ไขความลับ ASIA7 กับอัลบั้มที่เปลี่ยนชีวิต และการออกล่าแฟนเพลงด้วยโชว์อันสุขล้น
เป็นเวลา 4 ปีแล้วที่ค่าย Gene Lab ในเครือ GMM Grammy ได้ทำงานด้วยความตั้งใจที่จะนำเสนอศิลปินที่แตกต่าง และในขณะเดียวจะซัพพอร์ตให้ศิลปินทำสิ่งที่รักได้สุดทาง จนล่าสุดบ้านหลังได้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และล่าสุดได้ต้อนรับวง ASIA7 ที่มี 8 คนดนตรีคุณภาพ ที่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหิดลอย่าง ออย-อมรภัทร เสริมทรัพย์ (ร้องนำ), โยเย-นริศรา ศักดิ์ปัญจโชติ (ซอ), ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง (เครื่องดนตรีอีสาน), โอม-กฤตเมธ กิตติบุญญาทิวากร (แซกโซโฟน), สุนทร-สุนทร ด้วงแดง (กีตาร์), บูม-ปรีดา เกศดี (คีย์บอร์ด), ดิว-ภูวิช ทวาสินชนเดช (เบส) และ โน้ต-ฐิติรัฐ ดิลกหัตถการ (กลองชุด)
ASIA7 เป็นวงที่เริ่มจากการที่ต้นตระกูล ได้ชักชวนหรือที่เขาพูดแบบติดตลกเสมอว่า "หลอกล่อ" สมาชิกมาทำงานด้วยกัน เริ่มจากการเป็นวงบรรเลง ก่อนจะค่อยๆ กลายเป็นวงดนตรีที่ผสมผสานดนตรีป็อป พื้นบ้านไทย และ แจ๊ส ซึ่งบางเพลงก็มีผสมผสานความร็อคและซาวด์จังหวะไอริชในผลงานด้วย จนบางคนจัดให้พวกเขาอยู่ในกลุ่มศิลปิน เวิลด์มิวสิค ที่นำซาวด์พื้นบ้านหลายชาติมาผสม (แต่บางคนก็ไม่อยากหาคำจำกัดความทางดนตรีมาครอบครัวพวกเขา) โดยพวกเขาได้รับความสนใจทันทีตั้งแต่ปล่อยเพลง "ขวัญเจ้าเอย" และมีอัลบั้มชุดแรกอย่าง 8 ซึ่งการมีแฟนเพลงจำนวนหนึ่งทำให้พวกเขามีโชว์ MAY I COME IN CONCERT รวมถึงได้สัมภาษณ์และแสดงหลายเทศกาลดนตรีในไทยและต่างประเทศ
หลังจากที่ต้องบาลานซ์ระหว่างการทำงานแบ็คอัพ ไซด์โปรเจกต์ รวมถึงเผชิญช่วงความยากลำบากที่ทำให้วงเกือบยุบ ล่าสุดในปี 2020 พวกเขาก็ได้เข้าสู่สังกัด Gene Lab และมีอัลบั้ม นักแสวงโชค (The Seeker) ออกมาและมีเพลงคุณภาพอย่าง “นักแสวงโชค (The Seeker)”, “เจ้าความรัก”, “ลืม”, “ถ้าเธอคิดถึงใคร”, “ซ่อนหา”, “จำขึ้นใจ”, “ยานอนไม่หลับ” และ “กล่อม” ที่วาไรตี้ทั้งซาวด์และมีคุณภาพผลงานแน่น แถมยังมีบริบทเนื้อหาที่เข้าถึงใจผู้คนหลายวัยและหลายสถานการณ์จนเราอดโหลดผลงานพวกเขาลงเพลย์ลิสต์ไม่ได้
นอกจากการทำเพลงแล้ว การแสดงสดที่โดดเด่นของ ASIA7 ที่ทั้งอัดแน่นซาวด์พร้อมความสามารถ และมีเสน่ห์ความสุขที่น่าสนใจได้ทำให้พวกเขาได้แสดงในงานระดับนานาชาติอย่าง ASEAN Music Showcase Festival 2021, Seoul Friendship Festival 2021 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี, 4th Guwahati International Music Festival, 8th Delhi International Jazz Festival 2019 ที่ประเทศอินเดีย, World Youth Jazz Festival กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แถมตัวของต้นตระกูล กับ โยเย ก็มีงานแสดงในนาม Nisatiwa (นิศาทิวา) บนเวทีงานกาล่าของ APEC 2022 ด้วย และขณะที่เรากำลังทำสัมภาษณ์นี้ พวกเขาก็มีงาน Very Festival และ Monster Music Festival ต่อกันในวันที่ 26 และ 27 พฤศจิกายน 2565 ด้วย และผลงานที่ทำออกมา รวมถึงการแสดงสด ได้ทำให้พวกเขามีแฟนเพลงที่เรียกตัวเองว่า "ลูกบ้านหมู่ 7" เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนงานเปิดอัลบั้มอย่าง "THE SEEKER" ASIA7 Album Opening Concert มีผู้ชมมากกว่าที่พวกเขาคิดไว้ถึง 3 เท่าจนแน่น ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และทำให้ Sanook Music ตัดสินใจขอคว้าตัวพวกเขามาพูดคุยเรื่องการเติบโตและไขความลับเบื้องหลังอัลบั้มใหม่และการแสดงสดที่เต็มไปด้วยเสน่ห์
จุดเริ่มต้นที่น่าดีใจและแอบหวั่นใจกับ Gene Lab
โดยก่อนจะพูดคุยเรื่องอัลบั้ม ต้นตระกูล ผู้ก่อตั้งวงได้เผยว่าพวกเขาได้รับความสนใจจาก โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ ผู้บริหารค่าย Gene Lab ตั้งแต่วันที่ปล่อยเพลงแรกออกมา และตอนนั้นยังไม่มีค่าย Gene Lab ด้วยซ้ำ และเมื่อเวลาเหมาะสมพวกเขาก็ได้มาร่วมงานกัน
"พี่โอมติดต่อผ่านพี่ แม็ก The Darkest Romance (ธิติวัฒน์ รองทอง) ว่าทางวงติดสัญญาอะไรไหม เพราะพี่โอมสนใจอยากได้ ASIA7 มาอยู่ที่ Gene Lab เราก็เรียกประชุมเพราะมันคืออีกก้าวของวงที่ทำเองมาทุกอย่าง เป็นอินดี้อะครับ วันหนึ่งผลงานพี่โอมเห็นและติดตามและชวนมาอยู่ Gene Lab มันเกินฝัน ก็ตกลงว่าจะมาเพราะพี่โอมเลือก ASIA7 เพราะเป็น ASIA7 พี่เขาฟังเพลงเรามาตั้งแต่เพลงแรก แต่ตอนนั้นยังไม่มีค่าย"
ส่วนโยเยนักแต่งเพลงมากฝีมือ ก็เผยความรู้สึกว่าภายใต้ความดีใจมันก็มีความกังวล โดยเธอเล่าว่า "เริ่มแรกเราดีใจ แต่กังวลควบคู่กัน แต่ละคนมีหน้าที่มีแบ็คอัพ งานกลางคืน ก็กังวลว่าอยู่ค่ายงานที่หาเลี้ยงชีพจะทำได้ไหม เราก็คุยๆ กัน พอประชุมกับค่าย ทางค่ายโอเค พี่โอมบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้พวกคุณมีกิน คุณทำได้เลย และวันหนึ่งคุณจะไม่มีเวลาทำสิ่งเหล่านั้น ก็ทำให้เราตัดสินใจมาอยู่ Gene Lab"
เมื่อคน 8 คน มาผสานความต่างจนเกิดหลากหลายเหตุการณ์
ด้วยความที่เป็นวงที่มีสมาชิก 8 คน ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะถามว่าทางวงมีวิธีการทำงานอย่างไร เพราะทั้ง 8 คนมีไอเดีย และทางวงก็เคยผ่านจุดที่เคยแยกทางกัน ตามคำพูดของสมาชิก ซึ่งออย นักร้องนำได้เผยวิธีการทำงานในปัจจุบันของพวกเขาให้เราฟัง
"ข้อดีอย่างหนึ่งคือพวกเราตีกัน แต่สุดท้ายพวกเราคุยกันให้เห็นตกลงปลงใจเป็นสิ่งเดียวกัน และพวกเราก็คุยกันเยอะ มันอยู่ที่ใครเป็นเฮดแต่ละเรื่อง ก็จะอธิบายกัน มันเป็นคอนเซ็ปต์ที่ได้จากพี่โอม คือเราจะไม่ยกมือว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วย แต่จะอธิบายเอาเหตุผลมาชนกัน คือทุกคนมีความตั้งใจในการทำผลงานออกมาดี"
และปัจจุบันนี้วง ASIA7 ได้เข้ามาอยู่ในค่าย Gene Lab เราได้สอบถามว่าการมาอยู่ค่ายให้อะไรกับพวกเขาบ้าง ซึ่งโอมมือเแซ็กโซโฟนได้เล่าว่า "มาอยู่ค่ายเราก็ทำสิ่งเดิมแต่มีแบ็ค เรามีค่าย เรามีงบมากขึ้น หลายๆ เรื่องไม่ได้ไม่ชอบ แค่ไม่ถนัด ก็ได้เรียนรู้อะไรจากค่ายทั้งการทำเอ็มวี ทำโปรโมตภาพกับเสียง" ส่วน ต้นได้เสริมว่า “มันคือสิ่งที่ค่ายมีกับเรามีมาผนวกกัน เขามีไอเดีย เรามีไอเดีย โปรโมตเขาก็จะมีไอเดียว่าเราจะทำแบบนี้ เราก็แบบเออผมมีแบบนี้ๆ มันทำให้งานตรงเป้าหมายมากขึ้น บางทีไปไกลกว่าที่เราที่คิด”
อัลบั้มใหม่ที่มีกรอบเวลาเป็นความท้าทาย จนต้องผลิตเดโม่จำนวนมากเพื่อผลงานที่ดีที่สุด
และในการทำงานอัลบั้มใหม่ภายใต้ Gene Lab ทางดิว มือเบสของวง ที่ดูแลเรื่องซาวด์ของวงในการแสดงคอนเสิร์ตเผยว่า ASIA7 ได้มากับวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไปทั้งเรื่องกรอบเวลา แต่สิ่งที่มีก็คือทีมเวิร์ค ที่ทำให้พวกเขายังคงช่วยกันทำทุกผลงานแบบเต็มที่และมีเอกลักษณ์ชัดเจน และการได้ความช่วยเหลือของค่ายก็เป็นอีกสิ่งที่ช่วยพวกเขามาก
"อัลบั้มสองต่างจากอัลบั้ม 8 ที่เราเอาแต่ละพีเรียดที่ทำมารวมกัน บางปีห่างเป็นปีๆ มารวมกัน มันจะมีพีเรียดห่างกันหลายปี พอมาเป็นการทำงานในค่ายมันก็มีกรอบเวลา เราจะโดนค่ายตั้งกรอบเวลาว่า 1 ปี จะมีอะไร ทำให้อัลบั้มนี้ทำงานด้วยกรอบเฟรมเวิร์คที่ชัดเจน ก็ได้เพลง “นักแสวงโชค” เป็นเพลงแรกที่เป็นกรอบของคอนเซ็ปต์ต่างๆ และเพลงที่ออกมาก็จะมาอยู่ในใต้คอนเซ็ปต์นี้ คือเราจะให้ทุกคนผลิตเดโม่ออกมากองกันมากกว่าจำนวนเพลงในอัลบั้มเท่าตัว และเดโม่นั้นเริ่มเกิดในวันที่รู้ว่าต้องทำอัลบั้ม ทำให้ผมกล้าพูดว่าเพลงในอัลบั้มเกิดในกรอบเวลา 1 ปี เพราะฉะนั้นอัลบั้มนี้จะรู้สึกกลม เพราะมันอยู่ในช่วงเวลาที่เราได้ Input เดียวกัน เราได้เดโม่มาไว้ใน Google drive และมาเลือกกัน และขั้นตอนนี้ได้ค่ายมาช่วย ในความเห็นมุมมองค่าย ก็เป็นประสบการณ์ใหม่มาก การมีมุมมองของค่ายที่คลุกคลีกับวงการมาช่วย ถึงเราไม่ได้เชื่อทั้งหมด 100% แต่มันก็เป็นไอเดียที่มีน้ำหนักที่ทำให้เกิดอัลบั้มนี้"
ส่วนโยเยที่อยู่เบื้องหลังเพลงอย่าง "นักแสวงโชค", "ซ่อนหา" และอีกหลายผลงานที่ผ่านมาก็เล่าว่า "คือเราต่างคนต่างมีไอเดีย บางเพลงเรานัดมาเวิร์คกัน บางเพลงเรามีไอเดียและคิดมาเองใส่ในไดรฟ์ คือเราผลิตเดโม่เพลงออกมากองไว้ตรงกลาง แล้วเราจะมาช็อปปิ้งเดโม่ในไดรฟ์เวลาจะปล่อยซิงเกิล อย่างเราจะมองว่าเพลงนี้จะมีฟังค์ชั่นในการเล่นสด หรือเพลงนี้เอาไว้สำหรับขาย คือการปล่อยเพลงมันก็จะมีทั้งฟังค์ชั่นที่เราต้องการจากเพลง และการพูดคุยของวงกับค่าย ก็จะได้แต่ละซิงเกิลแต่ละช่วงเวลา แต่ละเพลงทุกคนจะมีการระดมสมองความคิดในนั้น มันเป็นอัลบั้มที่เราได้เรียนกระบวนการทำงานแบบศิลปินจริงๆ ว่าควรจะเป็นยังไง ถือเป็นบทเริ่มต้นของเรา"
การได้รู้จักคนฟัง และผ่านหูคนฟังคือเป้าหมายของอัลบั้ม
แม้ว่าจะเป็นผลงานที่ตั้งหน้าตั้งตาทำกันอย่างเต็มที่ แต่ ณ เวลานี้สมาชิกวง ASIA7 ก็เผยว่า ณ เวลานี้พวกเขาคาดหวังเล็กๆ เพียงแค่ฟีดแบคคนฟังในมุมว่าพวกเขาจะชื่นชอบวงไหม และหวังให้ผลงานผ่านหูผู้ฟัง โดยออย นักร้องนำผู้แต่งเพลง "ลืม" กับ "กล่อม" ได้เผยว่าความแตกต่างสุดๆ ของเพลงในอัลบั้มที่สะท้อนตัวตนสมาชิก เป็นสิ่งที่ทำให้เธออยากรู้ว่าผู้ฟังคิดอย่างไรกับสิ่งที่ฟัง
"มันเป็นอัลบั้มแรกที่อยู่กับค่าย เป็นปีแรกที่อยู่กับค่าย มันคาดหวังอยู่แล้ว ว่าคนจะชอบสิ่งที่เราเป็นไหม ชอบเพลงแบบไหน เพราะเพลงในอัลบั้มมันกว้างมาก ว่าซ้ายสุดคนจะชอบไหม ขวาสุดคนจะชอบไหม"
ส่วนสุนทร ผู้เขียนเพลง "ยานอนไม่หลับ" ที่แม้จะยังไม่ได้ตัดเป็นซิงเกิลโปรโมตในวันที่เราพูดคุย แต่ผู้สัมภาษณ์มองว่าเป็นผลงานอาวุธลับของอัลบั้มที่น่าจะมาแรงแน่นอน ก็เสริมว่า "ทุกคนในเชื่อว่าเพลงที่ทำมันดีที่สุดในเวลานั้น เราเชื่อว่าคนฟังต้องรู้สึกชอบ เพราะเท่าที่ฟังจากหลายคนก่อนอยู่กับค่าย และหลายคนก็โอเคกับหลายเพลงที่ปล่อยออกมา อย่างน้อยถ้าเพลงมันถึงเขา เขาจะรู้ว่าเราเป็นวงแบบไหน เราไม่รู้ว่ามันจะอยู่ในเพลย์ลิสต์เขาไหม แต่อย่างน้อยมันก็ผ่านหูคนฟัง เราอยากให้ผ่านไปถึงเขา การมาอยู่ค่ายเราหวังว่าเพลงมันจะไปถึงคนฟังครับ"
ความสุขที่เปล่งปลั่งจากการเล่นดนตรี คือเคล็ดลับความสำเร็จของโชว์
นอกจากตัวเพลงที่โดดเด่นแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้ ASIA7 โดดเด่นก็คือการที่พวกเขามีโชว์ที่โดดเด่น จนผู้สัมภาษณ์เองให้ความสนใจวงทันทีหลังดูโชว์ในงาน Gene Lab Con ซึ่งต้นตระกูล ที่เป็นหัวเรือใหญ่เผยว่าการทำการบ้านคือและซ้อมหนักคือหัวใจของความโดดเด่นขณะทำไลฟ์โชว์
"จริงๆ แต่ละงานแตกต่างกันเพราะต่างกลุ่มคนฟัง และตามไดเร็คชั่น อย่างงานเฟสติวัลก็จะเล่นเพลงตัวเพลง แต่ก็ต้องดูการนำเสนออย่างไรให้คนชอบด้วย แบบเปิดแล้วเปรี้ยงเลย ตรงไหนต้องเพลงช้า และตรงไหนเพลงจบ นี่คือ ASIA7 ก็จะมีอภินิหารย์ และ กายกรรมเล็กๆ ด้วย พอพูดถึงพาร์ทซ้อม ก็ซ้อมหนักมาก วางแผนทุกโชว์ เรามองว่า ASIA7 เราทำงานเราจะซ้อมให้ช้ำ เราตั้งเป้าว่าเราเล่นงานนี้ต้องไปต่อ เพราะงานป็อป งานเวิลด์มิวสิค เราก็จะวางแผนตกคนดู อย่างงานแจ๊สจะมีการโซโล่และแอดลิปเยอะหน่อย อย่างานป็อปๆ ก็จะหาเพลงย่อยง่ายๆ งานนี้เป็นงานพื้นบ้าน ก็จะเพิ่มตรงนั้น แต่อีกพาร์ทที่หลายคนไม่เคยเห็นคือการเล่นผับ เห็นพวกเราเนิร์ดๆ แต่จริงๆ ก็มีสนุกเหมือนกัน อย่างเพลง “นะหน้าทอง” เพลงยอดฮิตในปัจจุบันเราก็เอามาเรียบเรียง ทำอย่างไรให้เพลงยุคปัจจุบันมีสีสันของวง มันเลยต้องทำการบ้านด้วยสิ่งที่เรามีครับ"
แต่อีกมุมหนึ่งออย นักร้องนำ ก็เผยว่าความสนิทและบุคลิกกับจิตวิญญาณที่คล้ายกันของสมาชิกที่มีคล้ายกัน โดยเธอเล่าจากประสบการณ์ตรงว่า "ถ้าทำการบ้านเล่นสด ออยไม่เคยห่วงบนเวที เราไว้ใจกันมาก เรามีความเนิร์ด มีความเป็น Performer คือเราไม่ต้องคิดว่าเราจะยืนแบบนี้ เราจะไปเองแบบธรรมชาติ และเรามีความสุขมากๆ บนเวที เราไม่ได้เล่นเพื่อเสิร์ฟออกไป แต่เราเล่นเพื่อให้เขามาเข้ามาจอยกับเราค่ะ" ส่วนโยเยก็เสริมว่า “พอรู้ว่าเป็นออยเป็นโอมอยู่ข้างๆ เราอุ่นใจอะ”
ทางฝั่งของ สุนทร ผู้ชายอารมณ์ดีของวงก็มีอีกมุมที่น่าสนใจ โดยเขามองว่าจุดเริ่มต้นของวงจากการเล่นเพลงบรรเลง การแจมกันในห้องซ้อมแบบไม่คาดหวังคนดู ทำให้พวกเขาสามารถสื่อสารกันเองได้ดี และนั่นคือสิ่งที่ดึงดูดผู้ฟังหาวง
"ผมนั่งคิดนะว่าทำไมเราเล่นสดแล้วทำไมคนชอบ คือพวกเราเริ่มจากการเล่นเพลงบรรเลง เพลงไม่แมส มันเริ่มจากการแจมกัน พอเริ่มจากการแจมแบบตัดคนดูออกไป แบบไม่คาดหวังว่ามีคนฟัง คือเราสื่อสารบนเวที แบบพาร์ทนี้ใครทำอะไร ทีนี้พอทำไปเรื่อยๆ คนก็จะเข้าหาเราเองว่าเราทำอะไรกัน มันเริ่มจากตรงนี้ พอเป็นเพลงร้องเราก็ทำแบบนี้ เราไม่ต้องชี้เลยว่าใครต้องทำแบบนี้ ไม่ต้องพูดเลย คือเราไม่เคยบังคับว่าต้องทำอะไร แค่ส่งถึงกัน คือเราไม่ได้เอนเตอร์เทนเก่ง แต่เรามีความสุขบนเวทีครับ"
และพาร์ทเรื่องการเล่นสด โอมได้ทิ้งท้ายในมุมของเขาที่ย้อนดูการแสดงของวงว่า "ผมว่าความจริงใจ คือเราสนุกกันเอง ต่อให้คนน้อย คนเยอะ แต่เราสนุกจนเราพลังล้นออกไป คือมีหลายคนบอกว่าทำไมวงนี้เล่นแล้วยิ้มแย้มแจ่มใส ไปดูคลิปเรายังรู้สึกเลยว่าเรายิ้มอะไรกัน เราน่าจะเอนจอยจริงๆ จนส่งไปถึงคนดูครับ คนเลยชอบครับ"
ผลงานคุณภาพ + การแสดงสดที่เต็มไปด้วยความสุข = "ลูกบ้านหมู่ 7" ที่เติบโตอย่างมั่นคง
ปัจจุบันนี้ วง ASIA7 ได้กลายเป็นศิลปินกลุ่มที่มีแฟนเพลงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันเป็นวงดนตรีไม่กี่วงที่มีชื่อแฟนคลับว่า "ลูกบ้านหมู่ 7" และการตั้ง Openchat กับกลุ่มแฟนคลับจริงจัง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ออย นักร้องนำยิ้มและเผยความรู้สึกจริงใจถึงคนที่สนับสนุนวง
"จริงๆ เราไม่ได้คาดหวังว่าเราจะมีด้อม มีแฟนคลับเป็นด้อมตั้งชื่อให้ตัวเอง ติดตามอะไร จริงๆ ตกใจมาก แต่เราต้องยกความดีความชอบให้โอมที่มีแฟนคลับระดับหนึ่ง ถ้าไม่มีโอมเราจะไม่มีหัวพาทุกคนมาหาแฟนๆ คือแฟนคลับคิดชื่อและให้เราเลือก คือมันแสดงถึงความเป็นเราแบบไทยๆ ถ้าให้พูดถึงลูกบ้าน คือมันเกินสิ่งที่เราคิด เป็นกำลังใจทุกครั้งที่เราไปเล่น ไม่ว่างานไหน คนน้อยหรือเยอะ ทุกคนจะร้องให้ดัง เราได้พลังงานจากคนดู" ก่อนทิ้งท้ายว่า "ถ้าไม่มี “ลูกบ้าน” ก็ไม่มี ASIA7 ค่ะ"
ในช่วงท้ายสัมภาษณ์ เราได้ถามว่าในปี 2023 เราจะได้เห็นอะไรจาก ASIA7 บ้าง ซึ่งต้นตระกูล ตอบกับเราแบบไม่อยากให้คาดหวัง แต่ขณะเดียวกันเราก็อยากเห็นสิ่งที่พวกเขาตั้งใจทำในปีหน้ามาก โดยต้นได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "ความคาดหวังคือความไม่คาดหวังครับ เรามีหลายโปรเจกต์มากๆ อยากทดลอง อาจจะมีการฟีทเจอริ่งคนนั้นคนนี้ แนวเพลงที่ท้าทาย ผมว่าหลังโควิด-19 เราจะเห็นอะไรจาก ASIA7 และวงการเพลงแน่นอน ก็อยากให้คนเห็นว่าวงแนวนี้ที่มันไม่น่าผสมด้วยกันได้ มันเกิดขึ้นแล้ว อยากให้มีเพื่อนแบบเราที่เอาดนตรีพื้นบ้านมาผสมผสานแบบนี้มากขึ้นครับ"
Photos by : Thanapol W.
อัลบั้มภาพ 36 ภาพ