จีบ คนกรุงเทพ ดนตรีคลาสสิคชวนเสพเพื่อคนเมืองใหญ่ | Sanook Music

จีบ คนกรุงเทพ ดนตรีคลาสสิคชวนเสพเพื่อคนเมืองใหญ่

จีบ คนกรุงเทพ ดนตรีคลาสสิคชวนเสพเพื่อคนเมืองใหญ่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาพประกอบจากเฟซบุค JEEB Bangkokจีบ คนกรุงเทพ

ยุคที่ดนตรีและพรมแดนแห่งการสื่อสารเปิดกว้าง สมัยนี้หลายคนมีทางเลือกในการฟังเพลงที่ตัวเองชอบและอยากจะฟังโดยไม่ถูกปิดกั้น และไม่สำคัญว่าจะต้องบังคับหูและหัวใจให้ไหลตามกระแสอีกต่อไป ทางเลือกในการฟังเพลงทั้งเก่าและใหม่จึงหลากหลาย แต่ก็ยังพ่ายต่อดนตรีสูตรสำเร็จในท้องตลาด จะทำอย่างไรให้คนฟังเปิดใจพร้อมๆ กับการไม่ถูกปิดกั้น นั่นคือเรื่องท้าทายอีกอย่างหนึ่งของคนทำเพลงในยุคนี้

ไม่นานมานี้มีนักดนตรีวัยหนุ่ม (กลุ่มใหญ่) กลุ่มหนึ่งรวมตัวกันทำโปรเจคท์ดนตรีที่น่าสนใจทั้งแนวคิดและการนำเสนอด้วยชื่อเสียงเรียงนามที่ตั้งให้จำง่ายว่า "จีบ คนกรุงเทพ" ฟังดูแปลกและน่าค้นหา แต่อย่าเพิ่งคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่าอยู่ค่ายไหน มีเพลงฮิตชื่ออะไร และใครเป็นนางเอกมิวสิควิดีโอ! เพราะพวกเขาทั้งหมดเป็นนักดนตรีคลาสสิค ซึ่งตั้งใจนำเสนอ เพลงคลาสสิค ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อจรรโลงใจผู้คนในเมืองใหญ่

ประกายของโครงการเพลงคลาสสิค จีบ คนกรุงเทพ ถูกจุดขึ้นโดยเจ็ดนักดนตรีคลาสสิครุ่นใหม่ระดับหัวกะทิของไทย นำโดย ทฤษฎี ณ พัทลุง นักประพันธ์ดนตรีและวาทยกรไทยโปรไฟล์ระดับโลก, ดร.ทวีเวท ศรีณรงค์ หรือที่รู้จักในนาม เป้ วีทรีโอ นักเรียนทุนคนแรกของทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านไวโอลินจาก Stony Brook University, New York นักไวโอลินชาวไทยคนแรกและคนเดียวที่สำเร็จการศึกษาสูงสุดทางด้านนี้, คณิน อุดมมะนะ นักไวโอลินที่ได้รับการศึกษาอยู่ที่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย และได้รับเลือกให้แสดงในมาสเตอร์คลาสของนักไวโอลินระดับโลกหลายคน, มิติ วิสุทธิ์อัมพร นักวิโอล่าชาวไทย ผู้สร้างเกียรติประวัติครั้งสำคัญยิ่งในการแสดงดนตรีเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในขณะที่ยังเป็นนักเรียนทุนของ National University of Singapore, ณัฐพล เลิศมนัสวงศ์ ประสบการณ์ 5 เดือน จากการไปแลกเปลี่ยนที่ Peabody Institute of The Johns Hopkins University สหรัฐอเมริกา เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เขามุ่งสู่การเป็นดาวรุ่งของมือดับเบิลเบสแห่งเมืองไทย, เอกชัย มาสกุลรัตน์ ถูกยกให้เป็นนักเชลโลที่มีความสามารถอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และ คริสโตเฟอร์ แมคคิกแกน ที่มีรางวัลการแข่งขันเปียโนระดับโลกเป็นเครื่องการันตรีความสามารถของเขาว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของวงการดนตรีคลาสสิคในประเทศไทย

เมื่อเจ็ดยอดขุนพลมาเจอกัน ที่มาของวง แชมเบอร์ มิวสิค รูปแบบผสมผสานระหว่างดนตรีคลาสสิคและดนตรีประยุกต์จึงเกิดขึ้น

"เราเป็นคนในวงการเดียวกัน เล่นดนตรีมาด้วยกัน และดนตรีจะพาเรามาเจอกันโดยอัตโนมัติ ดนตรีทำให้เราสนิทกัน และเส้นทางดนตรีก็ทำให้แต่ละคนแยกย้ายกัน แต่ท้ายที่สุด ก็ดนตรีอีกนั่นแหละที่ทำให้เรากลับมารวมตัวกัน " ทฤษฎี แจงให้ฟังคร่าวๆ ถึงการก่อกำเนิดก่อนจะเกิดเป็นที่มาของโครงการนี้ พร้อมกับบทบาทของ "นักดนตรี" ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าวาทยากรไทยดีกรีวงซิมโฟนีระดับโลกจะมีพื้นฐานด้านเปียโนเป็นทุนเดิม ซึ่งต้องถือเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายกับการที่พวกเขาทั้งเจ็ดจะกลับมารวมตัวกันใหม่ ในวันที่แต่ละคนมีหน้าที่ ผลงาน และเกียรติประวัติระดับสากลเป็นดีกรีติดตัว

จีบ คนกรุงเทพ

"น้องๆ ในวงเรา ถ้าเป็นคนไทยหลายคนที่ไม่ได้ติดตามดนตรีคลาสสิคอาจจะไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อ แต่หากเป็นในต่างประเทศ แต่ละคนมีชื่อเสียงทั้งนั้น อย่าง เมฆ (มิติ) หลังจบชั้นมัธยมจากเซนต์คาเบรียล ก็ได้ทุนจากรัฐบาลสิงคโปร์เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์จนจบปริญญาตรี ก่อนลัดฟ้าสู่ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา และปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรีย คนนี้เคยเล่นวิโอลาร่วมกับวงซิมโฟนีเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาแล้ว และเคยแสดงที่ รอยัล คาร์เนกี ฮอลล์ ซึ่งนักดนตรีระดับที่จะแสดงที่นั่นได้ต้องพิเศษจริงๆ"

เมื่อพื้นฐานดนตรีคลาสสิคแน่นหนา ก็ถึงเวลาที่จะสร้างโปรเจคท์ให้เป็นจริง

"มันเริ่มจากความอยากทำอะไรสนุกๆ เราไม่ได้มาเพื่อฉีกรูปแบบดนตรีคลาสสิค แต่เรานำเสนอภาพลักษณ์ของดนตรีคลาสสิคที่ดูน่ารัก มีความเท่ จับต้องง่าย เพื่อให้ผู้ฟังชาวไทยได้เข้าใจว่า ดนตรีคลาสสิคไม่ใช่ดนตรีที่ฟังยากเลย ซึ่งก็ค่อนข้างน่ายินดีเพราะเดิมทีโปรเจคท์นี้ยังเป็นแค่ความคิดที่มาจากเราคนเดียวซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ แต่ตอนนี้เรามียอดฝีมือมาร่วมทีมด้วยกัน เหมือนเป็น The Avengers ยังไงยังงั้น และแต่ละคนก็มีมุมมองเดียวกับเรา มีเป้าหมายเดียวกันคือนำดนตรีคลาสสิคให้เข้าถึงสังคมยุคใหม่ จึงเป็นที่มาของการ "จีบ" คนไทยให้มาฟังดนตรีคลาสสิค" เป้ ทวีเวท สมาชิกของโครงการที่ดูจะคุ้นหน้าคุ้นตาคนฟังเพลงระดับ "ทั่วไป" มากที่สุด ช่วยเล่าเสริมถึงที่มาตรงนี้

จีบ คนกรุงเทพ ไม่ได้มีเพียงพวกเขาทั้งเจ็ด ในอนาคต ขนาดของวงอาจขยับขยายตามความซนและความสร้างสรรค์ เพราะหัวใจของโครงการไม่ได้ยึดติดกับดนตรีคลาสสิคเพียงอย่างเดียว ยังมีการประยุกต์ ดนตรีไทย ดนตรีลูกกรุง เข้ากับดนตรีคลาสสิค แม้แต่เครื่องดนตรีไทยบางชนิดอย่าง ฉิ่ง ก็ยังเข้ามามีบทบาท เพราะในความเป็นจริง รูปรอยของวงแชมเบอร์นั้นคือวงดนตรีที่เล่นแล้วสนุก

"เราไม่มีหัวหน้าวง เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นสำคัญเท่ากันหมด นึกถึงทีมฟุตบอล ต้องมีกองหน้า กองกลาง กองหลัง ขับเคลื่อนทีม พวกเราก็เช่นกัน ทุกคนมีหน้าที่ รู้จังหวะของตัวเอง เมื่อเราเล่นไปแล้วมันมีการรับ-การส่ง ตรงนี้มันคือความสนุก"

ปฏิบัติการพ่อสื่อนำคนกรุงเทพให้มาพบรักกับดนตรีคลาสสิคคือหน้าที่ของกามเทพทางดนตรีอย่างพวกเขา จะทำอย่างไรให้คนกรุงยอมเปิดใจรับรักดนตรีที่มักจะถูกมองว่า ฟังยาก บางครั้งถูกค่อนแคะด้วยซ้ำว่าคนฟังดนตรีคลาสสิคคือพวกหัวสูง ทัศนคติเก่าๆ เหล่านั้นปิดกั้นความงดงามแห่งดนตรีในความคิดคนไทยไปอย่างน่าเสียดาย ในที่นี้พวกเขายังหมายรวมถึงดนตรีไทยเดิมและดนตรีลูกกรุง มรดกล้ำค่าของไทยแท้ที่ถูกเมิน หากไม่แผลงศรเสียตอนนี้ ศิลปะดนตรีชั้นสูงที่น่าภาคภูมิใจอาจสูญพันธุ์

"เปรียบเทียบเหมือนการจีบ มันก็ต้องมีการแนะนำตัวทำความรู้จัก ตอนนี้เราอยู่ในช่วงของการทำความรู้จักกับคนฟัง ซึ่งความจริงไม่ใช่เฉพาะแค่คนกรุงเทพ แต่เราก็จะลองเริ่มจากสเกลเล็กๆ ดู และเมื่อจีบแล้ว ก็ต้องมีพัฒนาการของความสัมพันธ์ นั่นคือเราจะแนะนำตัวอย่างเป็นทางการในคอนเสิร์ตของเราที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม" ชาวจีบคนกรุงเทพเผยแผนเผด็จศึกพิชิตใจผู้ฟัง ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรยุ่งยาก แต่อุปสรรคคือการรวมตัว

"การจะรวมตัวกันของวงเราเป็นเรื่องยากมาก แต่ละคนต้องบินมาไกล จากยุโรปบ้าง อเมริกาบ้าง ทุกคนมีหน้าที่การงานและเรียนอยู่ต่างประเทศกันหมด ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เราพอจะรวมตัวกันได้" 

เมื่อติดตามเข้าไปใน เฟซบุคแฟนเพจของพวกเขา ก็จะเจอกับกิจกรรมหลากหลายที่พวกเขาอัพเดทสเตตัสใหม่ๆ อยู่ตลอด โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เป็นช่วงของการทำโปรดักชั่นเพื่อโปรโมท ก็จะเห็นภาพหล่อๆ ของการถ่ายโปสเตอร์บ้าง นิตยสารบ้าง ซึ่งล้วนดูผ่อนคลายและสนุกสนาน ผิดกับภาพในหัวที่เรามักจะคิดว่านักดนตรีคลาสสิกต้องวางมาดจริงจังอยู่ตลอดเวลา และความสนุกในบุคลิกของแต่ละคนก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "แฟลชม็อบ" ขนาดย่อมๆ เป็นการโปรโมทวง จีบ คนกรุงเทพ ให้น่าสนใจในอีกรูปแบบหนึ่ง

"โครงการนี้พวกเราเตรียมกิจกรรมต่างๆ ไว้มากมายทั้งการไปเล่นดนตรีแนะนำไปยังสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัย และโรงเรียนต่างๆ ทั่วกทม. รวมถึงการจัดคอนเสิร์ตตามสถานที่ต่างๆ ในช่วงปลายปีนี้ด้วย พวกเราอยากที่จะนำเสนอให้เห็นว่าดนตรีคลาสสิคไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะดนตรีคลาสสิกสามารถทำให้ผู้คนที่ได้ฟังสนุกและมีความสุขได้เหมือนดนตรีแนวอื่นๆ ถ้าทุกคนได้ฟังดนตรีคลาสสิกของพวกเรา เพราะผมบอกได้เลยว่านี่คนนักดนตรีรุ่นใหม่ที่ดีที่สุดในประเทศ หรือในประวัติศาสตร์ไทยที่มีมาเลย" เป้กล่าวเสริม และเพิ่มเติมด้วยว่า โครงการนี้จะมาถึงขนาดนี้ไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ที่เป็นเจ้าภาพในโครงการนี้ของพวกเขา โดยพวกเขาตั้งใจไว้ว่าอยากจะทำโครงการนี้อย่างต่อเนื่องไม่ได้จบแค่ปีนี้ หรือโปรเจคท์ปีนี้ที่วางไว้เท่านั้น

เพราะพวกเขาเชื่อว่าดนตรีคลาสสิคไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนคิด

(ภาพประกอบจากเฟซบุคแฟนเพจ Jeeb Bangkok)

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ จีบ คนกรุงเทพ ดนตรีคลาสสิคชวนเสพเพื่อคนเมืองใหญ่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook