรณ์อีกครั้งในนาทีที่ 0:39
ความน่าสนใจของท่อนฮุคนี้อีกอย่างคือความโปร่งของเพลงที่มีเพียงเบส บีตอีก 2-3 เสียง เสียงตะโกน มีเสียงประสาน hmm hmm แทรกเข้ามาบ้างแต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก (แต่คอร์ด Major เพราะมากๆ) นั่นทำให้แนวร้องมีความโดดเด่นออกมาชัดเจน มีการเน้นคำพ้องเสียงสองพยางค์ของทุกๆ ท้ายประโยคด้วยโน้ตที่ใกล้เคียงกันเสมอ เป็นจุดที่ฟังเพียงไม่กี่ครั้งคนก็สามารถร้องตามได้ในทันที
VERSE 1 (0:45-0:57)
ผ่านไปเกือบ 40 วินาทีกว่าเราจะเข้าสู่ท่อนปกติเป็นครั้งแรก เบสยังคงอยู่กับเราเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนเนื้อเสียงที่แตกต่างออกไป ไม่ได้เบลอๆ และลากค้างมากเท่าช่วงก่อนหน้า และเพิ่มเสียงบีตที่ก้องค้างคล้ายกับการตีแผ่นเหล็กอันใหญ่ๆ เข้ามาซ้อนแนวเบสแทน แนวทำนองที่แม้จะเสียงต่ำก็ไม่ได้ถูกเสียงอะไรเข้ามารบกวนเลยเนื่องจากไม่มีเสียงอื่นในช่วงเสียงสูง
ตัวอย่างเสียง การตีแผ่นเหล็ก ถือเป็นเครื่องดนตรีในตระกูลเครื่องกระทบได้ด้วย ในบางครั้งใช้ในการสร้างเสียงฟ้าร้อง
เป็นอีกครั้งที่ทำนองใช้โน้ตที่นำเสนอความเป็น Minor สุดๆ ตลอดช่วง Verse 1 แล้วบอกเลยว่าเป็นแบบนี้ทั้งเพลงจริงๆ ความ Glitch Mode ภาพทับซ้อนที่สลับไปสลับมาอย่างจับไม่ถูก
ตอนแรกผู้เขียนคิดว่าเสียงเร่งเครื่องในนาทีที่ 0:51 เป็นเพียง Sound effect ที่ใส่เพิ่มเข้ามาใน MV แต่ที่จริงมันก็อยู่ในเพลงด้วย โห ใช้ได้เลยนะ มาทีเดียวแล้วหายไปเลยอีก
VERSE 2 (0:57-1:09)
เสียงดนตรีโดยรวมกลับไปเหมือนกับในท่อน Chorus อีกครั้ง มีเสียง Snare ที่โดดเด่นแหลมเสียดแทงขึ้นมาเลย แนวแร็ปถี่ละเอียดช่วยส่งเสริมให้อารมณ์ของเพลงสนุกมากขึ้น
แต่เดี๋ยวนะ เฮ้ย อยู่ดีๆ ก็สะดุดกันหน้าทิ่มในนาทีที่ 1:02 ที่อยู่ดีๆ ทำนองและดนตรีกลายไปเป็น C Major ซะงั้น มายังไง? มีการเพิ่ม Synthesizer เสียงสังเคราะห์เข้ามาซ้อนแนวทำนองซึ่งเนื้อเสียงมีความกระด้าง 8bit ทุกอย่างมันดูหลุดโลกไปหมด เหมือนอยู่ดีๆ หน้าตอคอมพิวเตอร์ของเราก็มี pop-up เด้งขึ้นมาบอกว่า error อะไรบางอย่างมันผิดปกติซึ่งเราสามารถบอกได้ทันทีจากสีสันของดนตรีที่ถูกนำเสนอออกมาอย่างปุบปับและในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะกลับไปเน้นย้ำโน้ตตัว B♭ โน้ตหลักของเพลงซ้ำๆ ซึ่งก็ถือว่าเป็นแพทเทิร์นใหม่อีกแล้วซึ่งก็บ่งบอกชัดเจนว่าดนตรีกำลังจะเปลี่ยนทิศทางไปสู่ฉากใหม่แล้วนะ!
PRE-CHORUS (1:09-1:34)
ในที่สุดเราก็เข้าสู่ท่อนสุดแสนไพเราะทำนองฟังสบายกับคอร์ดใหม่ สีสันใหม่อีกครั้งนึง แหม ให้เราเจออะไรน่าสนใจได้ไม่หยุดหย่อนจริงๆ และเป็นครั้งแรกที่เรามีเสียงประสาน Harmony ของดนตรีเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของเพลงชนิดที่ว่าถึงจะไม่มีบีต ถึงแนวร้องจะร้องแบบผ่อนคลายแค่ไหน ถึงเครื่องดนตรีจะเปลี่ยนไปเล่นสไตล์ แต่ความหนักแน่นของเพลงยังคงอยู่เสมอ ไม่ได้รู้สึกว่าอะไรหายไปเลย
สิ่งที่ชอบมากของท่อนนี้อย่างนึงคือการใช้เสียงเครื่องดนตรีที่มีความเป็น Acoustic อย่างเบสไฟฟ้า กลองชุด แม้จะยังมีโน้ตลากจากเสียงสังเคราะห์อยู่แต่ก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากตลอดช่วงก่อนหน้านี้ที่มีความเป็น Electronics ล้ำสมัยสูงมาก
แนวทางเดินของคอร์ดในท่อนนี้ก็เรียกได้ว่าเกินคาดจากที่คิดอยู่ ไม่ได้ตามแพทเทิร์นที่พบได้บ่อยๆ สังเกตได้จากการที่มีคอร์ดที่แตกต่างกันอยู่แค่ไม่กี่คอร์ดเท่านั้นแต่การจัดเรียง การเลือกชูโน้ตบางโน้ตให้โดดเด่นออกมาเป็นพิเศษ ร่วมกับแนวทำนองสุดอลังการก็สามารถทำให้ท่อนนี้มีสีสันที่น่าสนใจได้ โดยเฉพาะช่วงท้ายท่อนที่ไม่ได้เน้นร้องอีกต่อไป ในขณะที่ดนตรีค่อยๆ ไต่ระดับพาเราไปยังจุดสูงสุด
แต่แล้วทุกอย่างก็หายวับไปกับตา เพลงสะดุดกึกอีกครั้งพร้อมกับประโยค Scratch that, bring it back! พาเราเข้าสู่ท่อนฮุค CHORUS (1:34-1:57) ติดบัคกันอีกครั้ง
VERSE 3 (1:57-2:08)
ถือว่าเป็นการมาถึงของ Verse หลังจาก Chorus ที่เลทมากๆ ได้ยินแล้วก็ยังแอบงงว่าอ้าว เพิ่งจะท่อนนี้เองหรอ เนื่องจากเพลงนี้ที่จริงก็มีจังหวะที่ค่อนข้างช้า ทำให้แต่ละท่อนของเพลงค่อนข้างจะยาวเป็นพิเศษ แล้วไหนจะยังการเริ่มเพลงด้วยท่อนฮุคมาก่อนอีก เล่นเอาผ่านไปเกือบสองนาทีเลยทีเดียว
แถมยังเป็น Verse ที่ก็นำเสนอสิ่งใหม่อีกแล้ว ถึงจะมีแนวเบสแบบเดิมจาก Verse แรกคงเอาไว้ แต่ก็มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย แนวทำนองแร็ปสลับไปมาระหว่างสองคนแบบที่ไม่ได้แน่นอนเท่ากันตลอด เดี๋ยวสั้นเดี๋ยวยาว เดี๋ยวเสียงสูงเสียงต่ำ ฟังแล้วก็จับอะไรแทบไม่ได้ แล้วยิ่งมาเจอเสียงไซเรนที่ดังเตะหูมาก่อนใครก็ทำให้ทุกอย่างมันผสมปนเปกันเยอะแยะไปหมด เรียกได้ว่าวุ่นวายเหลือเกินจนจะทำเอาคนฟังว้าวุ่นไปด้วย จะว่าไปฟังแล้วก็นึกถึงเพลง "Ridin’" ที่ก็ใช้เสียง Siren เข้ามาไว้ในเพลงเช่นกัน บีตต่างๆ
แนวทำนองเดิมกลับมาอีกครั้งในนาทีที่ 2:03 แต่สัญญาณอันตรายก็ยังคงดังเตือนเราต่อไป ระบบต่างๆ ของเพลงมันไม่ปกติจริงๆ
VERSE 4 (2:08-2:20)
เอาอีกแล้ววววว เพลงยังคงเปลี่ยนต่อไปอย่างไม่มีเหนื่อยเลย เชื่อว่าท่อนนี้ต้องเป็นท่อนที่ถูกใจหลายคนมาก เนื่องจากเป็นท่อนที่เนื้อร้องไม่ได้มากมาย จังหวะค่อนข้าง Simple แถมยังมีท่อนคล้ายกับให้คนฟังสามารถตะโกนกลับเป็นอังกอร์ได้อีกด้วย การใช้เสียงตะโกนของกลุ่มคนโต้ตอบกลับมาจากที่ไกลกว่านี้ก็สร้างประสบการณ์การฟังที่ดีมากๆ ให้กับผู้ฟัง เรียกได้ว่าครบรสจริงๆ นะเนี่ย
แถมถ้าสังเกตลักษณะของการลงบีตเองก็เรียกได้ว่าไม่รบกวนแนวร้องเลย จังหวะของบีตกับเบสมันไปพร้อมๆ กัน ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความมั่นคงแบบสุดๆ แม้ว่าจังหวะของเบสจะไม่ได้มีความมั่นคงขนาดนั้นเลยตลอดทั้งเพลงที่ผ่านมาเนื่องจากว่ามันมักจะเล่นอยู่ในจังหวะขัดก็ตาม แต่การซ้อนประสานกันในท่อนนี้ก็ทำให้เราสามารถโยกหัวตามจังหวะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมไปอีก
นาทีที่ 2:14 อีกครั้งที่ท่อน error กลับมา ถ้าหากตั้งใจฟังดีๆ ใส่หูฟังฟังแบบชัดๆ จะได้ยินเสียงร้องประสานด้วยขั้นคู่ที่กัดกันมากๆ เหมือนเสียงเด็กกระซิบในช่วงเสียงสูงกว่าทำนองหลัก บอกเลยว่าฟังแล้วหลอนอย่างกับหนังผีแอนนาเบลเทือกนั้นเลยนะ
PRE-CHORUS (2:20-2:43)
เป็นการสลับกลับมาท่อนไพเราะอีกครั้งนึง โอ้โห พูดจริงว่าผู้เขียนประทับใจการสลับสับเปลี่ยนวิธีการร้องในเพลงนี้มาก ภายในท่อนเดียวกันเองมีทั้งร้องเพราะๆ ตามทำนองโน้ต มีร้องแร็ป ตะโกน ช่วงเสียงสูงบ้างต่ำบ้าง จังหวะหลากหลายสลับกันไปมาตลอดเวลา จากที่เพลง "Hello Future" ก็เคยทำไว้ดีมากแล้ว เพลงนี้พาเอาทำนองให้บียอนด์ไปไกลกว่าเดิมมากๆ
ตัวอย่างเพลง NCT DREAM - Hello Future มีการสลับร้องและแร็ปไปมาภายในแต่ละท่อน
ในท่อน Pre-chorus นี้แตกต่างจากรอบแรกจนทำเอาผู้เขียนถึงกับเหวอไปเลย เมื่อเข้านาทีที่ 2:32 ช่วงครึ่งหลังของ Pre-chorus จากที่เคยกลายเป็นทำนองเสียงต่ำลงตามด้วยแร็ป รอบนี้ทำนองกลายเป็นกระโดดไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเบสและกลองเองก็ส่งกันสุดๆ บิ๊วอารมณ์จนแทบจะเรียกได้ว่านี่แหละคือท่อน Bridge ท่อนที่แตกต่าง ท่อนโชว์ Vocal ในตำนานของค่าย SM Entertainment ที่ในครั้งนี้มันคือการดัดแปลงท่อนพรีฮุคนี่เอง เออ เจ๋ง ทำไปได้ยังไง ยอม!
ช่วงท้ายแนวร้องตะโกนเสียงสูงราวกับต้องการปลดปล่อยทุกสิ่งระเบิดออกมา แต่ในขณะเดียวกันนั้นเองดนตรีกลับไล่เสียงต่ำลง เสียงคล้าย Chimes กรุ๊งกริ๊งเข้ามาเหมือนกับว่าเอ๊ะ หรือว่าเพลงมันจะสงบลงกันนะ เสียงดนตรีค่อยๆ ยืดย้วยต่ำลงไปอีกพร้อมกับเสียงต่ำประกาศออกมาว่า Neo Culture Technology …ข้างหน้ามีอะไรรอเราอยู่กันแน่?
ตัวอย่างเสียง Chimes
BRIDGE (2:43-3:09)
ตัดท่อนฮุคออกไปเลยค่ะ (เนื่องจากมันถูกเอาไปใส่ตอนต้นเพลงแทนแล้ว) กลายเป็นเข้าสู่ท่อน Instru หรือ Dance break ซึ่งโดยปกติก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Bridge สะพานที่พาเราข้ามฝั่งเชื่อมเรากลับไปยังท่อนปกติ และขอบอกเลยว่าผู้เขียนก็ยังกรี๊ดไม่หยุดกับท่อนนี้ที่ทำให้ประหลาดใจได้อีกเช่นเคย
นี่มันเพลงร็อคชัดๆ! เสียงกีตาร์ไฟฟ้ามาแบบจัดเต็ม หนักแน่น ฟังแล้วก็ทำให้นึกไปถึงอย่างเพลงของ WayV หลายเพลงที่ก็มักจะมีท่อนกีตาร์ไฟฟ้าแบบนี้เลย
ตัวอย่างเพลง WayV - Turn Back Time นาทีที่ 2:44 ท่อน Dance Break กับเสียงกีตาร์ไฟฟ้า
ตัวอย่างเพลง WayV - Moonwalk นาทีที่ 2:40 ท่อน Dance Break กับเสียงกีตาร์ไฟฟ้า
ท่อน Dance Break ของน้องดรีมเป็นท่อนที่หลายคนอาจรู้สึกว่าเอ๊ะ ทำไมมันแตกต่างกับเพลงหลักเยอะจัง ทั้งที่จังหวะก็เท่าเดิม อยู่ในคีย์ B♭ เหมือนเดิมด้วยซ้ำ ในมุมมองของผู้เขียนคิดว่าเพราะท่อนนี้เป็นครั้งแรกที่นำเสนออย่างชัดเจนว่ามันคือคีย์ B♭ Minor ในขณะที่ตลอดช่วงที่ผ่านมาแม้จะเป็นการผสมผสานกันของหลากสีสันแต่ก็เน้นไปทาง Major ที่มีความสนุกสดใสมากกว่า แล้วไหนจะเครื่องดนตรีอีก แนวเบสหลักที่หายไปกลายเป็น Riff กีตาร์แบบใหม่ไฉไลสุดๆ มีช่วงที่สะดุดบ้าง สอดแทรกด้วยบีตสมัยใหม่เหมือนกับอาการกระตุกติดบัคแทบจะตลอดเวลา
แต่ก็ยังคงคอนเซปต์เสียงตะโกนอย่างดุดันเอาไว้เหมือนเดิม ชนิดที่ฟังยังไงก็เป็นเพลงน้องดรีมที่เต็มไปด้วยพลังแห่งวัยรุ่นไฟแรง
ก่อนที่ในช่วงท้ายเราจะพบกับ Transition เปลี่ยนผ่าน Scratch that, bring it back พาเรากลับเข้าสู่ดนตรีแบบเดิมแต่ในรอบนี้มันกลับเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ไม่ใช่ความเงียบสนิทอีกต่อไป เอาเว้ย ไปให้สุดเลยค่ะ
CHORUS (3:09-3:31)
มันต้องมีคนหน้าหงายแน่ๆ กับการหวนคืนของ Chorus รอบสุดท้ายที่โลกกลับตาลปัตรมากจากท่อน Dance Break ซึ่งค่อนข้างยาวเลย นี่มันช่างเป็น Glitch mode จริงๆ ทำเป็นเล่นไป เราเกือบจะหลงลืมท่อนฮุคที่ห่างหายไปนานเกินนาทีด้วยซ้ำ เป็นอะไรที่น่าประหลาดใจมากที่เพลงพาเราออกไปผจญภัยไกลและนานขนาดนี้
แต่อย่างไรก็ดี ท่อนฮุคก็ยังคงเป็นท่อนฮุคที่เมื่อเราได้ฟังก็รู้สึกเหมือนกลับสู่บ้านที่อบอุ่นอีกครั้ง ท่อนฮุคสุดท้ายที่เสียงบีตจัดเต็มกว่าเดิม เสียงคล้าย Hi-hat สูงแหลมเสียดแทงออกมา แล้วไหนจะยังเสียง Synthesizer ในช่วงท้ายที่ถูกเพิ่มเข้ามาตั้งแต่ฮุครอบก่อนอีก ไหนจะแนวทำนองร้องหลักจากที่เคยเป็นคนเดียวแร็ปสลับกับการร้องสองคำเป็นกลุ่ม ในฮุคสุดท้ายนี้ก็จัดเต็มมากันทั้งทีมแบบไม่มียั้ง แถมน่าสนใจว่าท่อนนี้มันรู้สึกว่าพีคมากแล้วโดยที่ไม่ได้มีแนวร้องแอดลิบโชว์โวคอลเหมือนกับเพลงอื่นๆ เลยแม้แต่นิดเดียว เอาสิ ไปให้สุด แล้วหยุดที่การจบลงคอร์ด Major อย่างสวยสดงดงาม
ถือว่าเป็นเพลงที่ค่อนข้างยาวเลยเมื่อเทียบกับหลายเพลงในปัจจุบัน แต่เชื่อว่าผู้ฟังหลายคนไม่ได้รู้สึกว่ามันยาวนานขนาดนั้น เนื่องจากผู้แต่งจัดวางองค์ประกอบและแบ่งท่อนในเพลงได้ดีเยี่ยม สลับสารพัดสิ่งไปมาพาให้เรารู้สึกสนุกได้ตลอดทั้งเพลง มีท่อนที่ไพเราะจนทำเอาอยากจะกลับไปกดฟังอีกสักครั้งสองครั้ง สีสันที่หลากหลายนี้มันสื่อสารความเป็น Glitch Mode ออกมาได้อย่าง Perfect ลงตัวมากๆ ผู้เขียนขอแสดงความนับถือผู้แต่งและศิลปินจากใจ