วิบากกรรมของวงการคอนเสิร์ตในยุค (เกือบจะ) Post-Covid โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง | Sanook Music

วิบากกรรมของวงการคอนเสิร์ตในยุค (เกือบจะ) Post-Covid โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

วิบากกรรมของวงการคอนเสิร์ตในยุค (เกือบจะ) Post-Covid  โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มซาลง ช่วงครึ่งหลังของปี 2022 บรรดาคอนเสิร์ตทั้งไทยและเทศก็กลับมาจัดกันอย่างคึกคักหลังจากจัดไม่ได้มาสองปีเต็ม แต่ท่ามกลางความชื่นมื่นนั้นก็ไม่ได้มีแต่เรื่องน่ายินดี หากเราสังเกตให้ดีจะพบว่ามีศิลปินหลายรายที่ประกาศ ‘ยกเลิก’ การทัวร์คอนเสิร์ต เช่น Animal Collective วงดนตรีทดลองอเมริกันที่ล่มทัวร์ยุโรปทั้งแผง, Say Sue Me วงอินดี้ร็อคจากเกาหลีที่แคนเซิลทัวร์ในอเมริกา หรือ SOHN ศิลปินแอมเบียนต์ป็อปที่ตัดสินใจไม่ไปต่อกับทัวร์ในอังกฤษ

หนึ่งในสาเหตุของการยกเลิกคอนเสิร์ตยุคนี้คือการที่ศิลปินติดโควิด-19 ความยากลำบากคือมันเป็นโรคคาดการณ์ได้ยาก บทจะติดก็ติด (คุณผู้อ่านหลายท่านน่าจะมีประสบการณ์) ยิ่งประเทศฝั่งตะวันตกที่เลิกใส่หน้ากากกันไปแล้ว ซึ่งถ้าเป็นหวัดธรรมดาแบบสมัยก่อน พักแค่ 1-2 วันอาจกลับมาทัวร์ต่อได้ แต่พอเป็นโควิดก็อาจต้องดูอาการ 5 วันหรือรอให้ ATK ผลเป็นลบตามนโยบาย/สถานการณ์ของประเทศที่ไปทัวร์ ซึ่งมูลค่าความเสียหายจะแปรผันตามสเกลของทัวร์ ถ้าเป็นคอนเสิร์ตในไลฟ์เฮ้าส์จุหลักร้อยก็เจ็บตัวประมาณหนึ่ง แต่ถ้าเป็นโชว์ระดับสเตเดี้ยมหลักห้าหมื่นคน ก็บอกได้เลยว่าหน้าซีด เพราะการจัดตารางทัวร์ใหม่ (หรือ re-schedule) คือความวุ่นวายสุดๆ ทั้งจากคิวของสถานที่และศิลปิน

อย่างไรก็ดี บรรดาวงที่ยกตัวอย่างไปในย่อหน้าแรกไม่ได้ยกเลิกทัวร์เพราะโควิด ช่วงปี 2022-2023 เราจะเห็นว่าเหล่าศิลปินบิ๊กเนมอย่าง The Cure, Depeche Mode หรือ Arctic Monkeys ประกาศตารางทัวร์อย่างยืดยาวและเอิกเกริก หากแต่ศิลปินที่แคนเซิลทัวร์ในช่วงนี้มักเป็นวงขนาดกลางหรือขนาดเล็ก และสาเหตุที่พวกเขาตัดสินใจ (หรือจำใจ) ทำเช่นนั้นก็คือเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ

ในยุค Pre-Covid เรามักเห็นประกาศการยกเลิกคอนเสิร์ตด้วยเหตุผลว่า “due to unforeseen circumstances” (ด้วยเหตุอันไม่คาดคิด) ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าแปลว่าบัตรขายไม่ดี หากแต่ทั้ง Animal Collective, Say Sue Me และ SOHN ต่างชี้แจงเหตุผลอย่างละเอียดและตรงไปตรงมาว่าการทัวร์ในยุคหลังโควิดมันมีต้นทุนที่ ‘แพง’ ขึ้นอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเรื่องค่าเงิน, เงินเฟ้อ, ภาวะเศรษฐกิจถดถอย, ค่าเครื่องบิน, ค่าเดินทาง, ค่าโรงแรมที่ล้วนสูงขึ้น (ทุกคนน่าจะเจอประสบการณ์ว่าตั๋วเครื่องบินตอนนี้แพงขึ้นทุกเส้นทาง กระทั่งการบินในประเทศ) ชนิดที่ว่าขนาดคอนเสิร์ตขายตั๋วหมดเกลี้ยงก็ยังแค่เท่าทุนหรือยังเจ๊งอยู่ดี

นอกจากนั้นช่วงหลังโควิดยังมีคอนเสิร์ตมากมายสารพัดเกิดขึ้นพร้อมกัน คนดูไม่อาจซื้อบัตรทุกงานได้ และมีแนวโน้มเลือกดูวงใหญ่ๆ ไว้ก่อน ยอดขายตั๋วของพวกวงอินดี้จึงยิ่งตกต่ำลงไปอีก (จากเดิมที่ขายยากอยู่แล้ว) และยังมีเรื่องการแย่งสถานที่จัดงานหรือ Venue กันอย่างอุตลุด จนศิลปินหลายรายไม่ได้สถานที่ที่เหมาะสม ต้องยอมจ่ายแพงกว่าที่ตัวเองคาดการณ์ไว้ หรือบางทีก็ไปถึงขั้นจ่ายไม่ไหว

ศิลปินที่แคนเซิลทัวร์พูดตรงกันว่าการยกเลิกทัวร์เป็นการ ‘เซฟ’ ให้ทุกฝ่ายไม่ต้องเจ็บปวด ไม่ว่าจะศิลปิน ทีมงานดูแลศิลปิน ฝั่งผู้จัด ฝั่งสถานที่ อีกทั้งการทัวร์ในช่วงนี้ดูจะเป็นเรื่องเหนื่อยล้าเกินไปทั้งทางกายและทางใจ หลายคนรู้สึกขอบคุณที่ศิลปินออกมาพูดเรื่องนี้อย่างจริงใจ แต่ก็อดห่วงไม่ได้ว่าวงการคอนเสิร์ตกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ผิดพลาดหรือเปล่า แล้วจากนี้ศิลปินขนาดกลาง/เล็กจะอยู่รอดกันอย่างไร นั่นเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบสำเร็จรูป  

อีกความลำบากยากเข็ญของยุค Post-Covid (ที่ก็ยังไม่ได้ Post ซะทีเดียวหรอกนะ) คือการจัดเทศกาลดนตรีหรือ music festival ถ้าเป็นงานใหญ่ๆ อย่าง Glastonbury, Coachella หรือ Primavera Sound ก็ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะศิลปินอยากไปเล่นอยู่แล้ว แต่ที่หนักหนาจะเป็นเทศกาลในเอเชียมากกว่า อย่างที่เห็นว่ามีหลายเทศกาล ‘ลาก่อย’ ไปแล้วเรียบร้อยจากโควิด ไม่ว่าจะ Laneway, Neon Lights (สิงคโปร์) หรือ Clockenflap (ฮ่องกง) ซึ่งถ้าเป็นแต่ก่อนหากเทศกาลจัดในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็ยังสามารถแท็คทีมกันช่วยพาศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ มาเล่นในเอเชียได้ แต่พอเทศกาลมันน้อยลง โอกาสที่พวกบิ๊กเนมจะมาโซนเอเชียก็ยากขึ้น

ส่วนเทศกาลที่ยังเดินหน้าจัดต่อไป การหาวงมาเล่นในงานก็ยากขึ้น หนึ่ง-ศิลปินมีคิวเล่นคอนเสิร์ตยาวมาก ค้างคามาตั้งแต่ช่วงโควิด และศิลปินมักเลือกไปทัวร์โซนอเมริกา ยุโรป อเมริกาใต้ มากกว่าเอเชีย เพราะสามารถทำเงินได้มากกว่า สอง-ถ้าเป็นเทศกาลระดับกลางหรือไม่ได้มีชื่อเสียงมากก็จะหาวงยาก เพราะช่วงหลังโควิดมีเทศกาลดนตรีมากมายกลับมาจัดต่อ ศิลปินบิ๊กเนมเขาก็เล่นตัวได้หรือมีสิทธิปฏิเสธเทศกาลในเอเชียได้ง่าย หรือกระทั่งในเอเชียด้วยกัน เขาอาจจะเลือกไปญี่ปุ่นมากกว่า เพราะทัวร์ได้หลายเมือง จัดได้หลายรอบ ทั้งโตเกียว โอซาก้า ฟุกุโอกะ ฯลฯ ส่วนมาไทย ก็เล่นได้กรุงเทพฯ ที่เดียวและจบเลย นี่จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเทศกาลดนตรีในเอเชียช่วงครึ่งหลังปี 2022 ถึงไลน์อัพออกมากร่อยๆ เสียส่วนใหญ่ เชื่อเถอะว่าเหล่าโปรโมเตอร์เขาได้พยายามกันสุดความสามารถแล้ว

ด้วยสติปัญญาอันน้อยนิดของผู้เขียน ก็ไม่อาจทราบได้ว่าปัญหาเหล่านี้จะแก้อย่างไร หรือเมื่อไรสถานการณ์จะดีขึ้น ได้แต่สวดมนต์ภาวนาว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่ New Normal ที่เราต้องอยู่กับมันตลอดไป...สาธุ                

 

                

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook