ความผูกพันแบบหวานขมระหว่างควีนเอลิซาเบธกับศิลปินในวงการเพลง | Sanook Music

ความผูกพันแบบหวานขมระหว่างควีนเอลิซาเบธกับศิลปินในวงการเพลง

ความผูกพันแบบหวานขมระหว่างควีนเอลิซาเบธกับศิลปินในวงการเพลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก นอกจากประชาชนในพื้นที่ ที่พากันถวายความอาลัยแล้ว ชุมชนในโลกออนไลน์ต่างก็การโพสต์ข้อความไว้อาลัยและย้อนระลึกถึงเรื่องราวของพระองค์ที่มีความเกี่ยวข้องกับวงการต่างๆ เช่นเดียวกับวงการเพลง ที่มีความผูกพันทั้งหวานและขมกับราชินีพระองค์นี้ โดยสะท้อนผ่านเรื่องราวในประวัติศาสตร์วงการเพลง รวมทั้งผลงานของศิลปินต่างๆ ด้วย

Gettyimages

ควีนเอลิซาเบธกับศิลปินในวงการเพลง

ตลอดระยะเวลาการขึ้นครองราชย์นาน 70 ปี เรามักจะเห็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีส่วนร่วมในวาระต่างๆ เกี่ยวกับวงการภาพยนตร์และเพลงอยู่เสมอ โดยทรงพบกับเหล่าศิลปินหลายคนด้วยพระองค์เองในหลายโอกาส เช่น แนท คิง โคล, แฟรงก์ ซินาตรา, ลิซา มิเนลลี, เจนนิเฟอร์ โลเปซ, มาดอนนา, เอ็ด ชีแรน, เอลตัน จอห์น และเลดี้ กาก้า

และในโอกาสสำคัญอย่างการเฉลิมฉลองการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ศิลปินจำนวนมากก็มีโอกาสได้แสดงฝีมือของตนที่พระราชวังบักกิงแฮม เช่น ในการเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 50 ปี เมื่อปี 2002 ไบรอัน เมย์ และโรเจอร์ เทย์เลอร์ สมาชิกวง Queen ได้บรรเลงเพลง "God Save the Queen" บนดาดฟ้าของพระราชวังบักกิงแฮม ในงาน "The Party at the Palace" เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ปี 2002 ท่ามกลางบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการดนตรีหลายคน ทั้งริคกี มาร์ติน, โทนี เบนเน็ตต์, ออสซี ออสบอร์น, พอล แมคคาร์ทนีย์ และอีริค แคลปตัน

ไบรอัน เมย์ สมาชิกวง Queen ในคอนเสิร์ตที่พระราชวังบักกิงแฮม เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2022Gettyimagesไบรอัน เมย์ สมาชิกวง Queen ในคอนเสิร์ตที่พระราชวังบักกิงแฮม เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2022

เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2022 ไบรอัน เมย์ ได้เล่นคอนเสิร์ตที่พระราชวังบักกิงแฮมอีกครั้ง เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี การครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ร่วมด้วยร็อด สจ๊วร์ต, ไดอาน่า รอส และอันเดรอา โบเชลลี

นอกจากนี้ ศิลปินอังกฤษจำนวนมากยังได้รับพระราชทานยศอัศวินจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกของ The Beatles, โบโน ฟรอนต์แมนของ U2, เดวิด โบวี, โรเบิร์ต แพลนต์ แห่ง Led Zeppelin, ไบรอัน เมย์ มือกีตาร์ของ Queen และร็อด สจ๊วร์ต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในบรรดาศิลปินร็อกชื่อดังที่ได้รับพระราชทานยศอัศวินในช่วง 30 ปีหลัง มีศิลปินเพียง 2 คนเท่านั้น ที่สมเด็จพระราชินีนาถพระราชทานยศอัศวินด้วยพระองค์เอง คือพอล แมคคาร์ทนีย์ และเอลตัน จอห์น

The Beatles กับเพลง "Her Majesty"

"Her Majesty" เป็นเพลงที่สั้นที่สุดของ The Beatles ที่มีความยาวเพียง 23 วินาที และเป็นเพลงสุดท้ายในอัลบั้ม Abbey Road เขียนเนื้อเพลงโดยพอล แมคคาร์ทนีย์ และว่ากันว่าเป็นเพลงรักแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จากเนื้อเพลงที่ระบุว่า “พระราชินีเป็นคนน่ารัก แต่ไม่ได้มีเรื่องที่จะพูดมากนัก”

พอล แมคคาร์ทนีย์ ถือเป็นสมาชิกของ The Beatles ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับราชวงศ์ ซึ่งต่างจากเพื่อนร่วมวงอย่างจอห์น เลนนอน และจอร์จ แฮร์ริสัน มือกีตาร์ลีดของวง ที่ปฏิเสธการรับพระราชทานยศอัศวิน เพื่อประท้วงการที่สหราชอาณาจักรเข้าร่วมในสงครามและความขัดแย้งหลายครั้ง

เพลง "Her Majesty" ถูกนำมาเล่นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2022 โดย Pearl Jam วงดนตรีกรันจ์สัญชาติอเมริกัน เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

Gettyimages

เดวิด โบวี กับการปฏิเสธยศอัศวินถึง 2 ครั้ง

การได้รับพระราชทานยศอัศวินอาจเป็นเกียรติยศครั้งสำคัญของศิลปินหลายๆ คน ทว่าไม่ใช่กับเดวิด โบวี ศิลปิน Glam Rock และนักแสดงชื่อดัง ที่ปฏิเสธการพระราชทานยศอัศวินถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในปี 2000 และปี 2003 ในครั้งหลังนี้ เขาได้ให้สัมภาษณ์กับ The Sun ว่า เขาไม่เคยมีความตั้งใจที่จะรับสิ่งเหล่านี้ เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าจะมีไปเพื่ออะไร และเขาไม่ได้ทำงานมาตลอดชีวิตเพื่อสิ่งเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม โบวีไม่ใช่ศิลปินคนเดียวที่ปฏิเสธการพระราชทานยศอัศวิน แต่ยังมีนักแสดงชื่อดังอย่างอลัน ริคแมน นักเขียนรุ่นคลาสสิกอย่างอัลดัส ฮักซ์ลีย์ และ โรอัลด์ ดาห์ล รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่างสตีเฟน ฮอว์กิงด้วย

ดุ๊ค เอลลิงตัน กับเพลงชุด “Queen’s Suite”

เมื่อเดือนตุลาคม ปี 1958 หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์ได้เพียง 6 ปี ดุ๊ค เอลลิงตัน ศิลปินแจ๊ซในตำนานชาวอเมริกัน ได้เดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตที่ลีดส์ และได้พบกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ โดยเอลลิงตันได้เล่าในเวลาต่อมาว่า สมเด็จพระราชินีนาถถามเขาว่า เขาเดินทางมาที่อังกฤษครั้งแรกเมื่อไร ซึ่งเขาตอบไปว่าเมื่อปี 1933 ก่อนที่สมเด็จพระราชินีนาถจะประสูติ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดา ทรงเป็นแฟนคลับของเอลลิงตัน และทรงมีแผ่นเสียงผลงานของเขาทั้งหมด

หลังจากเดินทางกลับมายังสหรัฐอเมริกา เอลลิงตันเขียนเพลงชุด “Queen’s Suite” โดยจัดทำเป็นแผ่นเสียงเพียงแผ่นเดียวในโลก และส่งแผ่นเสียงนั้นไปยังพระราชวังบักกิงแฮมโดยตรง และหลังจากนั้น เอลลิงตันจ่ายเงินค่าผลิตจำนวน 2,500 เหรียญสหรัฐ ให้กับค่ายโคลัมเบีย เพื่อรักษาสิทธิการเป็นเจ้าของแผ่นมาสเตอร์ของ “Queen’s Suite” แต่เพียงผู้เดียว

Yoshiki

โยชิกิ X Japan กับเหตุการณ์ผ้าพันคอพาดไหล่ควีน

ปี 2019 โยชิกิ มือกลองขั้นเทพแห่งวง X Japan เดินทางไปชมการแข่งขันโปโลที่ Royal Windsor Cup ประเทศอังกฤษ โดยถือเป็นแขกวีไอพี ที่ได้นั่งชมการแข่งขันในพื้นที่เดียวกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ทว่าขณะที่พระองค์กำลังเสด็จออกจากพระที่นั่ง ก็เกิดลมพัด และทำให้ผ้าพันคอสีดำของโยชิกิปลิวไปพาดที่พระอังสา (ไหล่) ของสมเด็จพระราชินีนาถ โยชิกิในขณะนั้นก็ตกใจ และกลายเป็นภาพสุดขำขันในโลกออนไลน์

โยชิกิโพสต์ภาพดังกล่าวลงในอินสตาแกรม yoshikiofficial พร้อมระบุว่า “ผมขอโทษสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ลมพัดเข้ามาพอดี ผมได้สนทนากับสมเด็จพระราชินีนาถ และพระองค์ก็ใจดีมาก”

Sex Pistols กับเพลง “God Save the Queen”

นอกเหนือจากเสียงชื่นชมสรรเสริญแล้ว สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ และราชวงศ์อังกฤษ ยังต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนด้วย และสำหรับวงการดนตรี เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังระดับโลก ก็ต้องยกให้เพลง “God Save the Queen” ของวงพังก์ร็อก Sex Pistols ซึ่งใช้ชื่อเดียวกับเพลงชาติของอังกฤษ

“God Save the Queen” เดิมใช้ชื่อว่า “No Future” แต่เปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบัน เนื่องจากทางวงได้เปิดตัวซิงเกิลนี้ก่อนวาระครบรอบ 25 ปี การครองราชย์สมบัติของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1977 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสหราชอาณาจักรในโลกแฟนตาซี ที่เศรษฐกิจล่มสลาย แนวคิดขวาสุดโต่งได้รับความนิยมอย่างสูง และเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ของแรงงานภาคอุตสาหกรรม เป็นภาพความไร้อนาคตของประเทศ

จอห์น ไลดอน นักร้องนำของ Sex Pistols ระบุว่า เขาไม่ได้ต่อต้านสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธในทางส่วนตัว และยังเขียนไว้ใน The Times ว่า “ผมไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อสมาชิกคนใดของราชวงศ์ และไม่เคยเป็น แต่สถาบันต่างหากที่รบกวนจิตใจของผม รวมทั้งการขึ้นครองราชย์ที่ผมต้องจ่ายเงินให้ด้วย”

อย่างไรก็ตาม หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไลดอนได้ทวีตภาพของพระองค์ พร้อมข้อความไว้อาลัย ในขณะที่เพื่อนร่วมวงอย่างเกล็น แมตล็อก ทวีตว่า “God save the king - hope he’s not a silly old thing…” ส่วนสตีฟ โจนส์ มือกีตาร์ ทวีตข้อความสั้นๆ ว่า “How Do You Feel?” พร้อมภาพสมเด็จพระราชินีนาถที่กลัดเข็มกลัดตรงพระโอษฐ์

The Smiths กับเพลง “The Queen is Dead”

นอกจากเสียงวิพากษ์ของ Sex Pistols แล้ว วงอินดี้ร็อกจากแมนเชสเตอร์อย่าง The Smiths ก็ไม่น้อยหน้า เพราะในเพลง “The Queen is Dead” หนึ่งในผลงานของ The Smiths ก็มีการอุปมาถึงการล่มสลายของสหราชอาณาจักร และมีเนื้อหาบางส่วนที่ระบุถึงพระราชวังบักกิงแฮมด้วย นอกจากนี้ มอริสซีย์ ฟรอนต์แมนและนักแต่งเพลงของ The Smiths ก็ยังวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง โดยระบุว่า “สถาบันกษัตริย์เป็นตัวแทนของระบบทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมและอยุติธรรม”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook