Xinlisupreme : ศิลปินลึกลับผู้เกลียดชัง "ชินโซ อาเบะ" สุดหัวใจ โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
เหตุลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2022 ถือเป็นเหตุการณ์ช็อคโลก ด้วยความอุกอาจเหลือเชื่อของคนร้าย แถมยังเป็นเหตุรุนแรงขัดกับภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัยและกฎหมายครอบครองปืนสุดแสนเข้มงวด
ศิลปินนักร้องญี่ปุ่นบางส่วนออกมาแสดงความไว้อาลัยต่ออาเบะ แต่ก็น้อยรายมาก โดยปกติแล้วศิลปินแดนปลาดิบมักจะไม่พูดหรือยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมือง เพลงที่มีเนื้อหาวิจารณ์การเมืองสังคมนั้นแทบไม่มี (ไม่เหมือนสหรัฐอเมริกาที่ช่วงหนึ่งมีเพลงด่า โดนัลด์ ทรัมป์ นับไม่ถ้วน) หลายครั้งการพูดเรื่องทำนองนี้ก็ส่งผลต่อหน้าที่การงาน เช่น ดาราหนุ่ม โซสุเกะ ทาคาโอกะ เคยทวีตว่าทำไมทีวีญี่ปุ่นถึงฉายแต่ละครเกาหลี นี่ผมอยู่ประเทศอะไรกันแน่ ผลคือเขาถูกไล่ออกจากต้นสังกัดทันที, นักร้องนำวง Southern All Stars ต้องออกมาขอโทษที่ใส่หนวดปลอมเป็นฮิตเลอร์และแซวนายกอาเบะในคอนเสิร์ต หรือเมื่อปี 2016 ผู้คนก็ต่อต้านอย่างหนักเมื่อเทศกาลดนตรี Fuji Rock ประกาศว่า อากิ โอคุดะ นักกิจกรรมทางการเมืองจะมาปรากฏตัวในงาน
แม้การพูดเรื่องการเมืองจะถือเป็น ‘เรื่องต้องห้าม’ สำหรับวงการบันเทิงญี่ปุ่น แต่ก็มีศิลปินนามว่า Xinlisupreme ที่แหกกฎข้อนี้อย่างไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรม เขาประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าเกลียด ชินโซ อาเบะ ถึงขั้นเขียนไว้ในเว็บไซต์ทางการว่า “ไม่มีนายกคนไหนที่จะปลิ้นปล้อนและเผด็จการได้เท่าคนนี้อีกแล้ว” (แรงมากจ้า)
Xinlisupreme ถือเป็นศิลปินอินดี้สุดลึกลับ กระทั่งรูปหน้าของเขาในอินเทอร์เน็ตก็มีอยู่ 3 รูปถ้วน ชื่อจริงของเขาคือ ยาสุมิ โอกาโนะ เป็นคนจังหวัดคุมาโมโตะ เขาเล่าว่าแรงบันดาลใจที่หันมาทำเพลงเกิดจากการฟังเพลงแจ๊สชื่อ "The Father And The Son And The Holy Ghost" ของเทพแซกโซโฟน จอห์น โคลเทรน แต่เพลงที่เจ้าตัวทำออกมานั้นกลับเป็นดนตรีแนวชูเกส (shoegaze - ดนตรีที่เน้นเสียงกีต้าร์และการใช้เอฟเฟกต์) ที่ผสมกับนอยส์ร็อคและอิเล็กทรอนิกอย่างบ้าคลั่ง โอกาโนะทำเพลงด้วยตัวคนเดียว ผลงานของเขาจึงได้รับคำชมว่าเป็นหนึ่งในดนตรี Bedroom (เพลงที่อัดเสียงด้วยตัวเองอย่างง่ายๆ ใช้เพียงอุปกรณ์พื้นฐาน) ที่ดีที่สุดของศตวรรษที่ 21
อัลบั้มแรกของ Xinlisupreme มีชื่อว่า Tomorrow Never Comes ออกมาเมื่อปี 2002 เต็มไปด้วยสุ้มเสียงที่ตึงเครียดไม่ยั้งมือ เพลงเด่นๆ ก็เช่น "All You Need Is Love Was Not True" เพลงความยาว 8 นาทีที่ชวนให้นึกถึงวงตำนานอย่าง My Bloody Valentine ทั้งการใช้เอฟเฟกต์กีต้าร์หรือเสียงร้องงึมงำฟังยาก แต่เพลงโปรดของผู้เขียนคือเพลง 12 นาทีชื่อว่า "Fatal Sisters Opened Umbrella" ที่เริ่มต้นอย่างล่องลอย ก่อนจะค่อยๆ ทวีความโหดร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ และซาวด์สุดประหลาดของมันก็ทำให้นึกว่านี่เพลงจากต่างดาวเลยทีเดียว
อัลบั้ม Tomorrow Never Comes ได้เสียงวิจารณ์เป็นบวกพอสมควร แต่ก็เป็นที่รู้จักในวงแคบเท่านั้น จนช่วงกลางทศวรรษ 2010 ด้วยยุคไฮสปีดและสตรีมมิ่ง เพลงของ Xinlisupreme เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ปี 2016 เว็บไซต์ Pitchfork จัดให้ Tomorrow Never Comes เป็นหนึ่งใน 50 อัลบั้มชูเกสยอดเยี่ยมตลอดกาล ส่วนชาแนล Stained Glass Stories ก็แนะนำว่าเป็นท็อปเท็นของชูเกสญี่ปุ่นน่าฟัง
โอกาโนะเริ่มทำเพลงเกี่ยวกับการเมืองในอีพีชุด Murder License (2002) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการที่สหรัฐอเมริกาส่งกองทัพบุกเข้าไปในอิรักหลัง 9/11 แต่จุดเปลี่ยนแท้จริงของเขาคือโศกนาฏกรรมสึนามิ 3.11 เมื่อปี 2011 เกิดคลื่นยักษ์ถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ตามด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด เหตุการณ์นี้ทำให้โอกาโนะตระหนักว่าไม่สามารถปล่อยเรื่องการเมืองไว้กับพวกนักการเมืองฝ่ายเดียว “ผมต้องหัดเรียนรู้เรื่องการเมืองและสังคมด้วยตัวเอง ผมต้องทำให้เสียงของผมดังขึ้น และทำเพลงเพื่อเปลี่ยนภาพการเมืองของญี่ปุ่น”
ผลงานเปลี่ยนชีวิตของ Xinlisupreme เกิดขึ้นในปี 2015 เมื่อเขาปล่อยซิงเกิ้ลชื่อ "I Am Not Shinzo Abe" โดยช่วงนั้นวลี I Am Not Abe เป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์จากประชาชนที่เห็นว่าเขาจัดการได้ไม่ดีพอกับกรณีนักข่าวญี่ปุ่นถูกกลุ่มก่อการร้าย ISIS ลักพาตัว จากนั้นมันก็พัฒนาเป็นแฮ็ชแท็กของกลุ่มต่อต้านอาเบะ ด้วยความเอียงขวาของเขาที่พยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มบทบาทกองทัพญี่ปุ่น โดยเพลง "I Am Not Shinzo Abe" เป็นนอยส์ร็อคแสบหูที่ทั้งเพลงร้องวนไปมาว่า “I Am Not Shinzo Abe” อย่างไม่รู้จบ
แม้ว่า I Am Not Shinzo Abe จะกลายเป็นเพลงไวรัลในระดับหนึ่ง แต่ค่ายเพลงกลับรู้สึกไม่พอใจที่มันการเมืองเกินไป จนโอกาโนะขอลาออกจากค่าย ซ้ำร้ายเขายังถูกด่าทอจากทั้งฝ่ายขวาจัดและแฟนเพลง โอกาโนะเลยเริ่มคิดจะรีไทร์จากวงการเพลงและหันไปเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองแบบเต็มตัว แต่เพื่อนที่ไปม็อบด้วยกันชื่นชมว่าเพลงของเขานั้นมีพลังและน่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เขาเลยกลับไปทำเพลงอีกครั้ง
I Am Not Shinzo Abe อัลบั้มชุดที่สองของ Xinlisupreme ออกเมื่อปี 2018 ทิ้งห่างจากงานชุดแรกถึง 16 ปี คราวนี้โอกาโนะมุ่งเรื่องการเมืองอย่างตรงไปตรงมา เขาแถลงว่าอัลบั้มชุดนี้คือการวิพากษ์วิจารณ์อาเบะ คณะรัฐบาล และปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมญี่ปุ่น “ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่อาจเกิดขึ้นในญี่ปุ่นได้หากศิลปินอย่างเราไม่แสดงความคิดเห็นต่อต้านพวกเขา โปรดกล้าหาญและเปล่งเสียงออกมา เราจะได้เปลี่ยนแปลงรัฐบาลญี่ปุ่นได้” ถึงกระนั้นมันไม่ใช่งานที่เข้าถึงได้ง่ายนัก เพราะ 80% ของอัลบั้มเป็นเพลงบรรเลง! แต่นั่นก็เปิดช่องว่างให้ผู้ฟังได้ขบคิดว่าแต่ละแทร็คกำลังพูดถึงสังคมญี่ปุ่นในแง่มุมไหน
ด้วยการกลับมาหลังจากหายไปนาน บวกกับสารอันแรงกล้า I Am Not Shinzo Abe จึงได้รับความสนใจจากทั้งสื่อและผู้ฟัง แม้หลายคนจะบอกว่าซาวด์มันค่อนข้างโกลาหลและดูไม่คมคายเท่างานชุดแรก แต่มันก็เป็นอัลบั้มที่ดีในแง่ความท้าทายต่อผู้ฟัง แม้กระทั่งเพลง Seaside Voice Guitar ที่มีเนื้อเพลงสุดโรแมนติกว่า “ทะเลซัดสาดภาพของพรุ่งนี้ที่เธอวาดฝันดั่งบทกวีงดงาม / ฉันนั่งข้างเธอ แสร้งทำเป็นไม่รู้ ถอดรองเท้าและสัมผัสผืนทราย / หากว่าโลกนี้คือความฝัน ฉันจะลืมเธอตอนตื่นหรือเปล่า” ก็เต็มไปเสียงที่วุ่นวายและถูกทำให้บิดเบี้ยว เรียกได้ว่ามันเป็นเพลงรักในแบบของ Xinlisupreme
น่าเสียดายว่า Xinlisupreme ออกซิงเกิ้ลใหม่มาเพียงสองเพลงในปี 2019 และ 2020 หลังจากนั้นเขาก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ในวันที่อาเบะจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจะนึกถึงผลงานของเขา คนแห่แหนกันเข้าไปคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียของ Xinlisupreme แต่เขาก็ไม่เคลื่อนไหวใดๆ ทางสื่อโซเชียลมาปีกว่าแล้ว น่าสนใจเหมือนกันว่าเขาจะคิดอย่างไรกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทุกวันนี้เขายังชิงชังอาเบะอยู่หรือเปล่า และนี่คือ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ แบบที่เขาวาดฝันไว้หรือไม่
____________________
ผู้เขียน - คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
(Kanchat Rangseekansong)
เปิดโลกดนตรีและไอดอลกับคันฉัตร