ปัจจัยว่าด้วยภาษา พื้นที่ และเวลา ที่ทำให้ "อีสานคัลเจอร์" เป็นขวัญใจมวลชน
- ภาษาลาวเป็นภาษาที่คล้ายกับเสียงดนตรีและมีเฉดความหมายของคำ เช่น ขาวจูนพูน ขาวจากพาก แดงจายวาย ฟ้าอึมคึม ฯลฯ ทั้งยังมีสำเนียงที่หลากหลาย ทำให้คนลาว ชาวอีสานร้องรำทำเพลงได้โดดเด่นและหลากหลายท่วงทำนอง
- ประกอบกับอีสานเป็นภาคใหญ่สุด มีประชากรเยอะสุด (หากที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรงบประมาณการพัฒนาเฉลี่ยต่อหัวแย่สุด) ทำให้ฐานคนฟังเพลงอีสานด้วยสำเนียงภาษา วัฒนธรรมเดียวกันมีจำนวนสูงมาก อีกทั้งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย กลายเป็นภูมิภาคที่มีการปรับตัว ผสมผสานทางวัฒนธรรมอยู่เสมอ ทำให้วัฒนธรรมอีสานกลายเป็นวัฒนธรรมที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้ง่าย
- ปัจจัยต่างๆ ที่ว่ามา และปัจจัยอื่นๆ ทั้งในมิติภาษา พื้นที่ และเวลา ทำให้เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่วันนี้นักดนตรีอีสานจะติดอันดับยอดวิวสูงสุด มียอดร่วมกันกว่าพันล้าน
เป็นที่น่าสังเกตว่า 10 อันดับยอดวิวสูงสุดบนยูทูบ ปี 2020 จำนวน 7 ใน 10 มีพื้นเพเป็นคนอีสาน เริ่มจาก มนต์แคน แก่นคูน จากยโสธร 976 ล้านวิว อันดับ 1, พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ หนองคาย 587 ล้านวิว อันดับ 4, Illslick ขอนแก่น 579 ล้านวิว อันดับ 5, ‘ไผ่’ – พงศธร ยโสธร 497 ล้านวิว อันดับ 6, จินตหรา พูนลาภ ร้อยเอ็ด 444 ล้านวิว อันดับ 8, RachYO โคราช 357 ล้านวิว อันดับ 9, ลำเพลิน วงศกร บุรีรัมย์ 355 ล้านวิว อันดับ 10 และถ้านับว่า ลิซ่า สมาชิกวง BLACKPINK ที่พื้นเพมาจากบุรีรัมย์ ก็เรียกได้ว่ามีศิลปินอีสานติดอันดับถึง 8 ใน 10 เลยทีเดียว
ในฐานะคนอีสาน ถามว่าแปลกใจไหมกับปรากฏการณ์นี้ ตอบว่าไม่แปลกใจเท่าไหร่นัก เพราะมันมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง ยิ่งถ้าพิจารณาในมิติทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ซึ่งสองอย่างนี้เดินทางมาบรรจบกันพอดีในช่วงจังหวะเวลาที่โลกอยู่ในยุคโซเชียลฯ
ในมิติทางวัฒนธรรมนั้น ผมสนใจพิจารณามิติของภาษา คือถ้าเราอ่านงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ โดยเฉพาะเรื่อง โองการแช่งน้ำ จิตรยืนยันว่าแม้แต่ โองการแช่งน้ำ ซึ่งเป็นโคลงที่สำคัญและเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยานั้นก็เป็นภาษาของคนลุ่มน้ำโขง ลักษณะโคลงก็คือโคลงห้าแบบที่คนลาวลุ่มน้ำโขงใช้กัน
และถ้าได้อ่านได้ฟังที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียน พูด และบรรยายโดยประมวลสรุปจากการอ่านงานวิจัย เอกสารและบทความต่างๆ ก็ชี้ว่าแต่เดิมนั้น ตั้งแต่ใต้จีนลงมาตามลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำน่าน จนมาเจ้าพระยาและออกทะเล ล้วนใช้ภาษากลางภาษาหนึ่งสื่อสารค้าขายคือภาษาตระกูลไท (ไต)-ลาว
พิจารณาจากจุดนี้ จะเห็นว่าภาษาลาวหรือไท-ลาวนั้นได้ปูพรมในพื้นที่ประเทศไทยนี้มาเนิ่นนานแล้ว
และในยุคต่อมา ที่มีการกวาดต้อนคนลาวเข้ามาขนานใหญ่ถึง 2 ครั้ง ก็ยิ่งขยายฐานของภาษาและมวลชนออกไปมาก ครั้งแรกสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีระบุว่า เมื่อระหว่าง พ.ศ. 2321 กับ พ.ศ. 2322 ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 พระเจ้ากรุงธนฯ ได้มีพระราชโองการให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราชเป็นแม่ทัพยกขึ้นไปปราบประเทศลานช้าง มีชัยชนะ จับได้อุปฮาดและเจ้านันทเสนและราชบุตรบุตรีวงศานุวงศ์ชะแม่สนมกำนัลและขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง กับทั้งทรัพย์สินและเครื่องสรรพศัสตราวุธปืนใหญ่น้อยเป็นอันมาก สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกให้กวาดขนข้ามมาไว้ ณ เมืองพานพร้าวฟากตะวันตก กับทั้งครอบครัวชาวลาวเมืองทั้งปวง… แล้วกวาดครอบครัวลาวชาวเมืองกับทั้งราชบุตรธิดา วงศานุวงศ์และขุนนางเพี้ยทั้งปวง กับทรัพย์สิ่งของเครื่องศัสตราวุธและช้างม้าเป็นอันมาก และเชิญพระพุทธปฏิมากรพระแก้วและพระบางขึ้นรถเลิกทัพกลับยังกรุงธนบุรี โดยพระราชกำหนดและกองทัพมาถึงสระบุรีในเดือนยี่ปีกุน เอกศก จุลศักราช 1141 พุทธศักราช 2322
และครั้งใหญ่ที่สุดคือสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงกบฏเจ้าอนุวงศ์ ทำให้ประเทศลาวแทบร้าง และคนลาวก็กระจายไปอยู่ตามที่กวาดต้อนทั่วประเทศถึงภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ตามความตอนหนึ่งในใบบอกที่กรมพระราชวังบวรฯ จอมทัพมีจดหมายรับสั่งให้กราบบังคมทูลฯ เรื่องเมืองเวียงจันทน์ (หน้า 63 แห่งพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 พิมพ์ พ.ศ. 2481) ว่า จะคิดเอา (เชลยชายฉกรรจ์) ต่างหาก จึงต้องคิดกดหัวเมือง 6 เมืองว่า มาไม่ทันทัพหลวงตีเมืองเวียงจันทน์ตามกำหนดอยู่ในระหว่างทัพมีโทษ พระยานครลำปาง, พระยาอุปราชเชียงใหม่, อุปราชลำพูน, พระยาน่าน, หัวหน้าเมืองแพร่, อุปราชเมืองหลวงพระบาง จึงทำเรื่องราวสารภาพขอพระราชทานทำการฉลองพระเดชพระคุณแก้ตัว จะติดตามตัวอ้ายอนุ, อ้ายปาศักดิ์, อ้ายราชวงศ์, อ้ายสุทธิสาร, อ้ายโถงกับบุตรภริยาญาติพี่น้องทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถึงมาตรว่าจะมิได้ตัวก็ไม่ได้กลับมาตั้งเป็นเสี้ยนหนามในแผ่นดินขึ้นได้ แล้วจะกวาดครอบครัวทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้ได้ฉกรรจ์ 10,000 ทั้งครอบครัวเป็นคน 50,000 ขอแต่กองทัพข้าราชการกรุงไว้ 1,000 หรือ 500 คน นายอยู่ด้วยสัก 2 นาย
และในหน้า 96 ว่า ครัวเมืองเวียงจันทน์ครั้งนั้นโปรดให้อยู่เมืองลพบุรีบ้าง เมืองสระบุรีบ้าง เมืองสุพรรณบุรีบ้าง เมืองนครไชยศรีบ้าง พวกเมืองนครพนม พระอินทร์อาสาขึ้นไปเกลี้ยกล่อมก็เอาไว้ที่เมืองพนัสนิคมกับด้วยลาวอาสาปากน้ำซึ่งไปตั้งอยู่ก่อน
ข้อยืนยันในเรื่องที่ว่าคนลาวกระจายอยู่ทั่วไปในภาคกลางอีกอย่างหนึ่ง คือในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 4 หน้า 315 มีความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงเรื่องพระปิ่นเกล้าทรงโปรดแคนว่า พระองค์โปรดแคน ทรงไปเที่ยวตามเมืองพนัสนิคมบ้าง ตามบ้านสำประทวนเมืองนครไชยศรีบ้าง บ้านสีทาแขวงเมืองสระบุรีบ้าง พระองค์ฟ้อนและแอ่วได้ชำนิชำนาญ ถ้าไม่ได้เห็นพระองค์แล้วก็สำคัญว่าลาว
และความพิเศษอย่างหนึ่งของภาษาลาวนั้นก็คือเป็นภาษาที่มีเสียงให้ความรู้สึกที่ชัดเจนและหลากหลาย และคล้ายกับเสียงดนตรีและมีเฉดของคำ เช่น ขาวจูนพูน ขาวจากพาก แดงจายวาย แดงจืงคืง ดำขื่อหมื่อ ดำขี่หมี่ ฟ้าสีแหล่ๆ ฟ้าอำคำ ฟ้าอึมคึม เป็นต้น (ไม่ขอแปลนะครับ ไปถามคนลาวอีสานเอาเอง) อีกทั้งยังมีสำเนียงที่หลากหลาย และด้วยสำเนียงที่หลากหลายนี้เองที่ทำให้ภาษาหรือคำมาตรฐานที่ใช้เขียนกันอยู่ (ที่เราเข้าใจว่าภาษาอีสาน ซึ่งจริงๆ ก็ภาษาลาวนั่นแหละ) ต้องใช้คำกลางๆ เสียงกลางๆ และมักไม่ตรงกับเสียงพูดจริงๆ อย่างเพลง คำว่าฮักกันมันเหี่ยถิ่มไส ของ มนต์แคน แก่นคูน เขียนแบบนี้ แต่ลองเปิดฟังดูเสียงมันจะไม่ตรงว่า จะออกเสียงว่า วา, เหี่ย จะออกเสียงว่า เฮีย และก็ด้วยสำเนียงภาษาที่หลากหลายนี่เองที่ทำให้คนลาวคนอีสานร้องลำได้เด่นและหลากหลายท่วงทำนองมาก
ประกอบกับอีสานเป็นภาคใหญ่สุด ประชากรเยอะสุด และที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรงบประมาณการพัฒนาถ้าเฉลี่ยต่อหัวนี่แย่สุด ทำให้การวางแผนครอบครัว สาธารณูปโภคล้าหลังสุด มีผลต่อการเพิ่มจำนวนประชากร และอย่าลืมว่าอีสานที่เราว่าๆ กัน ส่วนใหญ่ราวๆ ร้อยละ 70-80 คือลาว และลาวอีสานแยกไม่ออกจากลาวประเทศลาว (หรือเขมรในอีสาน ก็แยกไม่ออกจากเขมรที่กัมพูชา) ที่มันแยกก็เพราะประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เราเขียนกันให้เรียนนี่แหละ นั่นหมายความว่าฐานคนอีสานที่ฟังเพลงอีสานนี่ต้องนับรวมคนลาวในประเทศลาวและกัมพูชาด้วย เพราะใช้ภาษาเดียวกัน (ต่างสำเนียง) และคนลาว คนกัมพูชา และคนลาวอีสาน คนเขมรอีสาน ก็เป็นคนที่ไปอยู่ต่างประเทศฝั่งยุโรป อเมริกามากสุด ฐานประชากรก็ขยายออกไปไกลและกว้างมาก การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมก็สูงมาก
อีกทั้งการที่พื้นที่ของภาคอีสานเป็นประหนึ่งรัฐกันชนของราชสำนักสยามหรือศูนย์กลางอำนาจรัฐไทย เป็นชายขอบของประเทศที่ตัวตนเราเองก็ไม่รู้จะเป็นอะไร เช่น คนอีสานแถวสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ (บางส่วน) จะเป็นไทยหรือเขมร จังหวัดที่เหลือส่วนใหญ่เป็นลาว แต่ก็เหมือนไม่ชัดเจนว่าจะเป็นไทยหรือลาว ส่วนโคราชแม้จะมีวัฒนธรรมแบบภาคกลางแต่ก็มีความหลากหลายของชนชาติมาก สุดท้ายเป็นอีสาน ตรงนี้เองที่กลายเป็นจุดหรือพื้นที่ที่ต้องปรับตัวอยู่ตลอด และเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมอย่างเข้มข้น และกลายเป็นวัฒนธรรมที่เข้าถึงคนได้ง่ายและหลากหลาย
ยิ่งในยุคสงครามเย็นที่อีสานกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ มีฐานทัพอเมริกาเป็นเวลานาน มีการนำเข้าวัฒนธรรมเพลง ดนตรี ก็เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมดนตรี อาหารการกินกันอย่างมีสีสัน และที่สำคัญ พอฐานทัพเลิกก็เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของคนอีสานไปต่างประเทศพร้อมกับเพื่อนบ้านเผ่าพันธุ์เดียวกันอย่างลาว เขมร เวียดนาม ก็ขยายพื้นที่การผสมผสาน พัฒนาวัฒนธรรมมากขึ้น พร้อมๆ กันนั้น พอฐานทัพแตกก็เกิดแรงงานอีสานอพยพเข้าสู่กรุงเทพฯ และเมืองเศรษฐกิจในภาคกลาง ภาคตะวันออกอย่างขนานใหญ่ สมทบส่วนกับลาว/เขมรที่กระจายอยู่เดิม เป็นฐานมวลชนรองรับศิลปวัฒนธรรมของอีสาน
ช่วงนี้เองที่เป็นยุคทองช่วงแรกของดนตรีและเพลงอีสาน และก็มีพัฒนาการมาเรื่อย
เมื่อบวกรวมปัจจัยต่างๆ ที่ยกมา จึงไม่แปลกที่วันนี้จะทำให้เกิดยอดวิวเกือบพันล้านเป็นอันดับหนึ่งของประเทศของศิลปินนักร้องอีสาน และติดอันดับท็อปมาอีก 6-7 คน/วง
แต่ปัจจัยชี้ขาดคือช่วงเวลา ที่ยุคนี้เป็นยุคโซเชียลฯ ยากดีมีจนมันก็มีโทรศัพท์มือถือกันหมด เข้าถึงข้อมูลกันหมด รัฐไม่สามารถกำกับได้อีกแล้ว กระแสวัฒนธรรมโซเชียลฯ มันก้าวข้ามและทำลายกำแพงรัฐ และประชาชนได้แสดงออกอย่างเต็มที่และเสรีในโลกโซเชียลฯ
ลองให้เรื่องนี้ย้อนไปสมัยมีแต่วิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์สิ รับรอง มนต์แคน แก่นคูน ไม่ได้อยู่ตรงนี้แน่นอน