คนพิการสร้างคนดัง "บอย" ธีระพงษ์ ศักดิ์แก้ว "ทุกคนมีคุณค่า ศรัทธาและลงมือทำ"
"ธีระพงษ์ ศักดิ์แก้ว" หรือที่คนในวงการเพลงลูกทุ่งเรียกกันว่า "อาจารย์บอย" ที่พิการโปลิโอทั้งสองข้าง นักเรียบเรียงเสียงประสาน ทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ และมิวสิคไดเรคเตอร์ ที่ ค่ายแกรมมี่ โกลด์ มานับสิบๆ ปี อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนักร้องลูกทุ่งขวัญใจหลายต่อหลายคน อาทิ ก๊อท-จักรพันธุ์ ครบุรีธีรโชติ, ไมค์ ภิรมย์พร, ศิริพร อำไพพงษ์, ต่าย อรทัย, ตั๊กแตน ชลดา เป็นต้น ให้สัมภาษณ์ทีมข่าว Sanook.com เล่าวิธีคิด และปฏิบัติ สามารถไปถึงเส้นชัย แม้สองขาไม่อาจก้าวเดิน
อาจารย์บอย พิการเป็นโปลิโอ มาตั้งแต่เด็ก ผลพวงมาจากเดินตกบันได มีไม้เท้าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย บอกว่า แม้เส้นทางจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ กว่าจะไปให้ถึงเส้นชัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ตั้งธงไว้ได้ ต้องใช้ความพยายามมากกว่า คนที่มีร่างกายปกติ แต่เขาไม่เคยดูถูกตัวเอง
ตรงกันข้ามเขาศรัทธาในตัวเอง และมีความเชื่อมั่นว่าทุกคนมีคุณค่า แม้ร่างกายไม่สมบูรณ์ แต่ก็ความสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนคนทั่วไป โดยเริ่มลงมือทำ เริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยใหญ่ขึ้น
"ร่างกายไม่สมบูรณ์ ตอนอายุประมาณ 2 ขวบ คุณแม่ทำงานในกรุงเทพฯ เอาไปฝากคุณยายเลี้ยง ที่จังหวัดสุรินทร์ เดินแล้วตกบันได ผ่านไประยะหนึ่ง ประมาณ 2-3 เดือน เริ่มไม่เดิน แล้วก็มีอาการขามันลีบลง โปลิโอมันกินขา"
"ผมเรียนในโรงเรียนสหปกตินะครับเรียนรวมทั้งผู้หญิงผู้ชาย สิ่งที่ต้องขวนขวายกว่าเพื่อนหน่อย ก็คือเราจะต้องทำให้ได้เท่าเพื่อน ไม่ว่าจะขึ้นบันได จะลงไปสนามกีฬา จะไปโรงอาหาร เราก็จะต้องทำให้ได้เท่าเพื่อน อาจจะช้ากว่านิดนึง แต่เราก็ใช้ความพยายามในการทำมัน"
"มันมีคำพูด คำพูดหนึ่งของพ่อนะครับ พ่อแม่ ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยเหลือตัวเอง ดูแลตัวเองให้ได้ตลอดชีพ อะไรที่มันจะต้องนำพาเราเดินไปข้างหน้าได้ เราจะต้องไม่ยี่หระกับมัน คำว่าท้อของผม มันน่าจะเป็นก้อนใหญ่ๆ ที่เราต้องฝ่ามันไปให้ได้"
"ในสิ่งที่ผมเนี่ย มันจะหักล้างกับคำว่าท้อ ไปทีละขั้นๆ ทีละขั้นๆ อะไรที่เราไม่รู้ หรืออะไรที่ทำให้บั่นทอนหัวใจ มันต้องเอาชนะตัวนั้นให้ได้ อย่างเช่น เราไม่สมประกอบ เราทำยังไง เราจะเดินขึ้นตึกชั้น 3 ได้ เห็นเพื่อนขับรถไปโน่นมานี่ได้ ผมก็ต้องเรียนรู้ ผมก็ต้องพยายาม"
"เราอาจจะต้องพยายามมากกว่าคนอื่น แต่ถ้าเราไม่ทำเลย เราจะไม่ได้เลย แต่ถ้าเราเริ่มทำ เราก็จะเริ่มรู้ไปทีละนิด และเราก็จะลด ปมด้อยแต่ละอย่างออกไป ความท้อแต่ละอย่าง ถ้าเราหยิบมันได้ ความท้อเรื่องนี้มันก็จบไป มันอาจจะไปเจอเรื่องอื่น เราก็ใช้วิธีเดียวกัน ที่มันจะช่วยเหลือตัวเราเองได้"
อาจารย์บอย เล่าเส้นทาง ก่อนมามีส่วนสร้างความสำเร็จให้กับนักร้องขวัญใจมหาชนว่า มีจุดเริ่มต้นมาจาก มีใจรักดนตรี และพยายามฝึกฝนเครื่องดนตรีทุกชนิด เรียนรู้และไม่หยุดพัฒนาตัวเองต่อเนื่อง เพื่อเพิมพูนขีดความสามารถ สร้างโอกาสให้ตนเองมีงานทำ หารายได้เลี้ยงชีพ อยู่ในสังคมได้ โดยไม่ต้องเป็นภาระผู้อื่น
"พอเราเรียนหนังสือเสร็จ เราก็ไปหาเล่นดนตรีไปอะไร ตะลอนชีวิตตัวเองไปต่างจังหวัด สมัยก่อนเขาเรียกหนีออกจากบ้าน โดยที่เราไม่รู้เลยว่า จุดหมายเราเนี่ยมันจะยังไง แต่มันออกไปแล้ว แล้วเราจะกลับบ้านแบบไหนวะ จะกลับไปให้พ่อแม่เลี้ยงเหรอ หรือยังไง"
"มันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจว่า เฮ้ยเราต้องมี วิชามีอาชีพ สิ่งที่ผมเดินทางมาในสายนี้ ก็คือเราก็ไปเรียนรู้ อะไรที่เราไม่รู้ เราเรียนรู้เราเติมศาสตร์ทางด้านดนตรี ศาสตร์ทางด้านวิธีคิดต่างๆ และก็ศาสตร์ของการดำเนินชีวิตด้วยนะครับ เพื่อที่เราจะไม่ต้องเป็นภาระใคร ไม่ว่าเราจะทำงานหาเงินได้อย่างไร เราจะพาตัวเองเคลื่อนที่แต่ละที่ ไปได้อย่างไร ทำให้ชีวิตัวเองดีขึ้นได้อย่างไร"
"ผลงานที่ประสบความสำเร็จ ที่เด่นๆ ก็จะมี ดูแลดนตรีทำดนตรีให้ ตั๊กแตน ชลดา ก็คือเพลงไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้ เรียบเรียงเพลง กินข้าวหรือยัง เพลงสิเทน้อง ให้บอกแน เพลงซังได้ซังแล้วให้ ต่าย อรทัย เป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับ ครูสลา คุณวุฒิ ดูแลการผลิตให้ พี่ไมค์ ภิรมย์พร พี่ก๊อท จักรพันธ์ รวมทั้งพี่นาง ศิริพร"
อาจารย์บอย ทิ้งท้ายการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ว่า สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า "อยู่ในสังคมนี้ได้อย่างสง่างาม" คือ การยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน และคนรอบข้าง เกิดจากการเห็นคุณค่าในตัวเอง อันเป็นผลมาจากคำพูดของพ่อ ที่บอกว่า "พ่อแม่ ไม่ได้อยู่กับเราตลอด ต้องดูแลตนเองให้ได้ตลอดชีพ"
"ทุกวันนี้เพื่อนๆ ที่อยู่รอบๆ ตัว คิดว่าผมเป็นปกติ เพราะว่า ผมก็พยายามทำทุกเรื่องที่เขาทำ ไม่ให้เขามองว่าเราเป็นภาระสำหรับเขา การจะไปมาหาสู่ มาทำงานกับนักร้องเอย อะไรเอย ผมก็ใช้ วิถีชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป ไม่ได้มีความรู้สึกว่า เราทำไม่ได้ เราอย่าไปคิดก่อนว่าเราทำไม่ได้ เราต้องคิดว่าเราต้องทำให้ได้ มันถึงจะพาเราไปได้"
"มาจากบ้าน มาทำงาน ไปบริษัท ไปเจอลูกค้า ไปเจอนักร้อง ไปบ้านนักร้อง ไปนู่นนี่นั่น ไปประชุม ผมขับรถไปเองเสมอ คิดเสมอว่า ตัวเองเนี่ยต้องพึ่งตัวเอง ไม่ดูถูกตัวเอง เป็นที่พึ่งแห่งตน เพียงแค่นี้ ชีวิตเราก็มีคุณค่าแล้ว หลังจากตรงนั้นแล้ว เราจะทำยังไงให้คนอื่นเห็นคุณค่าเราด้วย ก็ต้องดูแลคนอื่นด้วย ดูแลสังคมด้วย นี่คือคุณค่าของคนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ครับ"
"ทุกวันนี้ผมฝึกเด็ก ที่จะเข้ามาทำงานแทน มันอาจจะช่วยชีวิตเขา ให้เป็นที่มีชื่อเสียง สามารถจะมีอาชีพติดตัวไปได้ อันนี้เป็นสังคมเล็กๆ ของผม ส่วนสังคมที่กว้างขึ้นมา ดูแลบริจาค เด็กที่ด้อยโอกาส หรือผู้ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้มากเท่าเรา ผมคิดเสมอว่า วันนี้เรายังดีกว่าคนอื่นอีกหลายคน ที่เขาอาจจะแย่กว่าเรา"
อัลบั้มภาพ 27 ภาพ