รีวิว THE STROKES LIVE IN BANGKOK 2023 ควร/ไม่ควร? ที่แฟนคลับขอขึ้นเวทีไปแจมกับวง
รีวิว THE STROKES LIVE IN BANGKOK 2023 ทั้งเรื่องเพลง สถานที่ คนดู เพอร์ฟอร์มานซ์ศิลปิน ไปจนถึงประเด็นร้อน แฟนเพลงขึ้นไปแจมบนเวที
วันที่ 20 ก.ค. 2023 เป็นวันที่ชาวบริทร็อครอคอย เพราะเป็นวันที่การรอคอยมาอย่างยาวนานมากกว่า 20 ปีได้สิ้นสุดลง The Strokes วงอินดี้บริทร็อคขวัญใจชาวไทยได้บินมาโฉบเล่นคอนเสิร์ตแถบประเทศฝั่งเอเชียกับเขาแล้ว และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเอเชียไม่กี่ประเทศที่พวกเขาเลือกมาเล่น กราบขอบคุณ VIJI Corp ผู้จัดงามๆ ที่ไปลากพวกเขามาได้
เห็นหลายคนเรียกว่า THE STROKES LIVE IN BANGKOK 2023 เหมือนเป็นงานเลี้ยงรวมรุ่น เราเห็นด้วยตามนั้น ไม่ว่าจะรุ่น 40+ 30+ หรือ 20+ ก็พร้อมใจมาเจอกันที่งานนี้โดยนัดหมายบ้าง ไม่ได้นัดหมายบ้าง ขึ้นชื่อว่าเป็น The Strokes คอดนตรีไม่อยากพลาด เพราะถ้าพลาดรอบนี้ก็ไม่รู้ว่าต้องรออีกนานแค่ไหนกว่าจะได้ดูอีก รอนานพอๆ กับ Arctic Monkeys
หลังจากเมามันไปกับ opening act อย่าง Promiseland ที่พี่เขามาคนเดียวมันคนเดียวแต่คนดูก็ชอบใจ แถมยังดื่มเบียร์จากแฟนๆ เอาเสื้อตัวเองเช็ดพื้นแล้วบอกว่า "ไม่อยากให้ The Strokes ลื่นล้ม" แล้ว ก็เข้าสู่ช่วงของ The Strokes ที่ขึ้นเวทีเวลา 21.00 น. กว่าๆ ไม่เลทมากนัก
เซ็ตลิสต์เพลงในคอนเสิร์ต
นับว่าเป็นความโชคดีของแฟนๆ ชาวไทย ที่หลายคนชอบเพลงยุคอัลบั้มแรกๆ และวงเลือกที่จะเล่นวงในอัลบั้มเก่าๆ ค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่เพลงแรก “The Modern Age” โซนยืนโดดกันตั้งแต่เพลงแรกเลย ภาพหน้าปกอัลบั้ม Is This It ลอยเข้ามาในความทรงจำ ไม่น่าเชื่อว่าพวกเรากำลังจะได้ชม The Strokes เล่นสดกันต่อหน้าจริงๆ แล้ว หรือว่าจะเป็น “Someday”, “You Only Live Once”, “Barely Legal”, “Juicebox”, “Red Light”, “Is This It” และ “Soma” ออกมากี่เพลงแฟนๆ ชาวไทยก็ร้องตามหรือคลอเสียงกีตาร์ตามกันได้หมด
The Strokes เล่นเพลงเก่าสลับเพลงใหม่ เพลงที่หลายคนก็ชอบอย่าง “Bad Decisions”, “The Adults Are Talking” ก็มาด้วยเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นอัลบั้มเก่าๆ มากกว่า
นอกจากนี้ยังมีเซอร์ไพรส์เพลงที่เพิ่มมาจากเซ็ตลิสต์ที่ฮ่องกงที่พวกเขาเพิ่งไปเล่นมาอย่าง “Life Is Simple In The Moonlight” และ “Welcome To Japan” ด้วย เป็นความพิเศษที่แฟนๆ ชาวไทยปลื้มปริ่มไปตามๆ กัน ก่อนจะจบโชว์ด้วย “Hard to Explain”, “Automatic Stop” และเดือดๆ กับ “Reptilia” ถูกใจคอร็อคจนหยดสุดท้าย
ถึงแม้จะน่าเสียดายที่แอบได้ยินอินโทร “Call It Fate, Call It Karma” แล้วแต่ไม่ได้เล่น แล้วก็ยังมีหลายเพลงที่เราอยากฟัง ทั้ง “Under Cover of Darkness”, “Heart In a Cage”, “12:51” แต่ถือว่าเป็นเซ็ตลิสต์ที่ค่อนข้างโอเคและคุ้มค่ากับการรอคอยจริงๆ (เล่นเยอะกว่าในหลายๆ ประเทศที่ผ่านมาด้วย)
เพอร์ฟอร์มานซ์
พี่ Julian Casablancas ในความทรงจำของเราคือวัยรุ่นตัวผอมๆ หน้ามึนๆ แต่เวลาผ่านไป 20 กว่าปี พี่ Julian ในวัย 44 ปีมาในร่างที่ท้วมบึ้กเล็กน้อย และไม่เกรี้ยวกราดหรือทรงพลังเท่าช่วงวัยรุ่น แต่การเพอร์ฟอร์มของเขานับว่าดีในแบบมาตรฐานของวงในช่วงหลังๆ มานี้ ไม่ได้ดร็อปไปกว่าโชว์ที่อื่นๆ แต่อย่างใด ความเท่ความเก๋ายังอยู่ เสียงร้องเหมือนบ่นงืมงำอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาก็ยังคงอยู่เช่นกัน
เพื่อนๆ ในวงทั้งมือกีตาร์ Albert Hammond Jr. และ Nick Valensi, มือเบส Nikolai Fraiture และ Fabrizio Moretti มือกลอง ก็วาดลวดลายเล่นดนตรีแบบใส่ไม่ยั้งเหมือนกัน ไม่ได้ใช้พลังงานมากจนเหนื่อยหอบ แต่ก็เล่นได้แน่นและซาวด์ออกมาชัดเจน บวกกับการเล่นดนตรีแบบถอดออกมาจากเพลงออริจินอลเป๊ะๆ การได้ยินเสียงทุกคอร์ดทุกการดีดนิ้วเหมือนเพลงออริจินอลก็รับว่าเป็นคนฟินที่เพอร์เฟกต์ดีเหมือนกัน
พี่ Julian ไม่ได้ร้องอย่างเดียง แต่พูดคุยและทักทายคนดู บ่นๆ อะไรขอแกไปเรื่อยบ้างระหว่างโชว์ ก็ดูเป็นธรรมชาติดี “ขอบคุณครับ” จากปากพี่ Julian ก็ฟังดูน่าเอ็นดู และเขาเอ่ยปากชมแฟนๆ ชาวไทยที่ร้องเพลงตามพวกเขาได้ด้วย
แสง สี เสียง
เป็นอีกงานในจำนวนที่ไม่มาก ที่อาถรรพ์ธันเดอร์โดมทำอะไรพวกเขาไม่ได้ กราบ sound engineer ที่เอาโดมแห่งนี้อยู่ เสียงดนตรี เสียงร้อง เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นอยู่ครบ ความไม่เพอร์เฟกต์ต่างๆ มาจากวงของเขาเองที่ตั้งใจให้เป็นแบบนั้น ความดิบ ความ lo-fi ใดๆ ซึ่งนับว่าเป็นเอกลักษณ์ของ The Stokes ที่จะได้ยินบ้างบางจังหวะ
แต่แม้ว่าวงจะดีไซน์ไฟบนเวทีให้ออกมาสวยงามเหมาะกับการลง Instagram สุดๆ แต่ในแง่ของคนดูต้องขอบอกเลยว่าไฟบนเวทีมืดมาก ไม่มีสปอต์ไลต์ส่องไปที่นักร้องนำหรือนักดนตรีเลยตลอดทั้งโชว์ เอาง่ายๆ ว่า หน้าพี่ Julian เป็นยังไง เราก็ไม่รู้ได้ เห็นทุกคนเป็นเงาๆ หรือตอนที่แสงสีๆ สาดไปกระทบ แค่นั้น แม้ว่าวงจะตั้งใจแต่เราแอบเสียดายเพราะอยากเห็นหน้าค่าตาหรือการแสดงอารมณ์ทางสีหน้าของพี่เขาอยู่สักหน่อยเหมือนกัน
แต่เรื่องของฉากหลังบนเวที จอต่างๆ ถือว่าโอเค สวย ไม่แห้งเหมือนวงร็อคบางวง เรียบง่ายแต่ฉูดฉาดพอที่ดึงความสนใจของแฟนๆ ได้ตลอดโชว์
แฟนเพลงขอขึ้นไปตีกลอง
มาถึงประเด็นที่ทำให้เสียงแตกสุดๆ ระหว่างโชว์มีแฟนเพลงถือป้าย “I wanna play drums for Last Nite, Fab” (ผมอยากตีกลองเพลง “Last Nite” ครับ Fab) พี่ Julian พูดออกไมค์ว่า “มีคนอยากตีกลองเพลง ‘Last Nite’ ล่ะ” แต่ในตอนนั้นยังไม่ถึงคิวเพลงนี้ วงเลยเล่นต่อไปอีกสักพัก ก่อนจะเหมือนปรึกษากัน แล้วเมื่อถึงเวลาก็ชวนแฟนคลับคนนั้นขึ้นไปแจมบนเวที ตีกลองเพลง “Last Nite” อย่างสนุกสนาน
ฝ่ายแรกแสดงความยินดีกับแฟนคลับคนนั้นที่ได้ขึ้นโชว์ความสามารถร่วมกับศิลปินที่ตัวเองชอบ และทำออกมาได้ดีทีเดียว แต่อีกส่วนหนึ่งเมื่องานจบก็ได้เห็นคอมเมนต์ในโลกออนไลน์ว่า เพลงนี้เป็นเพลงดังเพลงโปรดของใครหลายๆ คน แฟนคลับคนนั้นก็ไม่ได้เล่นดีเท่าสมาชิกวง กับวงที่ไม่รู้จะกลับมาเล่นที่ไทยอีกเมื่อไร ทำให้โมเมนต์เพลงนี้ที่ควรจะฟินสุดๆ กลับกร่อยลงไป แล้วมานั่งลุ้นเอาว่าจะเล่นจบเพลงไหม บ้างก็ว่าเล่นได้ช้ากว่าจังหวะจริงจนสมาชิกในวงที่เหลือต้องยอมเล่นช้าตาม
แต่สุดท้าย The Strokes โพสต์รูปและคลิปลงใน social media พร้อมข้อความว่า “Thank you Bangkok, thank you Peter”
ควร/ไม่ควร? ที่แฟนคลับขอขึ้นเวทีไปแจมกับวง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีแฟนคลับขอขึ้นไปแจมกับวง ล่าสุดที่เราเจอคือคอนเสิร์ตของ The 1975 ที่แฟนคลับขอขึ้นไปเล่นกีตาร์เพลง “Robbers” ซึ่งเป็นเพลงดังของวงเช่นกัน วันนั้นไม่แน่ใจว่ามีคอมเมนต์กระแสลบออกมาถล่มทลายเท่าครั้งนี้ไหม แต่โดยส่วนตัวไม่เจอ และมีความสุขกับโมเมนต์เพลงนี้ดีทีเดียว
สำหรับ The Strokes ในเพลง “Last Nite” อาจมีหลายปัจจัยที่แฟนเพลงไม่ชอบใจ การเลือกตีกลองที่เป็นหัวใจหลักในการควบคุมจังหวะของเพลง อาจจะค่อนข้างท้าทายมากเมื่อเป็นแฟนคลับที่ไม่เคยร่วมซ้อมกับวงมาก่อน ประกอบกับอุปกรณ์ไม่คุ้นมือ หรือประสบการณ์ในการแสดงต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ รวมถึงการเป็นศิลปินที่แฟนเพลงรอมานาน อาจทำให้โมเมนต์ในการฟังเพลงนี้ในคอนเสิร์ตไม่ฟินเท่าที่หลายคนคาดหวัง
ในขณะเดียวกัน มองในมุมกลับกัน ทางด้านศิลปินเลือกที่จะให้แฟนเพลงขึ้นไปเล่นดนตรีกับพวกเขาด้วยความเต็มใจ และไม่ได้คาดหวังความเพอร์เฟกต์ของโชว์เพลงนี้จากแฟนคลับคนนี้ อาจจะอยากเอาใจแฟนคลับ หรือสนุกกับแฟนคลับ หรืออยากทำให้โชว์ในไทยพิเศษมากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ หากมองมุมนักดนตรีหรือศิลปินเจ้าของเพลง การได้เห็นแฟนคลับขึ้นมาเล่นเพลงของตัวเองบนเวที อาจจะเป็นโมเมนต์ดีๆ สนุกๆ มากกว่า
แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ ในแง่ของความปลอดภัย การให้แฟนเพลงขึ้นไปบนเวทีนับว่ามีความเสี่ยง เราไม่อาจรู้ไดว่าแฟนเพลงคนนั้นเป็นแฟนเพลงตัวจริงหรือไม่ จะขึ้นไปทำร้ายหรือทำอะไรแผลงๆ บนเวทีหรือเปล่า ถ้าเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น เจ้าหน้าที่ทีมงานต่างๆ จะเอาอยู่หรือไม่ เป็นคำถามที่สำคัญและควรพิจารณาให้รอบคอบมากเช่นกัน
ความเห็นของเรา ถ้าเป็นไปได้ อาจจะให้แฟนเพลงขึ้นไปแจมท่อนสั้นๆ หรือสักครึ่งเพลง โบกมือลาแฟนเพลงให้ลงไปด้านล่าง ก่อนจะเริ่มเล่นเพลงใหม่ตั้งแต่ต้นแบบจัดเต็มเอาให้เนี้ยบที่สุดเหมือนเดิม แบบนั้นอาจจะได้โมเมนต์ที่ดีทั้งแฟนเพลงคนนั้น และแฟนๆ ทั้งฮอลล์มากกว่า แต่ยังไงก็ยังต้องแบกรับความเสี่ยงจากแฟนคลับคนนั้นที่ขึ้นเวทีด้วยว่าจะทำอันตรายต่อศิลปินหรือไม่ และทีมงานจะป้องกันได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากดรามาเรื่องแฟนเพลงขึ้นเวทีแล้ว บรรยากาศในคอนเสิร์ตโดยรวมถือว่าสนุกสนานและเพอร์ฟอร์มานซ์ดีน่าประทับใจไม่น้อย ยังพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าสมกับที่รอคอยมานานมากกว่า 20 ปี หากทีมงานสามารถตรวจค้น ควบคุม ป้องกันการนำเข้าของบุหรี่และยาสูบอื่นๆ ไม่ให้เข้ามาในคอนเสิร์ตได้ ก็น่าจะดียิ่งขึ้นกว่านี้ และการจำกัดสิทธิ์ในการซื้อ official merchandise สำหรับบัตรปกติเท่านั้น ไม่รวมบัตร complementary ต่างๆ หากมีการแจ้งกันล่วงหน้าก่อนทราบหน้างานก็คงจะดีกว่านี้เช่นกัน คงต้องฝากเป็นการบ้านให้ทีมผู้จัดสำหรับงานหน้า
และหวังว่านี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะได้ดู The Strokes Live in Bangkok
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ