Haru Nemuri : แร็ปโหดเหมือนโกรธเธอ โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
หลายคนอาจยังมีภาพจำของศิลปินหญิงญี่ปุ่นว่าเป็นเหล่าสาวแบ๊วที่ร้องเพลงและเต้นกันหมู่คณะ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นมีความหลากหลายทางศิลปะและสื่อบันเทิงอย่างยิ่ง เฉกเช่นกับมังงะ (การ์ตูน) ที่มีทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ แวดวงดนตรีของแดนปลาดิบมีทั้งความแมส อินดี้ คาวาอี้ และดาร์คสุดๆ อย่างในบทความก่อนหน้า ผู้เขียนก็พยายามนำเสนอถึงนักร้องหญิงญี่ปุ่นผู้ต่างจากที่เราคุ้นชิน ไม่ว่าจะแก๊งสี่สาวสุดห่าม ATARASHII GAKKO!, สาวอาร์แอนด์บีสุดเท่ iri, ฮิปฮอปเดือดพล่านอย่าง Awich และคราวนี้ก็ถึงเวลาที่จะพูดถึงแร็ปเปอร์สาวผู้ ‘แร็ปโหดเหมือนโกรธเธอ’ ที่โด่งดังไปถึงระดับอินเตอร์ ชื่อของเธอคือ ฮารุ เนมุริ (Haru Nemuri)
- ATARASHII GAKKO! : ไอดอลเจป็อปสายโหด-มัน-ฮา โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
- iri และ Awich สองสาวเท่แห่งวงการ R&B-HIP HOP จากญี่ปุ่น โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
ฮารุ เนมุริ เกิดเมื่อปี 1995 ที่เมืองโยโกฮาม่า เธอสนใจเรื่องการแร็ปและเขียนเพลงตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ออกมินิอัลบั้มชุดแรก Sayonara, Youthphobia ในปี 2016 แต่เริ่มเป็นที่รู้จักจากมินิอัลบั้มชุดที่สอง Atom Heart Mother (2017) โดยเนมุริแต่งเพลงด้วยตัวเองทั้งหมด จุดเด่นในงานของเธอคือการผสมผสานดนตรีหลากหลายแนว ด้วยความที่เป็นคนฟังเพลงเยอะมาก แต่เจ้าตัวนิยามว่าเพลงของเธอคือ อัลเทอร์เนทีฟ พังค์ ดนตรีทดลอง อาร์ตร็อค และฮาร์ดคอร์ เพลงของเธอคาดเดาทิศทางได้ยาก เพราะปรัชญาการทำเพลงคือ “หากฉันค้นพบเสียงที่ฟังดูเจ๋ง ฉันก็มักเตรียมพร้อมที่จะทำลายมัน”
เนมุริออกอัลบั้มเต็มชุดแรก HARU TO SHURA ในปี 2018 เป็นผลงานที่ทำให้เอกลักษณ์ของเธอเด่นชัดขึ้น ในด้านหนึ่งเธอแร็ปด้วยการใช้ spoken word มีทั้งจังหวะล่องลอยไหลลื่นและดุเดือดไฟลุก จนเธอได้ฉายาว่าเป็น ‘แร็ปเปอร์นักกวี’ (poetry rapper) แต่ทว่าในเพลงเดียวกันบางทีเธอก็ใช้เสียงกรีดร้องประหนึ่งเพลงอีโม ซึ่งเนมุริอธิบายว่า “มันมีบางสิ่งที่ไม่อาจอธิบายด้วยคำพูด ฉันสามารถถ่ายทอดมันออกมาได้ด้วยการกรีดร้องเท่านั้น”
HARU TO SHURA หนักหน่วงขึ้นทั้งด้านดนตรีและเนื้อหา เนมุริมักพูดถึงสังคมที่ล่มสลาย ไม่เท่าเทียม เต็มไปด้วยความทุกข์ยาก โดยเฉพาะต่อวัยรุ่นหนุ่มสาว (“พวกเราคือเจเนเรชั่นที่เต็มไปด้วยการดิ้นรนต่อสู้” เธอกล่าว) อย่างในเพลง yume wo miyou ที่พรั่งพรูด้วยความสิ้นหวัง “แม้ในค่ำคืนแผ่นดินไหว ฉันก็ยังไม่รู้จักถึงความเปลี่ยวเหงา” หรือ “เธอตายอย่างเดียวดายก่อนรุ่งสางในวันที่แสนไร้ค่า” ถึงกระนั้นก็ยังมีท่อนแฝงความหวัง (หรือเปล่านะ?) อย่าง “ไม่เป็นไรหากเราจะไม่เข้าใจความเศร้าและความเหงาของอีกฝ่าย ขอเพียงมีฝันเดียวกัน ฝันไปด้วยกันตลอดกาล”
เนมุริบอกว่าเธอได้แรงบันดาลใจเรื่องการตื่นตัวต่อประเด็นทางสังคมจากวงแร็ปเมทัลชื่อดังอย่าง Rage Against the Machine “ศิลปะดำรงอยู่ในมิติที่มิอาจตัดขาดจากสังคมได้ วงนี้สอนให้ฉันรู้จักกับความรับผิดชอบนั้น” อย่างไรก็ดี เธอไม่ปรารถนาให้คนมองว่าความโกรธแค้นในเพลงของเธอเป็นเพียงการบ่นบ้าหรือฉาบฉวย “ฉันไม่อยากให้ผู้คนคิดว่าฉันเป็นบ้า ฉันอยากให้พวกเขาเข้าใจว่าความโกรธของฉันนั้นมีที่มา” ซึ่งเพลงส่วนใหญ่ของเธอมักมีคำแปลภาษาอังกฤษอยู่ในคลิปหรือเว็บไซต์ทางการ คนฟังจึงสามารถเข้าถึงเพลงของเธออย่างไม่ยาก
Lovetheism (2020) มินิอัลบั้มชุดที่สาม ยังสานต่อความเดือดดาลด้วยซิงเกิ้ลที่มีธีมเป็นเพลงปลุกระดม ทั้ง "Fanfare" ที่ว่าด้วยความจริงว่าความรักและความโกรธคือรากฐานของชีวิต เนมุริยังสร้างซาวด์แบบใหม่ด้วยการใช้เครื่องเป่าและการร้องประสานในเพลงนี้ ส่วนเพลง "Riot" ก็มีเนื้อเพลงที่เป็นปริศนา ให้คนฟังไปตีความกันได้ว่าคำว่า riot ในเพลงนี้มันหมายถึงอะไรกันแน่ และนี่น่าจะเป็นหนึ่งในเพลงที่แร็ปได้ ‘ดุ’ ที่สุดของเธอ ชนิดว่าเวลาดูคลิปแสดงสดทีไร ก็ต้องคอยลุ้นว่าเธอจะหายใจทันหรือเปล่า
ผลงานล่าสุดของเนมุริคืออัลบั้มเต็มชุดที่สอง Shunka Ryougen (2022) ที่มีถึง 21 แทร็ค ความดุดันอาจไม่เท่าชุดที่แล้ว แต่แลกมาซึ่งความแปลกใหม่ทั้งแง่ทำนองและเนื้อหา อย่างเพลง "Ikiru" ที่ดูจะมีพลังบวกผิดวิสัย แต่ก็ยังแฝงด้วยความมืดหม่น “จงมีชีวิตอย่างงดงาม แล้วเน่าสลายอย่างแช่มช้า เราเป็นเพียงเศษเสี้ยวของโลก โอ้ ชีวิตนั้นช่างสวยงาม” ซึ่งเนมุริให้สัมภาษณ์ว่า “ตอนทำอัลบั้มชุดนี้ฉันนึกถึงการมีชีวิตและการตายที่เคยประสบมาทั้งชีวิต ฉันจินตนาการถึงห้วงเวลาที่วิญญาณมอดไหม้”
อย่างไรก็ดี เพลงเดือดๆ ที่อาจแฝงนัยทางการเมืองก็ยังมีอยู่ในอัลบั้ม (อย่างเช่นเพลง "Bang") เนมุริอธิบายถึงคอนเซ็ปต์ชื่ออัลบั้ม ‘เปลวไฟท่วมท้องทุ่ง’ ว่า “แม้แต่กองไฟเล็กๆ ก็ไม่อาจหยุดยั้ง หากถูกปล่อยทิ้งไว้ เช่นเดียวกับการก่อกบฏที่ไม่อาจต้านทาน หากมันได้ลุกลามขึ้นมา” เช่นนั้นแล้วเพลงของเธอยังแฝงนัยทางสังคมอย่างแรงกล้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ศิลปินญี่ปุ่นทั่วไปไม่ค่อยแสดงออกกัน
ต้องยอมรับกันตามตรงว่าเนมุริอาจไม่ได้มีชื่อเสียงในบ้านเกิดนัก แต่เธอได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในต่างประเทศ โดยเฉพาะปี 2022 ที่เธอมีทัวร์อเมริกาตลอดทั้งปี แม้จะเป็นการแสดงสดในสถานที่ขนาดเล็ก แต่ตั๋วหลายรอบก็ขายหมด “คนญี่ปุ่นไม่แสดงความรู้สึกอันแรงกล้าออกมาสักเท่าไร แต่ในอเมริกาผู้คนท่วมท้นไปด้วยการแสดงออกทางความรู้สึก” นอกจากนั้นเนมุริยังขึ้นชื่อเรื่องการแสดงสดแบบบ้าดีเดือด ทั้งแร็ป ตะโกน กรีดร้อง หรือกระทั่งกระโดดจากเวทีลงไปหาคนดู
ทั้งนี้ผู้เขียนแอบได้ยินมาว่ามีผู้จัดคอนเสิร์ตในบ้านเราสนใจจะพาเนมุริมาเล่นสดที่ไทยเหมือนกัน ก็หวังว่าสักวันพวกเราจะได้สัมผัสถึง ‘ความโกรธ’ ของเธอ
____________________
ผู้เขียน - คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
(Kanchat Rangseekansong)
เปิดโลกดนตรีและไอดอลกับคันฉัตร
อัลบั้มภาพ 6 ภาพ