40 ปี กวีศรีชาวไร่ "พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ" ชีวิตเพื่อเพลงดูแลหัวใจรากหญ้า
ปี พ.ศ.2566 เส้นทางศิลปิน "น้าหมู" พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ นักร้อง นักดนตรี และกวีในแนวเพื่อชีวิต ระดับตำนานที่ยังมีลมหายใจ เดินทางมาครบ 40 ปี
เจ้าของฉายา "กวีศรีชาวไร่" โดย "นายผี" อัสนี พลจันทร์ ปัญญาชนนักปฏิวัติเป็นผู้ให้ ด้วยเห็นว่าเป็นผู้ใช้ภาษา และการเขียนหนังสือด้วยถ้อยคำกวี ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และกลิ่นอายของชนบท ไว้วางใจให้ Pazan Music Festival ที่ผ่านการจัดคอนเสิร์ตระดับตำนาน Road for life คอนเสิร์ตใหญ่ๆ อย่าง ริมเล, Lonelipop Music Festival จัดงานคอนเสิร์ต "40 ปี กวี ศรีชาวไร่" ในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ที่ ลานกิจกรรมเขาใหญ่มาราธอน ถนนธนะรัชต์ กม.21
บ่ายวันก่อน ที่ Mr.Fox Live House ทาวน์อินทาวน์ น้าหมู ซึ่งน่าจะเป็นศิลปินไม่กี่คนในประเทศไทย ที่เล่นคอนเสิร์ตยาวนาน 4-5 ชั่วโมงต่อเนื่องกัน ในรูปแบบของคนพูดเพลง ได้ขนเพลงดัง ที่คอเพื่อชีวิตยังจดจำ อาทิ "ยิ้มเหงาๆ", "คิดถึงบ้าน", "ตังเก", "ฝนจางนางหาย", "จ.รอคอย", "ดอกไม้ผีเสื้อ" มาโชว์ลูกคอเรียกน้ำย่อย และบอกกล่าวที่มาคอนเสิร์ตครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น
น้าหมู ในวัย 70 ปี ยังฉายความสนุกสนาน เฮฮา พูดเก่ง บอกกับไมค์รวม "ได้บอกกับผู้จัดคอนเสิร์ต อย่าลงทุนอะไรให้มันเยอะ เอาแบบลงทุนด้วยหัวใจ เพราะเรามีแต่หัวใจ ทุกครั้งที่เล่นคอนเสิร์ต บอกคนดูเสมอ ทุนของผมคือเพลง อย่างอื่นไม่มี" เฉกเช่นกลอนที่กล่าวไว้บนเวทีแถลงข่าว "จะกี่ร้อนกี่หนาว กี่ร้าวราน ไม่สะท้าน ทุกเส้นทาง ทุกถิ่นที่ ให้ทั้งหมดไม่มากมาย ให้แค่มี 40 ปี ที่ชื่นชม ผมรักคุณ" ก่อนให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว Sanook.com ย้อนเส้นทาง ก่อนมีชื่อเสียง มีเพลงเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเพลง "นกเขาไฟ", "ต้นขับขี่", "ตรงเส้นขอบฟ้า", "มือเรียวเกี่ยวรวง", "ลำตะคอง", "ด.ญ.ปรางค์" ฯลฯ มีเสน่ห์และมนต์ขลัง คงความสุดยอด มานานนับ 40 ปี ว่า เขาเคยเรียนช่างยนต์ก่อนเรียนศิลปะ
"ผมเรียนช่างยนต์ เป็นเด็กช่างกลเหมือน แอ๊ด (แอ๊ด คาราบาว) เหมือน เล็ก (เล็ก คาราบาว) พอจบชั้นระดับปานกลาง ไปสอบชั้นสูงขึ้นสอบไม่ได้ สมัยยุคผมเข้าเล่นเส้น ฝากกันเยอะ เด็กฝาก"
"ผมไปสอบปี พ.ศ.2511 ลูกนายอำเภอ ลูกผู้ว่าฯ ลูกนายพัน นายพล เต็มไปหมด ขึ้นรถเมล์กลับบ้านเจอป้ายกระดาษเล็กๆ เสาไฟ เทคนิคโคราชรับสมัครนักศึกษาใหม่ แผนกศิลปะ สอบได้ เขารับ 30 คน ไปสมัคร 28 คน ก็เลยได้ไง"
น้าหมู ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น "ศิลปินมรดกอีสาน" สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องรางวัลเพื่อชีวิต) พ.ศ.2565 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เคยร่วมเล่นดนตรีกับวงคาราวาน ยุคเริ่มต้น รวมท้งได้หนีเข้าป่าไปพร้อมกับคาราวาน และนักศึกษาในยุค 6 ตุลาฯ (พ.ศ.2519) และเคยร่วมเล่นดนตรีกับวงคาราบาว แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกวง
เขาตอบปฏิเสธ แอ๊ด คาราบาว ที่มาชักชวน ด้วยเหตุผลว่า แนวเพลงของเขามีกลิ่นอายความเป็นบ้านนอก แตกต่างจากแนวเพลงของคาราบาว
"ก่อนที่คาราบาวจะชวน ผมกลับมาจากป่าก่อนคาราวาน ปีต่อมาคาราวานกลับ แล้วเขาไปเล่นฟอร์ยูนิเซฟ ที่ธรรมศาสตร์ ผมก็ไปคิดว่าเขาจะรับเป็นสมาชิกเหมือนเดิม แต่ก่อนเคยเล่นอยู่ด้วย เขาบอกพงษ์เทพไม่ใช่สมาชิก เลยไม่ได้เล่นไง"
"ไอ้แอ๊ดเขาบอกไม่ต้องเสียใจ กูไม่เคยเสียใจเลย มาอยู่กับคาราบาวมา มาเป็นสมาชิก จะให้ม้วนละ 2 บาท แต่ก่อนมันเป็นเทป บอกขอบคุณมากแอ๊ด เพลงของผมมันเป็นบ้านนอก เขียนกับคุณก็เล่นดนตรีก็ประหลาดๆ"
"วงคาราบาวเขานักเรียนนอก แล้วเขาก็แต่งเพลงแบบฝรั่งด้วย ผมก็เล่นไม่เป็น แล้วพี่เล็กแกก็โซโล่ แก่เล่นเพรสซิเด้นท์สมัยนั้น กูก็ทำไม่เป็นอย่างมึง เอางี้แล้วกันให้ตังค์กูเลย ไม่ต้องให้กูเป็นสมาชิก"
"มันก็ให้ตังค์ทุกครั้งนะ เวลาไปกับคาราบาว ให้ทีละ 2 พัน ไปถือกล่องอะไรบ้าง ตอนหลังก็เริ่มเป่าฟรุตกับอาจารย์ ธนิสร์ (ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี) แต่ไม่เข้าท่าหรอก เขาก็ให้ตังค์มาเรื่อยๆ จนกระทั่งทำเทปเอง"
ภายหลังคาราบาวโด่งดังจากอัลบั้ม เมดอินไทยแลนด์ แล้ว แอ๊ด คาราบาว ช่วยเล่นดนตรีให้กับการออกอัลบั้มชุดแรกของพงษ์เทพ คือ ชุด "ห้วยแถลง"
น้าหมู เล่าต่อว่า ต้นทางบนถนนศิลปินของเขาเคยเผชิญกับสถานการณ์ ถูกโห่ไล่ลงจากเวทีคอนเสิร์ตคาราบาว เพราะยังไม่มีใครรู้จักเพลง "ห้วยแถลง" เพลง "นกเขาไฟ "อยากดูคาราบาวเล่นคอนเสิร์ตมากกว่า
"ตอนนั้นน่ะปี พ.ศ.2527 คาราบาวเขาทำอัลบั้มปี พ.ศ.2524 เขาเริ่มดังแล้ว มี "ลุงขี้เมา", มี "แป๊ะขายขวด", มี "วณิพก" แล้ว มหาวิทยาลัยเกษตร เขาจ้างคาราบาวไปเล่น เพลงเราก็ยังไม่ดัง ปีเดียวก็ไม่ดัง เพลงห้วยแถลง ไม่มีคนซื้อเลย ขอแอ๊ดร้อง ผมไปร้อง ภูบ่สูง แต่ว่าห้วยมันลึก ร้องได้ 2-3 คำ โห่ ไม่เอาๆ เอาคาราบาวๆ"
"นกเขาไฟคืออะไร เขาไม่รู้จัก ยังไม่พอไม่เข็ด ขอร้องอีกหน่อย เพลงใหม่ กระหึ่มเสียง โอ๊ยเพลงเดียวกูก็จะตายอยู่แล้ว มันไล่ลง เสียใจไปนั่งน้ำตาไหลหลังเวที ไอ้เล็กบอกพี่ พี่ไม่ต้องเสียใจหรอก เพลงพี่ดีมากผมชอบมาก ดีทำไมมันไม่ฟังวะ เขาก็ปลอบใจ"
แนวเพลงที่น้าหมูแต่ง และถ่ายทอดออกมาส่วนใหญ่ สะท้อนปัญหาความทุกข์ยากในสังคม โดยแฝงอารมณ์ขัน และการให้กำลังใจ เรียกว่า 40 ปีกวีศรีชาวไร่ ชีวิตเพื่อเพลงดูแลหัวใจรากหญ้า ก็ว่าได้
"เพลงผมทุกเพลง จะให้คนฟังเป็นผู้ที่บอกว่าคืออะไร เพลงน้ำตาหอยทากเนี่ย ถ้าคนไม่เคยเป็นแบบหอยทากเนี่ย จะฟังเฉยๆ วันหนึ่งถ้าเขามีอารมณ์แบบนี้ เขาจะชอบ เพลงลมลำเพย เพลงยิ้มเหงาๆ คือแล้วแต่คน"
"เด็กหญิงปรางค์ก็เหมือนกัน ผมเปรียบเทียบถึงพระปรางค์ คือเป็นยอดปรางค์ คือเด็กต้องขาวสะอาดอย่างนั้น แต่ว่าเขามาเขี่ยขยะ เออมีเด็กแบบนี้นะ
ถ้าคุณรู้สึกกับเขาดีกับเขา คุณก็เข้าใจ"
"ตังเกเนี่ยเป็นเพลงแถมนะ คือผมทำที่แกรมมี่ ชุดคนจนรุ่นใหม่ อากู๋ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้บริหารแกรมมี่) แกบอกว่า น้าชุดนี่ยังไม่มีเพลงโจ๊ะๆ สักเพลง ทำให้หน่อย 3 ช่านะ"
"เราเคยเขียน "ตังเก" ไปเขียนที่ปากน้ำปราณบุรี ก็เลยเอาเพลงนี้มาทำ มันได้เกิดประจักษ์ ขอบฟ้าของตังเก เขาคิดว่าเขาจะมีปลา มีเรือ มีสิ่งที่ประทังชีวิตของเขา ไม่น่าเชื่อเพลงแถมระเบิดเถิดเทิงเลย ล้านกว่าม้วนน่ะ"
"ผมไม่ค่อยเข้าเมือง ไม่ค่อยอยู่กับสังคมชั้นสูงไง ชีวิตทั้งชีวิตอยู่กับชาวบ้าน อยู่บ้านนอก ก็เจอแต่เรื่องคนบ้านนอก เรามันรู้สึกว่า เราก็ทำมาเท่าที่เรามีความสามารถแค่นี้ แต่เราก็รู้ว่ามันเป็นยังไง"
"แต่ว่าการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงมันน่าจะเป็นเรื่องของเมนใหญ่ๆ มากกว่าครับ บางอย่างก็มีก้าวหน้าบ้างแต่น้อย แต่ว่าถอยหลังเยอะ จริงๆ ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ (พ.ศ.2516) มาถึงบัดนี้ก็ไม่รู้สิ รู้สึกว่าเหมือนกับที่ผมพูดบนเวที เรื่องหมอดู เมื่อไหร่คอรัปชั่นบ้านเราจะหมด หมอดูร้องไห้เลย ทายไม่ได้" น้าหมูหัวเราะร่วนส่งท้ายการให้สัมภาษณ์ช่วงนี้
ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ น้าหมู บอกด้วยว่า ตลอดระยะเวลาที่เขายืนหยัดเป็นศิลปินเพื่อชีวิต ซื่อสัตย์กับหัวใจ และความคิดของตนเอง สิ่งที่เขาได้รับมาตลอด จากการแต่งเพลง ร้องเพลง ดูแลหัวใจคนรากหญ้า มายาวนานตลอด 40 ปี คือ "ความสุข"
"40 ปี สิ่งหนึ่งที่ผมได้กลับไป ที่สุดคือความสุข จริงๆ ผมเป็นอาชีพเชิงเดี่ยว ไม่เคยมีอาชีพอย่างอื่นเลยแม้แต่ครั้ง แม้แต่นิดเดียว ปี พ.ศ.2559 ผมเป็นมะเร็งลำไส้ ระยะที่ 4 เลือดแตกแล้ว"
"คุณเชื่อไหมว่า อีกอาทิตย์หนึ่งผมจะผ่าตัด เลื่อนงานไม่ได้ ขณะที่เรารู้ว่าเราเป็นมะเร็ง แต่เราต้องร้องตังเก ต้องร้องน้ำตาหอยทาก ให้คนเต้น แล้วต้องยิ้ม โอ้โหวันนั้น พอเลิกงานแล้ว ไปร้องไห้ในห้องน้ำตั้งหลายนาทีนะ แต่ความสุขอะนะ พอเล่นทีไรมันยังได้เหมือนเดิม"
"มะเร็งหายแล้วตอนนี้มีเส้นเลือดในสมองตีบ มันมีครั้งหนึ่ง ผมยืมเงินเพื่อนคนหนึ่งนะ ยืมมาแสนหนึ่ง ตอนนั้นมันฉุกละหุกจริงๆ มีกีตาร์ก็ขายไปเกือบครึ่งตู้แล้วมั้ง"
"เพื่อนก็ถามว่า เฮ้ยเงินแสนหนึ่ง มันจะพออยู่ได้เหรอขนาดนี้ ผมก็บอกว่า ไม่ใช่เงินแสนหนึ่งจะอยู่ได้ แต่ว่าเราต้องถามตัวเราว่า เราจะอยู่ยังไงให้ได้กับเงินหนึ่งแสน"
น้าหมู ทิ้งท้ายการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ ด้วยการเชิญชวน แฟนเพลงมาร่วมกันบันทึกหน้าประวัติศาสตร์วงการเพลงเพื่อชีวิตอีกครั้ง ในคอนเสิร์ต 40 ปี กวีศรีชาวไร่ ในคอนเสิร์ตนี้ นอกจากเขาแล้ว ยังมีศิลปินอีกมากมาย อาทิ โปรมูสิกา, จันทึกคันทรี่, ประทีป ขจัดพาล, กำปั่น บ้านแท่น (เพลงโคราช), นิราศบูลส์, ไววิทย์ ละมัย และ เฟรมทุ่งกว้าง
"ปกติ ผมจะมีคอนเสิร์ตตั้งแต่ 20 ปี 25 ปี 30 ปี 35 ปี พอดีทาง Pazan เขาจัดคอนเสิร์ต Rode for life แล้วก็เชิญเราไปด้วย ก็เลยคุยว่าเอ้อ ผมครบรอบ 40 ปีแล้วเนี่ย ถ้าน้องอยากจะช่วยก็ยินดี เขาก็ชอบเพลงเราอยู่แล้ว ก็เลยทำให้ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ที่เขาใหญ่ กิโลเมตรที่ 21 ไปกัน เชิญทุกคนครับ"
อัลบั้มภาพ 15 ภาพ