5 สิ่งดีงามที่ทำให้ Cassette Festival ควรถูกต่อยอดเพื่อฉลองยุคเปลี่ยนผ่านทางดนตรี
จากความสำเร็จของงาน Cassette Festival ที่ขายบัตรหมดจนต้องเพิ่มรอบ 3 ในปี 2019 ทำให้งานครั้งนี้ ได้ถูก ATIME Showbiz กลับมาอีกครั้งในปี 2022 ในชื่อ Cassette Festival 2 หลังเลื่อนมาหลายครั้ง ซึ่งคนที่เข้าชมงานครั้งนั้น ก็ได้ตัดสินใจเข้าชมรอบนี้เพราะงานครั้งที่แล้วมันสนุกสนานและยากจะลืมสำหรับเรา และงานครั้งนี้ก็พิเศษจนเรามองว่า Cassette Festival ควรถูกต่อยอดต่อ แต่จะด้วยเหตุผลอันใดนั้น เรามาชมกันเลย
โดยงานครั้งนี้มีศิลปินอย่างตัวท็อปล้านตลับ เจ-เจตริน วรรธนะสิน/ มอส-ปฏิภาณ ปฐวีกานต์, อมิตา ทาทา ยัง / อ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์ / นัท-มีเรีย เบนเนเดดตี้ สาวแซ่บ 2002 ราตรี แคทลียา อิงลิช / หญิง รฐา โพธิ์งาม / เบล-หว่าหวา China Dolls, Triumphs Kingdom สายเพลงป็อปออนท็อปทุกปาร์ตี้ ไอซ์-ศรัณยู วินัยพานิช / ศิลปินหญิงยุค 2000 ลานนา คัมมินส์ / แอน-ธิติมา ปทุมทิพย์ / พั้นช์-วรกาญจน์ และ 2 ชื่อสุดเซอร์ไพรส์ นาวิน ต้าร์ (นาวิน เยาวพลกุล) และ นาตาลี สตีเบิร์ท เรียกได้ว่ายังคงความเต็มอิ่มในแง่ของรายชื่อศิลปินที่หลากหลาย และทุกคนอยู่ในยุค 90 และ 2000 ที่มีการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยการฟังเพลงและเต็มไปด้วยเสน่ห์
การพบเจอตัวท็อปของยุค 90 ที่ฝีมือไม่ตก
ทุกๆ ปีงาน Cassette Festival จะมีตัวยืนเป็นตัวท็อปยุค 90 ที่เปลี่ยนจากวัยรุ่นในวันนั้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถในการร้องไม่เปลี่ยน และบางคนก็ดูจะถ่ายทอดเพลงเก่าตัวเองได้อินยิ่งกว่าเดิมในวันที่โตขึ้น อย่างเช่นทาทา ยัง ที่มากับเพลง “ฉันรักเธอ” ที่เธอมากับฟิลลิ่งของศิลปินผู้ใหญ่ที่อยากขอบคุณแฟนๆ และเพลงอินเตอร์ที่คาบเกี่ยวยุคเทปอย่าง “I Believe”, “Sexy Naughty Bitchy” และ “Dhoom Dhoom” หรือนัท มีเรีย ที่มากับเสียงสดสุดเพราะในเพลง “รักไม่ช่วยอะไรเลย”, “ขอโทษที่กวนใจเธอ”, “ของขวัญวันปวดใจ” และพาทุกคนแดนซ์กับเพลง "อย่าทำ อย่าทำ" ในฟีลเรียบหรู
ส่วนในเรื่องการเอนเตอร์เทน มอสที่มากับเพลง “เหลวไหล”, “สลัดสะบัด”, “ด้วยรักและปลาทู” “เชื่อเถอะครับ” และอ้อมที่มากับเพลง “ตัวปลอม”, “ถอยดีกว่า” และ “มนัสจัง” ก็มากับความสนุกสนาน ไปจนถึง 2002 ราตรี ที่นอกจากความสวยจะไม่ลดแล้ว ยังมีเพลง “จีนี่จ๋า”, “โด เร มี”, “Hula Hula” ที่ครบทั้งการร้องและเต้นแบบจัดเต็ม แต่ในขณะเดียวกันคนดูก็เต้นแรงจนทั้งสี่สมาชิกยังอดแซวไม่ได้ รวมไปถึง เจ เจตริน ที่มากับเพลงฮิตทั้ง “ฝากเลี้ยง”, “ประมาณนี้หรือเปล่า” “ร.ฟ.ร” ไปจนถึง “คาใจ”, “กองไว้” และเพลงจบ “All I Wanna do” เรียกได้ว่างานนี้เหล่าตัวท็อปยุค 90 มาครบ และจัดกันสนุก แม้โควต้าเพลงจะไม่เยอะ แต่พวกเขาก็ใช้เวลากันเต็มที่ แม้เราจะแอบรู้เสียดายกับแฟนๆ ของทาทาบางส่วนที่อาจจะอยากมาฟังเพลงไทยในยุคล้านตลับหรือยุคสังกัดใหม่ของเธออย่าง "อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน", "แมลง", "ซักกะนิด" แต่สำหรับเราแล้วเราค่อนข้างดีใจที่ได้ฟังเพลงยุคสากลจากทาทา
การใช้คำว่า Cassette แทนยุค 90 ที่เปิดโอกาสให้เหล่าศิลปินยุค 2000 ได้ขึ้นเวทีนี้
ด้วยความที่หลายๆ งานเพลงป็อปย้อนยุคจะโฟกัสที่คีย์เวิร์ดทศวรรษ 90 ทำให้หลายๆ ศิลปินในยุค 2000 ที่เป็นอีกยุคที่ยากจะลืมของวงการเพลงไม่มีโอกาสไปแจม แต่กับ Cassette Festival นั้นมันต่างออกไป เพราะคีย์เวิร์ดเทปทำให้เราได้ชมการแสดงของหลายศิลปินที่อยู่ในยุคคาบเกี่ยวทั้ง แอน ธิติมา ที่ได้ร้องเพลง “เสียงของหัวใจ” กับ “เจ็บช้ำช้ำ” ด้วยเสียงหวานๆ ที่เรารักจากอัลบั้มเดี่ยวยุค 2000 ของเธอและเพลงสนุกๆ แบบ “L.O.V.E” ที่เธอเต็มที่กับพลังสุดๆ รวมถึงพั้นช์ วรกาญจน์ ที่มากับเพลง “เราคงต้องเป็นแฟนกัน”, “ยิ่งกว่าเสียใจ” ที่เพราะไม่เปลี่ยน ส่วนอีกคนที่ขาดไม่ได้และทำให้เราตัดสินใจมางานนี้คือ ลานนา คัมมินส์ ที่มากับเพลง “สวัสดีเจ้า” กับ “ไว้ใจได้กา” และเสียงร้องที่ชวนนึกถึงอดีตและการพูดคุยภาษาเหนือในแบบฉบับของเธอ ก่อนจบด้วยเพลง “จ้องตากับความเหงา”
ส่วนฝั่งชายนอกจากไอซ์ ศรัณยู ที่ปล่อยของทั้งเพลงสนุกอย่าง “คนใจง่าย” และ “คนมันรัก” ก่อนขยี้อารมณ์สุดกับเพลง “คนดีๆ ทำไมไม่รัก” ก็ยังมีตัวละครลับอย่าง พลพล พลกองเส็ง ที่มาร้องเพลง “ตาแดงแดง” กับพั้นช์และเพลง “คนไม่สำคัญ” แบบตรงปกเหมือนเปิดเทปสุดๆ ซึ่งในอนาคต เราก็หวังจะได้เห็นศิลปินยุค 2000 ได้ขึ้นงาน Cassette Festival รอบต่อไป ไม่ว่าจะเป็น ปาล์มมี่-อีฟ ปานเจริญ, Peacemaker, Thaitanium, บี้-สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว, โจอี้ บอย (อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต), อ๊อฟ-ปองศักดิ์ รัตนพงษ์ หรืออาจจะเป็นเหล่าศิลปินร็อคยุค 2000 ไปเลย
ศิลปินแรร์ไอเท็มที่ไม่คิดว่าจะได้เจอ (แต่ก็ได้เจอ)
2 ชื่อที่ทำให้เราแปลกใจสุดๆ สำหรับงาน Cassette Festival 2 ก็คือ นาวิน ต้าร์ และ นาตาลี สตีเบิร์ท ที่ทำให้เราอุทานทันทีตอนเห็นชื่อว่า “ไปพาเขามาได้ไง!” และ Triumph Kingdoms ที่มาจาก Dojo City โดยงานนี้นาวิน ต้าร์ มากับเพลง “ไม่ใช่ไม่ชอบ”, “เพิ่งเข้าใจ” และ “น้ำน้อยแพ้ไฟ” พร้อมลุคสุดเท่และแทบไม่ต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ส่วนนาตาลีก็มากับเพลง “มะลึกกึ๊กกึ๋ยย์” และ “อาคันตุกะ” กับเสียงที่ใสสุดๆ ส่วน Triumph Kingdoms ก็มากับเพลง “ล่ำบึ๊ก”, “ผ้าเช็ดหน้า” และ “อย่าเข้าใจฉันผิด” จนเราต้องปรบมือให้กับคนที่เลือกศิลปิน ที่ตั้งใจพาคนที่เราคิดถึงกลับมาอยู่บนเวที
ก่อนหน้างานครั้งนี้ เราก็ได้เห็นหลายศิลปินสุดเซอร์ไพรส์ในงาน Cassette Festival อย่าง อ้น-ศรีพรรณ ชื่นชมบูรณ์, Zaza, H, ฝันดี ฝันเด่น จรรยาธนากร และ แอนเดรีย สวอเรซ ที่เราไม่คิดจะได้เห็นพวกเขากับเธอบนคอนเสิร์ตย้อนยุค และเราเชื่อว่าถ้างานนี้จะมีอีก เราเองก็มองว่ามีอีกหลายคนที่เหมาะขึ้นแสดง แต่อีกมุมก็คือถ้ามีการนำศิลปินที่แตกต่างยุคมากๆ มาขึ้นเวทีเดียวกันก็อาจจะมีปัญหาในแง่การไร้จุดเชื่อมของศิลปินในงาน จนเราอาจไม่ได้เห็นเวทีพิเศษที่พวกเขาแจมกัน แบบตอนที่มอสกับอ้อมร้องเพลง “คืออะไร” และ “ถ้าเธอหลอกฉัน” ที่ถูกรวมเป็นเพลงเดียว
นี่ไม่ใช่แค่คอนเสิร์ต แต่คือมีตติ้งที่อบอุ่น
แม้ว่าการจัดคอนเสิร์ตบนเวที Royal Paragon จะมีข้อเสียในแง่ Slope ที่ทำให้คอนเสิร์ตนี้ไม่เหมาะกับการยืนชม แต่ก็มีข้อดีในการที่ทำให้ศิลปินไปถึงคนดูได้เต็มที่ แบบที่ทาทา ยัง, 2002 ราตรี และ นัท มีเรีย ที่ไปอยู่กลางฮอลล์และซีนจบที่ทุกคนออกมาตรงกลาง จนเรารู้สึกว่าด้วยปริมาณศิลปินและขนาดฮอลล์ นี่มันไม่ต่างจากงานมีตติ้งและแอบคล้ายปาร์ตี้ส่วนตัวระดับหนึ่ง และการโปรยกระดาษก็ให้ฟีลตรงนี้ดีมาก
และนอกจากเรื่องเพลงทุกคนยังได้พูดคุยเรื่องส่วนตัวกับแฟนๆ และบางคนได้พาสมาชิกครอบครัวออกมาพบแฟนๆ ทั้งมอสที่พา โสน สิสราญ ออกมาเต้นในเพลง “เชื่อเถอะครับ” หรือนาวิน ต้าร์ ที่เผยว่าขึ้นเวทีเพราะอยากให้ลูกเห็นพ่อในบทบาทนักร้อง หรือแม้แต่ทาทา ยัง ที่พาลูกชายอย่างเรย์ออกมาทักทายแฟนๆ และขอบคุณแฟนๆ ไปพร้อมกัน ซึ่งโมเมนต์ช่วงแบบนี้ทำให้เราต้องเอ็นดูด้วยเสียงสองกันทั้งฮอลล์ ขณะที่เจ เจตริน เองก็เผยว่าถ้าลูกๆ ไม่อยู่ต่างประเทศ คงพาออกมาทักทายทุกคน คือบรรยากาศในงานมันเหมือนกับงานมีตติ้งจริงๆ (แต่มีเพลงให้ฟังจุกๆ) ซึ่งการที่เราได้ใกล้ชิดศิลปินและชมมุมน่ารักของพวกเขาก็เป็นอีกความสุขที่เราเก็บเกี่ยวจากงานนี้
เพราะยุค Cassette ไม่ใช่แค่เพลง แต่มีวัฒนธรรมและกลิ่นอายที่ควรหยิบมาเล่าเสริมด้วย
นอกจากเพลงแล้ว งาน Cassette Festival ยังมีโปรดักชั่นจัดเต็มทั้งส่วนกราฟฟิคที่บอกเล่าภาพจากยุค 90 และ 2000 กับไอเท็มยุคนั้น อย่างเช่นโทรศัพท์บางรุ่นที่เราเคยอยากใต้ตอนเด็ก หรือกราฟฟิคแบบคอมที่โรงเรียนประถม ไปจนถึงสีสันของคอสตูมที่ทำให้นึกถึงอดีตแต่ในขนาดเดียวกันก็มีความล้ำยุคไปพร้อมกัน จนเราแอบเห็นภาพว่าถ้าสมมุติไอดอลเราในวันวานมาดังในวันนี้ เขาน่าจะมากับลุคประมาณไหน รวมถึงเพลงจะมีความใหม่ขึ้นขนาดไหน จนเรามองว่าเจ้าของงานตั้งใจอยากพาเรานั่งไทม์แมชชีนเพื่อหนีความวุ่นวายในยุคปัจจุบัน ไปหาวันวานที่เราโหยหาในหลายๆ มุม
แต่ในความจัดเต็มที่เราเห็น ก็มีบางสิ่งที่เราแอบสังเกตว่าหายไปอย่างการตกแต่งกำแพงฮอลล์แบบงาน Cassette Festival รอบที่แล้ว และอีกสิ่งที่เราแอบรู้สึกคืองานครั้งนี้หลายๆ เพลงมีซาวด์ดนตรีที่แห้งไปบ้างสำหรับบางคนที่อาจจะชินกับงานของศิลปินสายดนตรีสด แต่ภาพรวมเรายังคงสนุกกับโชว์มากๆ และรักงานครั้งนี้จริงๆ
ในฐานะคนที่ไปงาน Cassette Festival เรามองว่าภายใต้แบรนด์ดิ้งนี้ ยังมีหลายสิ่งที่ Atime ยังทำได้อีกเยอะ ทั้งชวนศิลปินกลุ่มใหม่ ทำงานครั้งนี้ภายใต้ธีมร็อค ไปจนถึงการขยายเป็นเฟสติวัลเอาท์ดอร์ หรือแม้แต่การทำคอนเสิร์ตที่เหล่าศิลปิน 90 และ 2000 มาแลกเพลงกันร้องหรือประชันกับเด็กรุ่นใหม่ แต่ไม่ว่าจะไปในทิศทางไหน เราก็อยากให้ Cassette Festival ได้รับการสานต่อในฐานะเทศกาลดนตรีที่ดีต่อใจคนยุคส่งท้ายความอนาล็อคสู่ดิจิตอล
อัลบั้มภาพ 23 ภาพ