พูดคุยกับ TRYST ถึงชีวิตบนดินแต่ไม่ทิ้งจิตวิญญาณร็อคอันจริงใจ | Sanook Music

พูดคุยกับ TRYST ถึงชีวิตบนดินแต่ไม่ทิ้งจิตวิญญาณร็อคอันจริงใจ

พูดคุยกับ TRYST ถึงชีวิตบนดินแต่ไม่ทิ้งจิตวิญญาณร็อคอันจริงใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ผ่านมาแม้ว่าเทรนด์วงการเพลงร็อคอาจไม่ได้หวือหวาเหมือนในช่วงยุค 2000 และ 2010 ตอนต้น แต่ค่าย genie records และ Gene Lab ก็ยังคงเสิร์ฟความร็อคผ่านเพลงและศิลปินใหม่แบบไม่ให้คนฟังได้พัก และหนึ่งในนั้นคือ TRYST ของ 3 หนุ่ม อาร์ท-ทวีทรัพย์ อาจอำนวย (ร้องนำ), โฟล์ค-วัชระ วิลาทอง (กีต้าร์ / ซินธ์) และ นุ๊ก-ธนพงษ์ โชติช่วง (กลอง) วงร็อคที่กลายร่างจากกลุ่มศิลปินใต้ดินเป็นวงดนตรีในค่ายใหญ่ที่มาพร้อมเพลงเดือดและเต็มไปด้วยอารมณ์

แม้จะมีภาพจำจากความเดือด แต่ TRYST ได้พยายามสื่อสารกับคนฟังหลากหลายรูปแบบจนมีเพลงหลายแนวทั้งเจ็บปวดถึงให้กำลังใจ และล่าสุดก็มากับเพลง "DON'T CRY" เพลงที่มาพร้อมมู้ดกับโทนให้กำลังใจ กับลุคใหม่ที่ฉีกจากภาพวงแนวดาร์ค จนเราต้องขอคุยกับพวกเขาเรื่องการทำงานครั้งนี้ และจุดเริ่มต้นที่เรียบง่ายกว่าที่เราคิดไว้มาก

จุดเริ่มต้นที่เรียบง่ายของความร็อคที่หลากหลาย

แม้จะมีภาพลักษณ์ที่ดูดาร์ค และลึกลับ แต่วง TRYST ถือได้ว่าเป็นวงที่มีจุดเริ่มต้นที่เรียบง่าย อย่างการแลกเปลี่ยนเดโม่จากคำกล่าวของอาร์ท ขณะที่ชื่อวงนั้น ก็มาจากความที่พวกเขาอยากได้ชื่อที่ง่ายและฟ้อนท์ดูสวยแบบไม่ได้ซับซ้อน

"พวกเราเริ่มจาก Underground และตามงานต่างๆ พอผมพักวงแรกไป ก็ไปเจอกับโฟล์คมือกีตาร์และแลกเดโม่กัน พอฟังก็มองว่าน่าสนใจก็เริ่มทำเพลงกัน ก็ได้เพลง “ALIVE” มันก็เป็นโมเดิร์นร็อคที่ผสมผสานหลายอย่าง อิเล็กทรอนิกส์ ป็อป พอมาถึงเพลงล่าสุดก็ฟีลกู้ดสนุกสนาน วงเรามีหลายสีมาก แต่ในสีเหล่านั้นเราก็นิยามตัวเองว่าเป็นร็อค" 

ส่วนที่มาของ ชื่อวงที่เราตั้งคำถามมานาน โฟล์คกลับมาพร้อมบทสรุปที่ทำให้เราแปลกใจ "อยากได้ชื่อว่าพยางค์เดียวเรียกง่ายๆ ถ้าถามว่าทำไมถึงต้องเป็นชื่อนี้ ก็เอาง่ายๆ คือฟ้อนท์มันสมมาตรดีครับ"

โฟล์ค TRYSTโฟล์ค TRYST

จากวงใต้ดินสู่บ้าน Gene Lab

นอกจากจุดเริ่มต้นจะเรียบง่ายแล้ว เรื่องราวการเข้าค่าย Gene Lab ของ TRYST ก็ไม่ได้มีความหวือหวา เพราะจากคำเล่าของอาร์ท นักร้องนำ พวกเขามาด้วยความเป็นตัวเองและส่งเดโม่เป็นวงท้ายๆ แต่ในที่สุดตัวตนของพวกเขาเอาชนะใจ  โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ ผู้บริหารค่ายได้ 

"มันเป็น GMM Audition ครับ พวกเราทำเพลงแรกเสร็จแล้วมีรายการนี้เข้ามา ก็ส่งไป 2-3 วันสุดท้ายก็ติด และได้ไปออดิชั่นที่ Central World Live ก็ติดเข้ามาแบบงงๆ เหมือนกัน พี่โอมก็บอกเชื่อในเรา ทัศนคติของเรา เชื่อในดนตรี"

ส่วนการทำงานในพาร์ทกับค่ายที่วงได้รับความช่วยเหลืออย่างดี โฟล์คได้เผยว่า "เรื่องการจัดการ อย่างเช่นกฎหมายลิขสิทธิ์ใดๆ ที่นอกจากการทำเพลง มันไม่ใช่สิ่งที่ไม่ชอบ แต่ไม่ถนัดมากกว่า ก็ได้ค่ายมาช่วยครับ ช่วยได้เยอะเลย" 

อาร์ท TRYSTอาร์ท TRYST

"DON'T CRY" = เดโม่ที่อยู่มานานภายใต้การดูแลของร็อคสตาร์ตัวพ่อ

สำหรับเพลง "DON'T CRY" นั้นเป็นผลงานที่มีสตอรี่น่าสนใจ เพราะนี่คือเดโม่ที่วงเก็บไว้นาน และในวันที่เอามาใช้ก็ได้ เต๋า-ดุลยเกียรติ เลิศสุวรรณกุล นักร้องนำวง Sweet Mullet มาช่วยโปรดิวซ์ และ พะแพง-พิมนันท์ ตันติโกสิตรัตน์ ศิษย์เก่ารายการ Academy Fantasia มาร้องคอรัส ซึ่งอาร์ทได้เผยว่านี่คือการประเดิมบทบาทโปรดิวเซอร์ของเต๋าหลังอยู่วงการมาเกือบ 20 ปี 

"เราทำเดโม่มาเรื่อยๆ ก็มองว่ามันถึงเวลาที่จะเอาเพลงนี้มาใช้ เพราะมันฟีลกู้ด และเหมาะกับระยะเวลาที่วงทำมาเรื่อยๆ และตอนนี้ก็ช่วงปลายปี การทำงานก็ไม่ต่างจากเดโม่ที่ผ่านมา แต่เพลงนี้จะได้พี่เต๋า Sweet Mullet มาเป็นโปรดิวเซอร์ พี่พะแพง AF ก็มาเป็นคอรัสเสียงประสานในเพลงนี้ ทำให้เพลงนี้ตอบรับทั้งผู้ชายและหญิงในตัวเดียวกัน ผมรู้จักพี่เต๋ามาตั้งแต่เล่น Underground ก็แบบ “เพลงนี้พี่ต้องมาแล้วแหละ” และเราปรึกษาเขามาตลอด ก็มันถึงเวลาแล้ว พี่เต๋าไม่เคยเป็นโปรดิวเซอร์มาก่อน เขาไม่คิดว่าเขาจะเป็นได้ ก็มาถึงเวลาพี่เต๋าก็มาดูวงมากขึ้น"

ส่วนลุคของวงที่คอสตูมสีสันมากขึ้น อาร์ตได้เล่าว่า "จริงๆ พวกเรามาใส่ชุดดำมาตลอดชีวิต เสื้อสีดำก็เต็มตู้ แต่ถึงจุดหนึ่งทำไมวงร็อคต้องมีสีดำ ทำไมไม่มีสีอื่น โอเคมันมีสีดำอยู่แล้ว นิสัยก็สีดำอยู่แล้ว (หัวเราะ) ยุคนี้ทำอะไรทำเถอะ ไม่ต้องแคร์สีแล้ว แฟชั่นไม่ต้องจำกัดเลย"

ความเดือดและจริงใจแบบฉบับ TRYST

สำหรับเราแล้ว ซีนที่ทำให้เราประทับใจกับวง TRYST คือตอนที่พวกเขาขึ้นเวที Gene Lab Con ที่มากับความเดือดทั้งพาร์ทดนตรี การร้อง และการว๊ากที่เต็มไปด้วยอารมณ์ โดยอาร์ทเผยว่าวงได้ขึ้นแสดงด้วยแนวคิดที่โฟกัสกับความจริงใจเป็นหลัก

"เราพยายามสื่อสารให้จริงใจกับผู้คนที่ไม่ได้รู้จักเรา เพราะวันนั้นฐานแฟนเราไม่ได้เยอะ เราต้องทำอย่างไรให้ออกไปแล้วและเต็มที่กับคนที่ไม่รู้จักเรา จะแนะนำตัวอย่างไร แต่จริงๆ ไม่ได้ซับซ้อน ก็เอาความจริงใจจากเพลงที่เราทำไปให้เขา วันนั้นก็สนุกมาก" 

ด้วยความที่วง TRYST นั้น อาร์ทได้ใช้การว๊ากด้วยช่องเสียงที่ต่างจากการร้องปกติ เขาได้เผยเกี่ยวกับการจัดการตัวเองว่า "ก็ต้องนอนพักผ่อน และผมเล่นดนตรีกลางคืนเป็นหลักระหว่างทำเพลง ก็ต้องพัก พอมีวันงานคือต้องพักเลยครับ" 

นุ๊ก TRYSTนุ๊ก TRYST

"หากฉันรู้มาก่อน" เพลงที่พวกเขารักและอยากฝากให้ทุกคนฟัง 

พอพูดถึงผลงานปัจจุบัน ทางเราได้สอบถามเรื่องผลงานที่พวกเขาชอบตั้งแต่ทำซิงเกิลในบ้าน Gene Lab ซึ่งเราก็ไม่แปลกใจเมื่อนุ๊กเผยว่าเพลง "หากฉันรู้มาก่อน" เป็นเพลงโปรด เช่นเดียวกับอาร์ทที่ตั้งใจทำผลงานนี้ออกมา 

"ผมชอบ “ฉันรู้มาก่อน” มาสื่อสารกินใจ การที่เราสื่อสารมันได้อิมแพ็คกลับมา ผมเข้าไปดูคอมเมนต์ใน YouTube มันตรงกับสิ่งที่เราคิดไว้ คือเราคิดถึงคนที่อาจอยู่ หรือไม่อยู่ ไม่ได้มีแค่ความรัก แต่อาจจะเป็นพ่อแม่ปู ย่า ตา ยาย" ส่วนอาร์ตก็เสริมว่า "เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่เราเขียนถึงครอบครัวจริงจัง ผมได้บอกอะไรในเนื้อเพลงไปหลายอย่าง คล้ายๆ ว่าถ้าตายไปก็อยากฝากเพลงนี้ไว้ครับ แต่ตอนนี้ยังอยู่ (หัวเราะ)" 

คำแนะนำถึงศิลปินร็อคใต้ดินและก้าวต่อไปของ TRYST

เป็นธรรมเนียมที่ทุกการสัมภาษณ์ เราจะพูดคุยถึงเพื่อนร่วมวงการและผลงานต่อไป ซึ่งอาร์ทได้ฝากแนวคิดว่าการอยู่ค่ายใหญ่ก็ไม่ใช่กุญแจสู่ความสำเร็จหนึ่งเดียว แต่สไตล์และตัวตนที่ชัดเจนคือสิ่งที่จะทำให้ศิลปินประสบความสำเร็จ

"ยุคนี้ทุกคนสามารถขึ้นมาได้หมด อินดี้ อันเดอร์กราวด์ ถ้าเจอช่องตัวเอง เราอยู่ค่ายใหญ่ก็ไม่ได้ง่าย คือถ้าใครอินดี้และจับทางได้ ก็สามารถมีแฟนเพลงได้หมด คืออันเดอร์กราวด์มันกว้างกว่าแต่ก่อน มันพรีเซนต์อะไรได้อีกมาก"

และในช่วงท้ายการพูดคุย อาร์ทได้ทิ้งท้ายเกี่ยวกับการทำงานต่อไปว่า "คิดว่าน่าจะได้เห็นความแตกต่างขึ้นไปอีก ก็จะเห็นความเป็นร็อค แต่ทำยังไงให้คนที่มาดูเราได้เห็นอะไรมากขึ้น จากความชอบของเรา ลองดูว่าจะเป็นแบบไหน สนุกแน่นอน" 

Photo By Ditsapong K. 

 

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ พูดคุยกับ TRYST ถึงชีวิตบนดินแต่ไม่ทิ้งจิตวิญญาณร็อคอันจริงใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook