งานเฟสติวัลไทยในมุมมองของ “ปู - จิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์” | Sanook Music

งานเฟสติวัลไทยในมุมมองของ “ปู - จิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์”

งานเฟสติวัลไทยในมุมมองของ “ปู - จิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ปู - จิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์  ผู้จัดงาน “ลงเล บีช ไลฟ์ เฟสติวัล (Longlay Beach Life Festival)” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับชายหาดของประเทศไทยที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก 
  • ด้วยลักษณะภูมิประเทศของไทย ความพร้อมด้านบุคลากร ความคิดสร้างสรรค์แบบคนไทย รวมถึงวัฒนธรรมทางด้านภาษา ทำให้ประเทศไทยเป็นเมืองที่เหมาะในการจัดงานเฟสติวัล 
  • แม้เมืองไทยจะมีงานเฟสติวัลมากมาย แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับงานรูปแบบนี้ และปัจจัยที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนไทยกับการไปร่วมงานเฟสติวัลคือค่าใช้จ่าย 
  • ความช่วยเหลือสำคัญจากภาครัฐคือ การกระจายข่าวงานเฟสติวัลของผู้จัดคนไทยให้ไปถึงชาวต่างชาติให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับการให้เงินสนับสนุนการจัดงานเฟสติวัล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมี “เฟสติวัล” เกิดขึ้นมากมาย จนคล้ายกับว่าเมืองไทยได้กลายคือ “ศูนย์กลาง” ของการจัดงานเฟสติวัลในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้งานเฟสติวัลในไทยจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่หลายครั้งก็มักจะมีเสียงสะท้อนของผู้จัดงานเรื่อง “การสนับสนุน” จากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่อาจมีไม่มากพอที่จะช่วย “ดัน” งานเฟสติวัลไทยไปสู่ระดับโลก Sanook มีโอกาสได้พูดคุยกับ “ปู - จิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์” ผู้จัดงาน “ลงเล บีช ไลฟ์ เฟสติวัล (Longlay Beach Life Festival)” ถึงมุมมองต่องานเฟสติวัลไทยและทิศทางการจัดงานที่จะช่วยสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศ 

เฟสติวัลเมืองไทย

“เมืองไทยเป็นเมืองที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวอยู่่แล้ว และการเป็นเมืองท่องเที่ยวกับงานเฟสติวัลก็เป็นของคู่กัน ซึ่งถ้าดูจำนวนงานเฟสติวัลแล้ว ประเทศเรามีเยอะมาก ถ้้าดูตามปฏิทินแล้ว เรามีงานเกือบทุกสัปดาห์ด้วยซ้ำ และสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดสำหรับประเทศเราก็คืองานเฟสติิวัลนี่แหละ เพราะโลเคชั่นของบ้านเรามีให้เลือกหลากหลายมาก และทรัพยากรบุคคลก็มีพร้อม” จิรัฏฐ์เริ่มต้นสะท้อน 

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยเอื้อให้กับการจัดงานเฟสติวัล ความพร้อมด้านบุคลากร และความคิดสร้างสรรค์แบบคนไทยที่กลายเป็นเอกลักษณ์ดึงดูดให้ชาวต่างชาติอยากมาสัมผัส จึงทำให้งานเฟสติวัลหลายงานของไทยกลายเป็นงานเฟสติวัลระดับโลกได้ไม่ยากนัก นอกจากนี้ จิรัฏฐ์ยังมองว่า “ภาษา” ของประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกสนใจอยากเข้าร่วมงานเฟสติวัลไทยเช่นกัน 

“เรามีภาษาของตัวเอง นอกจากภาษาของตัวเองแล้ว แต่ละภาคก็มีภาษา มีสำเนียงของตัวเอง อย่างเช่น ดนตรีอีสาน ผมว่ามันคือดนตรีสากลระดับโลก มันเป็นวัฒนธรรมที่ส่งออกได้ หลายวงที่เป็นเสียงอีสานหรือเป็นดนตรีอีสาน หรือกระทั่งภาษาที่ร้องออกไป กลายเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติชื่นชอบมาก หรืออย่างเพลงใต้ก็น่าสนใจ นั่นแหละคือข้อดีของประเทศเรา เรียกว่าวัฒนธรรมดนตรีของเรามีค่อนข้างเยอะและมีความหลากหลาย ก็เลยทำให้กลายเป็นเสน่ห์ของบ้านเรา ซึ่งนี่แหละที่ควรจะเป็นจุดขาย” จิรัฏฐ์ชี้

คนไทยกับการไปเฟสติวัล 

แม้งานเฟสติวัลในเมืองไทยจะมีให้เลือกหลายงาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่คุ้นเคยกับงานรูปแบบนี้ ซึ่งจิรัฏฐ์มองว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนไทยกับการไปร่วมงานเฟสติวัลคือค่าใช้จ่าย ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการไปร่วมงานเฟสติวัลสักครั้ง จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก  

“งานเฟสติวัลก็ไม่ใช่วัฒนธรรมของคนไทยสักทีเดียว ซึ่งผมว่ามันต้องใช้เวลาที่จะให้คนไทยได้ทำความรู้จัก ให้เขาได้สัมผัส เพียงแต่ว่างานเฟสติวัลส่วนใหญ่ต้องใช้เงินในการเข้าร่วม มันต้องมีค่าบัตร ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นกำแพงสำหรับบางคน แล้วก็เรื่องค่าใช้จ่าย เพราะต่อให้บัตรเข้างานเฟสติวัลจะมีราคาไม่แพง แต่การใช้ชีวิตในนั้นก็จำเป็นต้องเดินทาง ต้องพัก ต้องกิน ต้องดื่ม ซึ่งทั้งหมดล้วนมีค่าใช้จ่าย” 

เมื่อถามว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้การไปงานเฟสติวัลมีราคาที่ต้องจ่ายสูง จิรัฏฐ์ชี้ว่า ผู้จัดงานจำเป็นต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งค่าศิลปิน ที่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลศิลปินและทีมงานที่จะมาขึ้นเวทีแสดง ค่าสถานที่ ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ร่วมงาน และการรังสรรค์พื้นที่งานเฟสติวัลให้สวยงาม นอกจากนี้ยังมีมีปัจจัยเรื่องราคาอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่งานที่สูงกว่าข้างนอกอีกด้วย  

“การกระจายของรูปแบบคอนเทนต์ก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้งานเฟสติวัลเข้าไม่ถึงคนทุกกลุ่ม อย่างวัยรุ่นไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีงานที่เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นหลายงาน แต่มันยังไม่มีงานสำหรับผู้ใหญ่ หรืองานสำหรับครอบครัว ซึ่งกลายเป็นว่าคนกลุ่มเดิม ๆ เท่านั้นที่จะไปงานเฟสติวัล อย่างไรก็ตาม ผมไม่อยากใช้คำว่าคนไทยยังเข้าไม่ถึงงานเฟสติวัล แต่มันอาจจะต้องใช้เวลาหน่อย ซึ่งมันเริ่มดีขึ้นแล้ว หลัง ๆ ก็มีช่องทางเข้าถึงข่าวสารได้ง่ายขึ้น แต่เรามีข้อจำกัดในเรื่องของเวลางานชนกัน ซึ่งถ้าเราวางแผนดี ๆ เราจะจัดงานได้ทั้งปี การเข้าถึงของคนจะไม่กระจุก แล้วจะทำให้เฟสติวัลมีความหลากหลาย คนจับต้องได้ และเข้าถึงคนได้มากกว่า”  

ความช่วยเหลือจากภาครัฐ​

งานเฟสติวัลเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้แวะเวียนมาประเทศไทย แต่จิรัฏฐ์ก็สะท้อนว่าการช่วยเหลือจากทางภาครัฐยังมี “ไม่มาก” เท่าที่ควรจะเป็น 

“พูดได้เลยว่าน้อย คือภาครัฐอาจจะสนับสนุนเรื่องเล็ก ๆ วนอยู่กับเรื่องการเก็บขยะ สนับสนุนเล็กน้อย หรือให้องค์ท้องถิ่นมาร่วมมือ แต่เรายังไม่เห็นภาพรวมใหญ่ ๆ เลย คือมันมองเห็นแหละว่าเป็นความร่วมมือของหลายองค์กร แต่ว่าเราก็วนกันเอง คนไทยใช้เงินกันเองประมาณนี้ แต่เรายังไม่เห็นว่าจะเอาดึงดูดคนจากข้างนอกได้อย่างไร” 

จิรัฏฐ์มองว่า ความช่วยเหลือสำคัญจากภาครัฐคือ การกระจายข่าวงานเฟสติวัลของผู้จัดคนไทยให้ไปถึงชาวต่างชาติให้ได้มากที่สุด พร้อมจัดโปรโมชั่นเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาลองสัมผัสประสบการณ์งานเฟสติวัลในไทย ที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่นเดียวกับการให้เงินสนับสนุนการจัดงานเฟสติวัล เพราะถ้ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมงาน จะช่วยสร้างการใช้จ่ายให้กับทั้งงานเฟสติวัล และพื้นที่โดยรอบได้อย่างแน่นอน 

“ทำทุกอย่างให้เป็นระบบ เพราะทุกวันนี้ภาคเอกชนต้องดิ้นรนกันเอง ถ้าภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ มันก็จะเป็นการผู้ประกอบการ ผู้จัดงาน แล้วก็ลดต้นทุนบางส่วนให้กับพวกเขา โปรโมชั่นของงานจะช่วยดึงดูดคนที่ชื่นชอบงานแบบนี้ได้ไม่ยาก แล้วงานพวกนี้ ทางภาครัฐก็เรียกว่าคุยกันเลยว่าแต่ละงานเป็นยังไง แล้วก็ทำการประชาสัมพันธ์ออกไปให้ชาวต่างชาติได้เห็นว่า เมืองไทยมีเฟสติวัลแบบนี้นะ แม้ว่างานเฟสติวัลของเราจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าประเทศอื่น ๆ แต่เรามีงานให้เลือกเยอะและหลากหลาย ถ้าเราทำแบบนี้ได้ ผมว่าโอกาสที่เฟสติวัลของเมืองไทยจะเติบโตหรือขยายตัวออกไปก็จะมีเยอะมาก” จิรัฏฐ์กล่าว 

ลงเล บีช ไลฟ์ เฟสติวัล

มาถึงงาน “ลงเล บีช ไลฟ์ เฟสติวัล (Longlay Beach Life Festival)” ที่ปีนี้ถือเป็นปีที่ 3 ของงเฟสติวัลสำหรับผู้รักทะเลแล้ว โดยจิรัฏฐ์เล่าว่า เขาไม่อยากเรียกเฟสติวัลนี้ว่ามิวสิคเฟสติวัล แต่เขาอยากทำให้เป็นเฟสติวัลที่แสดงถึงไลฟ์สไตล์ริมชายหาด ที่มีทั้งการแสดงดนตรี มีพื้นที่ให้สนุกสนาน เช่นเดียวกับพื้นที่ให้ได้สัมผัสกับความสงบของชายหาดริมทะเล 

“เฟสติวัลไม่จำเป็นต้องเป็นมิวสิคเฟสติวัลอย่างเดียว ดังนั้น ลงเลจึงเป็นไลฟ์เฟสติวัล ที่ผมพยายามเอาสิ่งที่หลายคนชอบไปอยู่ริมทะเล แล้วผมรู้สึกว่าประเทศเรามีหาดเยอะมาก แต่มีไม่กี่หาดเองที่โด่งดังและเป็นที่รู้จัก ผมเลยอยากจะสร้างคุณค่าให้กับหาดอื่น ๆ ด้วยการใช้วัฒนธรรมเข้ามาปลุกปั้น ซึ่งเราก็พิสูจน์มาแล้วสองครั้งว่าหาดที่ไม่ดังมันสามารถคึกคักได้ ชาวบ้านคึกคัก ที่พักโอเค ทุกอย่างดีขึ้น คนรู้จักถนนสายนั้น ๆ มากขึ้น ฟีดแบคก็ดีขึ้น” 

“ผมไม่อยากบอกว่าผมทำเพื่อสังคม แต่สิ่งที่ผมทำ คือผมไม่ได้อยากทำงานเฟสติวัลอย่างเดียว แต่ผมอยากพัฒนาพื้นที่หาด หาดตรงไหนยังไม่เป็นที่รู้จัก หรือยังเงียบ ๆ อยู่ ผมก็อยากไปทำ ให้มันเป็นสมบัติกับสังคมและชาวบ้าน แล้วผมก็จะบ้านหาดไปเรื่อย ๆ นั่นแหละคือวัตถุประสงค์ของผม” จิรัฏฐ์กล่าวทิ้งท้าย 

ลงเล บีช ไลฟ์ เฟสติวัล (Longlay Beach Life Festival) ครั้งที่ 3 จัดขึ้นในวันที่ 3 - 4 ธันวาคม 2565 ณ Diamond Beach อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี (หาดบางเก่า)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook