วิเคราะห์ดนตรี aespa - Girls จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก | Sanook Music

วิเคราะห์ดนตรี aespa - Girls จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก

วิเคราะห์ดนตรี aespa - Girls จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไปต่อกับ aespa และ SM Culture Universe กับการเล่าเรื่องราวการต่อสู่ของสาวๆ ในโลกเสมือนจริงผ่านบทเพลงใหม่ “Girls” ที่ในครั้งนี้กลับมาอย่างเข้มแข็ง แข็งแรง ดุดัน แตกต่างจากเพลงก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังคงไม่ทิ้งเอกลักษณ์ความเป็นเอสป้ารวมไปถึงดนตรีที่มีความหลากหลาย ติดหูทันทีที่ได้ฟังครั้งแรก

 

Written by 유영진 (Yoo Young Jin), Chikk, Ryan S. Jhun, Pontus PJ Ljung, Hitmanic & Dennis DeKo Kordnejad

Composed by Ryan S. Jhun, Hitmanic, Dennis DeKo Kordnejad, Chikk, Pontus PJ Ljung & 유영진 (Yoo Young Jin)

Arranged by Ryan S. Jhun, Hitmanic, Dennis DeKo Kordnejad, Pontus PJ Ljung & 유영진 (Yoo Young Jin)

Lyric by 유영진 (Yoo Young Jin)

 

E♭ Minor - 86 BPM

 

aespa 에스파 'Girls' MV

 

โครงสร้างของเพลง Girls

INTRO   0:09-0:20

VERSE 1   0:20-0:42

DROP   0:42-0:54

PRE-CHORUS   0:54-1:05

CHORUS   1:05-1:27

POST-CHORUS 1:27-1:33

VERSE 2   1:33-1:55

DROP   1:55-2:06

PRE-CHORUS   2:06-2:17

CHORUS   2:17-2:40

BRIDGE   2:40-3:05

INSTRU   3:05-3:27

PRE-CHORUS   3:27-3:38

CHORUS   3:38-4:00

OUTRO   4:00-4:06


aespa - Girls

INTRO (0:09-0:20)

แค่เปิดเริ่ม Intro มาก็รู้สึกได้แล้วถึงความลี้ลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน อะไรบางอย่างที่อันตราย น่าพิศวงกำลังค่อยๆ คืบคลายเข้ามา จากการเลือกใช้โน้ตที่เต็มไปด้วยขั้นคู่ความห่างที่สร้างความหลอนให้แก่คนฟัง เช่น โน้ตตัวแรกกับตัวที่สองห่างกันเป็นคู่ 4 ที่มันมีความไม่เพอร์เฟค แต่ก็เกือบจะเพอร์เฟคอยู่ มันไม่สุดสักทีเดียว หรือระหว่างโน้ตตัวที่ 2 และ 3 ก็จะเป็นเสียง Chromatic ขั้นคู่ที่ห่างแค่เพียงครึ่งเสียง ความใกล้กันมากของเสียงก็ทำให้เกิดความน่าอึดอัด

อีกสิ่งที่ทำให้เกิดความพิศวงคือการเลือกใช้เสียงที่มีความก้องสะท้อน แต่ขณะเดียวกันก็มีหัวเสียงกระแทกที่คมชัด ไม่เบลอจนเกินไป จะว่าไปก็คล้ายกับเสียงของ Celesta ในเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Harry Potter ทำนองอันแสนคุ้นหูนี้เองก็มีขั้นคู่ที่ใกล้เคียงกันกับเพลง Girls ด้วย และแน่นอนว่าแค่ขึ้นมา 2 โน้ตแรกเราก็รู้สึกได้แล้วถึงพลังงานบางอย่างที่ซ่อนอยู่

ตัวอย่างเพลง John Williams - Hedwig’s theme

แต่ในกรณีเพลง Girls ของเอสป้ามันผสมผสานความทันสมัย electronics มีความเป็นโลก digital เข้าไปด้วย โดยเฉพาะในเสียง Synthesizer ที่สอดแทรกเข้ามามากมาย ทั้งแข็งแรง กระด้าง ฟังดูอันตราย ไม่ปลอดภัย เสียงคล้ายเบสสไลด์อย่างรุนแรงและไม่ได้ตกลงบนโน้ตหลักของเพลง บีตคล้ายเสียงปรบมือตลอดเวลาพาให้เพลงมุ่งไปข้างหน้า ตื่นเต้นเร้าใจตั้งแต่เริ่มต้นเลยทีเดียว

ในช่วงท้ายเสียงดนตรีเงียบหายไปหมด เหลือไว้เพียงเสียงร้องนำเข้าสู่ท่อนแรกของเพลงแบบที่ให้เราลุ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ที่แน่ๆ คือตอนนี้เพลงสามารถบิ๊วอารมณ์ของผู้ฟังได้อย่างไม่น่าเชื่อในเวลาแค่เพียงประมาณ 10 วินาที

VERSE 1 (0:20-0:42)

โอ๊ยยยยย เสียง Synth ที่เป็นเหมือนกับ Ostinato มันสุดแสนจะเท่ห์ ถ้าให้อธิบายก็คือเสียงทำนองของดนตรีที่มันดำเนินอยู่แทบจะตลอดไปเรื่อยๆ มันมีความกวนจากการบิดสไลด์เสียงเล็กน้อยแต่ก็มีความคูลด้วยเช่นกัน การเลือกใช้โน้ตเองก็เป็นเอกลักษณ์มีสีสันที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นการใช้โน้ตซึ่งอยู่บนคีย์ดำล้วนๆ (บนเปียโนมีคีย์สีขาวกับดำ) แถมยังเป็นการใช้โน้ต 5 ตัวไล่เรียงกันที่เรียกว่า Pentatonic Scale แบบที่จะพบได้มากในแถบเอเชีย เป็นโน้ตพื้นฐานที่พบบนเครื่องดนตรีฝั่งตะวันออกอย่างเช่นในไทยหรือจีน เป็นต้น

บีตจัดเต็มทั้งกลองใหญ่ Kick drum สลับกับเสียง Snare drum ที่ฟาดเข้าให้เต็มแรง พร้อมกับเสียงคล้าย Triangle ตีดังกริ๊งผสมกันไป นอกจากนี้ยังมีเสียงจากเบสโผล่มาเล็กน้อย แบบที่พอให้มีที่จับยึดก่อนจะหายไป นั่นเป็นจุดที่ทำให้เสียงร้องไม่ถูกรบกวน

เสียงร้องถูกปรับให้มีความคมชัดและพุ่งเสียดแทงทะลุเสียงดนตรีทั้งหมดออกมาชัดเจนมาก แนวทำนองที่เน้นร้องอยู่บนโน้ตตัว E♭ ซึ่งเป็นโน้ตตัวหลักสุดของเพลงนี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่ามันจำง่าย คุ้นหู เรียกได้ว่ามีโน้ตอื่นแทรกมาอยู่แค่ 2 ตัวภายในเวลาหลายวินาที Zท่อนของวินเทอร์ที่สะบัดเสียงขึ้นสูงก็ยังคงเป็นตัว E♭ อยู่) กว่าจะเปลี่ยนเป็นการโน้ตไล่โน้ตลงก็าเข้าไปนาทีที่ 0:36 แล้ว

นาทีที่ 0:30 ผู้เขียนฟังแล้วแทบจะกรี๊ดเพราะมันสุดแสนจะเท่ห์ เสียงไล่โน้ตจากต่ำไปสูงของเครื่องสายด้วยความรวดเร็วทำให้เพลงน่าตื่นเต้นขึ้น และแน่นอนว่าการเพิ่มมาของเสียงร้องประสาน Background Vocals ที่ได้ยินอย่างชัดเจนเลยว่าเป็นเสียงของยูยองจินช่วงเพิ่มมิติให้กับทำนองได้เป็นอย่างดีเลย


aespa - Girls

DROP (0:42-0:54)

มั่นใจว่าหลายคนจะต้องโยกหัวตามในท่อนนี้ ที่เรียกว่าท่อน Drop เพราะสไตล์ของดนตรีนั้นเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน แทบไม่ได้ข้องเกี่ยวกับช่วงก่อนหน้าหรือหลังจากนี้ เหมือนมาเป็นช่วงสั้นๆ เพื่อเปลี่ยนมู้ดของเรา มันค่ะ! แม้จังหวะจะเร็วเท่าเดิมแต่ลักษณะการเน้นจังหวะหนักเปลี่ยนไปราวกับว่าเป็นคนละเพลง

ยิ่งพอเป็นเสียงกีตาร์ไฟฟ้าตีคอร์ด ผ่ามๆๆ พร้อมกับกลองชุด โอ้โห นี่มันร็อคเกอร์สาวแห่ง Kwangya หรอ ชอบมากที่มีการใช้โน้ตที่มีความห่างแค่ครึ่งเสียงสลับขึ้นลงกันไปมา มันสร้างความอึดอัด ความ intense ให้ยิ่งมากไปกว่าเดิมอีก แต่ที่พีคที่สุดก็คือการที่แนวร้องแร็ปมีความถี่รัวเร็วต่อเนื่องในจังหวะที่ขัดกันกับดนตรีที่เหลือ มันแบบว่า อ๊ากกกกกก

ที่จริงถ้าเกิดว่าใส่หูฟังแบบตั้งใจฟังสุดๆ จะได้ยินเสียงนิ้งหน่อง 3 โน้ตเบาๆ แทรกเข้ามาตลอด เช่นในนาทีที่ 0:43, 0:45 เป็นต้น จะว่าไปก็มีเนื้อเสียงที่คล้ายกันกับช่วง Intro ซึ่งมีความพิศวงลี้ลับเลย แต่น่าเสียดายที่เสียงมันเบามากจนแทบไม่ได้ยิน ใจผู้เขียนแอบอยากให้เสียงนี้ถูกเร่งให้ดังขึ้นมาอีกสักนิด

PRE-CHORUS (0:54-1:05)

เรายังไม่ถึงท่อนฮุคนะ ต้องถูกคั่นด้วยท่อนสุดแสนจะไพเราะเสียก่อน ซึ่งเสียงของเครื่องดนตรีแบบในช่วง Intro กลับมาอีกครั้ง โดยที่เสียงนั้นสลับโน้ตไปๆ มาๆ วนเวียนราวกับหนูติดจั่นที่หาทางออกไม่ได้ ซึ่งพร้อมกับเสียงคอร์ดที่หนาจัดเต็มราวกับเสียงของออร์แกนในโบสถ์ มันมีความขลังแต่ก็น่ากลัว เสียงปรบมือลงจังหวะตลอดเวลาทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นกังวลใจ แล้วยิ่งพอมีเสียงเครื่องสายเสียงสูงในนาทีที่ 0:59 เพิ่มเข้ามานะ อื้อหือ มันช่างบีบคั้นหัวใจผู้ฟังสุดๆ

นี่ยังไม่นับเรื่องของการเลือกใช้คอร์ดที่ในที่สุดก็มีอะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นแตกต่างจากช่วงที่ผ่านมาอย่างชัดเจน เปิดท่อนมาก็ Major สว่างสดใส ฉีกแหวกออกจากความมืดหม่นของคอร์ดแบบ Minor แต่สีสันของช่วงพรีคอรัสนี้กลับไม่ได้มีความชัดเจนขนาดนั้นเมื่อทั้ง Major และ Minor ถูกนำเสนอสลับกันไปมาตลอดทุกจังหวะหลัก เรียกว่าเปลี่ยนยับจริงๆ แถมยังมีคอร์ดกัดมาขยี้ให้คนฟังเกิดความสับสนปนอึดอัดไปอีก เอาเลยค่ะ เอาให้สุด

แนวทำนองไพเราะถูกนำเสนอออกมาเป็นครั้งแรกเลย จากที่มักจะเป็นโน้ตซ้ำๆ หรือการร้องแร็ป ซึ่งแนวทำนองนี้มีการไล่เสียงขึ้นลงแบบมีชั้นเชิง น่าติดตาม ที่น่าสนใจคือมันไร้ซึ่งเสียงร้องประสานคอยซัพพอร์ต จากที่สังเกตเพลงนี้จะเน้นให้เสียงร้องของนักร้องเด่นออกมาไลน์เดียวชัดเจนมาก มี Bg vocals อยู่แค่บางช่วง และมีการ Dub เสียงทับแค่ในท่อนแร็ปเท่านั้น


aespa - Girls

CHORUS (1:05-1:27)

ท่อนฮุคสักที! เสียงของ Synthesizer จากช่วง Verse 1 (ที่จะว่าไปก็เสียงคล้ายกับแซกโซโฟนอยู่นะ) ถูกยกเอากลับมาใส่ในท่อนฮุคนี้แต่ถูกปรับลดความดังลงเพื่อให้มันไม่โดดออกมากวนแนวทำนองร้อง แม้บีตต่างๆ จะหนักหน่วงกระแทกกระทั้นรุนแรงแค่ไหนแต่ในความเป็นจริงมันกลับไม่ได้จัดเต็มอย่างที่คิดเมื่อเพลงยังคงเต็มไปด้วยช่องว่าง มีช่วงจังหวะที่ไม่ได้มีเสียงของเครื่องกระทบ แต่มันกลับถูกซัพพอร์ตด้วยเสียงเบสที่สลับไปมาระหว่างโน้ตครึ่งเสียง (ที่ก็ขยี้สุด)

และแน่นอนว่าแนวร้องเนี่ยแหละที่อุดทุกตัวหยุด แนวทำนองหลักเน้นร้องย้ำอยู่บนโน้ตตัวเดิมในช่วงเสียงสูง พอกันกับเสียงร้องตอบกลับคล้ายกับบทสนทนาที่อยู่ในช่วงเสียงต่ำลงมาที่ก็เน้นย้ำอยู่บนโน้ตตัวหลักของเพลง ไม่ต้องอะไรเยอะแยะ ทำนองไม่ต้องอลังการงานสร้างเลย คนแต่งเลือกใช้โน้ตและรูปแบบของจังหวะเป็นแพทเทิร์นที่ติดหู จำได้ติดหูทันที และสามารถร้องตามได้อย่างง่ายดาย

นาทีที่ 1:16 เนี่ยแหละถึงจะค่อยมีคอร์ดลากมาทำให้เพลงมีความ full ยิ่งกว่าเดิมพร้อมกับสีสันที่เปลี่ยนไปจากคอร์ด Major รวมไปถึงแนวทำนองร้อง จากที่เคยถูกปรับแต่งให้มีความคมและกระด้าง ในท่อนนี้ก็กลายมาเป็นเสียงที่ซอฟต์ลงไม่ได้ถูกปรับแต่งอะไรมากมายเพื่อให้เข้ากับลักษณะของดนตรี

คอร์ดสุดท้ายของท่อนฮุคนี้ก็แอบน่าสนใจที่ไม่ได้เลือกใช้คอร์ดเพื่อให้มีการส่งผ่านต่อไปยังท่อนถัดไปที่ชัดเจนนัก สวนทางกับแนวทำนองที่ชัดเจนกว่า กลายเป็นว่าสองแนวนี้กัดกันเอง ฟังแล้วก็รู้สึกว่ามันเหมือนจะจบแต่ก็กลับค้างคา อะไรบางอย่างมันยังคงไม่ลงตัวและเรายังต้องฟังกันต่อไป

POST-CHORUS (1:27-1:33)

ช่วงเปลี่ยนผ่านสั้นๆ ที่คล้ายกับว่ายกเอา Intro ของเพลงมาเป็นท่อน Instrumental เพื่อบิ๊วอารมณ์ของคนฟังที่หลุดลอยจากช่วงท้ายท่อนฮุคให้เตรียมพร้อมกลับมาตื่นตัวอีกครั้งด้วยสารพัด Sound effect ที่แสนจะอันตราย

VERSE 2 (1:33-1:55)

ถึงดนตรีต่างๆ จะยังเหมือนเดิมกับ Verse 1 แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือแนวร้อง จากที่เคยมีทำนองก็กลายไปเป็นการร้องแร็ป กึ่งๆ การพูดแทน มีการ Dub เสียงซ้อนกันเป็นบางช่วงบางประโยคเพื่อเน้นจุดที่สำคัญ แต่ตั้งแต่นาทีที่ 1:38 ไปก็กลายเป็นเสียงทับซ้อนกันยาวๆ ในจังหวะที่มีความหลากหลายและ complicate มากขึ้น น่าสนใจมากว่ามันเป็นเทคนิคที่ทำให้ประสบการณ์การฟังเพลงของผู้ฟังเปลี่ยนไปเลย

พอเข้าสู่นาทีที่ 1:43 ทุกอย่างก็กลับมาเหมือนกับ Verse 1 แทบจะทั้งหมดเลย อาจมีจังหวะของคำร้องที่เปลี่ยนไปบ้างเนื่องจากเนื้อเพลงที่แตกต่างกัน และที่สำคัญคือเสียงร้องกับวิธีการนำเสนอของแต่ละคนเนี่ยแหละที่ทำให้มันน่าติดตามตลอด

ท่อน DROP (1:55-2:06) กลับมาอีกครั้งพร้อมกับเสียงซ้อนที่ดังชัดเจนมากกว่าก่อนหน้า ช่วงเร่งให้เพลงมันส์เร็วขึ้น หนักหน่วงจนแทบจะระเบิดออกมาแล้ว แต่ยังก่อน เราถูกดูดให้ตกลงไปในหลุมดำอันแสนลึกลับในท่อน PRE-CHORUS (2:06-2:17) แต่เฮ้ยยยย ช่วงท้ายของพรีฮุคนี้ไม่ได้เงียบนานเหมือนรอบก่อนหน้าแล้วนะ มันไม่มีที่ให้เราได้พักเบรคเลย โอ๊ย ใจจะขาดแล้วนะ!


aespa - Girls

CHORUS (2:17-2:40)

การที่ในท่อนฮุคมีการสลับกันร้องแนวทำนอง ไม่ได้ร้องพร้อมกันทั้งหมดตลอดเวลาก็ทำให้ท่อนนี้ที่แม้จะมีดนตรีซ้ำๆ เดิม ทำนองแบบเดิมกลับแตกต่างด้วยเนื้อเสียงของเมมเบอร์ทั้ง 4 คนที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และวิธีการร้อง การตีความ การออกเสียงคำก็แตกต่างกันหมด ประทับใจจริงๆ มันเป็นสไตล์ที่มักจะพบในเพลงของค่าย SM Entertainment เกือบตลอดเลย

แต่ที่จริงแล้วก็ต้องบอกเลยว่าช่วงครึ่งหลังของฮุคนี้ตั้งแต่นาทีที่ 2:28 เป็นต้นไปมีอะไรที่เปลี่ยนไปอยู่นะ ที่แน่ๆ เลยคือคอร์ดและแนวเบสในนาทีนั้นแตกต่างจากคอรัสครั้งก่อนหน้า จาก A♭m กลายไปเป็นคอร์ด B เฉย เห้ย อย่างงี้ก็ได้หรอ จาก Minor เป็น Major ถ้าสังเกตดีๆ อาจรู้สึกได้ถึงบรรยากาศของเพลงที่มันไปในทิศทาง positive กว่าก่อนหน้านี้

หรืออย่างในนาทีที่ 2:35 เสียงกลองใหญ่ Kick drum ก็มีจังหวะที่แปลกประหลาดจากเพื่อนออกมาให้เราตกใจเล่น ขัดมู้ดเฉย และในห้องสุดท้ายก็กลับกลายเป็นเหลือเพียงแค่เสียงคอร์ดลากพร้อมกระโดดเข้าท่อน Bridge ทันทีโดยไม่มีท่อน Instru มาช่วยเตรียมพร้อมก่อน

BRIDGE (2:40-3:05)

เพลงดำเนินมาถึงท่อนเชื่อมต่อ ท่อนที่แตกต่าง ท่อนอันมีชื่อเสียงของตึกชมพูที่ไม่เคยทำให้เราผิดหวัง และแน่นอนว่าในเพลงนี้ก็เช่นกัน แนวทำนองไพเราะที่นำเสนอเสียงร้องออกมาอย่างเต็มที่ มีการเลือกใช้โน้ตเอื้อนช้าๆ หรือแนวทำนองร้องที่มักจะไล่โน้ตจากเสียงสูงไปต่ำในจังหวะที่ขัดกับดนตรี มีความฟรีไม่ยึดติดกับจังหวะมากเกินไป อย่างช่วงท้ายประโยคคำว่า Friend นาทีที่ 2:48 แบบที่มักจะได้ยินบ่อยๆ ในเพลงที่แต่งหรือควบคุมการอัดเสียงโดยคุณยูยองจิน คุณพ่อแห่งค่าย SM นั่นเอง

ตัวอย่างเพลง NCT U - Coming home 

 

ตัวอย่างเพลง EXO K. - What is love

คอร์ดในนาทีที่ 2:42 ก็เจ๋งมากเลย เนื่องจากมันเป็นคอร์ดใหม่ซึ่งเราไม่เคยได้ยินมาก่อนในเพลง และไม่คาดคิดด้วยว่าจะได้ยิน แบบ เห้ย เพลงมันดำเนินไปทางนี้ได้ยังไงนะ จากที่พิศวงอยู่แล้วกลับลึกลับน่าค้นหากว่าเดิมไปอีก

ยังไม่นับองค์ประกอบอื่นๆ เสียงคล้ายกีตาร์ไฟฟ้าลากโน้ตที่เสียงดังและค่อยๆ หายไป มีเสียงประสานจาก Synthesizer เบาๆ ในช่วงเสียงกลางแบบไม่หนามาก ที่น่าใจหายคือการที่เสียงเบสหายไปเลย เสียงต่ำมันหายไปจนเกลี้ยง บวกกับการปรับให้ท่อนนี้มีเสียงสะท้อนก้องไปมาค่อยข้างมากจึงทำให้ท่อนนี้มีความโหวงเหวง ล่องลอย แต่ก็น่าอึดอัดเหมือนอยู่ในห้องปิดตายอย่างโดดเดี่ยวงั้นเลย

แต่ก็ยิ่งน่าประหลาดใจไปอีกที่บีตต่างๆ มันแอคทีฟมากเลย กลองใหญ่ เสียงเครื่องกระทบสารพัดไม่ได้หยุดเลยนะ มันยังดำเนินไปตลอด หากแต่ว่าแนวดนตรีมันถูกลงจังหวะหนักให้ห่างกว่าเดิม แนวทำนองร้องก็มีความต่อเนื่อง Lyrical ไม่กระแทกกระทั้นเหมือนก่อนหน้าแล้ว รวมๆ เลยทำให้เพลงเหมือนจะผ่อนคลายลงแต่ยังคงความตื่นเต้นเอาไว้ตลอด

ยิ่งพอเข้าสู่นาทีที่ 2:51 ครึ่งหลังของ Bridge ก็ยิ่งน่าอึดอัดกว่าเดิมไปอีกเมื่อเสียงกีตาร์ค่อยๆ ไล่สูงขึ้นควบคู่ไปกับทำนองร้อง ที่หนักสุดคือการเพิ่มห้องเพลงมาอีก 1 ห้องในตอนท้ายที่ลากเสียงร้องต่อยาวไป โอ๊ยยยยยย ผู้ฟังถูกบีบคั้นอย่างหนักหน่วงจนแทบจะหายใจไม่ออก รอคอยการปลดปล่อยในท่อนถัดไปแล้ว!

INSTRU (3:05-3:27)

โอยช่วยด้วย รุนแรง ดุมาก กับดนตรีแบบ electronics จัดเต็มไม่มียั้ง ฉีกออกจากดนตรีตลอดทั้งเพลงที่ผ่านมาและโดยเฉพาะท่อน Bridge ในนาทีที่ 3:14 ผู้เขียนเชื่อว่าต้องมีหลายคนแน่นอนที่กรี๊ดออกมากับความเท่ห์ของเพลงที่อยู่ดีๆ ก็เงียบกริบกลายเป็นเสียงพูดว่า Hold up แบบกวนๆ แล้วก็ค่อยกลับมาไปต่อโดยมีเสียงร้องไล่โน้ตเพราะๆ ทั้งท่อนนี้มันแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจ ความแข็งแกร่งที่อะไรก็ฉุดเอาไว้ไม่อยู่จริงๆ

ใดใดเลยคือแอบตกใจนะที่โน้ตไล่และกลับขึ้นไปโดยที่ไม่ได้นำเข้าสู่ท่อนฮุคสุดท้าย กลับกลายเป็นว่าเห้ย เรายังอยู่ในท่อน Bridge หรอกเหรอ อะไรจะขนาดนั้น แต่ที่จริงแล้วมันคือท่อน BRIDGE (2:40-3:05) ที่กลับมาอีกครั้งเพื่อบิ๊วอารมณ์ผู้ฟังให้ถึงจุดสูงสุดเป็นครั้งสุดท้าย โดยปรับเปลี่ยนทำนองไปอยู่ในช่วงเสียงที่สูงมากๆ ประกอบกับแนวเครื่องสายที่สีไล่โน้ต 4 ตัวสลับไปมาอย่างถี่ละเอียดดังออกมาเลย (รอบก่อนหน้าก็มีนะแต่เสียงเบามากๆ)


aespa - Girls

CHORUS   3:38-4:00

อ๊ากกกก!!! ไฮโน้ตตัว D♭ งั้นเลยเหรอ คือจะไม่แปลกใจเลยถ้าโน้ตนี้ถูกลากมาตั้งแต่ก่อนท่อนฮุคเพื่อใช้ในการส่งผ่านท่อนตามคุณลักษณะของโน้ตนี้ แต่นี่กลับเริ่มร้องในท่อนฮุคซึ่งมันไปกัดกันกับดนตรีที่เหลือทั้งหมด อ้าว ก็ถึงฮุคแล้วนะ แต่ไม่หรอก ยังไม่ให้เธอได้ฟินขั้นสุดหรอกนะ จนผ่านไปอีก 4 วินาทีนู่นแหนะถึงจะค่อยสไลด์โน้ตไปที่ตัว E♭ โป๊ะเชะพอดี! โอ๊ย แทบจะขาดใจตายกันเลย

โดยส่วนใหญ่ท่อนฮุคสุดท้ายมักจะเต็มไปด้วยแนวร้อง adlib ตัดฉวัดเฉวียนไปมาเพื่อเติมเต็มเพลง ดึงอารมณ์คนฟังไปให้สุด รวมไปถึงโชว์สกิลการร้องของทีม Vocal แต่ในเพลงนี้กลับมีแทรกเข้ามาอยู่แค่นิดเดียวเท่านั้น แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกว่ามันกำลังดีหลังจากที่เราเพิ่งจะเจอท่อน Pre-chorus และสุดยอดไฮโน้ตขยี้ใจในท่อนฮุค

และความเพอร์เฟคในการจบเพลงนี้ก็คือการร้องโน้ตประสานด้านบนของประโยค We them Girls ในนาทีที่ 3:58 และลากโน้ตยาวต่อไปเข้าสู่ท่อน OUTRO (4:00-4:06) ที่พาเราหวนกลับเข้าสู่โลกอันลี้ลับของเหล่าสาวๆ "Girls" และจุดจบอันน่าหดหู่ของ Black Mamba

aespa - Girls 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook