เปิดชีวิต "อูน ชนิสรา" กับการเป็นแฟนเพลงยุค 90-2000 และแง่คิดในวันที่ร้องเพลงเป็นอาชีพไม่ได้ | Sanook Music

เปิดชีวิต "อูน ชนิสรา" กับการเป็นแฟนเพลงยุค 90-2000 และแง่คิดในวันที่ร้องเพลงเป็นอาชีพไม่ได้

เปิดชีวิต "อูน ชนิสรา" กับการเป็นแฟนเพลงยุค 90-2000 และแง่คิดในวันที่ร้องเพลงเป็นอาชีพไม่ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ชื่อของ อูน-ชนิสรา วงศ์ดีประสิทธิ์ ซีอีโอเจ้าของกิจการธัญพืช Diamond Grains และเจ้าของช่อง Tiktok @thechanisara ได้เป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าของเพลงดัง “เฮอร์ไมโอน้อง” ที่หลายคนชื่นชอบ และเป็นกระแสสุดๆ จนเธอได้รับโอกาสมากมาย 

ซึ่งการที่เธอกลายเป็นเจ้าของเพลงฮิต ทำให้ Sanook Music อยากทราบถึงชีวิตในมุมการเป็น Music Lover และคนรักเสียงดนตรีของเธอซึ่งเมื่อเราได้ฟังเรื่องราวก็ได้พบกับความเซอร์ไพรส์มากมาย นับตั้งแต่เธอเริ่มเล่าเรื่องจุดเริ่มต้นในการรู้จักบทเพลงต่างๆ และการตามศิลปินที่เธอชอบ 

แต่ถึงแม้จะเป็นคนที่ชอบร้องเพลงมาก แต่ความชอบของเธอเรียกได้ว่าไม่ง่าย ซึ่งเส้นทางของเธออาจจะทำให้หลายคนแปลกใจเมื่อได้ฟัง 

โดยอูนได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการชอบร้องเพลงว่า “อูนเติบโตมากับเพลงของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ และ ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ คือหลายคนไม่รู้ว่าอูนตอนเด็กๆ ประกวดร้องเพลง คือไม่ได้เรียนร้องเพลงแต่ชอบมากๆ ไปประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง และก็ไม่ได้ร้องดีด้วย ร้องได้ทั้งลูกทุ่งและสตริงตอนเด็ก คำว่าร้องได้ไม่ได้แปลว่าร้องดีนะ แค่ร้องได้เฉยๆ” 

“จำได้ว่าเป็นคนที่รักการร้องเพลงมากๆ จนขอที่บ้านไปเรียนร้องเพลงได้ไหม และที่บ้านก็บอกว่า “เรียนไปเพื่ออะไร” เราก็บอกแค่ว่าเราชอบร้องเพลงและสนุก และเขาไม่ได้ส่งเราไปเรียน แต่เขาซื้อขาไมค์และเซ็ทคาราโอเกะไว้ที่บ้าน เพราะเราไม่ได้บอกเขาว่าเราอยากเป็นนักร้อง เราอยากทำเป็นอาชีพ เราไม่ได้บอกว่าเราอยากทำเงินจากสิ่งนี้ เราพูดแค่ว่าเราชอบสิ่งนี้ และเรามีความสุข เขาก็ซื้อขาไมค์และสเตอริโอทั้งเซ็ทไว้ที่บ้าน เพราะเราบอกเราชอบ เราก็จะได้ทำสิ่งที่ชอบบ่อยๆ และวันเสาร์อาทิตย์ก็จะมีเซสชั่น มันเลยกลายเป็นสิ่งที่เรียนเสร็จเสาร์อาทิตย์ก็จะร้องเกะกับที่บ้านทุกเสาร์อาทิตย์เลย พอไปประกวดร้องเพลงก็ได้บ้างไม่ได้บ้างตามฟีลเด็ก เด็ก ป.4 อะนะ จนมีวันนึงที่ร้องเพลงบนเวทีแล้วลืมเนื้อทั้งเพลง แล้วหลังจากนั้นกลายเป็นคนที่กลัวการร้องเพลงบนเวทีไปเลย กลัวการร้องเพลงต่อหน้าคนอื่นไปเลย แล้วก็ไม่ร้องเพลงอีกเลย ร้องกับตัวเอง แต่ไม่ร้องให้คนอื่นฟังอีกเลย คือประหม่าไปเลย วันนั้นจำความรู้สึกได้คือลงมาจากเวทีแล้วร้องไห้ไปเลย” 

แต่ด้วยความที่เป็นคนที่มีความรักในสิ่งที่ทำ ทำให้หลังจากประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ได้กลับมาร้องเพลงซึ่งเธอได้เล่าจุดเริ่มต้นแบบละเอียดว่า “คือการร้องเพลง 15 วินาทีในสตอรี่ บางคนก็จะสงสัยว่าทำไมเห็นแค่หู เพราะเมื่อไหร่ที่ตาเห็นตัวเองในกล้องจะประหม่า พอมี TikTok ก็จะไปเรื่อยๆ ก็มีคอมเมนต์ว่าทำไมไม่มองกล้อง ทำไมหลับตาร้องเพลง ก็ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ คือมี TikTok คลิปนึงที่พูดว่าอูนกลัวการร้องเพลงมาก กลัวการร้องเพลงให้คนอื่นเห็น แต่มันก็เป็นโอกาสที่ดีเพราะ TikTok เราไม่ได้มีคนตามขนาดนั้น ก็คือลงไปเพราะชอบจริงๆ เพราะมันเป็นความชอบที่เป็นเนื้อแท้ โดยที่ไม่เป็นนักร้อง ไม่ได้ทำเป็นอาชีพ เราก็อยากพัฒนาไปเรื่อยๆ สักพักเริ่มมองกล้องได้ เริ่มเล่นหูเล่นตาได้ เริ่มมีพัฒนาการส่วนตัว จริงๆ ก่อนหน้านี้มีเพลงที่อูนร้องในห้องอัดเยอะมากๆ แต่ไม่เคยปล่อยออกมาเลย เพราะเป็นคัฟเวอร์ เพราะเราไม่ชอบเสียงตัวเอง คือถ้าเราได้ยินคำที่เราเปล่งเสียงออกมาแล้วเราไม่ชอบ เราก็ไม่ใช้แล้ว คือเราตัดสินตัวเองและมันมาจากความกังวลที่สะสมมาด้วย จนมาเป็นเพลง “เฮอร์ไมโอน้อง” ที่ไหนๆ ก็ทำแล้ว ตั้งใจทำแล้ว ก็ปล่อยออกมา โดยก่อนหน้านี้จะมีเพลง “รสชาติรัก” ที่เราทำออกมาประกอบการทำงาน Diamond Grain แต่อย่างที่บอกเราชอบการร้องเพลงเราก็เอามารวมกับงาน แต่ “เฮอร์ไมโอน้อง” คือตั้งใจเอามาลงสตรีมมิ่ง” 

และในปัจจุบันเมื่อเธอมีเพลงที่หลายคนรู้จัก เราก็สอบถามว่าอะไรคือสิ่งที่เธอตั้งเป้าหมายต่อไปหลังมีเพลงที่หลายคนคุ้นหู ซึ่งคำตอบเธออาจทำให้หลายคนแปลกใจ 

อูนแค่อยากรู้ว่าเพลงเพลงนึงจะพาอูนไปอยู่ที่ไหนบ้าง อูนไม่เชิงทำเพื่อให้เพลงดัง หรือคอลเลคชั่นอะไร แต่อยากรู้ เพราะเป็นคนชอบรู้ อยากรู้ว่านักร้องไปตรงนั้น เขารู้สึกยังไง เพราะเราไปตัดสินไม่ได้ “ว่าเขาไปแบบนี้เพราะเขาอยากดัง” อยากรู้มากว่าชีวิตการร้องเพลงอาชีพ จะเป็นอย่างไร เพราะอูนไม่ได้เก็บเงินจากการทำเพลงไว้กับตัว แต่ดำเนินมันแบบอาชีพ อยากรู้ว่าโอกาสแบบไหนจะเข้ามากับตัว เรื่องราวชีวิตแบบไหนจะมีเข้ามาในชีวิตเราบ้าง อูนจะได้ไปบอกว่าเป็นแบบนี้ๆ คือถ้าเราไม่ได้ประสบเอง เราจะไปตัดสินเส้นทางคนอื่นไม่ได้ ก็เลยมาถึงขนาดนี้เลยอยากรู้ว่าอย่างจะมีสื่ออะไรเข้ามาแปลกๆ อย่างวงการธุรกิจเป็นสื่อแบบนึง แต่ปัจจุบันก็เป็นอีกแบบนึงก็จะเป็นสื่ออีกแบบ ก็อยากรู้ว่าจะมีอะไรอีก 

แต่พอถามถึงความเป็นไปได้เรื่องการที่เราจะได้ฟังเพลงที่เธอทำก่อนหน้า ก็ได้รับคำตอบที่เราเชื่อว่าหลายคนต้องเสียดายว่า “ไม่มีทางค่ะ (หัวเราะ) เพราะไม่ชอบ รู้สึกว่าถ้าทำอะไรแล้วยังติตัวเองได้อยู่ ก็จะไม่ออกมา เป็นคนเฆี่ยนตัวเองหนักที่สุด อูนจะไม่ชอบตัวเองเวลาที่มาคิดว่า ทำไมตอนนั้นไม่ทำงานให้หนักกว่านี้ ไม่มีใครรู้ว่าเราเฆี่ยนตัวเองหนักขนาดนี้เพราะจะทำในหัว อูนจะไม่ถามใคร คือเราจะเซ็ทมาตรฐานไว้สูงจนคิดว่าถ้าเราปล่อยเอเนอร์จี้นี้ไปหาเด็กรอบตัวมันก็จะเป็นมวลแปลกๆ จริงๆ เราเอนจอยการเฆี่ยนตัวเองนะ เพราะเราไม่ได้เฆี่ยนตัวเองในฟีลแส้แบบ บุพเพสันนิวาส แต่เราเฆี่ยนตัวเองแบบดิสนีย์ คือไม่ได้เฆียนตัวเองแบบตบตี แต่จะอารมณ์แบบของลองอีกทีจะได้ไหมนะ”

เมื่อกลับมาพูดถึงเรื่องราวความชอบในเพลง นอกจากเพลงลูกทุ่งที่เติบโตมาแล้ว เธอก็มีเรื่องราวเส้นทางการตามศิลปินเอเชี่ยนป็อปที่คล้ายกับวัยรุ่นยุค 2000 หลายคน จนเราที่เติบโตมาในยุคดังกล่าว ถึงกับมีคำว่า “ใช่ๆ” ลอยขึ้นมาเมื่อฟังอูนเล่าประสบการณ์ 

“ถ้าไม่ใช่ Disney ก็จะแบบคุณ อ้อน (ลัคนา หวงมณีรุ่งโรจน์) “ในมุมหนึ่งของหัวใจ” ยุค วัยร้ายไฮสคูล และ วัยร้ายเฟรชชี่ แก๊ง RS และ Grammy เก่าๆ คือด้วยความที่เราร้องเกะ ก็จะมีคลังเพลง คือเราจะไม่มีแนวเพลง ก็ฟังจากพุ่มพวง ดวงจันทร์, RS, Grammy ไปจนถึงอายุ 11 ที่เจป็อปเข้ามา ก็จะมี Morning Musume KAT-TUN และ Johnny Junior ส่วนเคป็อปก็จะมาช่วงหลังๆ นี่เองคือชอบเจป็อปตอนนั้นก็จะได้ยินเคป็อปเป็น BABY V.O.X. มากๆ มิยอน ต่างๆ เป็นยุคที่ Zaza ซื้อเพลง “Missing You” มาทำเพลง “จบมันไปได้แล้ว” คือยุคนั้นเราชอบเคป็อปมาเรื่อยๆ และในยุคที่ชอบวงอื่นๆ เราก็ยังชอบ BABY V.O.X. เพราะเราโตมากับเขา ส่วนอเมริกันป็อป อูนมองว่าเราเลี่ยงไม่ได้จริงๆ คือเพลงกับอูนมันจะมีช่วงเวลาจริงๆ อย่างตอนเด็กชอบเพลงลูกทุ่ง โตขึ้นมาเป็น RS กับ Grammy และมาเป็นเจป็อป กับเคป็อป ส่วนอเมริกันป็อปมันเป็นช่วงที่เราเรียนอยู่ที่อเมริกา คืออูนเป็นคนที่ไม่ชอบการท่องจำ ก็เลยเรียนรู้ผ่านเพลง จำได้เลยว่าเพลงที่เรียนคือUmbrella ของ Rihanna และตอนนั้นคือหงุดหงิดมากที่เราฟังไม่รู้เรื่อง และก็ฟังซ้ำเรื่อยๆ จนรู้เรื่อง และบางทีอูนก็สโลว์ไปด้วยก็เลยเรียนรู้เพลงผ่านภาษาอังกฤษก็เลยชอบขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้ก็ไปแตะฮิปฮอป ไปหมดชอบทุกแนว

ด้วยความที่อูนเป็นแฟนดิสนีย์ ทำให้เราอดถามไม่ได้ว่า แล้วเพลงดิสนีย์เพลงไหนที่เธอรักที่สุด ซึ่งเธอคำตอบของเธอก็ทำให้เราแน่ใจว่าแพชชั่นของเธอกับดิสนีย์นั้นเต็มที่จริงๆ 

“เพลงแรกที่ซิงค์กับชีวิตเราคือ “Colors of the Wind” จาก Pocahontus ฟังครั้งแรกคือแผ่ซ่านไปทั้งตัว แล้วก็มา “Reflection” จาก Mulan และ “A Whole New World” คือมันเป็นเพลงดิสนีย์คลาสสิคที่ใครๆ ก็ชอบ จริงๆ อูนชอบเพลงก่อนเจ้าหญิง ก่อนจะชอบหนังด้วยซ้ำ คือดูวิดีโอยุคนั้นเพลงจะขึ้นก่อน ไม่เหมือนยุคนี้ที่เราไปดูหนังที่เรากดข้ามได้ แต่ยุคนั้นมันข้ามไม่ได้ จะดูเครดิตก็ต้องกรอผ่าน คือเราก็ได้ดูช้าๆ ฟังเพลง ดูทุกจุด เลยรู้สึกว่าเพลงดิสนีย์ทำให้เราเห็นภาพมากๆ”

และเมื่อฟังชื่อเพลงดิสนีย์ที่อูนชอบ ทำให้เราไม่แปลกใจถึงคอนเสิร์ตที่เธอประทับใจสุดๆ ในฐานะคนดู ซึ่งเธอเล่าว่า “คอนเสิร์ต Sam Smith เป็นแบบนั่งดูอยู่แล้วมีความคิดว่า “คนเรามันจะเสียงดีกว่าในซีดีได้จริงๆ เหรอ?” ซึ่งมันเป็นไปได้จริงๆ คือคุณ Sam Smith เสียงเขาใสและกังวาล ยิ่งกว่าเสียงที่เราฟังในเทปก็เลยเอนจอย ส่วนคอนเสิร์ตในซีดี สมัยก่อนเราไม่สามารถดูคอนเสิร์ต Morning Musume ได้เร็วพอ เราก็ต้องโหลดบิท เพราะฉะนั้นเราโตมากับคอนเสิร์ตญี่ปุ่น คอนเสิร์ตญี่ปุ่นเราชอบที่เอเนอร์จี้เขาไม่แคร์ว่าเสียงเขาจะแกว่งไหม คือเขา เฮ้ย! เฮ้ย! คือจะถามว่าชอบคอนเสิร์ตไหน ต้องถามก่อนว่าชอบสไตล์ไหน ถ้าเอนเตอร์เทนจะชอบเจป็อป ถ้าคุณภาพเสียงก็จะดีวาไปเลย” 



ซึ่งในช่วงท้ายอูนได้ฝากถึงคนที่รักการร้องเพลง แต่ก็มีแพชชั่นอื่นหรือสิ่งที่ต้องทำเพื่อพาชีวิตไปถึงเป้าหมายว่า “อูนเชื่อว่ามีหลายคนที่ ชอบเพลง ชอบร้องเพลงเหมือนกัน และกดดันให้เป็นอาชีพตลอดไป สำหรับอูนไม่สามารถทำเพลงเป็นอาชีพได้แล้ว ไม่สามารถทำสิ่งที่รักเป็นอาชีพได้ขนาดนั้น คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าอูนทำธุรกิจเพราะความรักความชอบ แต่จริงๆ ไม่ใช่เลย มันเป็นหน้าที่และอูนก็ทำตัวเองให้ชอบหน้าที่นั้น คือบางทีอยากให้สแปร์ความรักความชอบของเราให้เป็นงานอดิเรกบ้าง เพื่อที่ให้มันฮีลเราเวลาเราหาเงินของเรา อันนี้มันมีประโยชน์จริงๆ”

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ เปิดชีวิต "อูน ชนิสรา" กับการเป็นแฟนเพลงยุค 90-2000 และแง่คิดในวันที่ร้องเพลงเป็นอาชีพไม่ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook