“Punch Kicks Concert” 6 การต่อสู้บนสเตจที่พิสูจน์ว่า Smallroom ไม่เคยเสื่อมมนต์ขลัง! | Sanook Music

“Punch Kicks Concert” 6 การต่อสู้บนสเตจที่พิสูจน์ว่า Smallroom ไม่เคยเสื่อมมนต์ขลัง!

“Punch Kicks Concert” 6 การต่อสู้บนสเตจที่พิสูจน์ว่า Smallroom ไม่เคยเสื่อมมนต์ขลัง!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเวลา 2 ทศวรรษแล้วที่ค่ายเพลง Smallroom Music ได้อยู่คู่วงการเพลงไทย และสร้างความแปลกใหม่ผ่านศิลปินนับร้อยชีวิต ไม่ว่าจะเจออุปสรรค การเปลี่ยนแปลงใดๆ จนปัจจุบันนี้ Smallroom ก็ยังเป็นบ้านของเหล่าตัวท็อปของวงการอย่าง Tattoo Colour, Polycat, จีน-กษิดิศ สำเนียง, Greasy Cafe (เล็ก-อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร), The Richman Toy, Barbies, Slur, The Jukks และอีกมาก รวมไปถึงศิษย์เก่าฝีมือโดดเด่นอีกหลายเบอร์

แม้ว่าจะขึ้นชื่อว่าเป็นค่ายที่มีศิลปินมากฝีมือจำนวนมาก แต่ รุ่ง-รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ หัวเรือใหญ่และทีมงานไม่เคยหยุดตามหาและเจียระไนเพชรก้อนใหม่ในวงการเพลง จนช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาครอบครัว Smallroom ได้ต้อนรับศิลปินใหม่หลายเบอร์อย่าง Daniel Ryn (แดเนียล ดิษยะศริน), Death Of Heather, Dept, Image Suthita (อิมเมจ-สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ), Television off และ wadfah (วาดฟ้า ไชยทัพ) ที่ล้วนแล้วแต่มีแนวทางที่แตกต่าง แต่ก็มีเอกลักษณ์และความสามารถแน่นๆ ทุกเบอร์ และ ล่าสุดทั้ง 6 ศิลปินก็ได้มีงาน Punch Kicks Concert คอนเสิร์ตที่พวกเขาจะมีการแสดงของตัวเอง และเป็น Show Director ของโชว์ตัวเองในวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ณ Moonstar Studio

 

ในวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา เราได้เดินทางไปชมการแสดงที่  Moonstar Studio ด้วยความรู้สึกที่ตั้งคำถามว่าโชว์ของทั้ง 6 จะออกมาเป็นแบบไหน และพวกเขาจะเอาเวทีอยู่หรือไม่ หรือจะปล่อยหมัดฮุคอะไรเพื่อมัดใจคนดูที่อาจจะไม่เคยฟังเพลงพวกเขามาก่อน ซึ่งเราได้พบว่าการแสดงของพวกเขานั้นมาเหนือความคาดหมายเราทั้งหมด

โดยโชว์แรกนั้นเริ่มต้นด้วย Daniel Ryn ที่ขนเพลงสากลอย่าง “Dreams”, “Do You Think I Have A Normal Life?”, “All Your Time”, “Making Moves” ที่พอมาเจอกับไลท์ติ้งงานก็ทำให้บรรยากาศเหมือนเรานั่งดูคอนเสิร์ตอินดี้ต่างชาติ โดยแดเนียลได้ถ่ายทอดเพลงตัวเองด้วยเสียงที่แทบไม่ต่างจากใน Audio Version และในขณะเดียวกันเพลงของเขาที่มีไลน์กีตาร์ติดหูก็ทำให้เราเพลิดเพลินไปกับโชว์ แม้เขาจะทักทายพูดคุยสั้นๆ พอหอมปากหอมคอไม่บ่อย ซึ่งการแสดงของแดเนียลก็มากับเพลงช้าๆ แต่ละมุนแบบ “Honey Butter ก่อนจะค่อยๆ ไล่ไปถึงโชว์สุดท้ายอย่างNot Ordinary” ที่เขาเผยพลังเสียงเต็มๆ ส่งท้ายโชว์ เรียกได้ว่าเขาเป็นอีกหนึ่งน้องใหม่สายอินเตอร์ในค่ายที่น่าจับตา และเราก็หวังว่าในวันที่เขามีเพลงในคลังมากขึ้นและประสบการณ์มากขึ้น น่าจะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์แฟนๆ 

จากนั้นโชว์ก็ได้ตัดสลับไปที่พี่ใหญ่ของกลุ่มอย่างอิมเมจ ที่งานนี้ขนเพลงที่ทำกับค่ายอย่าง “ไม่มี” และ “เข้าใจ” มาโชว์ ซึ่งอิมเมจได้มากับ VTR ขั้นช่วงต่างๆ ของโชว์ก่อนจะร้องเพลง “อยากรู้เสมอมา” และเซอร์ไพรส์ทุกคนด้วยการออกมาจากหลังเวทีด้วยลุค Cinderella หลัง VTR ที่สื่อถึงนิทานเรื่องดังกล่าว และร้องเพลง “Cinderella” ของ Tattoo Colour ที่ถูกเรียบเรียงใหม่ พร้อมแจกมงกุฎคนดู ก่อนจะต่อด้วยเพลงอย่าง “อยู่ดีดี” ที่เป็นเพลงใหม่ก่อนปิดโชว์ด้วยเพลงยุคแรกๆ กับค่ายอย่าง “ใจเย็น” และ “Your Song” ซึ่งบอกตรงๆ ว่านอกจากเสียงและการร้องที่คงมาตรฐานแล้ว อีกอย่างที่ทำเราแปลกใจมากๆ ก็คือการที่อิมเมจพูดคุยและเอนเตอร์เทนฉีกภาพศิลปินขี้อายที่เราจดจำจากตอนที่เธอเริ่มเป็นศิลปิน 

เมื่อพี่ใหญ่ลงจากเวทีไป ก็ถึงคราวการแสดงของ wadfah ที่แม้จะมีโชว์สั้นสุด เนื่องจากเธอมีเพลงน้อยกว่าเพื่อน แต่ทั้ง 5 เพลงทั้ง “she’s in a cage”, “i hate this city” 2 ซิงเกิลแรกกับค่ายที่มากับมุมมองของคนอายุน้อยที่โหยหาอิสระ ซึ่งการที่เพลงนี้มาจากตัวของ wadfah เอง ทำให้การถ่ายทอดให้เราอินนั้นไม่ใช่เรื่องยาก  และเพลงใหม่อย่าง “ghost town” รวมไปถึงเพลง “เวลาเธอยิ้ม” ที่เธอได้นำผลงานของ Polycat มาทำใหม่ได้เผยให้ทุกคนเห็นถึงเสน่ห์บนเวทีขณะร้องด้วยเทคนิคที่เธอนำมาปรับใช้กับเพลง ทั้งลูกเล่นหนักเบา และเล่นกีตาร์ รวมไปถึงลายเซ็นทางดนตรีที่ไร้กรอบแต่ชัดเจนในเอกลักษณ์ และในขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นเสน่ห์ความเป็นธรรมชาติแบบไม่ปรุงแต่งเวลาพูดคุยกับแฟนๆ และนี่ทำให้เราอยากรู้ว่าเธอจะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์แฟนๆ อีกบ้าง เพราะเดบิวต์ไม่นานเธอก็มีอะไรให้วงการเริ่มตื่นเต้นแล้ว

หลังจาก wadfah ก็เป็นคิวของ Television off ที่ก่อนเมมเบอร์อย่าง เฟิร์ส (ร้องนำ), โชค(กีตาร์), ลาภ (กีตาร์) และ โบ๊ท (เบส) ก็มีอินโทรแนวย้อนยุค ชวนตั้งคำถามก่อนที่เราได้ฟังเพลงอย่าง “ฟ้าประหลาด”, “Be my youth”, “การเดินทางที่ไม่มีทาง”, “Jigsaw”, “ฝันที่ไม่ปลอดภัย”, “แค่ปล่อยให้เป็นแบบนี้” ไปจนถึง “Mantis” และ “ให้เธอหายไป” ที่เป็นการไล่กราฟความเดือดแบบน่าสนใจ ซึ่งเพลงของวงนั้นมากับความชวนฝันและดนตรีที่แน่น ขณะที่เพลงหลังๆ ทางวงจะมากับความร้อนแรงขณะการแสดงทั้งการโซโล่และการร้องที่เฟิร์สโชว์ลีลาการว้าก ใน 2 เพลงสุดท้ายที่ทำให้เราอุทานว่า “เดือดสุดๆ” แบบรัวๆ  ซึ่งแม้จะมากับเซ็ทลิสต์เข้มข้น แต่วงก็ยังไม่หยุดที่จะเอนเตอร์เทนด้วยการพูดคุยและปล่อยมุกอย่างเล่นคำว่า แฟลช กับแฟลตที่เป็นอาคารห้องเช่า หรือมุกฟังเพลงผ่านโซเชียลยุคเก่า ไปจนถึงการเซอร์ไพรส์วันเกิดมือกีตาร์ และการชวนคนดูมีส่วนร่วมกับซึ่งความสามารถที่รอบด้านของวง ทำให้เรามองว่า Television off น่าจะเป็นศิลปินฝั่งเพลงไทยที่เข้าใกล้ความแมสเหมือนรุ่นพี่ในค่าย 

ทางฝั่งของ Death of Heather วงดนตรีสายชูเกซและดรีมป็อปที่มีซาวด์กีตาร์และภาพรวมดนตรีแปลกหูก็เป็นโชว์รองสุดท้ายของงาน โดยพวกเขามีการไล่กราฟเพลงคล้ายกับ Television off คือเริ่มด้วยเพลง “New Town”, “In Me”, “Hard To Cure” โดยแม้การแสดงเพลงของพวกเขาจะเน้น Instrumental หรือเครื่องดนตรีมากกว่าการร้อง แต่ดนตรีพวกเขาก็มอบความรู้สึกล่องลอย บีบคั้น ชวนตกอยู่ในภวังค์วนไปจนเราแอบคิดว่าพวกเขาไปหาวิธีเล่นกับอารมณ์ด้วยซาวด์มากจากไหน และช่วงหลังๆ การแสดงก็เริ่มมีความเข้นข้นมากขึ้นในเพลง “Head in the Sand” ก่อนจะไล่มาถึง “Pretty Things” ซิงเกิลแรกกับ Smallroom ที่เป็นอีกเพลงที่มีความหนักหน่วงชัดเจน ซึ่งการแสดงเหล่านี้พอมาเจอกับวิชวลไลท์ที่เน้นฟีลชวนฝันก็ทำให้เราดำดิ่งไปกับฟีลเพลง ก่อนที่จะถึงเพลงสุดท้าย “Drown” ที่พวกเขาใส่หนักทั้งดนตรีในช่วงโซโล่ที่สะกดเราไว้เต็มๆ ก่อนที่จะมากับ Noise เสียงแตกที่กระตุ้นอารมณ์ และทางวงเองก็ได้มากับแสงที่จ้าปิดท้ายเพลงที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนถึงเวลาตื่นจากฝัน โดยภาพรวมการแสดงของวง Death of Heather แม้พวกเขาจะพูดน้อยมาก แต่ภาพ แสง เสียงที่วงจัดมา ก็ได้มอบความบันเทิงที่อัศจรรย์และแตกต่างให้เราแบบสมบูรณ์แล้ว จนเราเองยังนึกคำที่เหมาะสมมานิยามโชว์ของพวกเขาไม่ได้

และโชว์สุดท้ายของค่ำคืนก็เป็นคิวของ Dept ที่ 2 หนุ่ม เบนซ์-ภวัต โอภาสสิริโชติ และ ลุค ทาวน์เซน ได้มากับเซ็ทลิสต์ที่แตกต่างจาก 2 วงก่อนหน้า เพราะพวกเขาได้มีการสลับไปมาระหว่างเพลงช้ากับเร็ว เริ่มจาก “Let’s Cry”, “แล้วเธอจะรู้บ้างไหม” ก่อนสลับมาเพลงชวนโดดอย่าง “หมดนี้ให้เธอ” ที่พาแฟนๆ โดดอย่างเบาๆ และระหว่างนั้นทางวงก็มากับเพลงช้าอย่าง “เพราะเธอนั้นเป็นเหมือนดั่งโลกทั้งใบ”, “Just all the night”, “"ทําได้หรือเปล่า", "หรือไม่ใช่", "ฤดู" ที่เราฟังแล้วรู้สึกดิ่งไปกับเพลง เพราะทางวงได้มากับการเรียบเรียงและแอมเบียนต์ประกอบดนตรี รวมถึงอินเนอร์การแสดงที่เปลี่ยนเพลงที่ชวนล่องลอยให้มีฟีลลิ่งใหม่ๆ และแสงไฟเบื้องหลังก็คอยสนับสนุนโชว์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะตอนจบเพลง “หรือไม่ใช่” ที่มีการตวัดแสงตอนจบเพลงแบบพอเหมาะพอเจาะแบบจับวางจนคนดูปรบมือให้รัวๆ และหลังจากนั้นช่วงเพลงเศร้าก็จบลงกับเพลง “ลา ลา ลา” ที่มีเบนซ์และลุคได้ใส่เต็มอินเนอร์ ท่ามกลางคนดูที่ร้องตามพวกเขา ก่อนที่จะกลับมากับความสนุกชวนโดดในเพลงสุดท้ายอย่าง “หยุดสักที” ที่เดือดจนลุคถึงกับวิ่งไปมุมต่างๆ ก่อนจะใช้เท้าเล่นคีย์บอร์ด และเพลงสุดท้าย “Gossip” ที่สนุกสนานและเปิดโอกาสให้ 5 ศิลปินก่อนหน้าขึ้นมาแสดงและอำลาคนดู โดยส่วนตัวแล้วเราประทับใจ Dept ในมุมที่พวกเขาชวนนึกถึงศิลปิน Smallroom ยุคแรกๆ และยุคกลางในแง่ความสนุกของโชว์คล้ายกับ Tattoo Colour, The Jukks และ Somkiat แต่ขณะเดียวกันก็มีฟีลดนตรีใหม่ๆ เข้ามาสอดแทรกไปกับโชว์โดยรวม จนเรามองว่า Dept เป็นอีกวงที่พร้อมมีคอนเสิร์ตเดี่ยวของตัวเองเร็วๆ นี้   

การแสดงของทั้ง 6 ศิลปินสำหรับเรามองว่าทุกอย่างนั้นเกิดมาตรฐานศิลปินใหม่ไปพอสมควร โดยเท่าที่เราสังเกตว่าศิลปินที่มีประสบการณ์มาก จะมีวิธีอิมโพรไวซ์และครีเอทโชว์ที่หลากหลายด้วยประสบการณ์ก่อนหน้า ในขณะที่ศิลปินที่มีชั่วโมงบินน้อยกว่าจะเน้นการโชว์ แต่ส่วนตัวแล้วเราเพลิดเพลินกับโชว์และมองว่าตลอดเวลา 6 ชั่วโมงแทบไม่มีโมเมนต์ที่เราเบื่อ และขณะเดียวกันทุกวงก็มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจนเราแทบจับความผิดพลาดบนเวทีไม่ได้ หรืออาจจะไม่สังเกตไปเลย ซึ่งสิ่งนี้เราต้องยกนิ้วให้กับ Smallroom ที่ตาถึงและเซ็นต์สัญญาทั้ง 6 ศิลปินเข้ามาร่วมชายคา จนพวกเขาได้มาปล่อยหมัดรัวๆ เพื่อมัดใจคนดูอย่างเราในงาน  Punch Kicks 

สำหรับโปรดักชั่นงานนั้น เรามองว่าแม้ภายนอกงาน Punch Kicks จะมีสเตจที่ดูดิบๆ และมีจอ 3 อันที่ไม่ได้เต็มแผงแบบหลายงานที่เราชม แต่ทว่าความดิบนี้กลับสร้างฟีลคอนเสิร์ตอันเดอร์กราวด์ได้ดี และเมื่อมาเจอกับไลท์ติ้งไฟ แสง และ ควัน ที่ทางงานได้ชูเป็นจุดเด่น ก็ทำให้บรรยากาศมันเต็มอิ่มและเข้ากับการแสดง และเรื่องน่าทึ่งก็คือโชว์ในรายการ ทางศิลปินก็มีส่วนได้กำกับและพรีเซนต์ให้กับทีมงานด้วย เพราะหลายๆ โชว์นั้น แสง สี เสียง คือลงตัวแบบจับวางจริงๆ เรียกได้ว่านอกจากผลงานทางดนตรีแล้ว ศิลปินในงานนี้ก็วิชั่นและวิสัยทัศน์การมองภาพรวมที่ไม่ธรรมดาเลย ส่วนพาร์ทซาวด์งานครั้งนี้ก็ออกมาโอเค เนื่องด้วยการเตรียมงานและตัวฮอลล์ที่ทำให้ซาวด์ที่ออกมาจากแต่ละเพลงนั้นดี แม้จะมีบางช่วงที่เราสัมผัสได้ถึงการหอนจากลำโพงเล็กๆ น้อยๆ บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค และที่เราชอบอีกอย่างคือ ระหว่างโชว์นั้นจะมีช่วงการเซ็ทอัพแบนด์ให้กับศิลปินต่อไปที่เหมาะสมจนคนดูได้พักเข้าห้องน้ำหาอะไรทาน แบบไม่ต้องกลัวพลาดโชว์ ซึ่งเราก็แอบใช้ช่วงนั้นโหลดเพลงที่เราชอบจากโชว์ต่างๆ ลงเพลย์ลิสต์แอปฟังเพลงตัวเองด้วย เพราะงานนี้ทำให้เรารู้จักเพลงดีๆ ที่ไม่เคยฟังเยอะมาก

คอนเสิร์ต Punch Kicks สำหรับเรานั้น เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดีว่า Smallroom นั้น เป็นค่ายเพลงที่ถึงจะมีชื่อว่าห้องเล็กแต่ก็มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายยิ่งใหญ่ เพราะหลังจากที่ทำให้วงการอินดี้และเพลงป็อปตื่นเต้นในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันนี้พวกเขาก็ยังหาศิลปินใหม่ที่มีแนวทางแตกต่างมาอยู่ใต้ชายคา และยังกล้าที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ อย่างการนำเสนอศิลปินที่ทำเพลงสากลเข้าสู่วงการเพลงไทยและเวทีโลก รวมถึงผลักดันซาวด์เฉพาะทางที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก แม้ว่าวงการเพลงในยุคปัจจุบันจะเต็มไปด้วยศิลปินมากหน้าหลายตาและเพิ่งผ่านวิกฤตอย่างโควิด-19 ไม่นาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่ Smallroom ได้เดินหน้าทำอย่างไม่หยุด ก็ทำให้คนฟังอย่างเราไม่มีอะไรที่จะบอกพวกเขาไปมากกว่าคำว่า “ขอบคุณจากหัวใจ” 

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ “Punch Kicks Concert” 6 การต่อสู้บนสเตจที่พิสูจน์ว่า Smallroom ไม่เคยเสื่อมมนต์ขลัง!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook