จาก AUTTA ถึงรัฐบาล เมื่อวงการดนตรีต้องมี Another Level | Sanook Music

จาก AUTTA ถึงรัฐบาล เมื่อวงการดนตรีต้องมี Another Level

จาก AUTTA ถึงรัฐบาล เมื่อวงการดนตรีต้องมี Another Level
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • เพลง ANTLV ของ AUTTA ได้รับรางวัล Best Record of the Year จากเวที TPOP Of The Year 2021 และเขาได้กล่าวในการรับรางวัลว่า “พวกเราทำกันเองแxงยังได้ขนาดนี้ แล้วถ้าเกิดว่ารัฐสนับสนุน เราจะไปได้ขนาดไหนวะ”
  • วงการเพลงไทยมีจุดแข็งอยู่ที่บุคลากรและความสามารถในการประยุกต์แนวเพลงต่างๆ ทว่าสิ่งที่ยังขาดคือพื้นที่เล่นดนตรีที่ตอบสนองต่อศิลปินทุกแนวเพลงและแฟนเพลงทุกกลุ่ม
  • สำหรับ AUTTA รัฐควรสนับสนุนศิลปินให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่การออกคำสั่งให้ศิลปินทำตาม
  • AUTTA มองว่า การแก้ปัญหาปากท้องกับการสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมสามารถทำควบคู่ไปด้วยกันได้ และสุดท้าย รัฐก็จะได้ประโยชน์จากการสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมด้วย

ธันวาคม 2021 วงการเพลงไทยได้ตื่นเต้นกันอีกครั้ง เมื่อแร็ปเปอร์หน้าใหม่ นามว่า AUTTA ได้เปิดตัวเพลง ANTLV ที่ฉีกกรอบเดิมๆ ของเพลงแร็ปไทย ด้วยซาวนด์ดนตรีแปลกใหม่ และเนื้อหาเกี่ยวกับการเติบโตของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง สู่ก้าวต่อไปในฐานะศิลปินแร็ป เรียกเสียงฮือฮาจากคนในวงการและนักฟังเพลงทั้งในไทยและต่างประเทศ ความฮ็อตของ ANTLV ส่งให้เพลงนี้ได้รับรางวัล Best Record of the Year จากเวที TPOP Of The Year 2021 และตอกย้ำความแรงด้วยคำพูดของ AUTTA ที่กล่าวในการรับรางวัลว่า “พวกเราทำกันเองแxงยังได้ขนาดนี้ แล้วถ้าเกิดว่ารัฐสนับสนุน เราจะไปได้ขนาดไหนวะ”

AUTTA อัษฏกร เดชมากAUTTA อัษฏกร เดชมาก

จุดแข็งของวงการเพลงไทย

AUTTA หรือชื่อจริงว่า อัษฏกร เดชมาก เปิดเผยกับ Sanook ถึงที่มาของคำพูดสุดปังบนเวทีในวันนั้นว่า ผลงานเพลงและโชว์ดีๆ ที่หลายคนเห็นในทุกวันนี้ มาจากความสามารถและการฝึกฝนด้วยตัวเองของศิลปิน รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้และการผลักดันกันเอง ในขณะที่ต่างประเทศ ศิลปินมักจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย ดังนั้น เขาจึงรู้สึกว่า ถ้าศิลปินไทยได้รับโอกาสเช่นนี้บ้างก็น่าจะดีไม่น้อย

“เรามีบุคลากรจำนวนมากเลยนะ ที่มีทักษะทางด้านต่างๆ ทางร้อง ทางเต้น ทางแร็ป ทางศิลปะต่างๆ แล้วก็จุดแข็งแรงของวงการเพลงไทยอีกอย่างหนึ่งคือ นิสัยพื้นฐานของคนไทย ผมว่าคนไทยเป็นคนมิกซ์แอนด์แมตช์เก่งน่ะ อย่างเช่นสามช่า จริงๆ มันไม่ใช่ของไทยนะครับ มันคือจังหวะลาตินนะครับ แล้วก็ดึงเอามาปรับใช้ แล้วก็ อื้ม... โจ๊ะ สนุกกัน อย่างน้องนวย (MILLI) ก็เอาสามช่าที่มันถูกปรับ รวมกับดนตรีแทร็ปอีกที รวมกับ EDM แล้วก็ไปเต้นแอโรบิกให้โลกดู” AUTTA กล่าวถึงจุดแข็งที่สำคัญของวงการเพลงไทย

นอกจากนี้ AUTTA ยังอธิบายว่า จากสถิติของธนาคารโลก คนไทย 77.8% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ กลุ่มคนเหล่านี้จะมีกำลังซื้อและสามารถเลือกฟังเพลงจากสตรีมมิงได้ นั่นหมายความว่า ศิลปินแต่ละแนวเพลงจะมีฐานคนฟังของตัวเองที่แข็งแรง คือทำเพลงออกมาและมีคนฟังแน่นอน

มีศักยภาพแต่ขาด “พื้นที่เล่น”

แม้ว่าวงการเพลงไทยจะไม่เคยขาดบุคลากรฝีมือดี แต่สิ่งที่ยังมีไม่มากพอ คือ “พื้นที่เล่น” หรือสถานที่สำหรับจัดแสดงดนตรีต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้มีผลกระทบมากนักต่อศิลปินที่ทำเพลงตามความนิยมของคนส่วนใหญ่ แต่จะส่งผลกระทบต่อแนวดนตรีที่มีกลุ่มผู้ฟังเฉพาะมากกว่า

“เรามีพื้นที่เล่นสำหรับดนตรีหลักๆ อยู่ 2 อย่าง ก็คือร้านเหล้า แล้วก็ขยับไปเทศกาลดนตรีเลย ขยับไปคอนเสิร์ตใหญ่ คอนเสิร์ตเดียวเลย ราชมังฯ ไปเลย ไปจัดที่ธันเดอร์โดมไปเลย ปัญหามันอยู่ที่ว่า วงดนตรีที่ไม่ได้ทำเพลงมาเสิร์ฟร้านเหล้า กับวงดนตรีที่ไม่ได้ทำเพลงมาเสิร์ฟมหาชน อยู่ไม่ได้ เพราะว่ามันไม่มีพื้นที่สำหรับเขา” AUTTA กล่าว

การขาดพื้นที่แสดงดนตรีที่หลากหลายไม่เพียงแต่กระทบต่อตัวศิลปินเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อจำกัดในการเสพเพลงของผู้ฟังบางกลุ่มด้วย เช่น เยาวชนที่อายุไม่ถึง 18 ปี ที่ไม่สามารถเข้าไปฟังเพลงหรือดูคอนเสิร์ตของศิลปินที่ชื่นชอบในร้านเหล้าได้

“ครั้งหนึ่งครับ ผมเคยไปเล่น มีเด็กที่อยากดูผมมากๆ แล้วก็เข้าไม่ได้ เพราะว่าอายุเขาไม่ถึง แล้วก็ต้องมาเกาะรั้วดู แล้วผมแบบ... เฮ้ย! ทำไมล่ะ ทำไมต้องอดดู มันเหมือนเขานั่งอีกจังหวัดข้ามมาเพื่อรอดู แต่เข้าไม่ได้ เพราะว่าอายุไม่ถึง ผมว่าเราน่าจะมีพื้นที่ให้เราเจอกันมากกว่านั้น” AUTTA ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของตัวเอง

ในมุมของ AUTTA พื้นที่เล่นดนตรีที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้เกิดขึ้น ได้แก่ คลับหรือไลฟ์เฮ้าส์เฉพาะทาง ที่เปิดให้วงดนตรีระดับกลางถึงระดับเล็กสามารถเข้ามาสร้างสรรค์หรือแสดงผลงานได้ และพื้นที่ลักษณะนี้ก็จะเปิดให้ผู้ชมที่เป็นเยาวชนสามารถเข้ามาชมดนตรีได้ โดยที่ไม่ต้องบีบให้ผู้ชมต้องไปที่สถานบันเทิงหรือร้านเหล้าเท่านั้น

ถ้าการสนับสนุนต้องแลกกับการเป็นเด็กดีของรัฐ?

เมื่อศิลปินจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ แต่จะทำอย่างไร หากรัฐขอ “ข้อแลกเปลี่ยน” โดยควบคุมให้ศิลปินเป็น “เด็กดี” และผลิตผลงานที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลโดยไม่แตกแถว ประเด็นนี้ AUTTA กล่าวว่า เขาเข้าใจถึงความต้องการของรัฐ และหากมีศิลปินที่สามารถรับข้อเสนอนี้ได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตาม แร็ปเปอร์หนุ่มผู้นี้กลับมีมุมมองต่อคำว่า “สนับสนุน” ต่างออกไป

“ถ้าการที่เป็นเด็กดี หมายถึงว่าต้องอยู่ในระเบียบนี้เท่านั้นนะ นายห้ามโชว์แบบนี้นะ นายห้ามแต่งตัวแบบนี้นะ นายห้ามเอาวัฒนธรรมนี้ไปทำแบบนี้นะ ผมคิดว่ามันเริ่มไม่ใช่การสนับสนุนแล้ว เพราะว่าสนับสนุนมันน่าจะแปลว่าการขยายสิ่งที่ดีให้ดีขึ้นไปอีก ให้เพิ่มพูนขึ้นไปอีก ไม่ใช่การทำให้เขาทำแบบที่เราต้องการ ผมว่าอันนั้นมันคือการจ้างงานแบบตามสั่งน่ะ มันคือร้าน ... “ป้า ขอกะเพราหมูสับจานนึง” อย่างนั้นน่ะครับ”

“ถ้าการที่คุณขอว่า เฮ้ย! จงเป็นเด็กดี อันนั้นคือคุณขอผัดกะเพรา คุณไม่ได้สนับสนุนให้เขาสร้างผลงานใหม่ขึ้นมา” AUTTA กล่าว

ประชาชนต้องอิ่มท้องก่อน ศิลปะถึงจะเจริญ?

สำหรับประเด็นสุดคลาสสิกที่ว่า “ต้องแก้ปัญหาปากท้อง ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีก่อน จึงจะสามารถพัฒนาศิลปวัฒนธรรมได้” AUTTA ให้ความเห็นว่า ทุกประเทศล้วนมีปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องแก้ไข แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องรอให้ปัญหาปากท้องหมดไปก่อนจึงจะสนับสนุนศิลปะได้ สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้และควรทำ คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กัน

“เทศกาลดนตรีต่างๆ ที่จัดขึ้น จริงๆ แล้ว พอมันมีเทศกาลดนตรีปุ๊บ มันก็เกิดการจ้างงาน เกิดการกระจายรายได้ ซึ่งคนที่ถูกจ้างงานก็เอารายได้ไปกระจายต่อให้ชุมชนเขาอีกที ผมว่ามันสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วยอุตสาหกรรมนี้เหมือนกัน”

นอกจากนี้ AUTTA ยังกล่าวถึงการพัฒนาวงการเพลง ที่นำไปสู่การสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษายอดฮิตอย่างวงการเพลงเกาหลีใต้ หรือ K-Pop ที่รัฐบาลเกาหลีใต้อัดฉีดงบประมาณในการจ้างทีมโปรดิวเซอร์ต่างชาติเข้ามา เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการพัฒนาวงการเพลง ทำให้เกาหลีใต้สามารถส่งออกศิลปินของตัวเองไปสู่ระดับโลกได้

เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ที่วัฒนธรรมดนตรียังไม่แข็งแรงมากนัก แต่รัฐบาลก็จัดเทศกาลดนตรี หรือจัดการประกวดดนตรี เพื่อดึงศิลปินจากต่างประเทศให้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่ายศิลปินนานาชาติ

“พอความรู้มันเข้าไป คนในชาติพัฒนา มันก็เกิดการแข่งขัน พอเกิดการแข่งขัน คุณภาพมันก็ดีขึ้น แปลว่า ถ้ารัฐลงทุนกับอุตสาหกรรมนี้ อุตสาหกรรมดนตรีหรือว่าอุตสาหกรรมศิลปะ รัฐก็จะได้รับคืนมาอยู่ดี” AUTTA กล่าว

เสียงจากแร็ปเปอร์ถึงรัฐบาล

Sanook ตั้งโจทย์ให้ AUTTA ว่า หากคุณเป็นตัวแทนศิลปินเข้าพบรัฐบาล และมีเวลา 30 วินาที อยากจะบอกอะไรกับรัฐบาล แร็ปเปอร์ผู้นี้ตอบว่า

“ทำความเข้าใจก่อนเลยครับว่า ช่องว่างระหว่างวัยมีอยู่จริง ดนตรีของคุณไม่เหมือนดนตรีของคนยุคนี้แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าดนตรีของคุณไม่ดี และไม่ใช่ว่าดนตรีของเราไม่ดี สิ่งที่เราควรทำคือ จัดมันทุกอย่างแหละ จัดดนตรีที่คุณชอบ สนับสนุนดนตรีที่คุณชอบ มันยังมีคนต้องการฟัง ดนตรีที่ผมชอบ มันมีคนต้องการฟัง และผมก็อยากให้ดนตรีของผมถูกสนับสนุนแบบเดียวกับที่คุณอยากสนับสนุนดนตรีที่คุณชอบนั่นแหละ” AUTTA สรุป

อัลบั้มภาพ 29 ภาพ

อัลบั้มภาพ 29 ภาพ ของ จาก AUTTA ถึงรัฐบาล เมื่อวงการดนตรีต้องมี Another Level

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook