ศิลปินร้อยล้านวิว "หนิง ไอลีน" เล่าประสบการณ์เลวร้าย ครูคุกคามทางเพศ ผู้ชายต่อยหน้าบวม | Sanook Music

ศิลปินร้อยล้านวิว "หนิง ไอลีน" เล่าประสบการณ์เลวร้าย ครูคุกคามทางเพศ ผู้ชายต่อยหน้าบวม

ศิลปินร้อยล้านวิว "หนิง ไอลีน" เล่าประสบการณ์เลวร้าย ครูคุกคามทางเพศ ผู้ชายต่อยหน้าบวม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"อีทอม อีผิดเพศ ผิดมนุษย์ ผิดธรรมชาติ"
"ฉิ่งกับฉิ่ง"
"หน้าตาไม่ดี ยังเป็น LGBTQ อีกเหรอ"
"อยากเปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ"

"หนิง ไอลีน" นักร้องสาวเท่ ค่ายไทดอลมิวสิค ดีกรีดาว TikTok ที่ปล่อยเพลง "เขาคือมีใหม่ไวแท้" ออกมาเป็นผลงานล่าสุด ได้ "ชาล็อต ออสติน" รองอันดับ 5 มิสแกรนด์ ไทยแลนด์ มาเล่นเอ็มวีร่วมกัน ถ่ายทอดความรักที่โดนหักหลัง และผิดหวัง บอกที่กล่าวมาข้างต้น คือ สารพัดคำบูลลี่ที่เธอต้องเผชิญ หลังจาก Come Out แสดงจุดยืนหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกกันว่ากลุ่ม LGBTQ

นักร้องวัย 29 ปี พื้นเพเป็นคนนครสววรค์ มาปักหลักที่ขอนแก่น ร้องเพลงดังร้อยล้านวิว เพลง "ฮัก ฮัก ฮัก" ก่อนย้ายมาเป็นศิลปินในตึกแกรมมี่ ให้สัมภาษณ์กับ Sanook.com ที่ผ่านมา ไม่ว่าเธอทำคอนเท้นต์หรือทำคลิป ลงโซเชียลของตัวเอง จะมีคนบางจำพวกคอยบูลลี่เธออยู่ตลอด แม้ในสังคมเปิด LGBTQ ยังถูกเหยียดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ไม่ทำให้ถอดใจ เพราะคิดเสมอว่าคนเราเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีใครควรดูถูกคนอื่น และไม่ควรให้ราคาหรือสนใจคำบูลลี่

* ไม่รอดบูลลี่เล่นเอ็มวีประกบ "ชาล็อต"

ที่ถ่ายทำเอ็มวีกับน้องชาล็อต เป็นเพลงเศร้า ถ่ายทอดอารมณ์เราอกหัก เขาเลิกกับเราก็เปิดตัวคนใหม่เลย เหมือนเขามีสำรองไว้อยู่แล้ว วันที่เขาไปเราก็เสียใจร้องไห้ฟูมฟาย เมื่อวานนี้เธอกับฉันยังรักกันอยู่เลย แต่วันนี้ทำไมเธอไปกับอีกคนแล้ว ในเอ็มวีถ่ายเรื่องราวความรักของผู้หญิงกับผู้หญิง คือ ด้วยส่วนตัวของหนิงเป็น LGBTQ ก็เลยถ่ายทอดเป็นตัวเอง และเป็นตัวแทนของกลุ่ม LGBTQ เลสเบี้ยน ให้เข้าถึงอารมณ์ว่า ไม่ว่าจะเพศใดก็มีอารมณ์ด้านความรักเหมือนกัน ทั้งอินเลิฟ และอกหัก เป็นเรื่องจริงของตัวเองด้วย

ไม่รู้ว่าคนอื่นจะเป็นยังไง แต่ว่าตัวของหนิงเป็นแบบนี้ตั้งแต่เด็กแล้ว ชอบผู้หญิง ส่วนตัวหนูไม่ได้มองว่า ความรักมันเกิดขึ้นได้เฉพาะเพศหญิงกับเพศชาย ระหว่างถ่ายทำก็มีคุยเล่นเหมือนเพื่อนกันเลย รู้สึกดีเป็นกันเอง ขนาดถ่ายเอ็มวีกับน้องก็ยังโดนบูลลี่ว่าคิดจริงใช่ไหม รู้สึกกับน้องๆ จริงๆ ฉวยโอกาส ทั้งๆ ที่การทำงานตรงนั้นเราเพียงแค่ต้องการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านลงไปในเอ็มวีให้ได้อารมณ์เท่านั้น

* ที่ผ่านมาโดนบูลลี่ตลอด

มีหลายด้านมากเลยค่ะ แสดงท่าทีรังเกียจบ้าง ที่เราชอบผู้หญิง อย่ามาใกล้ฉันนะ ฉันไม่อยากให้เธอชอบฉันประมาณนี้ บางคนก็บอกว่า หน้าตาไม่ดีแล้วยังเป็น LGBTQ อีกหรอ บางคนก็จะเรียกแบบ ขออนุญาตพูดคำหยาบนะคะ อีทอม อีผิดเพศ ผิดมนุษย์ ผิดธรรมชาติ เกิดมาเป็นแบบนี้่ มีคำถามตั้งขึ้นมาว่า เป็นไปได้เหรอ ผู้หญิงกับผู้หญิง และจะมีคำบูลลี่อย่างเช่น ขอโทษนะคะ ฉิ่งกับฉิ่ง แต่คือคนที่เขาเป็น LGBTQ เขาไม่ได้คิดถึงเรื่องเฉพาะเรื่องแบบนั้น เขานึกถึงเรื่องคบกันแล้วสบายใจ

* ข้างนอกไม่เข้าใจ เจ็บไม่เท่าที่บ้านไม่ยอมรับ

ตอนขึ้นมหาวิทยาลัย พาแฟนที่เป็นผู้หญิงเข้าบ้าน แม่ก็รับไม่ได้ ที่บ้านไม่เคยรับได้ เราเลือกเกิดไม่ได้ เราเป็นแบบนี้ไปแล้ว เป็นเพราะเราฝังใจเห็นคุณพ่อใช้ความรุนแรงกับคุณแม่ตั้งแต่เด็ก ตีคุณแม่เลือดอาบ ภาพนั้นอยู่ในหัวเรื่อยมา ก็อยากให้เขาเข้าใจเรามากกว่า ไม่โฟกัสที่เรื่องความรัก หรือเป็น LGBTQ โฟกัสว่าเราก็เป็นลูกคนหนึ่ง อยากทำงานอยากเลี้ยงดูครอบครัว

คนข้างนอกเขาไม่เข้าใจ เราเข้าใจ แต่คนในบ้านไม่เข้าใจ เหยียดเรา ยิ่งเสียใจเพราะเราเขาใจว่าบ้านของเราคือเซฟโซน แต่เเราก็ไม่ได้เข้าใจว่า บ้านอาจจะไม่ใช่เซฟโซนของเราเสมอไปก็ได้ เราจะคาดหวังให้เขาเข้าใจทุกเรื่องก็คงจะเป็นไปไม่ได้ มันก็จะเจ็บตรงที่คำเหล่านี้เป็นคำของที่บ้านด้วย มันเหมือนเขากับเราอยู่ในโลกคนละใบ จะให้เขายอมรับเรายากมาก เกิดมาเป็นแบบนี้ มีความรู้สึกแบบนี้ รู้สึกดีกับผู้หญิง มันไม่ได้เหมือนเราเป็นไข้กินยาแล้วก็หาย มันเลือกไม่ได้ว่าเราจะรู้สึกกับใคร

* ประสบการณ์เลวร้ายครูคุกคามทางเพศ ผู้ชายต่อยหน้าบวม

ช่วง ป.3 ป.4 และม.ต้น โดนครูผู้ชายลวนลาม เขาให้ทำงานกลับช้ากว่าเพื่อน โดนจับโน่นจับนี่ ก็จะเอาตัวรอดด้วยการบอกว่า หนูกลับก่อนนะคะแม่หนูตามหาแล้ว ก็จะวิ่งออกมาเลย รู้สึกมันไม่ยุติธรรมกับผู้หญิง เขามาคุกคามรู้สึกไม่ปลอดภัย และก็ทำให้เรารู้สึกแย่ไปเลย ส่วนที่ดีของครูมีไหม มีค่ะ ครูมีน้ำใจ สอนเราดี แต่อีกมุมหนึ่งเหมือนเขาเป็นคนละคน ดีที่เราไหวตัวทัน และเอาตัวรอดมาได้ ป.3 ก็มีเพื่อนผู้ชายแซว ไอ้ทอมๆ แล้วก็มีมาต่อยเราเลย เจ็บหนัก หน้าบวม เป็นแผลในใจ บวกกับจำภาพพ่อตีแม่ปางตายเลือดอาบทำให้กลัวผู้ชาย

พอโตมาก็จะเจอแบบอยากเปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ ลองมากับพี่ไหมจะทำให้หาย กลับมาเป็นผู้หญิง รู้สึกถูกคุกคามด้วยคำพูด ทำไมต้องมาเหยียดเพศเราด้วย ความชอบของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน คนนี้ชอบกินข้าว อีกคนชอบกินก๋วยเตี๋ยว คนนี้อาจจะไม่ชอบกินน้ำอัดลม คนนี้ชอบ มันคือความชอบส่วนตัว เราจะไปยัดเยียดเธอกินน้ำอัดลมสิ เดี๋ยวเธอก็ต้องชอบไม่ได้ ถ้าเขาจะเปลี่ยนให้เขาเปลี่ยนด้วยตัวเอง

* ไม่หลอกตัวเอง ไม่โกหกคนอื่นดีกว่า

แม่ก็อยากให้แต่งงานมีลูก แต่หนูไม่สามารถโกหกความรู้สึกตัวเองได้ ถ้าหนูโกหกความรู้สึกตัวเอง เท่ากับหนูโกหกคนที่เขาจะมาอยู่กับหนู หรือผู้ชายคนที่เขาพร้อมจะมาใช้ชีวิตร่วมกัน แล้วต่อไปจะเป็นยังไง

* สังคมเปิดแต่ LGBTQ ยังถูกเหยียดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

บ้านเรายอมรับแต่เทคโนโลยี แต่ไม่ยอมรับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ทุกคนพยายามเรียกร้องสิทธิเท่าเทียม ความยุติธรรม ให้กับตัวเอง แต่ลืมให้ความยุติธรรมกับผู้อื่นด้วย ทุกคนตามหาความยุติธรรม แต่ลืมไปว่าหัวใจเรายังไม่เคยให้ความยุติธรรมกับผู้อื่นเลย กับกลุ่ม LGBTQ เลย

* ต่างมุมต่างความคิด ควรให้เกียรติ และเคารพสิทธิ

ถ้าหากทุกเพศทุกวัยเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน สังคมจะน่าอยู่มากขึ้น ต่างวัยต่างความคิดต่างสภาวะ ต่างความคิดเห็น อยู่คนละมุมมอง เราไม่เห็นหรอกว่ามุมของเขาเป็นอย่างไร เขาก็มองไม่เห็นว่ามุมของเราเป็นอย่างไร ไม่อยากให้ใครมาตัดสินแค่ว่า เห็นแค่ข้างหน้า รูปลักษณ์ก็ตัดสินว่าไม่ดี เพราะว่าโลกเรายังไม่มีอะไรแน่นอนเลย จะให้คนเราแน่นอนเป็นไปไม่ได้ อยากให้เคารพกัน

ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ผู้หญิง ผู้ชาย LGBTQ ทุกเพศ ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่ากัน คนเราชอบเรียนรู้วิทยาศาสตร์แต่ว่า ไม่ให้เกียรติวิทยาศาสตร์ตามธรรมชาติ อย่าเช่นเกิดมาเบี่ยงเบนทางเพศ อันนี้เป็นวิทยาศาสตร์ทางธรรมชาติ อยากให้เข้าใจว่ามันจะมีวิทยาศาสตร์ทางธรรมชาติ กับวิทยาศาสตร์ที่เราสร้างขึ้นมาเอง ทุกอย่างล้วนเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องรักกันก็ได้แต่ให้เกียรติกัน การให้เกียรติคือเราไม่ได้ตัดสินเขา แต่เราเข้าใจว่า สิ่งที่เขาเป็นนั่นคือตัวตนของเขา โลกของเราไม่ได้สวยงามทุกอย่าง ดอกไม้ไม่ได้มีกลิ่นหอมทุกดอก

* เพศวิถีไม่ได้บ่งชี้ดีหรือชั่ว

โลกเรามีอะไรที่ต้องโฟกัสมากมายกว่าเรื่องเพศ ความดีความชั่วไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เพศ อยู่ที่ตัวบุคคล และก็สังคมที่เขาอยู่ และความคิดที่เขาได้รับ สภาวะสังคมมีผลกับความคิดของคนด้วยนะคะ ถ้าหากอยู่ในสังคมที่ดีก็จะมีความคิดที่ดี อยู่กับคนที่มีพลังบวก เราก็ได้รับพลังบวก แต่ถ้าเราอยู่กับคนที่มีพลังลบ เราต้องได้รับพลังลบมาอย่างแน่นอน

ชีวิตของหนูติดลบ ต้องหาเงินเรียนเองตั้งแต่ประถมฯ หนูเป่าแคนเป็น ก็ไปเป่าแคนงานศพบ้างงานบวชบ้าง เพื่อหาเงินเป็นค่าเล่าเรียนยันมหาวิทยาลัย หนูเคยสอบติดแม่โจ้ คณะวิทยาศาสตร์ เคมีอุตสาหกรรม ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟตอนกลางคืนมาเรียนตอนกลางวันเรียนอยู่สองปี หาเงินไม่ไหว ก็ออกมาทำงานโรงงาน

ตอนทำงานโรงงาน ทำงานตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงตี 5 อีกวันหนึ่ง ปั่นจักรยาน 3 กิโลจากที่พักไปทำงานทุกวัน จนเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง เอามาเรียนรามฯ แต่หนูก็ไม่ได้รู้สึกว่า ลำบากกว่าคนอื่น เพราะหนูโฟกัสที่ตัวเองว่าไปไหวแค่ไหน ไหวแค่นี้ก็ไปแค่นี้ หนูเดินช้ากว่าคนอื่นมาก เพื่อนรุ่นเดียวกันเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว หนูยังไม่ได้เริ่มต้นเลย

ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ หนิง ไอลีน บอกด้วยว่า หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เธอเคยไปทำงานที่บ้านพักคนชรา ก่อนมาเป็นพนักงานบริษัท และมาเป็นนักร้องตามลำดับ

"ในบ้านพักคนชรา บางคนเป็นคนเร่ร่อน บางคนถูกลูกหลานทอดทิ้ง บางคนเคยมีหน้าที่การงานดี ทำงานต่างประเทศ กลับมาไม่เหลือใคร มาอยู่ที่บ้านพักคนชรา หนูก็ถามว่า อยู่ที่นี่มีความสุขดีไหม ได้คำตอบว่า อยู่เพื่อรอวันตาย"

เธอทิ้งท้ายการสัมภาษณ์ครั้งนี้ว่า ประสบการณ์จากการทำงานในบ้านพักคนชรา ทำให้เข้าใจสัจธรรมชีวิตว่า "คนเราใช้ชีวิต หายใจทุกวัน เพื่อรอวันตายวันเดียว" ดังนั้นเมื่อมีลมหายใจอยู่ จะโกรธกัน จะทะเลาะกัน รวมถึงบูลลี่กันไปทำไม ในเมื่อวันหนึ่งก็ต้องตายจากกัน "หันมาให้กำลังใจกัน ช่วยเหลือกัน สร้างเสริมพลังบวกให้กันและกัน น่าจะมีความสุขกว่าหรือเปล่า"

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ ศิลปินร้อยล้านวิว "หนิง ไอลีน" เล่าประสบการณ์เลวร้าย ครูคุกคามทางเพศ ผู้ชายต่อยหน้าบวม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook