Boris : วงญี่ปุ่นบ้าดีเดือดที่ออกมาแล้ว 28 อัลบั้ม! โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
บางทีวงการเพลงร็อคญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยมีความพอดีสักเท่าไร ในขณะที่แฟนเพลงรออัลบั้มใหม่ชุดที่หกของ X Japan มา 26 ปีแล้ว (อัลบั้มชุดล่าสุดของพวกเขาคือ Dahlia ออกเมื่อปี 1996) ในอีกฟากหนึ่งก็มีวงชื่อ Boris ที่ตลอดอาชีพสามทศวรรษ พวกเขาออกอัลบั้มไปแล้วถึง 28 ชุด (!!) ที่สำคัญคือวงทำเพลงมาแล้วแทบทุกประเภท โดยในปี 2022 Boris ได้ออกอัลบั้มเต็มไปแล้วสองชุด นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาทำความรู้จักวงดนตรีบ้าดีเดือดวงนี้
Boris ก่อตั้งวงในปี 1992 ประกอบด้วยสมาชิก 3 คนคือ ทาเคชิ (มือกีต้าร์และเบส), วาตะ (กีต้าร์/คีย์บอร์ด) และ อัตสึโอะ (มือกลอง) ซึ่งทั้งสามคนยังทำหน้าที่ร้องนำด้วย พวกเขาออกอัลบั้มชุดแรกชื่อ Absolutego (1996) ซึ่งเป็นเพลงแนว drone metal หรือเพลงเมทัลจังหวะหน่วงหนืด แต่แทนที่จะสานต่อลายเซ็นแบบ drone วงกลับสร้างความเหวอด้วยการทำอัลบั้มชุด Flood (2000) ที่เป็นเพลงบรรเพลงยาว 70 นาทีแบบมินิมอลลิสม์สุดขีด เอาง่ายๆ คือมีแต่เสียงหึ่งๆ ทั้งเพลง บางช่วงก็เสียงเบาจนแทบจะต้องเงี่ยหูฟัง
ถึง Boris จะถูกนิยามว่าเป็นวงเมทัล แต่วงเองก็ไม่ชอบสักเท่าไร อัตสึโอะให้สัมภาษณ์ว่า “การมีสารหรือแก่นบางอย่างที่ถูกไตร่ตรองไว้ล่วงหน้ามันเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับผมน่ะ” เช่นนั้นแล้วตลอด 30 ปีที่ผ่าน Boris จึงทำเพลงหลากแนวสารพัด ทั้งกรันจ์, นอยส์ร็อค, เพลงทดลอง, ไซคีเดลิคเมทัล ไปจนถึงเพลงอิเล็กทรอนิกตื๊ดๆ ดังนั้นการจะเข้าถึง Boris อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไร เพราะเขาไม่ได้มีลายเซ็นชัดเจน แต่พูดได้อีกแบบว่าการไม่มีลายเซ็นเนี่ยแหละคือ ‘ลายเซ็น’ ของพวกเขา
อย่างไรก็ดี กว่า Boris จะเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างก็จากอัลบั้มชุด Pink (2005) ที่ได้วางขายในสหรัฐอเมริกาด้วย สาเหตุที่ Pink เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนก็คงเพราะทำนองหนักหน่วงแบบเมทัลและนอยส์ที่ไม่ประนีประนอม บางเพลงก็ยาวเกิน 10 นาทีและเต็มไปด้วยเสียงเอฟเฟกต์กีต้าร์แตกพร่า ส่วนเพลงดังที่สุดจากอัลบั้มชุดนี้คือเพลง Farewell ที่ภายหลังถูกนำไปใช้ในฉากไคลแม็กซ์ของหนังญี่ปุ่นเรื่อง Confessions (2010) นอกจากนั้นเพลงของ Boris หลายเพลงยังถูกเลือกไปใช้ในหนัง The Limits of Control (2009) ของผู้กำกับคนดัง จิม จาร์มุช ด้วย
อีกอัลบั้มของ Boris ที่ฟังง่ายหน่อยคือ Noise (2014) ซึ่งเกือบทุกเพลงมีเมโลดี้ที่จับต้องได้ เน้นแนวเพลงแบบ shoegaze มีโครงสร้างและความยาวค่อนข้างมาตรฐาน ไม่ได้แปลกประหลาดเหมือนหลายอัลบั้มก่อนหน้า ถึงกระนั้นวงก็ยังไม่ทิ้งจิตวิญญาณแห่งการทดลอง ด้วยการใส่เพลงชื่อ Angel ที่มีความยาวถึง 18 นาทีมาด้วย เรียกได้ว่าเป็นงานที่ฟังได้ทั้งสายแมสและสายอาร์ต
อันที่จริง Boris วางแผนจะยุบวงหลังจากออกอัลบั้มชุด Dear (2017) ที่พวกเขากลับมาทำเพลงแนว drone metal อีกครั้ง ประหนึ่งการกลับสู่รากเหง้าก่อนโบกมือลา แต่หลังจากเสียงตอบรับต่อ Dear ค่อนข้างดีมาก พวกเขาก็ตัดสินใจทำวงต่อ อันนี้ต้องขอเล่าเสริมว่าผู้เขียนได้มีโอกาสดูคอนเสิร์ตของ Boris ที่โตเกียวตอนเขาทัวร์ชุด Dear พอดี เข้างานไปก็ต้องอึ้ง เพราะมีแจกกระดาษที่เขียนคำเตือนว่า “โชว์วันนี้เสียงจะดังมาก หากคุณรู้สึกไม่ดี ขอให้ออกไปพักข้างนอก” ซึ่งการแสดงวันนั้นคือมหากาพย์ของเสียงดนตรีสุดสะเทือนเลือนลั่น เอาเป็นว่าผู้เขียนไม่เคยเจอคอนเสิร์ตที่เสียงดังหูแตกแต่ให้ความรู้สึกดีแบบนี้มาก่อนเลย
แม้แต่ในช่วงโรคระบาด Boris ก็มุ่งหน้าทำเพลงต่อไป (แถมทุกวันนี้พวกเขายังคงปฏิเสธการอัดเสียงในสูติโอด้วยการตัดแปะด้วยโปรแกรมหรือวิธีการแบบดิจิตอลใดๆ แต่ใช้วิธีบันทึกเสียงด้วยการเล่นสดจริงๆ) อัลบั้มชุด NO (2020) และ W (2022) เป็นงานที่ไว้ฟังคู่กัน (เพราะถ้าเอามาต่อกันจะได้คำว่า NOW) โดย NO จะเป็นเพลงฮาร์ดคอร์พังค์สุดเดือด ส่วน W จะเป็นเพลงทดลองลึกลับ ซึ่งอัตสึโอะอธิบายไว้อย่างลึกซึ้งว่า “NO คือการเยียวยาด้วยการปลดปล่อยอารมณ์ออกมาอย่างเต็มที่ ส่วน W คือการตื่นขึ้นด้วยการเสียงกระซิบในหูของคุณ”
และแม้จะเพิ่งออกอัลบั้ม W เมื่อต้นปี ช่วงสิงหาคม 2022 ที่ผ่านมา Boris ก็ออกอัลบั้มชุดใหม่ชื่อว่า Heavy Rocks ซึ่งนี่เป็นครั้งที่สามแล้วที่พวกเขาออกอัลบั้มในชื่อนี้ (สองชุดก่อนหน้าออกในปี 2002 และ 2011) แนวเพลงคือฮาร์ดร็อค/เฮฟวีเมทัลเต็มสูบแบบไม่ต้องซับซ้อนอะไรให้มาก ชวนให้นึกถึงบรรยากาศของยุค 70 ซึ่งทาเคชิได้พูดถึงอัลบั้มนี้ว่า “Heavy Rocks ไม่ใช่แค่ชื่ออัลบั้ม แต่มันคือคำที่เป็นตัวแทนถึงวิถีชีวิตและทัศนคติของพวกเรา เราอยากให้คนฟังได้สัมผัสกับ Boris ใน ‘ปัจจุบัน’ ที่รอดชีวิตมาจากโรคระบาดได้”
ในขณะที่โลกใกล้เข้าสู่ยุค Post-Covid เป็นเรื่องเข้าใจไม่ยากเลยว่าผลงานชุดที่ 28 ของ Boris ที่เน้นซาวด์แบบตรงไปตรงมา ทรงพลัง และเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา คือการต้อนรับผู้คนกลับสู่ Old Normal อีกครั้ง (หวังว่านะ...)
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ