10 ศิลปินระดับโลกที่สนับสนุนการเคลื่อนไหว LGBTQ+ | Sanook Music

10 ศิลปินระดับโลกที่สนับสนุนการเคลื่อนไหว LGBTQ+

10 ศิลปินระดับโลกที่สนับสนุนการเคลื่อนไหว LGBTQ+
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเด็นเรื่องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ เป็นประเด็นที่สังคมในปัจจุบันให้ความสนใจ และเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนประเด็นนี้กันอย่างแพร่หลาย เช่นเดียวกับเหล่าศิลปินในวงการดนตรี ก็ใช้ชื่อเสียงและพื้นที่ของตัวเองในการสนับสนุนชุมชน LGBTQ+ ในรูปแบบต่างๆ อย่างน่าสนใจ และนี่คือ 10 ศิลปินระดับโลก ที่ใช้แพลตฟอร์มของตัวเองในการสนับสนุน LGBTQ+

Gettyimages

บียอนเซ่

บียอนเซ่ โนวลส์ ราชินีเพลงป็อปขวัญใจ LGBTQ+ ทั่วโลก ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินที่สนับสนุนชุมชน LGBTQ+ อย่างเข้มแข็ง โดยในปี 2016 ขณะที่เธอกำลังทัวร์คอนเสิร์ต The Formation World Tour เธอได้เดินทางไปจัดคอนเสิร์ตที่นอร์ธแคโรไลนาในช่วงที่เกิดความขัดแย้งเรื่อง “กฎหมายห้องน้ำ” ที่ห้ามคนข้ามเพศใช้ห้องน้ำสาธารณะตามอัตลักษณ์ของตนเอง ดังนั้น ควีนบีจึงร่วมรณรงค์กับองค์กรท้องถิ่น Equality NC ให้ยกเลิกกฎหมายนี้ โดยใช้ข้อความ “Y'all Means All” และเรียกร้องให้ผู้ชมคอนเสิร์ตร่วมสนับสนุนองค์กร Equality NC ที่อุทิศตนในการปกป้องสิทธิและความเป็นธรรมต่อชาวนอร์ธแคโรไลนาที่เป็นเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ และเควียร์

ปี 2017 แม่บีได้ตอบโต้แผนการของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการจะยกเลิกการคุ้มครองนักเรียนที่เป็นคนข้ามเพศ โดยการแชร์ลิ้งก์แคมเปญ 100 Days of Kindness ที่จัดตั้งโดยเครือข่าย GLSEN (Gay, Lesbian and Straight Education Network) ในโซเชียลมีเดียที่มีผู้ติดตามกว่า 60 ล้านคน พร้อมระบุว่า “นักเรียนที่เป็น LGBTQ จำเป็นต้องรู้ว่าพวกเราอยู่ข้างเขา”

ต่อมาในปี 2019 บียอนเซ่และเจย์-ซี สามี ได้รับรางวัลจากองค์กร GLAAD (Gay and Lesbian Alliance Against Defamation) จากการเคลื่อนไหวสนับสนุน LGBTQ+ โดยเธอได้กล่าวในพิธีรับรางวัลว่า “เรามาที่นี่เพื่อส่งเสริมความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ จงบอกพวกเขาว่าพวกเขาเป็นที่รัก บอกพวกเขาว่าพวกเขาช่างงดงาม ส่งเสียงของเราและปกป้องพวกเขา และสำหรับพ่อแม่ ขอให้รักลูกๆ ของเราในสิ่งที่พวกเขาเป็นจริงๆ”

Gettyimages

บรูซ สปริงส์ทีน

ร็อกสตาร์เจ้าของฉายา “นายใหญ่” แห่งวงการเพลง ก็เป็นหนึ่งในคนดังที่สนับสนุนชุมชน LGBTQ+ มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการเรียกร้องความเท่าเทียมในการแต่งงานของกลุ่ม LGBTQ+

เช่นเดียวกับบียอนเซ่ ในปี 2016 สปริงส์ทีนยกเลิกจัดคอนเสิร์ตที่นอร์ธแคโรไลนา เพื่อตอบโต้กฎหมายห้องน้ำ ที่ห้ามคนข้ามเพศใช้ห้องน้ำและล็อกเกอร์สาธารณะ โดยระบุว่า “กฎหมายดังกล่าวทำลายสิทธิของพลเมือง LGBTQ+”

“มีคนหลายกลุ่มและภาคธุรกิจจำนวนมากในนอร์ธแคโรไลนา ที่เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านและเอาชนะการพัฒนาเชิงลบเช่นนี้ เมื่อพิจารณาสิ่งเหล่านี้แล้ว ผมรู้สึกว่านี่เป็นเวลาที่ผมและวงจะแสดงความหนึ่งเดียวกับผู้ที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ดังนั้น เราจึงต้องขออภัยแฟนเพลงในกรีนส์โบโรอย่างสุดซึ้ง ที่เราต้องยกเลิกโชว์ของเรา ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 10 เมษายนนี้ ยังมีบางสิ่งที่สำคัญกว่าคอนเสิร์ตร็อก การต่อสู้กับอคติและความคลั่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น วิธีการนี้เป็นวิธีที่แข็งแกร่งที่สุดที่ผมมี ในการส่งเสียงเพื่อต่อต้านกลุ่มคนที่พยายามผลักดันเราให้ถอยหลัง แทนที่จะเดินหน้า” สปริงส์ทีนกล่าวในแถลงการณ์

Gettyimages

ไมลีย์ ไซรัส

ศิลปินป็อปผู้นิยามตัวเองว่าเป็น “แพนเซ็กชวล” (Pansexual) หรือผู้ที่มีความปรารถนาทางเพศต่อผู้อื่นโดยไม่สนใจเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศ และได้ชื่อว่าเป็นนักกิจกรรม LGBTQ+ ที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก ไซรัสจัดตั้งมูลนิธิ Happy Hippie Foundation เมื่อปี 2014 โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมที่มีต่อเยาวชนที่เป็นคนไร้บ้าน เยาวชนที่เป็น LGBTQ+ และประชากรกลุ่มเปราะบาง

นอกจากนี้ เธอยังใช้แพลตฟอร์มและเพลงของตัวเองในการเรียกร้องความเท่าเทียมและการยอมรับ LGBTQ+ โดยในปี 2021 ไซรัสได้จัดคอนเสิร์ต Miley Cyrus Presents Stand by You เนื่องในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาว LGBTQ+ (Pride Month) โดยเล่นเพลงของศิลปินที่เป็นไอคอนของชาว LGBTQ+ ทั้งแชร์, มาดอนนา, The Pretenders, จอร์จ ไมเคิล, ABBA และอื่นๆ

AFP

เลดี้ กาก้า

ยานแม่ของ LGBTQ+ ผู้ไม่เคยทำให้เหล่ามอนสเตอร์ของเธอผิดหวัง เธอเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Fab ว่า เธอมีเพื่อนหลายคนที่เป็นเกย์ และมักจะมีส่วนร่วมในชุมชนเกย์ตั้งแต่อายุยังน้อย จนกระทั่งในปี 2009 เลดี้กาก้าได้รับรางวัลมิวสิกวิดีโอแห่งปีในงาน MuchMusic Video Awards จากเพลง “Poker Face” ซึ่งเธอได้กล่าวสั้นๆ ว่า “ขอบคุณพระเจ้าและเกย์” และในปีเดียวกัน เธอให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Out ว่าเธอต้องการผลักดันวัฒนธรรมเกย์ให้เข้าสู่กระแสหลัก

หนึ่งปีต่อมา ในงาน MTV Video Music Awards เลดี้กาก้าเข้าร่วมงานพร้อมกับอดีตเจ้าหน้าที่ของกองทัพสหรัฐฯ ที่ถูกปลดประจำการหรือลาออก เนื่องจากนโยบาย “ห้ามถาม ห้ามบอก” (Don't Ask, Don't Tell - DADT) ที่ห้ามเกย์ เลสเบียน ไบเซ็กชวล ที่เปิดเผยตัว เข้าร่วมในกองทัพสหรัฐฯ และขึ้นรับรางวัลมิวสิกวิดีโอแห่งปีจากเพลง “Bad Romance” ในชุดที่ประดับด้วยเนื้อสด ซึ่งออกแบบโดยอเล็กซานเดอร์ แม็กควีน เพื่อแสดงความโกรธของเธอที่มีต่อนโยบายดังกล่าว

“หากเราไม่ยืนหยัดในสิ่งที่เราเชื่อ และหากเราไม่ต่อสู้เพื่อสิทธิของเรา อีกไม่นาน สิทธิของเราก็จะเหลือแค่ชิ้นเนื้อที่ติดกระดูกของเรานี่แหละ” เลดี้กาก้าอธิบายความหมายของชุดดังกล่าวในรายการทอล์กโชว์ของเอลเลน เดอเจเนอรีส และหลังจากที่เธอเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกนโยบาย DADT ทั้งการร้องเรียนต่อวุฒิสมาชิก เข้าร่วมการชุมนุม และทำให้มิวสิกวิดีโอกลายเป็นไวรัล ความพยายามของเธอก็ประสบความสำเร็จในปี 2011

นอกจากนี้ เลดี้กาก้ายังได้เคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุน LGBTQ+ ผ่านผลงานเพลงของเธอ โดยเพลง “Born This Way” ซึ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี 2011 มีเนื้อหาที่กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นเกย์ ชาย หญิง ไบเซ็กชวล เลสเบียน หรือคนข้ามเพศ ทุกคนเกิดมาเพื่ออยู่รอด เพลงนี้ได้ชื่อว่าเป็นเพลงที่เฉลิมฉลองความเป็นเควียร์ การยอมรับตัวเอง และการเสริมสร้างพลัง และกลายเป็นเพลงคลาสสิกของชาวเกย์ในที่สุด ซึ่งศิลปินรุ่นใหญ่อย่างเซอร์ เอลตัน จอห์น ยังบอกกับ Entertainment Weekly ว่า นี่คือเพลง “I Will Survive” ของยุคใหม่ และ “เป็นเพลงชาติเกย์เพลงใหม่

เคิร์ต โคเบน

แม้ว่าชื่อของเคิร์ต โคเบน ฟรอนต์แมนผู้ล่วงลับแห่ง Nirvana จะไม่ใช่ชื่อแรกที่เราจะนึกถึงเมื่อพูดถึงสิทธิของ LGBTQ+ แต่ที่ผ่านมา ทั้งโคเบนและวง Nirvana ของเขา ก็ส่งเสียงเรียกร้องในประเด็นทางการเมืองอยู่เสมอ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับ LGBTQ+

ปี 1992 Nirvana ได้โชว์ในคอนเสิร์ตการกุศล “No on #9” และกล่าวแถลงการณ์ต่อต้าน “มาตรการที่ 9” ซึ่งเป็นมาตรการลงคะแนนเสียงของรัฐโอเรกอน ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐทุกระดับปฏิบัติต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันราวกับคนเหล่านี้ “ผิดปกติ ไม่ถูกต้อง ผิดธรรมชาติ และวิปริต”

นอกจากนี้ Nirvana ยังประกาศจุดยืนของตัวเอง ผ่านข้อความที่แนบในอัลบั้ม “Incesticide” โดยระบุว่า “หากพวกคุณคนใดคนหนึ่งรังเกียจคนรักเพศเดียวกัน เกลียดคนที่มีสีผิวต่างจากคุณ หรือเกลียดผู้หญิง รบกวนช่วยพวกเราอย่างหนึ่งนะ อย่ามายุ่งกับพวกกู! อย่ามาคอนเสิร์ต และไม่ต้องซื้อแผ่นซีดีของพวกเรา”

ส่วนข้อความในอัลบั้มต่อมาอย่าง “In Utero” ก็มีใจความเหมือนกันคือ “ถ้าคุณเป็นพวกเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ กลัวคนรักเพศเดียวกัน หรือเป็นไอ้ชั่ว อย่าซื้อแผ่นซีดีเพลงนี้ ผมไม่แคร์ว่าคุณจะชอบผมไหม ผมเกลียดคุณ”

โคเบนเองก็แสดงจุดยืนสนับสนุน LGBTQ+ อย่างชัดเจน โดยในการให้สัมภาษณ์กับ Advocate เมื่อปี 1993 เขาเรียกตัวเองว่าเป็น “เกย์ทางจิตวิญญาณ” และเปิดเผยว่า สมัยที่เขายังเป็นวัยรุ่น เขามักจะตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศวิถีของตัวเอง และพ่นสีคำว่า “พระเจ้าเป็นเกย์” ในเมืองอาเบอร์ดีน รัฐวอชิงตัน ซึ่งเป็นเมืองที่เขาเติบโตมา ซึ่งภายหลัง ประโยคนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง “Stay Away” ของ Nirvana ด้วย

และสำหรับแฟน Nirvana ภาพที่หลายคนเห็นจนชินตา คือการที่เคิร์ต โคเบน สวมชุดกระโปรงลายดอกไม้ ขณะที่เล่นคอนเสิร์ต รวมทั้งการที่โคเบนและเพื่อนร่วมวงอย่างคริส โนโวเซลิก และเดฟ โกรห์ล จูบปากกันบนเวทีคอนเสิร์ตเป็นเรื่องปกติ ซึ่งก็พิสูจน์ได้ถึงความเชื่อของพวกเขาที่ก้าวข้ามคำว่าเพศไปแล้ว

Gettyimages

เทย์เลอร์ สวิฟต์

เทย์เลอร์ สวิฟต์ เป็นศิลปินที่ใช้เพลงของตัวเองในการสนับสนุนชุมชน LGBTQ+ อยู่หลายเพลงทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น “Welcome to New York” ที่มีเนื้อเพลงระบุว่า ทุกคนสามารถรักใครก็ได้ที่ตัวเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายกับผู้ชาย หรือผู้หญิงกับผู้หญิง หรือ “You Need to Calm Down” ที่กล่าวถึงองค์กร GLAAD หรือ Gay & Lesbian Alliance Against Defamation องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการรายงานข่าวที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทชาวเกย์และเลสเบียน

นอกจากนี้ สวิฟต์ยังใช้มิวสิกวิดีโอ “You Need to Calm Down” ในการระดมทุนให้กับ GLAAD เพื่อผลักดันกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการลงชื่อสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว เพื่อปกป้อง LGBTQ+ จากการถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน บ้าน โรงเรียน และสถานที่สาธารณะอื่นๆ โดยมีแดรกควีนชื่อดังของสหรัฐฯ มาร่วมแสดงในมิวสิกวิดีโอ ซึ่งเหล่าแดรกควีนที่มาร่วมแสดงก็ยืนยันว่า พวกเขาได้รับค่าตอบแทนที่ดีมาก และสวิฟต์ก็ดูแลพวกเธอเป็นอย่างดีในกองถ่าย ทำให้พวกเธอรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับและรู้สึกสบายใจ

Gettyimages

พิงค์

ราชินีร็อกผู้มีบุคลิกลักษณะเหมือนผู้ชายและผู้หญิงอยู่ในร่างเดียวนับตั้งแต่เปิดตัวในฐานะศิลปินในปี 2000 พิงค์แสดงจุดยืนสนับสนุน LGBTQ+ ผ่านผลงานเพลงของเธอ เช่น เพลง “Dear Mr. President” ที่ตั้งคำถามถึงอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ว่าเขาจะมีท่าทีอย่างไร หากลูกสาวของเขาเป็นเลสเบียน เพลง “Don’t Let Me Get Me” ที่สะท้อนให้เห็นภาพการต่อสู้ดิ้นรนในเรื่องตัวตนของเยาวชน LGBTQ+ และการต่อสู้ของชุมชนเควียร์ ในเพลง “Try” และ “F**cking Perfect” รวมทั้งใส่ฉากการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในมิวสิกวิดีโอเพลง “Raise Your Glass” ซึ่งเธอได้แรงบันดาลใจมาจากงานแต่งงานของเพื่อนสนิท

ในพิธีรับรางวัลบนเวที VMA เมื่อปี 2000 พิงค์เล่าถึงเหตุการณ์ที่ลูกสาวของเธอรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการถูกบูลลี่ เพราะลูกมีรูปร่างหน้าตาเหมือนเด็กผู้ชาย เธอสอนลูกด้วยพรีเซนเทชั่นเกี่ยวกับนักดนตรีที่ไม่ได้นิยามตัวเองเป็นเพศใดเพศหนึ่ง เช่น ไมเคิล แจ็กสัน, แอนนี เลนนอกซ์ และเดวิด โบวี พร้อมยกตัวอย่างประสบการณ์การถูกบูลลี่ของเธอด้วยเหตุผลเดียวกัน คือรูปลักษณ์ที่เหมือนผู้ชาย แต่ท้ายที่สุด เธอไม่ได้บอกให้ลูกเปลี่ยนแปลงตัวเองตามความคาดหวังของสังคม

“เราไม่เปลี่ยน เราจะหยิบเอาก้อนกรวดและเปลือกหอยเหล่านั้นมาทำเป็นไข่มุก และเราจะช่วยให้คนอื่นเปลี่ยนแปลง เพื่อให้พวกเขามองเห็นความงามที่หลากหลาย” พิงค์กล่าว

Gettyimages

เจนนิเฟอร์ โลเปซ

เจนนิเฟอร์ โลเปซ เป็นหนึ่งในศิลปินหญิงอีกคนหนึ่งที่ชาว LGBTQ+ สดุดีให้เป็น “คุณแม่” ซึ่งนอกจากภาพลักษณ์การเป็นดีวาและโชว์สุดอลังการถูกใจแฟนคลับแล้ว เธอยังสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ LGBTQ+ มาตั้งแต่ยุค 90s

นอกจากนี้ บริษัทโปรดักชั่นของโลเปซยังเป็นผู้สร้างละครชุด The Fosters ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแม่เลสเบียน 2 คน รวมทั้งนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ ทำให้เธอได้รับรางวัล GLAAD Award ในปี 2014 จากนั้นในปี 2017 โลเปซเขียนจดหมายถึงชุมชน LGBTQ+ เนื่องในโอกาส Pride Month โดยเล่าถึงป้าที่เป็นเกย์ ซึ่งเธอคิดว่าเป็นบุคคลที่เท่ที่สุด

“ป้าอาศัยอยู่ในนิวยอร์กซิตี้และอยากจะเป็นนักแสดง ฉันก็อยากเป็นเหมือนป้า สิ่งที่ฉันไม่รู้เลยคือป้าต้องต่อสู้อย่างมากในการเป็นเกย์ ในตอนนั้น ครอบครัวของเราไม่ได้นั่งร่วมโต๊ะอาหารเย็นกันและพูดถึงความอดกลั้นและการยอมรับ ชีวิตนั้นแตกต่าง และฉันเสียใจมากเมื่อคิดถึงเรื่องนั้น”

“คนที่ป้าเห็นในโทรทัศน์ไม่ได้เป็นตัวแทนของป้า ภาพยนตร์ไม่ได้พูดแทนป้า ฉันคิดว่าป้าคงโดดเดี่ยวมาก เพราะฉะนั้น ฉันจึงภูมิใจในการทำละคร The Fosters ซึ่งฉลองครบ 100 ตอน ละครเรื่องนี้สะท้อนภาพของสังคมและเผยให้เห็นว่าความรักหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่เกี่ยวกับว่าคุณมีเชื้อชาติหรือมีรสนิยมทางเพศอย่างไร รักก็คือรัก”

AFP

แฮร์รี สไตล์ส

ศิลปินป็อปชื่อดังที่เติบโตจากการเป็นสมาชิกวงบอยแบนด์ One Direction สู่การเป็นศิลปินเดี่ยวและนักแสดงฮอลลีวูด และยังเป็นหนึ่งในคนดังที่เป็นมิตรกับ LGBTQ+ เสมอมา โดยในเดือนมิถุนายน ปี 2018 สไตล์สเปิดตัวเสื้อยืดรุ่นลิมิเต็ดอิดิชั่น สกรีนคำว่า “Treat people with kindness” หรือ “ปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเมตตา” เนื่องในเดือน Pride Month และมอบผลกำไรจากการขายเสื้อให้กับเครือข่าย GLSEN

ในช่วงเวลาเดียวกัน สไตล์สโบกธงสีรุ้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ LGBTQ+ บนเวที ขณะแสดงคอนเสิร์ตที่เมดิสัน สแควร์ การ์เด้น เช่นเดียวกับในคอนเสิร์ตที่เม็กซิโกซิตี้และซานฟรานซิสโก เขาได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Rolling Stone ในปีต่อมาว่า เขาโบกธงสีรุ้งในคอนเสิร์ต เพื่อให้กำลังใจแฟนเพลงที่เป็น LGBTQ+

“ผมอยากให้ทุกคนรู้สึกสบายใจที่จะเป็นในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น คุณอาจจะได้มีช่วงเวลาที่รู้สึกว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวขณะที่ดูโชว์ของผมอยู่ก็ได้”

“ผมตระหนักได้ว่า ในฐานะผู้ชายที่เป็นคนผิวขาว ผมไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนในสิ่งเดียวกับที่แฟนเพลงหลายคนต้องเผชิญ ผมพูดไม่ได้หรอกว่ามันเป็นอย่างไร เพราะผมไม่เคยเป็นแบบเขา ดังนั้น ผมจะไม่พยายามพูดว่าผมเข้าใจ ผมแค่อยากให้ผู้ชมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโชว์และถูกมองเห็น” สไตล์สกล่าว

นอกจากนี้ สไตล์สยังเป็นหนึ่งในไอคอนด้านการแต่งกายที่ก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องเพศ ทำให้หลายครั้งเราจะได้เห็นเขาแต่งกายด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับของผู้หญิง ซึ่งดูน่าสนุกและมีสีสันทีเดียว

Gettyimages

อดัม เลอวีน

ฟรอนต์แมนแห่ง Maroon 5 ผู้ออกตัวว่าเขาไม่อินกับความเป็นชาย เลอวีนมีน้องชายเป็นเกย์ ซึ่งเขาและครอบครัวก็ยินดีสนับสนุนสิ่งที่น้องเป็น

เขาให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Out ว่า “คนจำนวนมากไม่อยากให้ลูกเป็นเกย์ และจะต่อสู้ทุกทาง แต่ผมมีอะไรจะบอกคุณ มันเป็นศึกที่ยังไงคุณก็แพ้ ยิ่งคุณสู้ คุณก็ยิ่งทำให้ลูกเสียใจ คุณก็แค่ต้องโอบรับมันตั้งแต่ต้น นี่คือวิธีการรับมือในฐานะครอบครัว”

นอกจากนี้ เลอวีนได้เข้าร่วมโปรเจ็กต์ “It Gets Better” ที่จัดตั้งขึ้นหลังจากเหตุการณ์การฆ่าตัวตายของวัยรุ่น LGBTQ+ ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้กำลังใจวัยรุ่น LGBTQ+ ที่ถูกบูลลี่ ในโปรเจ็กต์นี้ เลอวีนเล่าถึงการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมปลาย และชีวิตของเขาดีขึ้นได้อย่างไรหลังจากเกิดเหตุการณ์นั้น

“ผมเกลียดโรงเรียน แต่หากคุณผ่านมันมาได้ คุณจะรู้ว่ายังมีโลกที่กว้างใหญ่กว่าพวกที่รังแกคุณ” เลอวีนกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook