ซื้อและขายและสินค้าออนไลน์อย่างไรไม่ให้เสียใจภายหลัง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

ซื้อและขายและสินค้าออนไลน์อย่างไรไม่ให้เสียใจภายหลัง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

ซื้อและขายและสินค้าออนไลน์อย่างไรไม่ให้เสียใจภายหลัง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ทุกวันนี้เราจะคุ้นเคยกับการซื้อและขายสินค้าออนไลน์จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว แต่ยังมีเพื่อนๆ น้องๆ จำนวนหนึ่งประสบปัญหากับการซื้อขายออนไลน์อยู่ บางรายถึงกับเสียใจ ไม่ก็โกรธตัวเองที่เสียท่ามิจฉาชีพในคราบผู้ขายไปเลย บทความนี้แนะนำกับผู้ซื้อและผู้ขายมือใหม่เป็นหลักครับ เน้นเฉพาะซื้อขายสินค้าประเภทที่เกี่ยวกับเพลงและดนตรีนะครับ อาทิ เทป ซีดี แผ่นเสียง เป็นหลัก เพราะความต้องการของตลาดยังสม่ำเสมอ มีทั้งผู้ขายและผู้ซื้อหมุนเวียนกันไป ทำให้ไม่เคยสร่างซาไปจากหน้าเฟซบุ๊กของเราเลย

ในวงการซื้อขายนี้ มีทั้งนักสะสมที่คนฟังเพลงและขายสินค้า กับพ่อค้าที่ขายทำกำไรอย่างเดียว ไม่ใช่คนฟังเพลง บางครั้ง เราอาจได้ของดีราคาสมเหตุสมผลจากผู้ขายที่ฟังเพลง เพราะคอเดียวกัน บางครั้ง เราอาจได้ของดีราคาแพงจากผู้ขายที่ไม่ฟังเพลง แต่ยึดติดกับราคาที่ได้ยินมาจากคนอื่น ทีนี้เราจะได้ของดีราคาถูกหรือแพง ขึ้นอยู่กับจังหวะและโชคครับ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย จำเป็นต้องมีประสบการณ์ คติประจำใจ และกติกาของตัวเองด้วยครับ หลายคนต้องเจ็บใจตัวเองและเสียใจภายหลัง เพราะขาดความระมัดระวัง ไม่ละเอียดรอบคอบในการซื้อสินค้าและพิจารณาเครดิตของผู้ขาย ประเด็นสำคัญ มีการฉ้อโกงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ จนทำให้ผู้ขายที่เครดิตดีพลอยถูกมองไปทางลบด้วย ซึ่งไม่อยากให้เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้น จนถึงกับทำให้ผู้ขายที่ดีๆ หมดกำลังใจ หรือทำให้มิจฉาชีพได้ใจ ตลอดจนผู้ซื้อเข็ดขลาดจนไม่กล้าซื้อสินค้าจากใครเลย

การซื้อสินค้า

ในฐานะที่เป็นผู้ซื้อสินค้า ต้องรู้จักรักษาสิทธิ์ในฐานะผู้ซื้อเสียก่อน หากเกิดกรณีโกงเงิน หรือชำระเงินแล้วไม่ส่งสินค้า ควรแจ้งแอดมินของเพจที่เราไปซื้อสินค้า และขอคำแนะนำจากแอดมินหรือสมาชิกในเพจครับ ส่วนรายละเอียดหลักๆ ในฐานะผู้ซื้อมีดังนี้

  1. ดูเครดิตผู้ขาย

ไม่ว่าซีดี เทป หรือแผ่นเสียง เครดิตผู้ขายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการตัดสินใจมากที่สุด เพราะสร้างความเชื่อมั่นให้เราว่าสั่งซื้อ ชำระเงินไปแล้ว ได้รับสินค้าแน่ๆ และสินค้าต้องอยู่ในสภาพที่ผู้ขายระบุไว้แต่แรก ผู้ขายที่ซื่อสัตย์มักระบุไว้ละเอียดไว้เพื่อช่วยให้ผู้ซื้อตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และมีเครดิตด้วยคำชมเชยจากผู้ซื้อรายก่อนๆ เป็นหลักประกันด้วย

  1. ดูของสินค้าเป็น

อย่าเชื่อตามผู้ขายมากเกินไป ต้องเป็นตัวของตัวเอง อย่างน้อยต้องดูสภาพของสินค้าเป็นว่าสภาพไหนจึงจะตั้งเกรดว่าดีมาก ดี หรือพอใช้ หากผู้ซื้อมีประสบการณ์อยู่แล้ว การดูด้วยสายตาก็ช่วยในการตัดสินใจได้มาก ไม่ตกเป็นเหยื่อง่ายๆ เพราะเคยปรากฏว่าผู้ขายที่ไม่มีประสบการณ์ ระบุสภาพสินค้าไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือตั้งราคาเกินจากสภาพของสินค้า จนทำให้มีปัญหาโต้แย้งกับผู้ซื้อก็มีจำนวนไม่น้อย

  1. ประเมินราคาระดับมาตรฐานได้

ควรมีราคาสินค้าที่ต้องการอยู่ในใจไว้แล้ว จะเป็นราคามาตรฐานของตลาด หรือราคาตามความพึงพอใจส่วนตัวก็ตาม จะทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจมากขึ้น เพราะหากราคาสูงเกินเพดานที่ตั้งไว้ก็มองผ่านไปได้เลย แต่ถ้าต้องการมาก หรือหามานาน ก็คงต้องกลั้นใจซื้อไว้ เพราะผู้เขียนเคยพลาดเพียงเพราะเกี่ยงว่าแพงไปหน่อย เลยไม่ซื้อ จากนั้นก็ไม่เคยเจออีกเลย นับเป็นบทเรียนที่ต้องจดจำไปอีกนาน บางครั้ง ต้องกัดฟันจ่าย หากต้องการจริงๆ

  1. ติดตามกลไกราคาตลาดและความเคลื่อนไหวในวงการตลอดเวลา

สินค้าบางตัว ราคาไม่สูง แต่เมื่อถึงช่วงหนึ่ง ราคากลับถีบตัวสูงถึงจนน่าตกใจ เช่น เวลาเจ้าของผลงานเสียชีวิต หรือมีคนกลุ่มหนึ่งปั่นราคาว่าหายาก ไม่ซื้อตอนนี้จะหาไม่ได้อีกเลย เรื่องนี้ต้องรอบคอบครับ ต้องรู้เขารู้เรา ซึ่งก็เหมือนหุ้น วันนี้ไม่มีใครซื้อ พรุ่งนี้ราคาตก กลับมีคนแห่กันมาซื้อ การฉวยโอกาสขึ้นราคา จะทำให้ผู้ซื้อรู้สึกว่าผู้ขายกำลังเอาเปรียบเขา หากเราทราบราคามาตรฐานตลาด อะไรๆ ก็ง่ายขึ้น

ที่ขาดไม่ได้คือ ทำลิสต์ของผู้ขายที่โกงผู้ซื้อ ซึ่งแอดมินเพจซื้อขายแต่ละเพจมักปักหมุดรายชื่อผู้ขายเหล่านี้ และต้องตามให้ทัน เพราะมิจฉาชีพเหล่านี้เมื่อถูกจับได้ ก็เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนไอดี แล้วสมัครเข้าเพจใหม่เพื่อหลอกผู้ซื้อต่อไป

  1. คำนึงถึงสภาพกระเป๋าสตางค์ด้วย

เหมือนกฎเหล็กของผู้ซื้อแหละครับ ซื้อเมื่อมีเงิน ประมูลเมื่อเงินเดือนออก บางอย่าง แม้อยากได้ แต่การเงินยังไม่คล่องก็ต้องปล่อยวาง หากเป็นเนื้อคู่กันแล้ว ไม่แคล้วกัน ท่องไว้ครับ ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ เมื่อยืนยันการซื้อแล้ว อ่านกติกาของผู้ขายให้ชัดเจน เช่น ระยะการชำระเงิน เก็บไว้ได้นานกี่วัน ชำระเงินช้าไม่โหดร้ายเท่าเทผู้ขายนะครับ ไม่อยากให้ใครทำกับเราแบบไหน ก็อย่าทำแบบนั้นกับคนอื่น


การขายสินค้า

ในฐานะที่เป็นผู้ขาย จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบหลายด้านกว่าผู้ซื้อที่มีหน้าที่จ่ายเงินครับ

  1. สร้างเครดิตให้ตนเอง

เป็นการสร้างเกราะป้องกันตนเองด้วยการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับผู้ซื้อ การแพ็กสินค้าและส่งอย่างรวดเร็ว รับประกันสินค้าและไม่ทำให้ผู้ซื้อผิดหวัง เหล่านี้จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ และทำให้ผู้ซื้อช่วยประชาสัมพันธ์เครดิตของผู้ขายด้วยอีกทางหนึ่ง ควรระลึกเสมอว่า เมื่อทำให้ผู้ซื้อผิดหวังหรือหมดความเชื่อถือแล้ว เขาจะไม่กลับมาซื้อกับเราอีก

  1. ซื่อสัตย์และใส่ใจลูกค้าเสมอ

หากเป็นไปได้ ควรติดตาม ถามข่าวคราวผู้ซื้อเกี่ยวกับสินค้าที่ซื้อไป ฟังได้ไหม พอใจกับสภาพที่ได้รับไหม ตรงตามที่ระบุหรือไม่ สมราคาไหม ฯลฯ ถ้าสร้างความพึงพอใจให้ผู้ซื้อได้แล้ว อนาคต เขาก็มาซื้อกับเราอีก อาจรวมถึงชักชวนให้เพื่อนมาช่วยอุดหนุนด้วยสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ขายทุกคนต้องมี ไม่ว่าจะเป็นการเกรดสภาพสินค้าตามความเป็นจริง ตั้งราคามาตรฐานที่ผู้ซื้อยอมรับได้และพึงพอใจ บวกกับจริงใจในการสื่อสารกับผู้ซื้อ ปัญหาที่พบบ่อยน่าจะเป็นเรื่อง มีคนจองหรือส่งข้อความมาซื้อแล้ว ตกลงเรียบร้อยแล้ว เวลาผ่านไป กลับเงียบ หรือแจ้งผู้จองว่าขายคนอื่นไปแล้ว (ด้วยเพราะเห็นคนเสนอราคาสูงกว่าหรืออะไรก็ตาม) กลายเป็นเรื่องผิดใจกันไปเลย ห้ามทำเด็ดขาดครับ

  1. กำหนดราคาและให้เกรดสินค้าเป็นมาตรฐาน

เป็นอีกปัจจัยสำคัญของผู้ขาย แม้เราจะเป็นคนกำหนดราคาสินค้า แต่ราคาควรเป็นมาตรฐาน ราคาถูกกว่าผู้ขายรายอื่น ไม่เป็นไร หากเรายังได้กำไร แต่ถ้าแพงกว่ารายอื่น โอกาสได้ขายก็ลดน้อยไปอีก ต้องคาดเดาใจและรู้ธรรมชาติของผู้ซื้อด้วย

สภาพสินค้าก็เช่นกัน ระบุว่า NM ก็ต้อง NM คือสภาพเหมือนใหม่ เท่าที่ทราบ ผู้ขายมือใหม่หลายคนยังเกรดสภาพสินค้าไม่เป็น ด้วยเพราะอยากขายหรือโลภก็ไม่ทราบได้ มักระบุเกรดสินค้าเกินสภาพที่แท้จริง ห้ามทำเด็ดขาดครับ เป็นการทุบหม้อข้าวเราดีๆ นี่เอง

  1. ติดตามความเคลื่อนไหวในวงการเสมอ

ช่วยเป็นหูเป็นตาเวลาพบผู้ขายที่คดโกงและเป็นมิจฉาชีพ เพราะหากพวกนี้หลอกผู้ซื้อสำเร็จ จะทำให้ผู้ขายรายอื่นๆ พลอยถูกเพ่งเล็งไปด้วย การช่วยตรวจสอบมิจฉาชีพจึงเป็นอีกทางที่ช่วยเซฟตัวเองและเพื่อร่วมอาชีพที่สุจริต เช่นเดียวกับราคาในท้องตลาด ไม่ควรตั้งราคาสูงเกินจริง เว้นแต่มั่นใจว่าผู้ซื้อต้องการจริงๆ หรือต้นทุนสูงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

  1. ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาเปรียบผู้ซื้อ

อาจดูเหมือนไม่สำคัญ แต่ความจริงเป็นหัวใจหลักในการรักษาลูกค้าให้อยู่กับเราเลยครับ โขกราคาลูกค้า เสนอราคาเกินจริง ไม่ยอมลดราคาเลย ฯลฯ เหล่านี้ไม่ควรทำ หากคิดจะทำธุรกิจทางนี้ไปนานๆ ง่ายๆ ครับ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นผู้ขายต้องใจกว้างและซื่อสัตย์ครับ

หวังว่าคำแนะนำเหล่านี้จะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่คาดหวังก็คือ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ตามด้วยประสบการณ์ที่ควรรู้เท่าทันกัน และปัจจัยสุดท้าย ต้องรับผิดชอบครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook