วิธีคิด "ครูสลา คุณวุฒิ" เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่คิดล้ำ | Sanook Music

วิธีคิด "ครูสลา คุณวุฒิ" เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่คิดล้ำ

วิธีคิด "ครูสลา คุณวุฒิ" เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่คิดล้ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครูสลา คุณวุฒิ นักประพันธ์เพลง แนวลูกทุ่งอีสาน และหมอลำ ครูผู้ให้ ผู้สร้าง ประคับประคอง ส่งเสริมลูกศิษย์เจริญก้าวหน้า เป็นนักร้องขวัญใจมหาชน นับไม่ถ้วน ได้รับการเชิดชูให้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ" พ.ศ. 2564 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว Sanook.com บอกว่ารู้สึกที่ได้รับการเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติว่า รู้สึกเป็นเกียรติกับวงศ์ตระกูล ครูบาอาจารย์ และสถาบันการศึกษา กลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล กองทุนครูบ้านป่า สลา คุณวุฒิ ที่หล่อหลอมให้มาถึงจุดนี้ อีกทั้งขอบคุณสังคมที่อุ้มชูมาจนถึงทุกวันนี้

"ไม่เคยคิดว่า ตัวเองจะได้ อันนี้ไม่ได้พูดเพื่อให้ดูดีเลยนะ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ครูมีแต่ปราถนา อยากให้ครูบาอาจารย์ของครูได้รับ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่ครูมองเห็นว่า ท่านเหมาะสมนะ แต่ตัวเองมีความรู้สึกว่า แค่สังคมอุ้มชูเรามา จึงได้เป็นครูสลาในวันนี้ ต้อนรับผลงานครู นั่นก็เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว"

"พอได้รับรางวัลอย่างเป็นทางการ ในนามศิลปินแห่งชาติ คือ มันเกิน เกินแล้วล่ะ เกินสิ่งที่เราคิดไว้แล้ว ทีนี้พอได้รับ ก็สิ่งที่คิดมากก็คือว่า เราเหมาะสมอย่างที่สังคมอยากได้หรือเปล่า ท่านมอบให้เราแล้วเนี่ย เราต้องทำอะไรอีกบ้าง ที่เรายังทำไม่ได้ดี ก็จะพยายามทำให้สุดความสามารถตัวเอง"

ครูสลา บอกว่า การสร้างสรรค์ผลงานเพลง นับตั้งแต่ลาออกจากราชการครู มาเป็นครูเพลงที่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ คำนึงเสมอว่า "ต้องไม่เป็นพิษทางสังคม" สร้างงานให้อยู่ในพื้นที่ศิลปะ ไม่กระเด็นข้ามไปสู่พื้นที่อนาจาร

"แน่นอนทำเพลงหนึ่งเลย อยากให้เพลงเพราะ สองอยากให้เพลงถูกนำไปใช้ นั่นหมายความว่า มันต้องโดนใจคน แต่ท่ามกลางความถูกใจ และก็โดนใจ อยากให้เพลงไม่เป็นพิษทางสังคม ครูย้ำคำนี้ว่า ไม่เป็นพิษทางสังคม"

"ครูย้ำคำนี้ไม่เป็นพิษทางสังคม ก็ด้วยสำนึกคือเราเป็นครูอยากสร้างงาน ที่มันอยู่ในพื้นที่ของศิลปะให้มากที่สุด ถ้าไม่หลงลืมจริงๆ ไม่อยากให้มันกระเด็นข้ามไปสู่พื้นที่อนาจาร พื้นที่อะไรก็ตามที่มันสร้างพิษให้กับสังคม"

ครูสลา บอกต่อว่า อีกสิ่งหนึ่งที่แนบมากับการสร้างงานของเขา คือ ความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณภาษาถิ่น ภาษาไทย ทำให้ความคิดสามารถส่งผ่านไปถึงคนได้ จึงตอบแทนบุญคุณด้วยการดูแลภาษาให้ดีที่สุด ทั้งในแง่ของการนำมาใช้ อย่างมีความหมาย ความไพเราะ และการออกเสียง

ทั้งนี้ ยอมรับว่า เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่มีความคิดที่ล้ำกว่า ส่วนตัวมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ การสร้างสรรค์ผลงานเพลง เพื่อผลักดันให้ลูกศิษย์ไปไกลที่สุดบนถนนแห่งดวงดาวเท่าที่จะมีแรงทำได้ เพื่อหาความสมดุลให้คนรุ่นใหม่ยอมรับผลงานของคนรุ่นเก่า โดยไม่สูญเสียลายมือ หรือ เอกลักษณ์

"ครูมีความรู้สึกว่า เราจะไม่กดดันใคร เพราะว่าการเสพศิลปะ มันเป็นเรื่องของบุคคล แต่ละบุคคลเลยนะ เมื่อลูกหลานเปลี่ยนไป มันมีสื่อต่างๆ เข้ามาในชีวิตเขา ทำให้วิธีคิดเขาอาจจะล้ำกว่าเรา ไปไกลกว่าเรา หรืออาจะไม่ได้อยู่ในแบบที่เราคิดว่า มันน่าจะดี เราจะเคารพเขานะ เราจะพูดในพื้นที่ ที่เราพูดได้เท่านั้น แต่สิ่งที่เราทำให้มากที่สุด คือ ถ้าเขาคิดใหม่ เราก็ต้องทำเรื่องใหม่ ให้ถูกใจเขาให้ได้"

"เด็กจะเปลี่ยนแค่ไหนก็ตาม คนฟังจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหนก็ตาม เรามีหน้าที่สร้างงานให้ถูกใจเขาให้ได้ วัดกันตรงนั้น ง่ายๆ คือเราต้องแต่งเพลงให้ดังในวันที่โลกเปลี่ยนให้ได้ เราจะไม่บอกเขาด้วยคำพูด หรือคำสั่ง หรือคำโวยวายใดๆ แต่เราจะสร้างงานให้เขายอมรับ ถ้าเพลงดังก็แสดงว่า เขาเห็นด้วยกับเราเยอะ ถ้าไม่ดังเราก็สู้ต่อ"

ครูสลา บอกส่งท้ายการให้สัมภาาณ์ครั้งนี้ว่า ยุคสมัยอาจทำให้ช่องว่างระหว่างคนรุ่นเก่า กับรุ่นใหม่ขยายกว้างมากขึ้น ส่งผลให้องค์ประกอบในการทำงานสมัยก่อนกับสมัยนี้ต่างกัน แต่เชื่อว่า "หัวใจสำคัญยังเหมือนเดิม" นั่นคือ การทำเพลงยังต้องทำให้คนชอบ ต้องครองใจคนให้ได้

"ตอนที่เปลี่ยน จากยุคอะนาล็อกเป็นดิจิทัล ก็ยอมรับว่าเรา
งงนะ แต่ก็ไม่ได้กดดันอะไร มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า การปรุงอาหารก็ทำให้ถูกปากคนกิน เราตั้งใจไว้แค่นี้ เราตอบโจทย์ข้อนี้ได้ ทุกอย่างมันจะพาความใช่มันไปต่อเอง การทำเพลงก็เช่นกัน"

"ครูมองว่า ตอนนี้เรายังมีร้านอาหารอยู่ แต่ว่าเครื่องหมาย เครื่องมือในร้าน อาจจะเปลี่ยนจากแบบเดิมมา เป็นแบบดิจิทัล แบบออนไลน์ แบบโลกที่มันกว้างกว่าเดิม เชื่อมโยงสังคมระดับโลกจริงๆ และก็ลูกค้าที่มากินข้าวในร้านเนี่ย เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นเจนใหม่"

"บางทีเราอาจะต้องปรับวิธีการปรุงอาหารของเรา แต่ในแบบของเราอยู่นะ แต่ให้ถูกปากคนรุ่นใหม่ มากขึ้น มันก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก มันเปลี่ยนแค่องค์ประกอบ แต่หัวใจมันยังเหมือนเดิม เพลงก็ยังต้องทำให้คนชอบให้ได้ ต้องพูดเรื่องที่เขาอยากจะฟัง พูดเรื่องที่โดนใจเขา ด้วยวิธีการที่เขารับได้ มีวิธีคิดที่งดงาม"

"ครูใช้คำว่างดงาม คือ งดงามแบบที่สังคมคาดหวัง มีวิสัยทัศน์ที่ดี เพราะครูมีความรู้สึกว่า ศิลปินหนึ่งคน เมื่อประสบความสำเร็จ มันเหมือนตำราอีกเล่มหนึ่ง เราได้เป็นแล้ว เราเป็นตำราที่ไม่ดี มันก็ทำให้คนที่อ่านตำราเล่มนี้ พลอยได้รับอิทธิพลจากเราไปด้วย"

"เพราะฉะนั้นครูจึงมีความรู้สึกว่า นอกจากความสามารถ ความใช่โดนแล้วเนี่ย หัวใจคนก็ต้องได้ด้วย"

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ วิธีคิด "ครูสลา คุณวุฒิ" เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่คิดล้ำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook