ถ่ายธรรมดาโลกไม่จำ! : ว่าด้วยมุมกล้องในรายการเพลงเคป็อป โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง | Sanook Music

ถ่ายธรรมดาโลกไม่จำ! : ว่าด้วยมุมกล้องในรายการเพลงเคป็อป โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

ถ่ายธรรมดาโลกไม่จำ! : ว่าด้วยมุมกล้องในรายการเพลงเคป็อป โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนึ่งในเอกลักษณ์ของวงการเพลงเกาหลีคือมีรายการเพลง (Music Show) ให้ศิลปินไปแสดงตามสถานีโทรทัศน์มากถึง 6 รายการต่อสัปดาห์ ได้แก่ The Show (ช่อง SBS MTV), Show Champion (MBC M), M Countdown (Mnet), Music Bank (KBS), Show! Music Core (MBC) และ Inkigayo (SBS) โดยแต่รายการจะมอบ ‘ถ้วยรางวัล’ ประจำสัปดาห์กับวงที่ได้คะแนนอันหนึ่งด้วยกติกาที่ต่างกันไป แต่นอกจากเรื่องรางวี่รางวัลแล้ว อีกสิ่งที่น่าสนใจในรายการเพลงเหล่านี้ก็คือเรื่องของมุมกล้องและเทคนิคการถ่ายทำ

หากลองไล่เรียงประวัติศาสตร์อย่างคร่าวๆ ช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 2000 (หรือยุคไอดอล Gen 2) มุมกล้องในรายการเพลงจะยังไม่หวือหวามากนัก มีแค่สองโหมดหลักๆ คือภาพกว้างถ่ายสมาชิกทุกคนกับภาพแคบที่ถ่ายเจาะเมมเบอร์รายคน อีกทั้งแต่ละช็อตจะค้างอยู่นานหน่อยสัก 4-5 วินาที แต่พอเข้าทศวรรษ 2010 (หรือยุค Gen 3) การนำเสนอจะฉึบฉับขึ้นอย่างได้ชัด การตัดต่อเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการตัดภาพทุก 2 วินาที (จนบางคนบอกว่าเวียนหัว) เริ่มมีการถ่ายจากมุมสูง การซูมเข้าซูมออกทั้งแบบนุ่มนวลและรุนแรง ไปจนถึงมุมกล้องประหลาดๆ เช่น สั่นสะเทือนเหมือนแผ่นดินไหว หรือกล้องหมุนควงสว่าน

ในการถ่ายทำใดๆ มักมีสองแบบใหญ่ๆ คือ มีกล้องตัวเดียว (single camera) และกล้องหลายตัว (multi camera) ซึ่งรายการเพลงเคป็อปเป็นกรณีหลัง หลายคนเกิดข้อสงสัยว่าเหล่าไอดอลเขารู้ได้ยังไงว่าต้องหันไปมองกล้องตัวไหนหรือกล้องไหนกำลังถ่ายเขา บางคนอาจทราบว่ากล้องที่กำลังถ่ายจะมีไฟแดงขึ้น แต่ศิลปินที่ต้องทั้งร้อง ทั้งเต้น ทั้งแสดงสีหน้า จะมีสติมาสังเกตไฟกล้องได้อย่างไรกันนะ

ชาแนล soobeanie_ (เธอคืออดีตไอดอลชื่อ Tina จากวง Blady ที่อยู่ในวงการช่วงปี 2013-2017) ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดว่าทางค่ายจะส่งวิดีโอซ้อมเต้นของไอดอลไปให้ทางรายการเพลง จากนั้นทางทีมงานก็จะไปคิดเรื่องมุมกล้องต่างๆ นานา แล้วส่ง shooting script (สคริปต์การถ่ายทำ) กลับไปให้ทางค่าย หรือบางทีค่ายก็อาจเป็นคนทำ shooting script เสนอไปทางรายการด้วยซ้ำ และเวลาถ่ายทำรายการเพลง ไอดอลจะต้องซ้อมอย่างน้อยสองรอบ รอบแรกเป็นการซ้อมตำแหน่งคร่าวๆ ส่วนรอบสองเป็นการซ้อมมุมกล้อง บางรายการอาจต้องซ้อมถึงสามรอบ เช่นนั้นแล้วนอกจากจะต้องจำเนื้อเพลง จำท่าเต้น ไอดอลยังต้องจำมุมกล้องด้วย

 

คลิกชมคลิปได้ที่นี่

 

พอเข้าช่วงปลายทศวรรษ 2010 ถึงยุค 2020 (ยุค Gen 4) การถ่ายทำในรายการเพลงเกาหลียิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก อย่างที่ทราบกันว่ามีคลิปหลายแบบมากทั้ง Fullcam, Fancam, Facecam, One Take, มุมบน, มุมล่าง ฯลฯ กล้องจึงยิ่งมีหลายตัวเข้าไปใหญ่ อย่างไรก็ดี ช่วงต้นปี 2022 มีกระแสชื่นชมถึงตากล้องของรายการ Inkigayo ช่อง SBS ว่าสร้างมุมกล้องที่น่าสนใจและคนถ่ายก็ดูทุ่มเทสุดชีวิต ถึงกับมีการติดเทรนด์ขำๆ ว่าช่วยขึ้นเงินเดือนให้ตากล้อง SBS เถอะ! เราลองมาดูตัวอย่างผลงานกัน

 

คลิกชมคลิปได้ที่นี่

 

WJSN - Last Sequence : ท่าเปิดของเพลงนี้คือการที่เมมเบอร์กวาดขาไปด้านข้างเรียงทีละคนแบบหน้ากระดาน ตากล้องก็ชาญฉลาดด้วยการถ่ายโคลสอัพขาและใช้กล้องพุ่งจับขาเมมเบอร์ครบทุกคน กลายเป็นช็อตที่สวยงามสุดๆ  

 

คลิกชมคลิปได้ที่นี่

 

Kep1er - WA DA DA : ช็อตเปิดของคลิปนี้ได้รับคำชื่นชมอย่างมากถึงการซูมเข้าซูมออก และการสวิชกล้องซ้ายขวาอย่างรวดเร็วเพื่อจับเมมเบอร์แต่ละคน นอกจากจะไม่เวียนหัวหรือทำแบบพร่ำเพรื่อแล้ว มันยังเข้ากับจังหวะของเพลงอย่างดี  

คลิกชมคลิปได้ที่นี่

 

IVE - ELEVEN : นาทีที่ 1.00 และ 1.30 ของคลิปคือช็อตในตำนานที่กล้องโคลสอัพหน้าของอีซอแบบใกล้มากๆ (คือแทบจะชนจมูกอยู่แล้ว) ในจุดนี้ก็ต้องชมอีซอด้วยว่าตั้งสติเล่นกับกล้องได้เป็นอย่างดี การที่น้องเบิกตาใส่กล้องทำให้ช็อตนี้กลายเป็นไวรัลไปเลย

รายการเพลงยุคนี้นอกจาก jimmy jib (กล้องเครน) หรือกล้องดอลลี่ (กล้องที่เคลื่อนตามรางไปทางซ้ายขวาหรือหน้าหลัง) อีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญคือ ‘กล้องโรนิน’ ซึ่งที่จริงแล้วมันคือ กิมบอล (gimbal) ยี่ห้อ DJI รุ่น Ronin แต่วงการเคป็อปมักเรียกกันว่า ronin camera หรือ ronin shot ซึ่งกิมบอลหากอธิบายโดยง่ายมันก็คือด้ามจับที่ช่วยยึดกล้องไว้คล้ายๆ ไม้เซลฟี่ แต่จะมีมอเตอร์ 3 แกนหมุนอิสระในตัว ช่วยให้กล้องไม่สั่น (stabilizer) ไม่ว่าจะเดินหน้า ถอยหลัง ยกกล้องขึ้นลงหรือส่ายซ้ายขวา การที่ปัจจุบันตากล้องสามารถถ่ายเจาะไอดอลแต่ละคนพร้อมเคลื่อนไหวตามไปด้วยแล้วเราไม่ค่อยรู้สึกเวียนหัวก็เพราะอุปกรณ์นี้นั่นเอง

ทว่ากว่าจะได้โรนินช็อตมานั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ชาแนล SUBUSUNEWS ได้ไปติดตามการทำงานของตากล้อง SBS เราจะเห็นว่าในวันก่อนการถ่ายทำ พวกเขาจะต้องศึกษาวิดีโอซ้อมเต้นของศิลปินอย่างหนักเพื่อออกแบบว่าจะเอากล้องเข้าไปรับหน้าศิลปินอย่างไร จะขยับกล้องแบบไหน และตัวเขาเองจะเคลื่อนไหวอย่างไร ส่วนการถ่ายทำไอดอลก็ต้องถ่ายอย่างน้อยสองรอบ รอบแรกเป็นกล้องแบบเก็บภาพรวม ส่วนรอบสองใช้กล้องโรนิน

ซึ่งการติดโรนินเข้าไปกับกล้อง DSLR เนี่ยน้ำหนักก็ปาเข้าไป 5 กิโลกรัม ตลอดความยาวเพลง 3-4 นาทีตากล้องต้องถือกล้องนี้วิ่งไปวิ่งมาบนเวที แถมไม่ใช่วิ่งมั่วๆ ต้องเคลื่อนตามจังหวะของไอดอล (วง fromis_9 ให้สัมภาษณ์ว่าตากล้องโรนินเต้นตามพวกเธอไปด้วยจนเหมือนเป็นเมมเบอร์อีกคน) หลังจากถ่ายจบตากล้องก็มักจะเหงื่อแตกเหงื่อแตน นั่งหอบ นอนสู่ขิต น่าเห็นใจอย่างยิ่ง

คลิกชมคลิปได้ที่นี่

 

อย่างไรก็ดี การทุ่มเทของพวกเขานับว่าไม่เสียแรงเปล่า อย่างที่เห็นว่าแฟนเพลงเริ่มสนใจเรื่องราวการทำงานของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ โดยปกติเราอาจสนใจทีมสร้างทีมเบื้องหลังอย่างนักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ หรือผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ แต่การที่เรื่องราวของทีมงานรายการเพลงเป็นที่รับรู้นั้นถือเป็นเรื่องดีอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาก็คือหนึ่งใน ‘ฟันเฟือง’ หรือ ‘ผู้รันวงการ’ คนสำคัญของวงการเคป็อป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook