วิเคราะห์ดนตรี NCT DREAM - Beatbox จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก
หลังจากที่ NCT DREAM ได้ปล่อยตัวอย่างเพลง "Beatbox" ล่วงหน้ามาเป็นเวลาหลายสัปดาห์จนทำเอาติดหูใครหลายคนไปแล้ว ในที่สุดก็ถึงเวลาเปิดเผยเพลงฉบับเต็มที่ทั้งสนุก สดใส สมวัย เรียกได้ว่าฟังง่ายแต่ไม่ธรรมดา นี่คือบทเพลงที่มาเพื่อต้อนรับหน้าร้อนกันแบบจัดเต็มกับองค์ประกอบ ลูกเล่นทางดนตรีสารพัด และท่อนต่างๆ ที่เยอะจนผู้เขียนถึงกับอ้าปากค้างเลย
Written by 정하리 (Jeong Ha Ri)
Composed by Brice Fox, Michael J. Ade, Emily Kim & Jurek
Arranged by Brice Fox, Michael J. Ade, Emily Kim, IMLAY & Jurek
Lyric by 정하리 (Jeong Ha Ri)
C Major - 95 BPM
NCT DREAM 엔시티 드림 'Beatbox' MV
โครงสร้างของเพลง Beatbox
INTRO 0:24-0:29
VERSE 1 0:29-0:49
PRE-CHORUS 0:49-0:59
CHORUS 0:59-1:20
POST-CHORUS 1:20-1:30
VERSE 2 1:30-1:50
PRE-CHORUS 1:50-2:00
CHORUS 2:01-2:11
POST-CHORUS 2:11-2:24
BRIDGE 2:24-2:44
INSTRU 2:44-3:04
CHORUS 3:04-3:14
REFRAIN 3:15-3:35
POST-CHORUS 3:35-3:45
INTRO (0:24-0:29)
เป็นการเริ่มต้นแบบที่ไม่ต้องพูดมากเจ็บคอ จัด beatbox มาให้ฟังกันไปเลยแบบชัดๆ เสียงถูกปรับแต่งให้คล้ายกับว่าเสียงออกมาจากลำโพงอีกทอดนึงก็สร้างความน่าฉงนให้กับคนฟัง น่าติดตาม โดยที่เสียงร้อง beatbox นี้ก็มีตัวโน้ตที่ชัดเจนของมันอยู่นะ ทั้งตัว C E และ A จนเราอาจจะพอเดาๆ ได้ว่าเพลงนี้น่าจะอยู่ในคีย์ A Minor แหละมั้ง?
ที่น่าตกใจที่สุดก็คงเป็นความมินิมอลของมันที่มีเพียงเสียงๆ เดียวเท่านั้น องค์ประกอบชิ้นเดียวโดดๆ ไม่มีเสียงอื่นมาเป็นลูกส่งใดๆ (ไม่นับ yeah) แถมยังแสนจะสั้น กระชับ เป็น 4 วินาทีที่น้อยแต่มากและสามารถเอาผู้ฟังได้อย่างอยู่หมัดเลยทีเดียว
VERSE 1 (0:29-0:49)
เข้าสู่เพลงหลักพร้อมกับเสียงของ Kick drum เสียงตุบมาอย่างหนักแน่นสลับกับเสียงปรบมือที่ให้ความรู้สึกฮึกเหิม ที่น่าสนใจคือการลงบีตแต่ละครั้งมันไม่ได้อยู่บนจังหวะหลักขนาดนั้นด้วยนะ มีช่วงที่เว้นว่างห่างกันเยอะ เดี๋ยวก็ลงเสียงหนักในจังหวะยกทำให้เพลงมีความหนักและหน่วงอยู่ อย่างไรก็ดีด้วยองค์ประกอบเหล่านี้มันก็ทำให้คนฟังรู้สึกได้ถึงอารมณ์ร่วมไม่ต่างไปจากเพลง We will rock you ของตำนานอย่างวง Queen เลย
Queen - We Will Rock You (Official Video
นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีเสียงของเครื่องกระทบอีกหลายแบบที่สลับกันออกมาเผยตัวแบบไม่ทับซ้อนกัน ทำให้แนวจังหวะของเพลงนี้โปร่งโล่งมาก แม้จะมีเสียงของเบสที่สอดแทรกอยู่แบบเบาๆ อย่างที่จะสังเกตได้ในช่วงนาทีที่ 0:31, 0:32 ซึ่งเหมือนกับถูกตัดมาจากช่วง Intro แต่ถูกตัดมา แต่ก็ยังถือว่าน้อยมากอยู่ดี
ถ้าคิดว่าเพลงมีช่องว่างเยอะมากแล้ว ในนาทีที่ 0:35 ก็ยังจะสามารถใช้เทคนิคนำ Silence เข้ามาขัดจังหวะได้อย่างสุดยอดอีก เสียงกระดกลิ้นเป็นหนึ่งในลักษณะของการ beatbox ที่มาได้อย่างถูกจังหวะ เหมือนกับการดีดนิ้วใส่ตรงหน้าทำให้เราตื่นตัวยิ่งขึ้นกว่าเดิม ความเงียบและการเว้นว่างทำให้คนฟังรู้สึกราวกับเวลาหยุดเดินและล่องลอยไปพักนึง
เหมือนจะมีอะไรเกิดขึ้นเยอะมากมายแต่ก็ไม่มีอะไรสามารถรบกวนแนวร้องที่แข็งแรงดุดันได้ แม้จะมีลักษณะที่กึ่งไปทางพูด/แร็ปแต่ก็อยู่บนสเกล มีโน้ตที่ชัดเจนไม่ได้ต่างไปจากท่อน Intro เลย เอาล่ะ A Minor ดาร์กๆ แน่เลยนะ …จนกระทั่งนาทีที่ 0:38 Like a morning call ที่อยู่ดีๆ ก็มีโน้ตตัว G โผล่มาสลับกับตัว C ที่ทำให้เพลงมีความสดใสขึ้น อยู่ในบันไดเสียง Major หรือว่าเรากำลังจะถูกปลุกให้ตื่นไปพบกับความสว่างสดใสแล้วนะ
เข้าสู่นาทีที่ 0:39 เอาล่ะเบสมาจัดเต็มลากโน้ตตัว C มาเลย หลังจากนั้นมีเสียงคอร์ดลากโดย Synthesizer เสียงสังเคราะห์ที่นำเสนอสีสันให้กับเพลงอย่างชัดเจนขึ้น โลกเปลี่ยนสีไปแล้ว นี่มันเป็นเพลงที่แฮปปี้สุดๆ ไปเลยนะ เสียงร้องจากช่วง Introถูกปรับให้ได้ยินชัดเจนมากขึ้นไปอีก ..ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกเสียงที่เพิ่มขึ้นมามันก็ถูกใส่มาแบบไม่ทับกันเลยด้วย จะสังเกตได้ว่าแต่ละเสียงมันจะโผล่ออกมาแบบต่อๆ กันไม่ใช่ซ้อนกันจนทำให้เพลงหนาเกินไป จุดนี้ผู้เขียนยอมรับเลยว่ามันเจ๋งมาก
เพลงเริ่มวุ่นวายมากขึ้นจากแนวร้องแร็ปที่ถี่ละเอียดแทบจะทุกบีตย่อย เสียงของเครื่องกระทบเองก็ไม่ยอมกัน มาเต็มขึ้น จังหวะปรบมือที่ถูกเพิ่มเติมจนช่องว่างน้อยลง
PRE-CHORUS (0:49-0:59)
เป็นการเข้าสู่ท่อนพรีฮุคที่เรียกได้ว่าแนบเนียน ต่อเนื่องแบบไม่มีการใส่ Transitionลูกส่งใดๆ เพื่อให้เรารู้สึกถึงความแตกต่าง แต่จังหวะของเครื่องกระทบที่ยังคงเหมือนเดิมพาเราเดินทางไปต่อแบบไม่มีสะดุดเลย การเพิ่มมาของเสียง Synthesizer อีกมากมายไปหมดทำให้เพลงหน้าขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงมีเสียงประสานที่ฟังเพราะ ฟังสบายมากขึ้น คนฟังเริ่มรู้สึกเห็นภาพจับต้องได้สักที
แน่นอนว่าแนวทำนองเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน จากที่เคยมีจังหวะที่รวดเร็วกระฉับกระเฉงก็กลายไปเป็นการร้องที่ผ่อนคลาย มีการลากโน้ตค้างยาวสลับกับจังหวะถี่เร็วที่ยังคงฟังสบาย เสียงร้องที่สลับกันไปมาก็เหมือนกับบทสนทนาของคนสองคนโต้ตอบกันเลยด้วย
และโอ๊ยยยย คนแต่งยังคงเล่นกับความเงียบอีกครั้งในช่วงท้ายท่อนนี้ที่ทุกสรรพเสียงหายวับไปเหลือไว้เพียงเสียงร้องชิลๆ แต่ใจคนฟังกลับไม่ชิลแล้ว เพราะทั้งคาดหวังและก็พอจะคาดเดาได้ว่าท่อนต่อไปมันจะต้องเป็นอะไรที่สุดยอดมากแน่นอน
ถือว่าเป็นท่อน Pre-chorus ที่ค่อนข้างสั้น แต่ในอีกมุมมองนึงมันก็เป็นการบิ๊วอัพมาตั้งแต่ Verse ที่ค่อยๆ เพิ่มองค์ประกอบมาทีละเล็กละน้อยตลอดทางจนมาถึงจุดนี้
CHORUS (0:59-1:20)
เย่! ท่อนฮุคที่พวกเรารอคอยกับแนวร้องที่แข็งแรงเหมือนกับทุกคนตะโกนกู่ร้องออกมาด้วยกันโดยที่ไม่มีใครร้องโน้ตบิดเบี้ยวไปจากโน้ตหลักเลย ไม่มีเสียงประสานที่สร้าง Harmony แต่กลับทำให้รู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และโดยเฉพาะการที่ทำนองนั้นมีความสดใสชัดเจนมากมันก็ทำให้รู้สึกได้ถึงพลังบวก
ที่น่าแปลกใจคือแนวดนตรีที่ยังคงคอนเซปต์ความน้อยเอาไว้อยู่ ช่องว่างที่ทำให้เกิดความเงียบเยอะจนผู้เขียนถึงกับงง แต่นั่นก็ช่วยทำให้เราสามารถโฟกัสไปที่แนวร้องได้อย่างเต็มที่ จนกระทั่งนาทีที่ 1:10 ครึ่งหลังของฮุคแล้วนั่นแหละแนวเบสถึงจะเปลี่ยนไปลากค้างพร้อมกับเสียง Synthesizer ที่เข้ามาเสริมทัพให้เพลงมันถูกเติมเต็มและพาอารมณ์เราไปต่อให้สูงถึงจุดพีคสุดแล้วก็ ควับ! เสียงดนตรีหายไปหมดอีกครั้งนึง โอ๊ย!!! Everywhere I go bring the Beatbox!
ผู้เขียนชอบที่เกือบทุกประโยคของท่อนนี้จะจบด้วยการร้อง yeah yeah ซึ่งมันเป็นจุดที่ทำให้ติดหูคน จดจำได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ฟัง และยังสามารถร้องตามมีส่วนร่วมได้ง่ายมาก
POST-CHORUS (1:20-1:30)
และแล้วก็มาถึงท่อนสุดเท่ห์ที่เชื่อว่าหลายคนรวมถึงตัวผู้เขียนเองฟังมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนจากคลิป Challenge ที่ถูกปล่อยออกมาก่อน เป็นท่อนที่กระแสดี และไม่แปลกใจเลยที่เมื่อนำมารวมกับทั้งเพลงแล้วก็จะยังคงความ Iconic น่าจดจำไม่ซ้ำใครและยังคงทำให้เราตื่นเต้นจนต้องร้องว้าวกับมันได้อยู่
เสียงร้อง Boom Chicka เป็นอะไรที่เจ๋งมาก เริ่มต้นมาเป็นเสียงผู้หญิงร้องที่ทำเอาคนฟังแอบตกใจเล็กๆ กับเนื้อเสียงที่แปลกใหม่แตกต่างจากน้องดรีม แล้วเสียงนี้ก็ค่อยๆ ถูกบิดให้เนื้อเสียงและความสูงเปลี่ยนไปจนกลายไปเป็นเสียงผู้ชายแทน จะว่าไปมันมีความครบในตัวมันเองอยู่นะ แถมกลายเป็นว่าท่อนนี้ก็กลับไปอยู่ในโหมดที่หม่นเหมือนกับช่วง Intro และตอนเริ่ม Verse 1 เลยด้วย
ถึงจะมีเสียงบีตที่ถี่ละเอียดแต่มันก็เป็นแค่เสียงที่แหลมเล็กคล้าย Hi-hat ส่วนเสียงสังเคราะห์คล้ายกับเสียงของเครื่องแตรที่ถูกทำให้โดดเด่นขึ้นมาดังและกระแทกหูแต่ก็มาแค่โน้ตสั้นๆ นั่นทำให้เพลงยังคงเต็มไปด้วย “Silence” เสียง Beatbox จึงไม่ถูกรัศมีของใครบดบัง แถมยังใส่ลูกเล่นของเสียงมาอีกมากมายไปหมด ทั้งเสียงตะโกน เสียงบีตเท่ห์ๆ ในนาทีที่ 1:25 (ที่มาพร้อมความเงียบ) และแน่นอนว่าต้องปิดท้ายด้วยความเงียบอย่างแท้จริงกับเสียงกระซิบ โอ้โห เกินไปแล้วมั้ยท่อนนี้!
ตัวอย่างเสียง Hi-hat ฉาบสองอันประกบกัน
VERSE 2 (1:30-1:50)
กลับเข้าสู่ Verse ที่แนวดนตรีคล้ายกันกับช่วงก่อนหน้า แต่การเพิ่มมาของเสียงคอร์ดเพราะๆ ในนาทีที่ 1:32 ก็ทำให้เพลงมันมีความแฮปปี้สดใสมากขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่เราจะรู้สึกว่ามันออกไปทาง Minor ซึ่งดาร์กกว่า และน่าแปลกที่แนวร้องยังคงร้องอยู่ในช่วงเสียงเดิม โน้ตตัวเดิมเป๊ะๆ แต่เรากลับรู้สึกว่ามันสูงกว่ามากหลังจากผ่านช่วงเสียงดนตรีหนักๆ ในท่อน Post-chorus มา
นาทีที่ 1:36 และ 1:39 เองก็เป็นจุดที่มีเสียงร้องประสานเพิ่มมาจนทำให้เพลงเหมือนกับมีประกายวิ๊งๆ สดใสลอยฟุ้งออกมา
พอมาถึงครึ่งหลังของท่อน Verse นี้อะไรก็ฉุดไม่อยู่อีกต่อไปเมื่อเสียงประสานจากทั้งแนวร้องและแนวดนตรีพากันออกมาแสดงตัวอย่างเต็มรูปแบบ ชนิดที่ไม่มีแนวทำนองหลุดออกมาโดดๆ เลย ประสานมันตลอดทางราวกับว่ากำลังปลอบประโลมใจเรา เคลือบหูผู้ฟังด้วยกากเพชร
ในช่วงท้ายนาทีที่ 1:48 ก็ไม่มีการเว้นว่างเงียบอีกแล้วแต่กลับกลายเป็นการเพิ่มให้ดนตรีหนาขึ้นไปอีกจากแนวร้องและแนวตะโกนที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัวพาเราเข้าไปสู่ท่อนต่อไป
PRE-CHORUS (1:50-2:00)
ในครั้งนี้ยังคงเป็นการโต้ตอบกันไปมาของเสียงสองเสียงที่แตกต่างกัน แต่ไม่ได้แยกกันอย่างชัดเจนแล้ว กลายเป็นการร้องที่สลับในจังหวะที่ถี่ขึ้น มีช่วงที่ตัดทับซ้อนกันไปมา การเพิ่มมาของเสียงประสานเองก็ทำให้ท่อนนี้มันอัดแน่นอย่างเต็มเหนี่ยว และในท้ายที่สุดแนวร้องไต่ระดับสูงขึ้น สอดแทรกมาด้วยเสียงบีตรัวเร็วและเสียงสังเคราะห์คล้ายเสียงในเกมส์ไล่สเกลสูงขึ้นพาเราไปมันส์กันในท่อน CHORUS (2:01-2:11) ที่ในครั้งนี้มีการเพิ่มมาของเสียงกีตาร์ ความสนุกกำลังมาเต็มเลยแต่กลายเป็นว่าท่อนนี้ถูกหั่นครึ่งศะงั้น เอ้า หลังจากตะโกนประโยคเด็ด (ไม่ได้กระซิบแบบครั้งก่อน) แล้วก็กระโดดเข้า POST-CHORUS (2:11-2:24) ทันทีแบบไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลง เอ้า ได้เลยค่ะ!
BRIDGE (2:24-2:44)
โอ้โห โอ้โหหหหห ช่วง Transition เชื่อมต่อจากท่อน Post-chorus เข้าท่อนนี้เป็นเวลา 3 วินาทีที่สุดยอดมาก เสียงไล่โน้ตลงทีละครึ่งเสียง (Chromatic) ที่เพลงของน้องดรีมหลายเพลงมักจะต้องมีเสมอ การใส่เอฟเฟคเพิ่มเติมให้เสียงมีความหน่วงและยานเหมือนกับเทปยืดก็ให้บรรยากาศของความเก่าดี ในอีกมุมมันก็เหมือนพาคนฟังให้หลุดออกจากโลกฮิปฮอปสนุกสนานวาร์ปไปสู่อีกมิติจักรวาลนึงที่แตกต่างออกไปตามสไตล์ Bridge ของ SM ที่ไม่เคยทำให้เราผิดหวัง
และแน่นอนเมื่อเข้าสู่ท่อนสะพานเชื่อมต่อนี้อย่างจริงจังแล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปด้วยเครื่องดนตรีที่ลากเสียงค้างยาวเป็นคอร์ด เสียงของบีตหนักๆ หายไปหมด แนวร้องกลายเป็นทำนองสวยงามแบบเต็มสตรีม มีแนวแอดลิบสอดแทรกช่วยเพิ่มความ Lyrical อลังการงานสร้างเข้าไปอีก ที่พีคที่สุดก็คือการมาเยือนของคอร์ดที่สร้างสีสันใหม่ๆ เช่น G♯ และ G Minor ..นี่มันอีกจักรวาลนึงแล้วหรือเปล่า เรากำลังล่องลอยอย่างไร้ขอบเขตอยู่ในความฝันใช่มั้ยนะ
ความเนิบนาบผ่อนคลายค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวมีจังหวะมากขึ้นเมื่อบีตกลับมาเหมือนกับว่าเราถูกปลุกให้ตื่นจากการหลับใหล เสียง Synthesizer ที่แอบมีความเก่าเหมือนยุค 90 หรือเหมือนในเกมส์ขับเคลื่อนให้เราไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดพัก แล้วไหนจะยังแนวเบสที่ในที่สุดก็มีบทบาทโดดเด่นออกมาอย่างชัดเจนกับโน้ตที่เคลื่อนที่ไปมา
ช่วงท้ายของท่อนนี้เป็นอะไรที่ถึงใจมากกับแนวร้องที่ไล่ขึ้น สวนทางกับแนวเบสที่ไล่ต่ำลงบนสเกลที่หลุดโลก แบบหลุดไปไกลเลย ไม่ได้ใกล้เคียงอะไรกับคีย์หลักของเพลง แล้วอยู่ดีๆ ก็วกกลับเข้ามาได้แบบงงๆ เฮ้ย! คนแต่งเล่นงี้เลยหรอ ใจถึงไม่พอยังฉลาดมากเพราะมันออกมาได้ลงตัวพอดิบพอดีซะงั้น
INSTRU (2:44-3:04)
แทนที่จะไปต่อในท่อนฮุคสุดท้ายเลย ไม่ค่ะ เพลง Beatbox พาเราไปสนุกกันต่อกับการปาร์ตี้สารพัดเสียงครั้งยิ่งใหญ่ที่เรียกได้ว่าหยิบยกทุกเสียงที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้มาทั้งหมด มาจบวางสลับสับเปลี่ยนไปมาที่ในที่นี้รวมไปถึงแนวร้องและเสียงกระซิบด้วย และแน่นอนว่ายังคงใช้ความเงียบเข้ามาเป็นส่วนนึงในการทำให้ดนตรีมีมิติ มีความหลากหลาย
เดาไม่ได้เลยว่าช่วงไหนจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง รายละเอียดที่มากเกินไปนี้ทำเอาผู้เขียนเองก็ไปไม่ถูกนะว่าจะเขียนถึงยังไง รู้แค่ว่ามันล้น มันเจ๋งขั้นสุด ยอมใจจริงๆ ไม่มีโมเมนต์ไหนให้รู้สึกเบื่อเลยต่อให้ฟังไปอีกเป็นสิบยี่สิบรอบก็ตาม
หลังจากนั้นเรากลับมาระเบิดความสดใสกันต่อในท่อน CHORUS (3:04-3:14) แบบสั้นๆ แค่ครึ่งเดียวอีกครั้งนึง โดยที่เพลงดำเนินไปข้างหน้าต่อแบบไม่มีช่วงให้หยุดพักเลย
REFRAIN (3:15-3:35)
ท่อนที่ถูกเพิ่มเติมมานี้เชื่อว่าน่าจะถูกใจใครหลายคนมากเนื่องจากเป็นท่อนที่มีทำนองค่อนข้าง Simple ไพเราะ คล้ายกับเพลงในยุค '90s และ 2000s อย่างเพลงของวง S.E.S. หรือแม้แต่ Super Junior ในยุคแรกๆ ที่มักจะเน้นให้ทำนองติดหูและร้องตามได้ง่าย แต่ก็ยังคงยืนพื้นอยู่กับแนวดนตรีที่มีความทันสมัย ซาวด์แบบใหม่ๆ ก็เป็นการผสมผสานกันที่ลงตัว ยืดต่อความสนุกออกไปราวกับว่าปาร์ตี้ในครั้งนี้จะไม่มีวันจบสิ้น ถ้าคุณรู้สึกเหนื่อยเมื่อไหร่ขอให้ได้มาฟังเพลง Beatbox ซึ่งแสนสดใสเต็มไปด้วยเอเนอร์จี้บวก
จะสังเกตได้ว่าในช่วงครึ่งแรกของท่อนนี้แนวร้องจะมีความคมชัดและโดดเด่นมาก แต่พอเข้าสู่นาทีที่ 3:25 มันให้ความรู้สึกซอฟต์ลงเนื่องจากมีเสียงร้องประสานมารองรับแนวทำนองหลักๆ อยู่เบาๆ คล้ายกับว่าเรากำลังถูกโอบกอด แล้วพอมาเจอกับดนตรีที่สนุกยิ่งกว่าเดิมด้วยเสียง effect มากมายก็ให้ฟีลเหมือนเรากำลังกระโดดโลดเต้นไปพร้อมกับกลุ่มเพื่อนคนสนิทที่แสนอบอุ่น
POST-CHORUS (3:35-3:45)
เราดำเนินมาถึงท่อนสุดท้ายของเพลงที่วกกลับมาอีกครั้งซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนกับ Outro ที่สำคัญในรอบนี้มีเสียง Synthesizer ดังโดดเด่นออกมาเลย โดยที่เน้นโชว์เสียงโน้ตตัว C และ G ซึ่งเป็น 2 โน้ตหลักของคีย์ C Major ใครที่เคยคิดว่าเพลงนี้เป็น Minor มาก่อนก็ต้องยอมแพ้เลยเพราะนี่มันคือการประกาศกู่ร้องครั้งสุดท้ายในความสว่างสดใสของเพลงนี้ โน้ตเหล่านี้ไต่ระดับตลอดทางสูงขึ้นเรื่อยๆ พาเราลอยไปสู่อนาคตอันสดใส และตะโกนออกมาพร้อมกันให้โลกได้รับรู้ว่า Everywhere I go bring the Beatbox!
Beatbox เป็นเพลงที่ผสมผสานทั้งสไตล์ดนตรียุคเก่าที่คนคุ้นเคยและความล้ำสมัย neo แบบใหม่กันได้อย่างลงตัว โดยที่ยังคงความสนุกสนานสดใสสมวัยน้องๆ NCT DREAM เอาไว้ได้เป็นอย่างดี บทเพลงที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบหลากหลายช่วยปลุกใจผู้ฟังให้ตื่นขึ้นมาเพื่อทำตามความฝันและก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันกับเหล่าเด็กดรีม