วิเคราะห์ดนตรี Seventeen - Hot จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก | Sanook Music

วิเคราะห์ดนตรี Seventeen - Hot จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก

วิเคราะห์ดนตรี Seventeen - Hot จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลงานใหม่ของวง Seventeen ที่ในคราวนี้กลับมาอย่างร้อนแรงอีกครั้งกับเสียงกีตาร์และดนตรีที่สนุกสนาน ติดหู และพาให้เราโยกตามได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ยังเป็นการกลับมาพร้อมกับนักแต่งเพลงชาวไทย “ปรอง” ที่สร้างกระแสเป็น Talk of the Town ในหมู่แฟนคลับทั่วโลกกับงานเพลงชิ้นแรกของเธอในวงการ K-POP

Composed by Alex Keem, SOFTSERVEBOY, Ploypaworawan Praison, August Rigo, BUMZU & WOOZI (우지)

Lyric by Ploypaworawan Praison, August Rigo, BUMZU & WOOZI (우지)


F Minor - 113 BPM

โครงสร้างเพลงของ HOT

INTRO   0:00-0:05

VERSE 1   0:05-0:21

VERSE 2   0:23-0:41

PRE-CHORUS   0:41-0:58

CHORUS   0:58-1:15

POST-CHORUS 1:15-1:33

VERSE 3   1:33-1:50

VERSE 4   1:50-2:06

CHORUS   2:06-2:24

BRIDGE   2:24-2:41

CHORUS   2:41-2:58

POST-CHORUS 2:58-3:15

 

Seventeen - HOT MV

INTRO (0:00-0:05)

เริ่มต้นเพลงมาก็นำเสนอคาแรคเตอร์คาวบอยได้อย่างชัดเจนมากกับเสียงของกีตาร์ที่เต็มไปด้วยเสียงเอคโค่สะท้อนอันเป็นเอกลักษณ์ทางดนตรีที่เราพบได้บ่อยในภาพยนตร์เม็กซิกัน หนัง ละครเกี่ยวกับคาวบอย และแน่นอนว่าต้องอยู่ในคีย์ Minor ที่มีความหม่น แสดงออกถึงความอันตรายซ่อนอยู่ด้วย บอกเลยว่าแค่นี้ก็ทำคนฟังหลายคนรวมถึงผู้เขียนเองตื่นเต้นแล้ว! แต่ก็ช่างเป็นอินโทรที่แสนสั้นเหลือเกิน แค่อึดใจเดียวของกีตาร์โซโล่เราก็กระโจนเข้าสู่เพลงหลักอย่างไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลง

VERSE 1 (0:05-0:21)

อื้อหืออออ เอาเลยหรอ ดนตรีเข้ามาแบบจัดเต็ม หนักแน่น ซึ่งแตกต่างจากช่วงเริ่มต้นที่มีความผ่อนคลายเหมือนคาวบอยหนุ่มนั่งดีดกีตาร์ชิลล์ๆ อยู่ข้างทาง ท่อน Verse นี้เหมือนกับเข้าสู่การสู้รอดวลปืนอย่างดุดันจากเสียงเครื่องกระทบที่มีความกระแทกกระทั้นไม่ว่าจะเป็นเสียงสูง เสียงแหลม เสียงต่ำของกลอง Bass drum ตุ้บๆๆๆ ไหนจะยังเสียง Synthesizer ต่างๆ สอดแทรกไปมา ส่วนกีตาร์ก็ยังคงอยู่กับเราแต่ผันตัวเองไปเป็นกีตาร์ไฟฟ้าที่เสียงเสียดลากยาวแทงทะลุออกมาเลย

แนวร้องเองก็ไม่แพ้กัน ทั้งรัวเร็ว คมชัด เรียกได้ว่าไม่มีนะการค่อยๆ บิ๊วอัพ แต่ใส่เต็มจัดหนักแบบไม่อนุญาตให้คนฟังหนีไปไหนเลย

ที่น่าสนใจมากคือเสียงสูงๆ ในช่วงนาทีที่ 0:09 ที่ผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นเสียงสังเคราะห์หรือเสียงจากคนที่ถ้าสังเกตดีๆ เสียงนี้จะค่อยๆ แพนจากซ้ายไปขวาสลับกลับไปกลับมา แต่ที่แน่ๆ มันทำให้นึกไปถึงเสียงผิวปากซึ่งก็เป็นอีกสัญลักษณ์ทางดนตรีที่เราพบได้บ่อยมากในเพลงที่เกี่ยวข้องกับคาวบอยอย่างในเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Good, the Bad and the Ugly เพลงฮิตเพลงดังเองก็เป็นเพลงที่น่าจะนำเสนอหลากเสียงของความเป็นคาวบอยได้เป็นอย่างดีและ Hot เองก็ไม่แพ้กันเลย 

ตัวอย่างเพลง Ennio Morricone - The Good, the Bad and the Ugly

 

จุดที่ผู้เขียนชอบมากอีกอย่างคือการที่แนวร้องถูกแบ่งออกเป็นสองแนวอย่างชัดเจน มีการปรับแต่งเนื้อเสียงให้แตกต่างกัน ฟังแล้วเหมือนกับการโต้ตอบกันไปมา จะว่าเป็นการดวลปืนของสองฝ่ายที่แลกลูกกระสุนสาดใส่กันก็คงจะได้นะ

ช่วงท้ายของ Verse แรกนี้มีการใช้เสียง Beatbox โดยมนุษย์เป็นลูกส่งสร้าง transition เชื่อมต่อไปยังท่อนต่อไปได้อย่างน่าทึ่งมาก แบบ เห้ย มาได้ไง เอาสไตล์นี้มารวมกันเฉยเลย อย่างเท่

แถมถ้าดูจากใน MV ที่มีการแทรก transition เพิ่มอีก 2-3 วินาทีด้วยความเงียบและเสียงเอฟเฟคประกอบของประตูมันยิ่งสร้างอิมแพคให้กับคนฟังที่เจอกับดนตรีหนักอย่างไม่ทันตั้งตัวในช่วงก่อนหน้าให้ต้องหยุดหายใจลุ้นกันตัวโก่งว่าจะยังไงต่อกันแน่ 

VERSE 2 (0:23-0:41)

กลับเข้าสู่เพลงปกติแบบที่จัดหนักจัดเต็มยิ่งกว่าเดิม มีแนวดนตรีโดยเฉพาะเสียงสังเคราะห์เล็กๆ น้อยๆ เข้ามาเสริมให้เพลงยิ่งหนาขึ้น แนวร้องมีความละเอียดกว่าเดิมจนแทบไม่มีช่องว่างให้หายใจหายคอ คือมาเต็มชนิดที่เล่นเอาผู้เขียนนึกว่าเข้าท่อนฮุคแล้วด้วยซ้ำ แต่เปล่าเลย ความสนุกเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้นเอง 

PRE-CHORUS   0:41-0:58

ในที่สุดก็เข้าสู่ท่อนพรีฮุคที่ทำให้เราได้รู้สึกผ่อนคลายลงไปกับแนวดนตรีที่ถูกปรับเปลี่ยน เสียงจังหวะหนักๆ หายไป กลายเป็นเสียงลากค้างของเสียงคล้ายฉาบที่เป็นลูกส่งและเสียงคล้ายเสียงปรบมือในจังหวะที่ห่างกันไม่ได้ถี่ละเอียดเหมือนก่อนหน้านี้

เรียกได้ว่าเป็นท่อนที่เครื่องดนตรีน้อยชิ้นมากนะ เพราะนอกจากเสียงที่กล่าวมาก่อนหน้าก็มีแค่เสียงของ Synthesizer เสียงสังเคราะห์ที่ทำหน้าที่คล้ายกับเปียโนบรรเลงคอร์ดอยู่ นอกนั้นท่อนนี้ต้องขอยกให้แนวร้องที่ประสานกันได้อย่างงดงาม สร้างสีสันที่หลากหลาย ไพเราะ และช่วยเติมเต็มให้ท่อนนี้ยังคงไม่มีช่องว่างต่อไป

บอกเลยว่าผู้เขียนกรี๊ดตอนเริ่มของท่อนนี้เป็นพิเศษที่แนวร้องหลักร้องทุกคำแยกออกจากกันอย่างชัดเจน มีการเว้นหายใจระหว่างแต่ละคำเช่นตรง 없는 낮 กับ 세상에 ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ได้จำเป็นเลย มันเป็นประโยคเรียงกันที่สามารถร้องต่อกันได้หมด แต่พอมีการหายใจแทรกทำให้เกิดการเน้นย้ำคำ ความหมายของมันมีความรุนแรงมากขึ้น คนฟังเองฟังตามก็รู้สึกเหนื่อยหอบเหมือนจะขาดใจ เป็นการขยี้อารมณ์ได้ดีมาก ถ้าท่อนนี้ร้อยคะแนนผู้เขียนก็คงให้เต็มพร้อมเพิ่มคะแนนโบนัสให้ด้วย

นาที 0:50 ครึ่งหลังของท่อนนี้เสียงเครื่องดนตรีต่างๆ กลับมาอีกครั้งคล้ายกับจะพาให้เราไปสู่จุดพีคที่สุด แต่เปล่าเลย ตรงกันข้าม ทั้งแนวดนตรีและแนวร้องต่างก็ค่อยๆ ไต่ระดับไล่เบาลง ผ่อนคลายลง เสียงต่ำลงเรื่อยๆ จนหายไป เสียงดีดเหรียญกริ๊งเข้ามาล้างสมองเราในชั่วขณะก่อนที่จะเข้าสู่ท่อนคอรัส

Seventeen - HOT MV


CHORUS (0:58-1:15)

อ้าว เห้ย! เล่นอย่างงี้เลยหรอ เป็นอีกเพลงที่ท่อนฮุคกลายเป็นท่อนที่อาจจะเรียกได้ว่าเบาที่สุดท่อนนึงเลยของเพลง มินิมอลตามเทรนด์ แต่ก็ถือว่าเตรียมตัวคนฟังมาได้ดีมากที่แม้จะเป็นอะไรที่พบเจอได้บ่อยในช่วงนี้แต่เราก็ยังรู้สึกแปลกใจกับมันได้อยู่ดี เท่ห์จริงๆ

มินิมอลเครื่องดนตรีน้อยชิ้นกับเสียงเบสและเครื่องกระทบไม่กี่เสียงแต่ทุกเสียงล้วนแล้วแต่น่าสนใจมีลูกเล่น เสียงคล้ายผิวปากเองก็ยังคงอยู่เหมือนเป็นเสียงประจำของเพลงไปแล้ว แนวร้องในท่อนฮุคนี้เองก็แตกต่างกับที่ผ่านมามาก ลงไปอยู่ในช่วงเสียงต่ำย้ำๆ อยู่แถวนั้นแบบไม่ได้มีทำนองไล่ไปมา ไม่หนีไปไหน มันช่างดีพและให้ความรู้สึกที่ร้อนรุ่มสมชื่อเพลงเลย

ถ้าสังเกตดีๆ เสียงดีดเหรียญที่ใช้นำเข้าท่อนฮุคนั้นมันถูกสอดแทรกมาทุกๆ ต้นห้องเพลงหลักเลย อย่างเช่นนาทีที่ 1:07, 1:15, 1:24 สั้นบ้างยาวบ้าง แต่ก็ทำให้เราเห็นว่ามันเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างนึงที่ทำให้เราเห็นภาพของคาวบอยนั่งดีดเหรียญทายหัวก้อยอยู่ 

POST-CHORUS (1:15-1:33)

ผู้เขียนขอแยกท่อนฮุคออกเป็น 2 ช่วงเนื่องจากมีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกันและให้ง่ายต่อการพูดถึงในช่วงหลังจากนี้

ดนตรีแบบในช่วงท่อน Verse 2 กลับมาอีกครั้ง ไม่แปลกใจเลยที่ผู้เขียนเคยคิดว่าท่อนนั้นคือท่อนฮุค แต่ในครั้งนี้มันหนักแน่นกว่าเมื่อผสมรวมกับเครื่องดนตรีอีกหลายอย่างรวมไปถึงการเล่น Volume เสียงให้ดังขึ้น แนวร้องร้องโน้ตซ้ำย้ำค่อนข้างเยอะจนเหมือนกับว่าแนวทำนองหลักไปอยู่ในเสียงกีตาร์/เบส และแนวร้องเป็นแค่ไลน์ประสานเท่านั้น แต่นั่นก็ทำให้สามารถจดจำได้อย่างง่ายดาย

Seventeen - HOT MV

VERSE 3 (1:33-1:50)

ถึงดนตรีจะกลับมาเหมือนเดิมแต่สิ่งที่สร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจนก็คือเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของนักร้องแต่ละคน เนื้อเสียงที่ไม่ซ้ำแบบให้ความรู้สึกเหมือนกับเครื่องดนตรีต่างชนิดมาบรรเลงต่อกัน แล้วยิ่งในช่วง Verse นี้ที่เริ่มมาด้วยเสียงต่ำมาก (เหมือนท่อนฮุค) ก่อนที่นาทีที่ 1:41 จะกระโดดไปอยู่ในช่วงเสียงสูงชนิดที่เล่นเอาตกใจ แล้วก็กระโดดกลับลงมาเสียงต่ำมากอีกเช่นกันไม่กี่วินาทีหลังจากนั้น ความ Contrast นี้เองถูกสร้างโดยเสียงร้องล้วนๆ เลย

ยังไม่จบแค่นั้น ในนาทีที่ 1:47 ดนตรีทุกอย่างถูกดรอปหายไปเหลือไว้แค่เสียงร้องต่ำๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ท่อน VERSE 4 (1:50-2:06) ที่เอาอีกแล้วค่ะทุกคน ขึ้นไปอยู่ในช่วงเสียงสูงเชียว โอ้โห นี่เราเหมือนกับกำลังเล่นบันจี้จัมพ์ที่กระโดดลงเหวไปก่อนจะถูกเหวี่ยงกลับขึ้นมาสูงแบบนี้ซ้ำๆ เสียงร้องยังคงสลับกันแบบนี้ต่อไปจนจบท่อนเลย พีคจริงๆ

ตอนแรกผู้เขียนแอบสงสัยเหมือนกันว่าท่อน Verse ของเพลงนี้มีความยาวค่อนข้างมาก ท่อนฮุคเองก็เช่นกัน เดาว่าเพลงคงจะต้องยาวมากแน่ๆ แต่ไม่เลย ในครั้งนี้ท่อน Pre-chorus หายไปแต่กลับกลายเป็นเราแซงเข้าท่อน CHORUS (2:06-2:24) ทันที ไม่ใช่แค่นั้น ท่อน Post-chorus เองก็ถูกตัดออกไปด้วย โอเคค่ะ ได้เลย!


Seventeen - HOT MV

BRIDGE (2:24-2:41)

อ้ะอ้ะอ้าว นี่มันเป็น Bridge ที่อาจจะเรียกได้ว่ายกเอาองค์ประกอบและรูปแบบที่คล้ายคลึงกับท่อน Pre-Chorus มาใช้ก็ว่าได้ แต่จะว่าไปก็ไม่แปลกนักเนื่องจากท่อนพรีฮุคของเพลงนี้มันมีความแตกต่างจากท่อนอื่นอย่างชัดเจน นำเสนอจังหวะที่เหมือนช้าลง ผ่อนคลาด ใช้เครื่องดนตรีก็ค่อนข้างแตกต่าง ที่สำคัญคือเพิ่งจะเคยโผล่มาแค่ครั้งเดียวเท่านั้น นี่จึงเหมือนกับการยกเอารอบที่สองมาสลับไว้หลังฮุคแทน

แต่แน่นอนว่ามันก็ย่อมไม่เหมือนเดิม มีเสียง Synthesizer ช่วยบรรเลงคอร์ดแทนเสียงร้องประสานแบบในครั้งแรก นั่นจึงทำให้แนวทำนองหลักสามารถผ่อนคลายลงไปได้อย่างเต็มที่ ฟังคล้ายกับคนที่ผ่านอากาศร้อนจัดมาจนหมดเรี่ยวแรงงั้นเลย

แต่แล้วพอนาทีที่ 2:31 ไฟในตัวก็กลับมาโหมลุกขึ้นอีกครั้ง เสทั้งดนตรีและแนวร้องต่างก็ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนราวกับว่าทุกอย่างกำลังจะระเบิดออกเป็นจุณ แต่! เพลงพาเราเลี้ยวกลับลงมาสู่ท่อนฮุคในช่วงเสียงต่ำอีกครั้ง โอ้โห ดริฟต์กันหัวทิ่มไปเลยสิคะ 

CHORUS (2:41-2:58)

แต่ในฮุครอบนี้ก็ไม่ได้โปร่งโล่งเท่าที่ผ่านๆ มาแล้วนะ มีการเพิ่มเสียงเครื่องกระทบกรุ๊งกริ๊งคล้ายกับ Triangle และแนวร้องแอดลิบอีกเล็กน้อยที่ร้องตัดฉวัดเฉวียนกันไปมา 

Advanced Techniques on Triangle

ท่อน POST-CHORUS (2:58-3:15) กลับมาแล้วและจบลงแบบที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกค้างคากับการไม่ลงโน้ตจบตัวสุดท้าย อีกนิดเดียวเท่านั้น 99.99% แล้ว แต่อีก 0.01% ที่เหลือไว้ก็คงจะเพื่อให้เรารู้สึกว่าต้องกลับไปฟังตั้งแต่เริ่มต้นอีกครั้งนั่นเอง

Seventeen - HOT MV 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook