K-POP 101: เฉลยแล้ว! วงที่เราติ่ง อยู่ GEN ไหน? วิธีแบ่งยุคสมัย K-POP ไม่ยากอย่างที่คิด
เชื่อว่าหลายคนที่ตามวงการ K-POP ต้องเคยได้ยินคำว่า "GEN" (เจน) หรือ "รุ่น" ติดหูกันมาบ้างแล้วใช่ไหม? ไม่ว่าจะเป็น "เกิร์ลกรุ๊ปเจน 2" "บอยแบนด์เจน 4" หรือแม้แต่ "ตัวท็อปเจน 5" แต่เคยสงสัยไหมว่า GEN ใน K-POP นับอย่างไรกันแน่?
ใครที่สงสัยอยู่ หายห่วง! วันนี้ Sanook Music ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อไขข้อสงสัยว่าสรุปแล้ว GEN ใน K-POP แบ่งอย่างไร แล้ววงโปรดของเราอยู่เจนไหน? พร้อมทั้งเจาะลึกจุดเด่นของแต่ละ GEN
K-POP แบ่ง GEN อย่างไร?
วงการ K-POP มักแบ่งเจนตามปีที่เดบิวต์ แต่ไม่มีเกณฑ์ชัดเจนว่าแต่ละเจนเริ่มหรือจบเมื่อไหร่ โดยอาจอิงตามเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปในวงการ
สำหรับการแยก GEN ที่พบบ่อยมากที่สุด มีดังนี้
- K-POP GEN 1: ยุคบุกเบิก (เดบิวต์ในปี 1990-2004)
- K-POP GEN 2: ยุคทดลองการขยายไปตลาดต่างประเทศ (เดบิวต์ปี 2005 – 2011)
- K-POP GEN 3: ยุคทองK-POP บุกตลาดโลก (เดบิวต์ปี 2012-2017)
- K-POP GEN 4: ยุคอนาคตของ K-POP (เดบิวต์ 2018-2022)
- K-POP GEN 5: ยุคใหม่ (เดบิวต์ปี 2023-ปัจจุบัน)
เจาะลึก K-POP แต่ละยุคสมัย
K-POP GEN 1: ยุคบุกเบิก (เดบิวต์ในปี 1990-2004)
K-POP มีจุดเริ่มต้นในปี 1992 โดยมีวงบอยแบนด์อย่าง 'Seo Taiji and The Boys' ผู้บุกเบิกนำแนวเพลงใหม่ ๆ เข้ามาในวงการเพลงเกาหลีใต้
หากย้อนไปในช่วงก่อนวง Seo Taiji and The Boys จะเดบิวต์แนวเพลงในอุตสหกรรมเพลงเกาหลีใต้ แนวเพลงTrot (ลูกทุ่ง) และบัลลาด (เพลงช้า) เป็นเพลงที่นิยมในสมัยนั้น
แต่วง Seo Taiji and The Boys เดบิวต์ด้วยแนวเพลงที่ต่างออกไปจากกระแสนิยม โดยเลือกทำเพลงที่ผสมผสานดนตรีตะวันตกกับเนื้อเพลงภาษาเกาหลี ทั้งยังนำการเต้นเข้ามาประกอบในการแสเงอีกด้วย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ K-POP อย่างแท้จริง
ต่อมาในปี 1996 ค่าย SM Entertainment ได้เดบิวต์วงบอยแบนด์ “H.O.T” ที่ทำให้ K-POP เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในเกาหลีใต้ โดยเดบิวต์มาด้วยเพลงที่ติดหู และท่าเต้นแบบซิงโครไนซ์ ที่ไม่ได้ดึงดูดแค่แฟนคลับในประเทศ แต่ขยายไปในญี่ปุ่นอีกด้วย
หลังจากนั้นค่อย ๆ มีวงบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปเดบิวต์ออกมา เช่น Sechs Kies, S.E.S และ Fin.K.L
ในช่วงปลาย K-POP GEN 1 ได้มีการเดบิวต์ Shinhwa, god, และ Rain หลังจากเดบิวต์ของพวกเขา แนวเพลง K-POP ก็ได้รับความสนใจในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในประเทศเอเชียตะวันออก ถือเป็นจุดกำเนิดของคำว่า ‘hallyu’ (หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กระแสเกาหลี’) ที่ทำให้สื่อต่างประเทศเริ่มสนใจและรายงานเกี่ยวกับไอดอลเกาหลี ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเพลง แต่รวมไปถึงชีวิตส่วนตัวของพวกเขาอีกด้วย
ตัวอย่างวง K-POP GEN 1: Seo Taiji and The Boys, H.O.T, Sechs Kies, S.E.S, Fin.K.L, Shinhwa, god, BoA, Rain
K-POP GEN 2:ยุคทดลองขยายไปตลาดต่างประเทศ (เดบิวต์ปี 2005 – 2011)
เริ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้มีความผันผวน อย่างไรก็ตามธุรกิจความบันเทิง K-POP กลับสามารถสร้างกำไรได้อย่างโดดเด่น และเริ่มขยายตัวไปในระดับโลกมากขึ้น ส่งผลให้ K-POP กลายเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในประเทศเกาหลีใต้ ศิลปินในยุคนี้เริ่มมีการทัวร์คอนเสิร์ตแบบ “World Tours” มากขึ้น
นอกจากนี้ในช่วงยุค GEN 2 ยังเสนอภาพลักษณ์ให้ไอดอลดูเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มมีรายการวาไรตี้ที่มีไอดอลเป็นตัวหลักมากขึ้น ไม่ว่าจะรายการ Star King, Strong Heart หรือ We Got Married อีกทั้งยังเริ่มมีการทำวาไรตี้ของวงโดยเฉพาะ เช่น รายการ Hello Baby SHINee, Sesame Player INFINITE เป็นต้น
ต่อมาในปี 2010 ซึ่งช่วงปลายของยุค GEN 2 หรือที่บางคนเรียกว่ายุค GEN2.5 ได้เริ่มมีสิ่งที่เรียกว่า “การปั่นวิว” มากขึ้น เนื่องจากในช่วงนั้นเอง เป็นยูทูปเริ่มบูมสุด ๆ ทำให้แฟนคลับต่างแข่งขันกันด้วยยอดวิวของศิลปินในยูทูป
จนในปี 2012 เพลง Gangnam Style ของ PSY สร้างปรากฏการณ์ระดับโลกด้วยยอดวิวกว่า 4,600 ล้านครั้ง ส่งผลให้ K-Pop ก้าวกระโดดในตลาดสหรัฐฯ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ K-POP Gen ต่อมา
ตัวอย่างไอดอล GEN 2: SUPER JUNIOR, GIRLS’ GENERATION, SHINee, BIGBANG, 2NE1, WONDER GIRLS, 2PM, INFINITE, BEAST, PSY, APINK
K-POP GEN 3: ยุคทอง K-POP บุกตลาดโลก (เดบิวต์ปี 2012-2017)
สำหรับ K-POP GEN 1 เรียกได้ว่าเป็นรากฐานของวงการ K-POP ส่วน GEN 2 เป็นยุคที่ K-POP เริ่มสร้างรายได้ในวงกว้าง ทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ที่เข้าถึงได้มากขึ้น ดังนั้นสำหรับ GEN 3 เองก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นยุคที่ K-POP มีอิทธิพลในระดับโลกอย่างเต็มกำลัง
ก่อนหน้านี้จะเห็นได้ว่าไอดอลจะถูกเจาะจงไปที่แฟน ๆ เท่านั้น จากการมีวาไรตี้ต่าง ๆ อย่างไรก็ตามในนุคของ GEN 3 วงการไอดอลเริ่มมุ่งเป้าหมายไปในระดับสาธารณชนทั้งในและต่างประเทศ ความสำเร็จของ GEN 3 มีมากมาย จนสามารถเรียกได้ว่าเป็น “ยุคทองของวงการ K-POP”
ในยุคนี้โซเชียลมีเดียขยายตัวขึ้นอย่างมาก ทำให้ชาร์ตเพลงออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น แฟนคลับเริ่มมีการโหวตและสตรีมเพลงออนไลน์มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ภายในเกาหลีอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงในสหรัฐอีกด้วย จากความสำเร็จนี้ต่อยอดให้ศิลปิน K-POP ได้ร่วมแสดงในงานระดับนานาชาติมากขึ้น ทั้งงานประกาศรางวัล และการเป็น Brand Ambassador ในแบรนด์ระดับโลกมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ GEN3 ยังเป็นยุคทองรายการเซอร์วัลเวอร์ในเกาหลีอีกด้วย โดยมีหลายวงที่มาจากรายการเซอร์ไววัล เช่น ioi จาก Produce 101 ซีซั่น 1, Wannaone จาก Produce 101 ซีซั่น 2, TWICE จาก SIXTEEN และ MonstaX จาก MERCY
อีกหนึ่งสิ่งที่โดดเด่นสำหรับ GEN 3 คือ เริ่มมีคอนเซปต์วงที่ชัดเจนและแปลกใหม่มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างได้จากวง EXO ที่ปูคอนเซปต์มาว่า “เมมเบอร์ทั้ง 12 คนมีพลังวิเศษ และมาจากดาว EXO Planet” หรือวง B.A.P ที่มีคอนเซปต์ “เดบิวต์มาพร้อมกับคาแร็คเตอร์กระต่ายที่ชื่อว่า มาโทกิ ซึ่งแต่ละตัวมีเบื้องหลังของตัวเอง และมาจากต่างดาว” แม้กระทั่งวงเกิร์ลกรุ๊ปอย่าง Red Velvet ก็ยังมีการวางภาพลักษณ์วงไว้ 2 แบบ คือ ฝั่ง ‘Red’ จะเป็นเด็กสาวที่สดใส ส่วนฝั่ง ‘Velvet’ จะมีความดาร์คและแฝงสยองขวัญลึกลับไว้
ตัวอย่างวง GEN 3: EXO, Red Velvet, BLACKPINK, BTS, NCT, Wannaone, B.A.P, DAY6
K-POP GEN 4: ยุคอนาคตของ K-POP (เดบิวต์ 2018-2022)
K-POP GEN 4 มีคอนเซปต์และสไตล์ที่แตกต่างกันมากขึ้น โดยมีการหยิบยก ai หรือปัญญาประดิษฐ์มาเป็นคอนเซปต์ของวงมากขึ้น ไม่ว่าจะ aespa หรือ plave ที่มีการวาดตัวละคร ai ขึ้นมา
รวมไปถึงตั้งแต่ในช่วงปี 2019 ที่เริ่มมีวิกฤตการระบาดของโควิด 19 ทำให้วงการไอดอลเองก็มีการปรับตัวมากขึ้น ทั้งมีจัดคอนเสิร์ตแบบออนไลน์ เรียกได้ว่ามีการนำเทคโนโลยีเข้ามาสู่อุสาหกรรมไอดอลมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่าง K-POP GEN 4: NewJeans, aespa, IVE, LE SSERAFIM, TXT, StrayKids, ITZY, (G)I-DLE
K-POP GEN 5: ยุคใหม่ของ K-POP (เดบิวต์ปี 2023-ปัจจุบัน)
สำหรับภาพของ K-POP GEN 5 ความจริงแล้วยังไม่เห็นอย่างแน่ชัดเท่าไร อย่างไรก็ตามมีแฟนคลับหลายฝ่ายเริ่มแบ่ง K-POP ที่เดบิวต์ในปี 2023 เป็นต้นไปว่าเป็น GEN 5
ตัวอย่าง K-POP GEN 5: KISS OF LIFE, XG, BOY NEXT DOOR, RIIZE, ILLIT, xikers, tripleS, BABYMONSTER
อ่านเพิ่มเติม:
อัลบั้มภาพ 18 ภาพ