รู้จัก Hard Boy กับความคนึงหาอดีตร็อคยุคคุณพ่อ และฝันที่อยากพังเส้นแบ่งทางเพศ
เรียกได้ว่าเป็นเซอร์ไพรส์ปลายปี 2022 ที่ผ่านมาเมื่อวงแฮร์แบนด์ และแกลมร็อคยุค 80 อย่าง Hard Boy ที่มีสมาชิกอย่าง ภีร์-ภีรพัฒน์ ผู้พัฒน์ (ร้องนำ), ฟลุ๊ค-ศุภกร กรินชัย (กีตาร์), ต้อม-นุกูล แช่มประเสริฐ (เบส), ภู-พฤกษ์ไพบูลย์ (คีย์บอร์ด) และ เล้ง-ธนัช ธเนศจินดารัตน์ (กลอง) ได้มาอยู่ค่าย Gene Lab ที่ดูแลโดย โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ
ด้วยแนวดนตรีที่แตกต่างและความสามารถไปจนถึงการทำผลงานและสินค้า Merchandise ด้วยความแตกต่าง ทำให้ทาง Sanook Music ขอมาคุยกับ Hard Boy ถึงจุดเริ่มต้นและความรักในดนตรีร็อคที่อาจไม่ได้อยู่ในกระแสตอนนี้ พร้อมเปิดตัวตนพวกเขาผ่าน Sanook Resume
Hard Boy มารวมตัวได้อย่างไร
ภู : ผมกับน้องฟลุ๊คมือกีตาร์เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเก่า ห่างกัน 10 ปี แล้วเราไปเจอกันที่งานคืนสู่เหย้า ก็ตั้งวงกับมือกลองคนแรก และหานักร้อง ก็ไม่รู้ว่าจะไปเอาใคร และเจอภีร์คัฟเวอร์ YouTube บนช่องของเขาเอง ก็เลยสนใจว่านักร้องคนนี้เสียงสูง ก็ให้เพื่อนมือกลองติดต่อ ก็สนใจมาเล่นด้วย
ภีร์ : ก็ด้วยความที่มีการเปลี่ยนสมาชิก ก็มีการออดิชั่น และมาเจอพี่ต้อมที่ชอบในฝีมือก็ดึงเข้ามาครับ มันไม่ใช่เพื่อนสมัยเรียน ทุกคนก็ทำงานมีความรับผิดชอบที่มีต่อกัน เทคแคร์ความรู้สึก ก็จูนไม่นานเพราะทุกคนรสนิยมคล้ายกัน มีความชอบแนวทางเดียวกัน เป้าหมายใกล้ๆ กัน ก็ทำงานกันได้ครับ
เราหลงใหลอะไรในดนตรีแฮร์แบนด์ แกลมร็อค ยุค 80
ภีร์ : ทุกคนในวงชอบร็อคแหละครับ สายไหนก็ได้ แต่ที่ตรงสุดคือแฮร์แบนด์ อย่างแรกเลยทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง ผมหลงดนตรียุค 80 ผมเกิดยุค 90 2000 ก็โตมาระดับหนึ่ง และสงสัยว่าศิลปินที่เราชอบเขาฟังอะไร ก็อยู่แล้วอยู่เลยครับ ฟังอยู่อย่างนั้นครับ
ภู : น่าจะสมัยเรียนอาจารย์ต่างชาติเยอะ ก็โยนมาแบบ Bon Jovi แล้วงานโรงเรียนก็จะแบบเล่นไหมๆ เราก็ไม่เคยฟังได้อิทธิพลจากอาจารย์ชวนไปเล่น
เล้ง : คือถามว่าชอบ 100% ก็ไม่เชิง แต่เราฟังดนตรียุคปัจจุบัน ตอนนี้เรา 28 ถ้าตรงรุ่นก็ Nu Metal เป็น Linkin Park อะไรอย่างงี้ครับ พอฟังเยอะขึ้นเมทัล ก็ย้อนกลับไปฟังว่ามันเกิดมาได้อย่างไร เจอความเป็นดนตรีเพียวๆ เพราะแต่ก่อนร็อคไม่เป็นแบบแผน ABC มันมั่วไปหมด ยุคนั้นมันทดลอง ดนตรีมันขบถ มันเป็นสารตั้งต้นทุกอย่างพอกลับไปฟังก็ชอบครับ
ต้อม : อยากเล่นให้คุณพ่อ พอคุณพ่อสิ้น ก็อยากเล่นให้ตัวเองและคนที่รักครับ
ฟลุ๊ค : เล่นแต่เด็กเพราะคุณพ่อชอบครับ แต่ตอนแรกไม่ชอบ แต่พอเริ่มเล่นกีตาร์แล้วผมชอบพี่เสก LOSO ก็ย้อนฟังว่าเขามีใครเป็นไอดอลก็เจอ Jimi Hendrix, The Door, Deep Purple ก็ไล่มา 70 80 และ 80
เรามาอยู่ Gene Lab ได้อย่างไร อะไรคือสิ่งที่ทำให้วงที่จบงานเองได้แบบเรา เลือกบ้านหลังนี้
ภีร์ : มีอยู่วันหนึ่งผมอยู่คอนโด และมีเบอร์คุณปัณฑพลโทรขึ้นมา ก็แบบเขาจะโทรหากูทำไม ก็รับสายสวัสดีครับพี่โอม ก็บอกว่า Gene Lab อยากได้ Hard Boy ก็กรี๊ดลั่นห้องเลย ก็บอกว่าวงสะดวกวันไหนมาคุยที่ค่ายหน่อย ก็วางสายนัดประชุมวงและแจ้งข่าวว่าเขาติดต่อมา ก็ตอนนั้นปล่อยเพลงไป 2 เพลงและเขาติดต่อมาครับ ผมตามค่ายนี้อยู่แล้ว และในไทยมีค่ายเราเล็ง และ Gene Lab คือหนึ่งในนั้น ก็ตามศิลปินและดูแนวคิดพี่โอมในฐานะผู้บริหารว่าแกคิดยังไง แล้วแกดูแลศิลปินยังไง ก็มาคุยในวงว่าอยู่ดีไหม เรื่องลิขสิทธิ์ก็คิดและคุยกัน แต่สุดท้ายผลประโยชน์มันกลับมาที่เรา เขาแบ่งชัดเจน เราแบ่งให้เขาในฐานะคนที่ลงทุนให้เรา ส่วนที่เราได้ในฐานะนักแต่งเพลงก็ได้ ไม่ได้กังวลเท่าไหร่ครับ ประกอบกับเดิมทีเราทำกันเองเป็นวงอิสระก็ทำเอง อาร์ตเวิร์ค โปรโมต งานหลังบ้าน สินค้า เอ็มวี เราต้องทำเองหมดก็เหนื่อยมาก เอ็มวี 1 ตัวก็ต้องลงขันกัน ทำเสื้อขายกว่าจะมีเงินเข้าห้องอัด ก็อยู่ค่ายมีบุคลากรซัพพอร์ทดีกว่าครับ
อยู่ในค่ายนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ภีร์ : ก็มีพี่ เชา Cocktail (ชวรัตน์ หรรษคุณาฒัย) เป็นโปรดิวเซอร์ ตัดส่วนเกิน เพิ่มส่วนขาด มีเพลงนี้ๆ ช่วยกันคิด ช่วยกันเลือกว่าเพลงไหนปล่อยอะไร ตรงนี้ดีหรือยัง
ทำไมถึงแนะนำตัวกับค่ายด้วยเพลง “ค่ำคืนนั้น”
ภีร์ : “ค่ำคืนนั้น” เป็นเพลงที่ปล่อยออกมาให้คนรู้ว่า Hard Boy เป็นใคร มันคือแบบนี้ ภาพและเสียง อุปกรณ์เครื่องดนตรีตรงยุค อย่างกลองก็ยุค 80 แอมป์ที่ฟลุ๊คใช้ก็ยุคนั้น เอ็มวีก็ 4 ต่อ 3 เป็นเรทโทรทั้ง เอ็มวีก็ฟีดแบคดี เกือบล้าน ก็ดีสุดที่ปล่อยมาครับ
เล้ง : อยากให้วิชวลชัดว่าเราเป็นวงอะไร คือทุกอย่างไม่ว่าแฟชั่น เอ็มวี แสงสี วิดีโอ อยากให้ชัดเจนว่านี่คือตัวเรา
อะไรคือสิ่งที่ทำให้วงใส่ใจดีเทลขนาดนี้ทั้งเพลงและสินค้าที่ปล่อยออกมา
ภีร์ : มันเป็นสิ่งที่เรารัก เราอยากเผยแพร่สิ่งที่เรารัก เลยใส่ใจเป็นพิเศษ มีแพชชั่นความต้องการว่าอยากได้อย่างดี เลยลงดีเทลว่าต้องการอะไร เสื้อกับอาร์ตเวิร์คก่อนอยู่ค่ายผมก็ออกแบบ แต่ตอนนี้มีทีมค่ายช่วยครับ แบบเราอยากได้อะไรเขาก็ทำให้ครับ และตามใจเรามากๆ ครับ
“เธอชอบมันหรือชอบร้องไห้มากกว่ากัน” ต่างจากเพลงแรกอย่างไร
ภีร์ : ต่างครับ เราต้องละเอียดกับการร้อยเรียงอารมณ์ เพลงเร็วมันจะใส่ๆ เพลงช้ามันจะต้องละเอียดกว่านั้นมากๆ วิธีที่เขียนต้องใช้ทำนองมาก่อน และหาคำมาเข้ากับเมโลดี้ แต่เพลงนี้ผมเขียนกับวง ก็มีโจทย์ “เธอชอบมันหรือชอบร้องไห้มากกว่ากัน” ว่าฮุค พรีฮุค เวิร์ส ต้องการแบบนี้ และร้องออกมาเลยครับ เพลงนี้ก็ค่อนข้างเรียลไทม์ครับ เขียนจากการแจมและอ่านสิ่งที่เขียนเลยต่างกันครับ
อยากเห็นอะไรในวงการเพลงศิลปินแฮร์แบนด์ แกลมร็อค ไทยบ้าง
ภีร์ : อยากเห็นผู้ชายไว้ผมยาว ผมอยากเห็นคนลุคขึ้นมาแต่งตัว แต่งหน้า อยากเห็นการลดลงเส้นแบ่งระหว่างเพศ อยากเห็นอะไรที่สนุกขึ้นครับ
ณ จุดหนึ่งแนวดนตรี หรือศิลปินที่แตกต่างมักเจอการตั้งคำถาม เราคิดอย่างไร กังวลไหม
ภีร์ : ไม่นะครับ ร็อคเนี่ยมันอยู่กับไทยมานาน คนยุคนี้ต้องรู้จัก เคยมีมาก่อน แต่ถ้าเป็นน้องๆ คนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่เปิดกว้างไม่ค่อยปฎิเสธ อะไรที่ไม่ชอบก็จะไม่สนใจ อะไรที่ชอบก็จะศึกษาต่อ เพราะฉะนั้นไม่กังวลว่าจะเจอคนที่ไม่ชอบ มันก็มีคนที่โจมตีบ้าง แต่ก็ไม่เป็นไรครับ รสนิยมใคร รสนิยมมันครับ
ภู : เป็นตัวเลือกให้คนแล้วกันครับ ถ้าชอบไม่ชอบ ก็เปิดใจ อาจจะชอบก็ได้ ถ้าไม่เคยฟังก็อาจไม่เคยเจอดนตรีแบบนี้มาก่อน เราเป็นตัวเลือกแล้วกัน
แล้วถ้ามีคนที่อยากเป็นแบบ Hard Boy เราจะบอกอะไรเขา
ภีร์ : มาเลย! จะดีใจมากๆ ถ้ากลุ่มนี้มันโตขึ้น ถ้าทำเยอะแสดงว่าคนฟังเยอะ แล้วมันจะขยายตาม ถ้าแนวไหนมีอยู่วงเดียวแสดงว่าแนวนั้นไม่โต ก็มาเลย มาอยู่บนเวทีเดียวกัน มาเล่นด้วยกันครับ
ภู : วงดนตรีแบบเดียวกันมาเล่นด้วยกัน มันมีความสนุกครับ ว่าแบบมีคนเล่นแบบเดียวกับเรา มันได้เจอเพื่อนใหม่ครับ
Hard Boy : มันเป็นพลังงานในการใช้ชีวิตนะครับ ก็เราได้พลังจากรุ่นอดีต ก็เป็นสิ่งที่ดี มันเป็นสิ่งที่ดีครับ วันหนึ่งที่คนอยากทำแบบเรา แสดงว่าเรามีคุณค่ามากพอที่จะมีอิทธิพลกับเขา สิ่งนั้นมันดีมากๆ เรามีไอดอล แล้วถ้าวันหนึ่งมีคนอยากเป็นแบบเรา พูดแล้วก็ขนลุกเลยครับ
หลังจากนี้ Hard Boy จะมีอะไรให้ติดตามบ้าง
ภีร์ : มีวางแผนทำอัลบั้มกัน เพราะทำเพลงเก็บไว้พอสมควรแล้ว มีเพลงมากพอทำอัลบั้มแล้ว ก็จะหลากหลายครับ ใครที่ชอบ Hard Boy สิ่งที่คุณชอบยังมีอยู่ แต่จะได้เห็นเพิ่มเติมครับ
อยากให้ Hard Boy ถูกจดจำอย่างไร
Hard Boy : วงที่เท่และผมยาว (หัวเราะ) ผมอยากให้เห็นว่ายุค 2020 มีวงแบบเราและอยู่ไปเรื่อยๆ ครับ เป็นความรู้สึกเดียวกัน ที่เห็นวงที่เราชอบและอยู่ถึงทุกวันนี้ อยากให้คนพูดถึงแบบนี้ คือบอกว่าอยากเป็นตำนานก็ดูเว่อร์ เพ้อเจ้อ เหมือนเด็กอยากเป็นร็อคสตาร์ แต่เราอยากเป็น และถ้าเป็นได้แล้วมองกลับมาคงดีใจครับ อยากให้ร็อคมีซีนในวงการมากกว่านี้ คิดถึงยุคที่ใครๆ ก็ฟังเพลงร็อค แต่เดี๋ยวนี้คนฟังเพลงที่ชอบแบบไม่มีสื่อป้อนแล้วครับ แต่ก็ทำเพลงและอยากให้เข้าถึงคนเยอะๆ ครับ อยากให้คนไม่ได้ฟังร็อคมาฟังดูครับ
อัลบั้มภาพ 22 ภาพ