ทำไมราคาบัตรคอนเสิร์ตถึงแพง? ผู้จัดในไทยตอบแล้ว
ทำไมบัตรคอนเสิร์ตในไทยแพงมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อค่าบัตรคอนเสิร์ตบ้าง ตัวแทนผู้จัดในไทยตอบให้แล้ว
เชื่อว่าแฟนๆ ที่ชื่นชอบศิลปิน โดยเฉพาะศิลปินต่างประเทศ จะต้องเคยโอดครวญว่า “ทำไมค่าบัตรคอนเสิร์ตแพงจัง” อาจจะเคยสงสัยว่าเอาอะไรมาแพงมากขนาดนั้น Sanook จึงไปหาคำตอบจากตัวแทนผู้จัดที่คร่ำหวอดในวงการจัดคอนเสิร์ตในไทยค่ายหนึ่ง ช่วยตอบคำถามที่แฟนๆ สงสัย และอธิบายจึงเหตุผลและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อราคาบัตรคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง เพื่อให้หลายๆ คนเข้าใจถึงที่มาที่ไปของราคาบัตรในแต่ละงานมากขึ้น
Note: รูปที่ใช้ประกอบบทความทั้งหมด ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบทความและผู้จัดที่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
ทำไมราคาบัตรคอนเสิร์ตถึงแพง? ผู้จัดในไทยตอบแล้ว
Part 1: ราคาบัตรคอนเสิร์ต
มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อราคาบัตรคอนเสิร์ตของศิลปินต่างประเทศที่มาจัดคอนเสิร์ตในไทย
Artist fee (ค่าตัวศิลปิน), Hospitality fee (ค่าที่พักและการดูแลศิลปินและทีมงานของศิลปิน), Production fee (ค่าโปรดักชั่นคอนเสิร์ต), Staff/Usher team (ค่าทีมงานดูแลศิลปินและดูแลงานคอนเสิร์ต), Copyright fee (ค่าลิขสิทธิ์) และอื่นๆ
ปกติแล้วการตั้งราคาบัตรเกิดขึ้นโดยมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
ก่อนอื่นต้องทราบต้นทุนทั้งหมดก่อน รวมถึงจำนวนที่นั่งหรือจำนวนบัตรที่มีในแต่ละโซนของฮอลล์นั้นๆ ทำ P&L (Profit and Loss หรืองบกำไรขาดทุน) เพื่อให้ทราบว่าตั้งราคาเท่าไร จำนวนเท่าไหร่ในแต่ละราคา กี่เปอร์เซ็นต์ถึงจะเท่าทุน หรือกำไร
ปกติก็มักจะคิดให้ได้ 60-70% เท่าทุน เพราะแต่ละงานมีความเสี่ยงสูงมากในการจัดงานว่าจะขายไม่หมด แต่บางงานที่ต้นทุนมาสูงมากๆ แล้ว 80% ก็ยังไม่เท่าทุนก็มี แต่มักจะเป็นงานที่ศิลปินมีชื่อเสียง คาดหวังบัตรหมดได้ ก็น่าเสี่ยงที่จะทำต่อ ราคาบัตรก็จะออกมาจากตรงนี้ด้วย แต่ถ้างานที่คำนวณแล้วราคาบัตรสูงมาก บางทีเราก็เลือกที่จะไม่ทำดีกว่า
ในบางกรณี ราคาบัตรคอนเสิร์ตของผู้จัดเจ้าหนึ่ง กับอีกเจ้าหนึ่ง ของศิลปินที่มาจากค่าย/ระดับความเป็นที่นิยมใกล้เคียงกัน คิดว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ราคาบัตรของผู้จัดทั้งสองเจ้าแตกต่างกัน
ถึงจะเป็นศิลปินที่ความดัง/ความนิยมเท่าๆ กัน แต่ราคาค่าตัวศิลปิน และต้นทุนของแต่ละงานก็ไม่ได้เท่ากัน หรือใกล้เคียงกัน บางศิลปินความนิยมในไทยไม่ได้สูงกว่าอีกคนแต่ราคาสูงกว่าก็มี และต้นทุนแต่ละงานก็ไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะค่า Production, Hospitality และอื่นๆ
งานแฟนมีตติ้ง หรือแฟนคอนบางงานที่โปรดักชั่นไม่ได้มีความหวือหวาอะไรใดๆ ทำไมบัตรถึงมีราคาแพงเท่าหรือบางครั้งมากกว่าบัตรคอนเสิร์ตที่โปรดักชั่นจัดเต็มกว่ามาก
มีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนในการจัดงานสูง ถ้าโปรดักชั่นไม่ได้หวือหวา แต่การจัดการในส่วนอื่นอีกมากมายที่ทำให้งานเกิดขึ้น รวมถึงการดูแลศิลปิน ค่าตัวศิลปิน จำนวนทีมงานต่างๆ อาจจะมีต้นทุนที่สูงกว่าก็ได้
ทำไมเดี๋ยวนี้ศิลปินเกาหลีมักจะบัตรแพงกว่าศิลปินตะวันตก
ศิลปินเกาหลีหลายคน/วง ค่าตัวราคาสูงกว่าศิลปินตะวันตก หากราคาไม่สูงกว่า ก็มีจำนวนทีมงานที่มามากกว่า ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดูแลก็จะสูงกว่า หรือรีเควสในส่วนของโปรดักชั่นก็จะมากกว่า เป็นต้น
เดี๋ยวนี้เริ่มเห็นบัตร VIP หรือบัตรโซนราคาสูงที่สุดที่กลายเป็นบัตรยืนแทนบัตรนั่ง เป็นการเพิ่มจำนวนบัตรราคาแพงให้ขายได้มากขึ้นหรือเปล่า ทำไมบัตรแพงที่สุดถึงให้แฟนๆ ยืนดู หรือมีเหตุผลใดที่ทำให้ตัดสินใจทำเช่นนี้ สามารถทำบัตรราคาแพงที่สุดแล้วใกล้เวทีที่สุดแต่เป็นบัตรนั่งเหมือนแต่ก่อนได้หรือไม่
บริษัทเรายังไม่เคยทำแบบนั้น แต่คิดว่าน่าจะเพื่อให้ได้จำนวนบัตรที่มากขึ้น อาจจะด้วยต้นทุนของเขาที่สูง และได้สิทธิพิเศษที่มีการตกลงกันแล้วว่า ถ้าได้สิทธิ์นี้ มาจะขายในราคาเท่านี้ มีจำนวนจำกัด หรือแค่จำนวนหนึ่ง เพราะที่จริงแล้วการทำงานกับเกาหลีทุกงาน ค่ายของศิลปินจะเป็นคนยืนยันทั้งราคาบัตร จำนวนบัตรทั้งหมด ก่อนที่เราจะประกาศออกไป รวมถึงสิทธิพิเศษต่างๆ ก็เป็นฝ่ายศิลปินที่อนุมัติมาทั้งหมด ผู้จัดเพียงแค่เสนอ
แต่สุดท้ายเราไม่สามารถบังคับให้ศิลปินทำได้ ต้องยอมรับสิทธิ์เท่าที่เขาให้เรามาได้เท่านั้น ดังนั้น ทุกราคาบัตร ทุกสิทธิ์ ทางค่ายรับรู้ และอนุมัติแล้ว เพราะฉะนั้นผู้จัดก็คงมีเหตุผลที่ต้องทำแบบนั้น ทั้งเรื่องต้นทุน และเหตุผลอื่นๆ
โดยส่วนตัวผู้จัดแล้ว คิดว่าราคาบัตรคอนเสิร์ตที่ราคาสมน้ำสมเนื้อที่เป็นตรงกลางระหว่างศิลปิน/ต้นสังกัด ทีมงานผู้จัด และแฟนเพลง ที่อยู่ในระดับที่ทุกคนพอใจ อยู่ที่ราคาสูงสุดประมาณเท่าไร เพราะอะไรถึงคิดว่าราคานี้เป็นราคาที่เหมาะสมในตอนนี้
ราคาที่พอใจของผู้จัดกับแฟนคลับ น่าจะค่อนข้างต่างกัน ในตอนนี้เราไม่สามารถเอาราคางานในอดีตมาเทียบกับงานในปัจจุบันได้เลย ศิลปินเกาหลี นับวันราคายิ่งสูงขึ้น ยิ่งดังขึ้นก็แพงขึ้น ผ่านไป 1 ปีราคาก็ขึ้นแล้ว หรือมีคนอยากจัดเยอะ เสนอราคาค่ายไปเยอะ ค่าตัวศิลปินก็ยิ่งแพงขึ้น
โดยเฉพาะประเทศไทย หลายศิลปินมีราคาที่สูงกว่าการจัดงานในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ดังนั้นถ้าราคาที่ทั้งผู้จัดและแฟนคลับพอใจ ไม่แน่ใจว่าต้องอยู่ที่ระดับไหน แต่ถ้าที่ผู้จัดพอใจ และสามารถจัดงานขึ้นได้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับต้นทุนทั้งหมด และคำนวณออกมาว่าต้องขายบัตรเท่าไหร่ หักเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงที่จะขายบัตรไม่หมดออก ถึงจะออกมาเป็นราคาขายบัตรที่เห็นกัน ซึ่งในปัจจุบัน (ปี 2023) ก็น่าจะอยู่ในเรต 2,000-8,500 บาท ขึ้นอยู่กับต้นทุนแต่ละงาน
ราคาบัตรคอนเสิร์ตที่บางครั้งแฟนๆ บ่นว่าแพงและร้องเรียนไปที่ สคบ. แต่ถูกตีกลับมาว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย สามารถปฏิเสธไม่ซื้อถ้าราคาแพงเกินไปได้ แต่ในมุมของแฟนคลับที่ก็อยากดูศิลปินที่ชื่นชอบ และไม่สามารถบอยคอตด้วยการไม่ซื้อบัตรเข้าชมได้ ผู้จัดมองว่าภาครัฐมีส่วนช่วยเหลือในเรื่องการตั้งราคาบัตรคอนเสิร์ตให้โอเคกับทั้งผู้จัดและแฟนคลับได้อย่างไรบ้าง สมควรเป็นวาระแห่งชาติได้หรือยัง
ถ้าภาครัฐจะเข้ามามีส่วนร่วมในการตั้งราคาขายบัตรคอนเสิร์ต ก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้จัดงานในส่วนของต้นทุนการจัดงานด้วย เพราะถ้ากำหนดช่วงราคาบัตรเลยว่าห้ามขายเกินราคาเท่านี้ แต่งานนั้นต้นทุนมาสูงมาก ขายราคาตามนั้นหมดแล้วยังไงก็ไม่ได้ทุนคืน เท่ากับผู้จัดก็ไม่สามารถจัดงานได้ แฟนคลับก็จะไม่ได้ดูงานของศิลปินที่ชื่นชอบเช่นกัน ดังนั้นเรื่องนี้ภาครัฐไม่น่าจะมากำหนดราคาได้ เพราะไม่ได้มีส่วนในการช่วยเหลือต้นทุนของผู้จัดในทุกงานได้อยู่แล้ว
Part 2: การซื้อบัตรคอนเสิร์ต ระบบ แฟนคลับโดนโกงจากการซื้อต่อจากคนอื่นเพราะตัวเองซื้อไม่ทัน
ปัญหาแฟนคลับซื้อบัตรไม่ได้ แต่มีคนกดบัตรมาขายราคาแพงกว่าเดิม แถมยังกดบัตรมาขายได้เป็นปึกๆ หลาย ทั้งๆ ที่เว็บไซต์จำกัดจำนวนการซื้อต่อเอาไว้ คิดว่าเป็นเพราะอะไร คิดว่าคนที่กดบัตรมาขายอัพมีการแฮกระบบเว็บไซต์จริงหรือไม่ พอจะทราบไหมว่าพวกเขาเหล่านี้ใช้วิธีใด
เท่าที่เคยเจอ ทางเว็บขายบัตรแจ้งว่า บุคคลเหล่านี้ใช้ระบบแฮก ก็คิดว่าน่าจะมีจริง เพราะทางผู้จัดเองก็ไม่ได้กดบัตรให้ และทางเว็บขายบัตรก็ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ล็อคบัตรให้ ดังนั้นก็คงใช้ระบบนั้นจริงๆ ส่วนวิธีการไม่ทราบเลย
แล้วมีวิธีแก้ไขปัญหานี้ หรือวางแผนตั้งรับกับปัญหานี้อย่างไรบ้าง ทำยังไงถึงจะให้แฟนคลับซื้อบัตรได้ และป้องกันคนกดบัตรมาขายอัพราคาในอนาคตได้
ถ้าป้องกันระบบแฮก น่าจะเป็นส่วนของแต่ละเว็บที่ขายบัตรต้องหาวิธีป้องกัน และแก้ไข ส่วนผู้จัดป้องกันคนซื้อมาอัพราคา ก็คงแก้ได้ด้วยการระบุชื่อลงบัตร แต่หลายงานที่ผ่านมา การระบุชื่อลงบัตรก็มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายจากผู้ที่ซื้อบัตรแล้ว มีเหตุให้ไม่สามารถมาร่วมงานได้ หากเข้มงวดจริงๆ ไม่สามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนชื่อได้ ผู้จัดก็ถูกฟ้องร้องไม่เป็นธรรม หากไม่เข้มงวดให้เปลี่ยนชื่อได้ ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการไม่ระบุชื่อ
ดังนั้นการแก้ไข หรือป้องกันได้ดีที่สุดก็คือ ทุกคนต้องไม่ซื้อบัตรอัพราคา ให้คนที่ซื้อมาอัพขายไม่ออก และเลิกทำแบบนี้ไป เพราะผู้จัดไม่สามารถจัดการอะไรกับคนที่ซื้อบัตรไปอย่างถูกต้องได้ เขาซื้อไปอย่างถูกต้องตามระบบ ตามกฎหมายทุกอย่าง
เราเคยยึดบัตรคืนแล้วก็โดนฟ้องร้อง และก็แพ้การฟ้องร้องเพราะเขาซื้อมาตามระบบที่ถูกต้อง และการที่ไปลงขายต่อแม้จะอัพราคาเป็นการซื้อขายที่ทั้งสองฝ่ายตกลงปลงใจที่จะซื้อกันเอง สุดท้ายแล้ว สคบ. หรือกฎหมายก็ไม่ได้ช่วยปกป้องฝั่งผู้จัดงานในส่วนนี้เช่นกัน ถึงแม้เราจะเขียนในหน้าขายบัตรว่า ห้ามซื้อขายนอกระบบก็ตาม หรือผู้จัดอาจจะปรามได้เบื้องต้นเพียงแค่ โพสต์เตือนแฟนคลับไม่ให้ซื้อขายบัตรนอกระบบ แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ความสมัครใจของคนซื้อและขายกันเองอยู่ดี
Part 3: อุปสรรคในการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินต่างประเทศในไทย
มีวิธีรับมือกับความต้องการของแฟนๆ ในการจัดงานแต่ละครั้งอย่างไรบ้าง เช่น
-
แฟนๆ บ่นเรื่อง benefits ที่น้อยเกินไป หรือไม่เหมาะสม
Benefits มากหรือน้อย ได้อะไรบ้าง ขึ้นอยู่กับศิลปินและค่ายศิลปิน ผู้จัดมีหน้าที่นำเสนอ แต่สุดท้ายทางค่ายจะสรุปสิ่งที่ทำได้มาให้ ศิลปินบางคนต่อรอง ฟังคำแนะนำของผู้จัด แต่ส่วนใหญ่จะมีลิมิตที่สามารถทำได้อยู่แล้ว และไม่สามารถต่อรองได้ เราบังคับให้ศิลปินทำตามที่แฟนๆ เรียกร้อง หรือที่เราต้องการไม่ได้
ในส่วนนี้ที่ผ่านมา เห็นแฟนคลับคอมเม้นแทบจะทุกงานจะว่ามาที่ผู้จัด ซึ่งเราไม่สามารถพูดได้เลยว่า ให้ไปขอกับค่าย หรือที่จริงส่วนนี้เป็นส่วนที่ทางค่ายหรือศิลปินให้เรามาเพียงเท่านี้จริงๆ เราบังคับให้ศิลปินไฮทัชกับทุกคนไม่ได้ เพราะบางศิลปินไม่ต้องการทำ เป็นต้น
สิทธิ์ในตัวของศิลปินเป็นของศิลปิน และค่าย เราซึ่งเป็นแค่ผู้จัดจึงไม่สามารถบังคับให้ศิลปินทำอะไรที่ไม่ต้องการทำได้ อยากให้ทุกคนเข้าใจในจุดนี้ ถ้าไม่พอใจในสิทธิ์ อยากเรียกร้องเพิ่มเติม ต้องเรียกร้องกับค่ายหรือศิลปิน ผู้จัดทุกงานอยากได้สิทธิ์มากที่สุดดีที่สุด มีแต่ผลดีกับผู้จัด ทำไมเราจะไม่อยากได้ บัตรจะได้ขายหมด ขายดีๆ ทำไมเราต้องอยากได้สิทธิ์น้อยๆ แล้วบัตรขายไม่หมดบ้าง ไม่น่ามีผู้จัดคิดแบบนั้น
-
บ่นเรื่อง facilities ต่างๆ หน้างาน
ในส่วนนี้ หากมีข้อตำหนิ เสนอแนะ เรายินดีรับฟังและแก้ไขในงานต่อๆ ไป หากเป็นข้อผิดพลาดของเราที่เกิดขึ้นจริง
-
บ่นเรื่องสถานที่จัดงานไม่เหมาะสม
ไม่เหมาะสมกับอะไร อาจไม่ถูกใจแฟนคลับ แต่เหมาะสมและถูกใจค่าย รวมถึงศิลปิน ถึงได้สรุปมาเป็นสถานที่นั้น บางทีก็เป็นรีเควสมาจากศิลปินหรือทางค่ายด้วย เช่น รีเควสเป็น สนามกีฬา, เอาท์ดอร์, อารีน่า ฯลฯ และความจุ จำนวนที่นั่ง จำนวนบัตร ทางค่ายก็จะกำหนดมาให้เราว่า งานนี้เราสามารถจัดได้จำนวนเท่าไร ก็ต้องหาสถานที่จัดงานที่เหมาะสมกับจำนวนนี้ ดังนั้นความเหมาะสมหลักๆ อยู่ที่ความพึงพอใจ และการตกลงกันของผู้จัดกับค่ายศิลปินเป็นหลัก
-
เว็บไซต์ในการซื้อบัตรล่ม ทำงานผิดพลาด
ระบบขายบัตรในไทยมีไม่ได้เยอะมาก แต่ละเว็บก็จะมีข้อกำหนดในการรองรับจำนวนคนที่เข้ามาซื้อพร้อมกันจำนวนมากอยู่ไม่เท่ากัน ผู้จัดก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับงาน และงบประมาณที่มี ดังนั้นหากมีปัญหากับเว็บนั้นๆ อาจจะต้องรายงานให้เว็บนั้นทราบเพื่อให้เขาแก้ไขระบบภายในของเขา พัฒนาให้ดีขึ้นในอนาคต
-
การเรียงคิวแฟนๆ ก่อนเข้าฮอลล์ที่ทำได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
อาจจะเป็นเพราะจำนวนทีมงานที่ช่วยรันคิวไม่เพียงพอ หรือสภาพอากาศ และปัจจัยอื่นๆ อาจจะต้องแก้ไขปัญหาหน้างาน ขึ้นอยู่กับว่ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้นที่หน้างานถึงทำให้คิวช้ากว่าปกติ เช่น มีการตรวจกระเป๋าอย่างเข้มงวด จึงใช้เวลาค่อนข้างมาก ผู้จัดก็จะต้องเปิดประตูให้แฟนคลับเข้าฮอลล์เร็วขึ้น ปกติ 1-2 ชั่วโมงก่อนเริ่มงานก็อาจจะต้องเป็น 3-4 ชั่วโมงก่อนเริ่มงานเป็นต้น
-
ปัญหาแฟนๆ แอบของกล้องหรือของต้องห้ามเข้าไปในคอนเสิร์ต
ถ้าเรื่องนี้ก็ต้องให้การ์ด หรือทีมงานเข้าไปพาตัวออกมาเพื่อฝากกล้องด้านนอกแล้วค่อยเข้าไปชมใหม่ เพราะอาจมีการลักลอบเข้าไปโดยใส่ไว้ที่ลับ หรือจุดที่พนักงานจุดตรวจไม่สามารถตรวจเจอได้ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ สามารถแก้ไขได้หน้างาน
-
ความปลอดภัยของแฟนๆ และศิลปินในงาน จากอุบัติเหตุต่างๆ
ขึ้นอยู่กับว่าอุบัติเหตุอะไร และเกิดขึ้นจากอะไรด้วย
-
บ่นเรื่อง privileges ที่มีการเชิญคนดังเข้าไปดูคอนเสิร์ตฟรี หรือเจอศิลปินหลังเวที
ในแต่ละงานอาจจะมีเพื่อนศิลปิน คนรู้จักศิลปิน ที่ศิลปินหรือค่ายเป็นฝ่ายเชิญให้มาเอง ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น แต่หากเป็นผู้จัดเชิญมาเอง ปกติแล้วผู้จัดก็ต้องแจ้ง และขออนุญาตค่ายให้ทราบและอนุมัติก่อน ไม่สามารถพาใครก็ได้เข้าไปอยู่แล้ว ดังนั้นทุกคนที่เข้าไปหลังเวทีได้ต้องได้รับการอนุมัติจากทั้งศิลปินและค่ายศิลปินก่อนแล้ว หรือบางงานบุคคลเหล่านั้นเองเป็นผู้สนับสนุนของงานก็ได้
-
เกิดปัญหาใดๆ ที่ผู้จัดไม่ได้เป็นคนผิด แต่ต้องยอมปิดปากและก้มหน้ารับผิดชอบบ้างไหม
ในการทำงานกับศิลปินเกาหลี เนื่องด้วยสัญญามีระบุเอาไว้ว่าเราไม่สามารถทำอะไรที่ทำให้ศิลปินหรือค่ายได้รับความเสียหายทางชื่อเสียงได้เลย มิเช่นนั้นจะมีการเสียค่าปรับมูลค่าที่สูงมาก รวมถึงการคีพคอนเนคชั่น คาดหวังงานอื่นๆ ในอนาคต จึงไม่มีผู้จัดไหนที่กล้าเปิดเผยความจริง ที่หลายอย่างไม่ใช่ความผิดของผู้จัด แต่เป็นข้อผิดพลาด หรือสิ่งที่ผิดพลาดมาจากทางค่ายศิลปิน หรือตัวศิลปิน หรือเป็นเรื่องที่ทางค่ายและศิลปินตกลงรับทราบที่จะทำแบบนี้แล้ว แม้จะได้รับคอมเพลนจากแฟนคลับหรือคนดู แต่ก็ยังจะทำ แล้วกลายเป็นผู้จัดต้องโดนว่าแทน เพราะแฟนคลับไม่รู้ จุดนี้เราก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องรับผิดชอบแทนไป เช่นเรื่อง สิทธิพิเศษที่โดนแทบทุกงาน แต่อย่างที่บอกว่าเราไม่ใช่คนกำหนดให้มีมากมีน้อย แต่เป็นทางฝั่งศิลปินและค่ายกำหนดมา
การจัดคอนเสิร์ตของศิลปินต่างประเทศ ยาก/ง่าย หรือท้าทายมาก/น้อย กว่าการจัดคอนเสิร์ตศิลปินไทยอย่างไรบ้าง
ศิลปินเกาหลี มีการจัดการดูแลที่ค่อนข้างเป็นระบบ ไม่มีความเป็นกันเองเหมือนศิลปินไทย ข้อเรียกร้องมีเยอะกว่าที่ให้ผู้จัดดูแลในทุกส่วนตั้งแต่ก้าวมาถึงประเทศไทย รวมถึงต้นทุนในการจัดการดูแลก็ต่างกันมากกับการทำงานกับศิลปินไทย รวมถึงการต่อรองต่างๆ กับศิลปินไทยทำได้ง่ายกว่า เข้าใจผู้จัดช่วยเหลือผู้จัดมากกว่า แต่ศิลปินเกาหลีจะไม่สามารถต่อรองอะไรได้เลย หากเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะขายบัตรดีหรือไม่ ส่วนใหญ่จะไม่สามารถขอให้ช่วยเหลือโปรโมตหรือขอสิทธิ์ใดๆ เพิ่มได้อีกแล้ว
มีอุปสรรคหรือปัญหาส่วนไหนบ้างที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนดีลศิลปิน ที่คิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ทราบ (ระหว่างการโปรโมตงาน ขายบัตร ไปจนถึงการจัดการปัญหาหน้างาน ระหว่างโชว์ และจนจบโชว์)
ในระหว่างดีลศิลปินปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมีแค่ ผู้จัดไทยชอบลงเงินแข่งกันเพื่อให้ได้จัดงาน โดยเฉพาะศิลปินที่เป็นที่นิยม ทำให้ราคาค่าตัวศิลปินค่อนข้างพุ่งสูงเกินไป และจะเป็นผลทำให้ราคาบัตรต้องสูงเนื่องจากต้นทุนสูง ในส่วนอื่นๆ ก็มีบ้าง ไม่มีงานไหนไม่มีปัญหา ถ้าให้พูดถึงน่าจะไม่สามารถพูดได้หมด เพราะแต่ละงานจะมีปัญหาเกิดขึ้นต่างกัน ไม่มีงานไหนจัดขึ้นและจบอย่างสมูทไร้ปัญหา
เคยมีปัญหากับค่ายหรือศิลปินก่อนเริ่มงานไม่กี่วันหรือไม่ ปัญหาอะไรและแก้ไขอย่างไร
เคยเจอปัญหาเรื่องให้สิทธิ์นึงมาที่จะทำให้กับบัตรจำนวนหนึ่ง แต่พอศิลปินมาแล้วทางค่ายแจ้งว่า จะไม่ทำสิทธิ์นั้นให้แล้ว และไม่มีสิทธิ์ใดๆ เปลี่ยนทำแทนให้ด้วย ทำให้งานนั้นเราโดนแฟนคลับรวมตัวกันฟ้องร้อง และต้องจ่ายค่าบัตรคืนให้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเราไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายนี้กับทางค่ายหรือศิลปินได้เลย และไม่สามารถพูด หรือประกาศได้ว่าการยกเลิกนั้นเป็นเพราะศิลปินหรือค่าย
เคยมีปัญหากับผู้จัดรายอื่นๆ บ้างไหม แก้ปัญหาอย่างไร
ไม่มีปัญหากับผู้จัดอื่นๆ ต่างคนต่างทำงานไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกัน แต่บางผู้จัดก็รู้จักกันดี ช่วยเหลือกัน และอาจจะมีแลกเปลี่ยนคนช่วยเหลือกันด้วย
คิดว่าการจัดคอนเสิร์ตในไทย มีอะไรที่ดีมากๆ และมีอะไรที่ควรปรับปรุงสุดๆ เพื่อให้กรุงเทพเป็นเมืองคอนเสิร์ตอย่างแท้จริง
ที่ดีมากๆ คิดว่าน่าจะความสนุกของแฟนคลับที่มักจะเอนจอยกับทุกโชว์ทุกศิลปินทำให้ทุกโชว์สนุกได้ ส่วนปรับปรุง เรื่องการจ่ายใต้โต๊ะจ่ายส่วย ที่ผู้จัดโดนเรียกจากบางหน่วยงาน หรือบางบุคคลที่อ้างว่าสามารถจัดการกับภาครัฐได้ในจำนวนไม่น้อย ก็เป็นปัญหาที่อยากให้กำจัดบุคคลเหล่านี้ กำจัดระบบการเรียกส่วยหรือจ่ายใต้โต๊ะให้หมดสิ้นไป เพราะจะทำให้ต้นทุนของเราน้อยลงได้
บางครั้งเห็นศิลปินมาเอเชียทัวร์ แต่ไม่มาเล่นในกรุงเทพฯ คิดว่าเป็นเพราะอะไร (ศิลปินค่าตัวแพงเกินไป? คิวศิลปินไม่ลงตัว? ฯลฯ)
ได้หลายสาเหตุทั้ง ค่าตัวสูงเกินไป อย่างที่บอกหลายศิลปินคิดค่าตัวสำหรับโชว์ที่ไทยแพงกว่าประเทศอื่นในเอเชียหลายเท่าตัว หรืออาจจะด้วยคิวศิลปิน หรือบางศิลปินไม่อยากมาเมืองไทย ไม่อยากโชว์ที่ไทยก็มี
มีอะไรอยากบอกแฟนคลับหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องบัตรคอนเสิร์ต และการจัดคอนเสิร์ตในแต่ละครั้ง ที่แฟนๆ อาจไม่ทราบหรือเข้าใจผิดอยู่
อย่างที่แจ้งไปเรื่องราคาอยู่ที่ต้นทุนของแต่ละงาน สิทธิพิเศษอยู่ที่ค่ายและศิลปิน
ในส่วนของการเป็นผู้จัด คิดว่าตัวเองมีข้อดี/ข้อเสีย/ข้อที่ควรปรับปรุงอย่างไร เพื่อให้การจัดงานในครั้งต่อๆ ไปดีขึ้นกว่าเดิม
ข้อเสียแต่ละจุดที่ได้รับฟีดแบคจากแฟนคลับแต่ละงานมา เราพยายามที่จะปรับปรุง และพัฒนาให้ดีขึ้นทุกครั้งอยู่เสมอ และยินดีที่จะรับฟังอยู่เช่นเคย ดังนั้นน่าจะมีอีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้และปรับปรุงกันไปอีก
สรุปแล้ว สิ่งที่อยากให้แฟนคลับเข้าใจกันมากขึ้นคือ
- ค่าบัตรคอนเสิร์ต จะแพงหรือถูก ขึ้นอยู่กับต้นทุน ที่มีทั้งค่าตัวศิลปิน ค่าโปรดักชั่น ค่าที่พักและการดูและศิลปินและทีมงาน จำนวนทีมงาน ค่าทีมงานในไทย และอื่นๆ
- ศิลปินแต่ละคน มีค่าต้นทุนต่างกัน สูงต่ำไม่ได้เกี่ยวกับความนิยมของศิลปินนั้นๆ เสมอไป เพราะนอกจากค่าตัวก็ยังมีค่าอื่นๆ อีก
- อย่างไรก็ตาม ศิลปินเกาหลีที่มาแสดงในไทย มีการแข่งราคากันโดยผู้จัดในไทยหลายๆ เจ้า เลยอาจทำให้ค่าตัวของศิลปินนั้นในไทยสูงกว่าในประเทศอื่นๆ และค่าตัวของศิลปินที่สูงขึ้นก็ส่งผลต่อราคาบัตรตามไปด้วย
- หากอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยกำหนดราคาบัตรคอนเสิร์ตไม่ให้สูงเกินไป ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยแบ่งเบาเรื่องต้นทุนก่อน มิฉะนั้นหากกำหนดราคาเพียงอย่างเดียว แล้วผู้จัดทำราคานั้นไม่ได้เพราะจะขาดทุน ก็จะลงเอยที่การไม่ได้จัด
- สิทธิพิเศษ การเข้าไปเจอศิลปินหลังเวที สถานที่จัดคอนเสิร์ต ราคาบัตร ฯลฯ ทุกอย่างได้รับการยืนยันจากต้นสังกัดของศิลปินเรียบร้อยแล้ว หลายๆ อย่างทางศิลปินเป็นคนขอที่จะไม่ทำเอง ซึ่งทางผู้จัดต้องรับผิดชอบรับหน้าให้ไปโดยปริยาย และไม่สามารถเปิดเผยความลับใดๆ ได้ เพราะจะมีค่าปรับหากทำให้ศิลปินเสียหายหรือเสื่อมเสียชื่อเสียง
- การแจ้งฟีดแบ็คในเรื่องของราคาบัตร สิทธิพิเศษต่างๆ สถานที่จัดงาน สามารถเรียกร้องไปที่ค่ายของศิลปินโดยตรงได้เลย
- กรุงเทพฯ เมืองคอนเสิร์ต เป็นไปได้ หากภาครัฐช่วยเรื่องต้นทุนของผู้จัด ระบบการซื้อขายบัตรไม่มีปัญหา แฟนคลับอดใจไม่ซื้อบัตรอัพราคา รักษากฎในการเข้าคอนเสิร์ต และเอนจอยกับศิลปินอย่างเต็มที่อย่างที่ทำมาตลอด