THE SEEKER Concert ศิลปะล้ำค่าของ ASIA7 ที่กลั่นจากฝีมือไร้ขีดจำกัดของ 8 คน
1 ตุลาคม 2565 เวลา 21.30 น.
ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นเวลาที่ ASIA7 วงดนตรีฟิวชั่นที่ผสานความเป็นไทยและสากลจากค่าย Gene Lab ได้ตกเราแบบเต็มๆ ระหว่างงาน Gene Lab Con คอนเสิร์ตใหญ่เต็มรูปแบบของค่าย หลังจากที่เราได้ฟังเพลงของวงแล้วมองเห็นความไม่ธรรมดา แต่สิ่งที่ทำให้เราโดนตกเต็มๆ คือการเล่นสดที่มีชีวิตชีวาและสื่ออารมณ์ได้ดี รวมถึงมีอีสเตอร์เอ้กทางซาวด์ที่คาดไม่ถึงคอยซ่อนตลอดทั้งความแจ๊สไปจนถึงดนตรีไอริช และสะท้อนความต่างที่เป็นสิ่งหนึ่งที่ โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ ผู้บริหารค่าย Gene Lab ตามหาในศิลปินใหม่ที่มาอยู่ร่วมค่าย
วง ASIA7 ที่มี 8 คน และนำโดยเมมเบอร์อย่าง ออย-อมรภัทร เสริมทรัพย์ (ร้องนำ), โยเย-นริศรา ศักดิ์ปัญจโชติ (ซอ), ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง (เครื่องดนตรีอีสาน), โอม-กฤตเมธ กิตติบุญญาทิวากร (แซกโซโฟน), สุนทร-สุนทร ด้วงแดง (กีตาร์), บูม-ปรีดา เกศดี (คีย์บอร์ด), ดิว-ภูวิช ทวาสินชนเดช (เบส) และ โน้ต-ฐิติรัฐ ดิลกหัตถการ (กลองชุด) เป็นกลุ่มเพื่อนที่รู้จักจากคณะดุริยางคศิลป์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้เติบโตจากวงเพลงบรรเลงมาเป็นศิลปินฟิวชั่นที่มีแนวดนตรีโดดเด่นและภาษาเพลงที่สวย และด้วยสกิลล์ความสามารถในการร้องและถ่ายทอดของออย ทำให้วงได้โลดแล่นในวงการมานาน และได้รับงาน ASEAN Music Showcase Festival 2021, Seoul Friendship Festival 2021 กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี, 4th Guwahati International Music Festival, 8th Delhi International Jazz Festival 2019 ประเทศอินเดีย, World Youth Jazz Festival กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และในประเทศไทยผลงานของวงก็เริ่มมียอดสตรีมที่สูงขึ้นเช่นเดียวกับจำนวนแฟนคลับในชื่อ ลูกบ้านหมู่ 7
โดยหลังจากเพาะบ่มผลงานมานาน ทางวงก็มีงานเปิดอัลบั้ม "THE SEEKER" ASIA7 Album Opening Concert การแสดงครั้งนี้เกิดในโลเคชั่นที่เรามองว่าแตกต่างสุดๆ เพราะคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มพวกเขาจัดขึ้นที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 ในวันที่ 23 ตุลาคม ราวกับว่าพวกเขาคืองานศิลปะที่รอพบลูกบ้านหมู่ 7 ในนิทรรศการของพวกเขา และในงานครั้งนี้ก็ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจนมีลูกบ้านหมู่ 7 เข้าชมมากกว่า 400 คน
การแสดงครั้งนี้เริ่มขึ้นเวลา 17.00 น. เมื่อวงได้ออกมาจากห้องพักและเริ่มอินโทรงาน ก่อนจะพาทุกคนเข้าสู่โลกของวงกับเพลง “นักแสวงโชค (The Seeker)” ที่พูดถึงการออกล่าและเป็นเหมือนปฐมบทของงาน ก่อนจะตามด้วยเพลงที่สื่อถึงการตามหาอย่าง “เจ้าความรัก” และเพลงแฟนตาซีอย่าง “กล่อม” ที่มากับจังหวะที่ชวนฝัน ก่อนที่ฟีลของงานจะมากับความสปาร์คจอยพร้อมเพลง “ถ้าเธอคิดถึงใคร” ที่ถึงจะมีเนื้อหาเศร้า แต่ก็มีความสดใสในพาร์ทร้อง รวมไปถึงช่วงเล่นดนตรีและโซโล่ที่สมาชิกได้ปล่อยของแบบเต็มที่ในการเล่นดนตรีคู่กาย
หลังจากนั้นก็เป็นการแสดงเพลงเศร้าอย่าง “ลืม” ที่เราได้เห็นออยถ่ายทอดความเศร้าแบบเต็มไปด้วยอินเนอร์ และตามด้วยเพลง “ยานอนไม่หลับ” ผลงานที่จากฝีมือของสุนทรที่ยังไม่ถูกตัดเป็นซิงเกิล ซึ่งงานนี้อินเนอร์ของออยในการถ่ายทอดยิ่งชัดเจนและดนตรีสากลกับไทยของสมาชิกก็ได้ทำให้เกิดมิติความเศร้าที่เราชอบมากๆ และหลังจากนั้นอารมณ์ของงานก็เปลี่ยนอีกครั้งสู่ความสนุก
โดยในพาร์ทส่งท้ายที่เต็มไปด้วยความสนุกก็มีเพลง “ซ่อนหา” ผลงานอีกชิ้นในอัลบั้มที่ยังไม่ถูกตัดเป็นซิงเกิลที่มีความร็อคและเปิดโอกาสให้วงได้เล่นอะไรแปลกใหม่บนเวที อย่างเช่นการที่ออยออกไปหาเหล่าลูกบ้านหมู่ 7 บนเวที ซึ่งสีสันของเพลงนี้แอบทำให้เราคิดว่าถ้าโชว์นี้อยู่บนเวทีที่สเกลใหญ่แบบ Union Hall หรือ Impact Arena คงมีอะไรมาเซอร์ไพรส์นอกเหนือจากการแสดงแน่นอน และช่วงท้ายก็ยังมีเพลงแจ้งเกิดของวงอย่าง “ขวัญเจ้าเอย” ที่ถูกเล่น รวมไปถึง “จำขึ้นใจ” ที่แม้จะเศร้าแต่ก็เต็มไปด้วยฟีลความเหวี่ยงในเนื้อหาที่ชวนโยกตาม และในช่วงท้ายตอนอังกอร์ทางวงก็ทิ้งท้ายด้วยเพลง “เซเลเมา” ที่เต็มไปด้วยความเข้มข้นในทุกพาร์ทดนตรีเป็นการส่งท้ายงาน ซึ่งทางลูกบ้านหมู่ 7 ก็ได้สะท้อนความสุขกลับให้วงด้วยการทำป้ายโปรเจกต์เซอร์ไพรส์วงด้วย
สำหรับเรางาน "THE SEEKER" ASIA7 Album Opening Concert เป็นอีกครั้งที่ทำให้เราตกหลุมรักการเล่นสดของ ASIA7 ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและมิติทางดนตรีที่หาจากวงอื่นๆ ในเวลานี้ยังไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่แค่การรวมเพลงดนตรีไทยและสากลแบบตรงๆ แต่มีการสอดแทรกวัฒนธรรมดนตรีอื่นๆ ในตัวเพลง อย่างเพลง “นักแสวงโชค” ซึ่งต้องขอบคุณ Ruairi มือกลอง Bodhran ชาวไอริชที่มาร่วมงาน การผสมดนตรีอีสานหรือล้านนาในบางเพลง หรือบางเพลงก็มีความร็อคซ่อนอยู่อย่าง “ซ่อนหา” และถ้าฟังดีๆ เราจะแอบได้กลิ่นอายความแจ๊สในเพลงวงด้วย จนเราแอบอยากให้วงมีการแสดงการแสดงมีตติ้งเดือนละครั้ง หรืออย่างน้อยทุกไตรมาศกับชาวลูกบ้านหมู่ 7 คล้ายกับศิลปินระดับโลกที่มีการแสดง Residency ใน Las Vegas หรือวงไอดอลดังที่มีการแสดงในเธียเตอร์ หรืออย่างวงรุ่นพี่แบบ Paradox ที่ชอบจัดมีตติ้งกับแฟนๆ บ่อยๆ เพราะเราเชื่อว่าคนที่รักใน ASIA7 พร้อมจะมานั่งชมการแสดงของวงและพาคนที่พวกเขาและเธอรักมาดูด้วย เพราะการจะหาการแสดงแบบนี้ในไทยนั้นยากพอสมควรเลย การแสดงของศิลปิน 8 คนที่พออยู่ด้วยกันแล้วมอบความพิเศษแบบที่เราตีราคามูลค่าความสุขไม่ได้
นอกจากมิติทางดนตรีที่มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว ความสามารถของสมาชิกและเสน่ห์ของสมาชิกก็ถือว่าไม่ธรรมดา นอกจากออยที่มีลุคชวนสะดุดตาจนเราแอบนึกถึงนักแสดงตะวันตกที่เราชอบอย่าง Jane Seymour และ Christina Ricci รวมถึงมีพลังเสียงและวิธีการถ่ายทอดความรู้สึกที่ทำให้เราจมกับเพลงสมกับเป็นนักเรียนวอยซ์โอเปร่า (และเป็นผู้แต่งเพลง “กล่อม”) แล้ว ทุกคนในวงก็มีพลังแฝงและเสน่ห์ของตัวเอง อย่าง ต้นตระกูล ผู้เป็นเหมือนฑูตประจำวงที่คอยแลกเปลี่ยนดนตรีรวมถึงมีหลายผลงานเบื้องหลังศิลปินและ ดิว ก็เป็นคนที่ดูภาพรวมงานในฐานะมิวสิคไดเร็คเตอร์ ซึ่งถือเป็นความสามารถที่ไม่ธรรมดาและไม่ใช่นักดนตรีทุกคนจะทำได้ หรือทางด้านของ สุนทร ก็มีฝีมือการแต่งเพลง “ยานอนไม่หลับ” รวมถึงตัวของ โยเย มือดนตรีซอที่แต่งผลงานเพลงอื่นๆ ในอัลบั้มของวงได้ดีงาม และยังมีความสามารถในการอิมโพรไวซ์การเล่นซอที่ปกติจะต้องนั่งเล่น ในขณะที่ โอม, บูม และ โน้ต ก็ถูกเมมเบอร์ด้วยกันพูดถึงในฐานะสมาชิกที่สนับสนุนเพื่อนๆ ได้เป็นอย่างดี โดยความสามารถเหล่านี้ที่เราไม่แปลกใจว่าทำไม โอม ปัณฑพล ถึงกล่าวว่าการทำงานกับวง ASIA7 นั้นสนุกเพราะยิ่งทำ เขายิ่งเห็นว่าความสามารถและสิ่งที่สมาชิกทำได้ยังคงทำให้เขาเซอร์ไพรส์อย่างไม่หยุด
ส่วนการวางโครงสร้างของโชว์ เราชื่นชอบการเริ่มการแสดงด้วยเพลง “นักแสวงโชค” และไล่กราฟความเศร้าก่อนกลับมาสนุกสนาน จนเรามองว่าวงสามารถใช้เซ็ทลิสต์นี้กับหลายๆ งานได้เลย และนอกจากการโชว์แล้วการเล่าเรื่องของออย รวมถึงเคมีความสนิทของสมาชิกก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้เราจอยไปกับโชว์ของวงราวกับเป็นลูกบ้านที่ดูผู้ใหญ่บ้านสนุกสนานไปด้วยกันขณะทำสิ่งที่รัก และงานครั้งนี้แม้จะจัดในพื้นที่ที่ปิดและไม่ใหญ่จนเราแอบกังวลกับปัญหาเสียงก้อง แต่ซาวด์ก็ออกมาดีกว่าที่เราคาด และทางผู้จัดก็มีโปรดักชั่นที่เหมาะสมกับโชว์สเกลนี้ทั้งจอและพื้นที่ต่างๆ
ในมุมมองของเราสิ่งที่เราแอบเสียดายเล็กๆ ของโชว์ครั้งนี้คือการแสดงที่เป็นเซ็นเตอร์สเตจที่ล้อมโดยคนดู ซึ่งแม้จะเป็นการวางเวทีที่เวิร์คกับหลายๆ งานและเข้ากับคอนเซ็ปต์โชว์รอบนี้ของวง แต่ด้วยความที่วง ASIA7 นั้นหลายๆ สมาชิกได้ถูกตรึงไว้กับเครื่องดนตรีจนไม่สามารถอายคอนแท็กกับผู้ชมทุกคนได้ง่ายทำให้เราแอบเสียดายเบาๆ เพราะสำหรับเรานอกจากตัวเพลงและฝีมือการแสดงแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้เราชื่นชอบการแสดงของ ASIA7 คือ สมาชิกทุกคนแสดงออกผ่านสีหน้าและการจับเครื่องดนตรีตลอดงานว่าอินกับสิ่งที่ทำเวลาถ่ายทอดเพลงเศร้าและพอหันมาเล่นเพลงที่มีซาวด์ฟีลกู้ดอย่าง “ถ้าเธอคิดถึงใคร” ก็จะมีออร่าความสุขออกมาจากสีหน้าด้วย และนี่เป็นอีกอย่างที่ทำให้เราชอบโชว์ของวงบนเวที Gene Lab Con ที่เราได้เห็นสีหน้าของทุกคนบนจอ
แม้ว่าแนวดนตรีและความเป็น ASIA7 อาจจะเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับหลายคน แต่อยากให้ทุกคนเปิดใจและลองติดตามดู เพราะสมาชิกทั้ง 8 คนพอรวมตัวกันก็จะเกิดผลงานและโชว์ที่พิเศษแบบที่ไม่เหมือนใคร และเราหวังว่าอย่างน้อยเมื่อมีประสบการณ์และแรงสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่ายมากขึ้น เราจะได้เห็นอะไรที่พิเศษอีกมากจากวง ไม่ว่าจะเป็นเพลงใหม่ โชว์ใหม่ๆ คอนเสิร์ตเดี่ยว การร่วมงานกับผู้กำกับ แฟชั่นดีไซน์เนอร์ อาร์ตไดเร็คเตอร์ใหม่ๆ ที่จะมอบเคมีที่แตกต่างให้กับวง หรือแม้แต่การที่โยเยจะได้เล่นเครื่องดนตรีที่หลายคนอยากดูเธอโชว์บนเวทีอย่าง “ซอสามสาย”
อัลบั้มภาพ 12 ภาพ