วงการ K Pop สะเทือน แก๊งปั่นชาร์ทเพลงออกอาละวาด | Sanook Music

วงการ K Pop สะเทือน แก๊งปั่นชาร์ทเพลงออกอาละวาด

วงการ K Pop สะเทือน แก๊งปั่นชาร์ทเพลงออกอาละวาด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วงการเพลงเกาหลี

ความสำเร็จบนชาร์ตเพลงที่เคยเชื่อว่าเกิดจากความรักของแฟนเพลงได้รับการพิสูจน์ว่าไม่เป็นความจริงเสมอไป เมื่อพบว่าในวงการเพลงเกาหลีใต้มีบางค่ายเพลงที่ใช้วิธีการปั่นกระแสความนิยมในชาร์ตเพลง บิดเบือนความนิยมที่แท้จริงในวงการเพลงแดนโสม

ล่าสุดทาง 3 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของวงการเคป็อป ทั้ง SM, YG, JYP รวมถึงค่าย Star Empire Entertainment ได้ยื่นฟ้องต่อสำนักงานอัยการของกรุงโซล ให้มีการสอบสวนการทุจริตการจัดอันดับชาร์ตเพลงในวงการบันเทิงเกาหลีใต้ โดยอ้างว่าในวงการมีค่ายเพลงบางค่ายว่าจ้างให้บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการปั่นกระแสทางอินเทอร์เน็ท ทำการแฮกข้อมูลตามชาร์ตเพลงต่างๆ เพื่อเข้าไปเพิ่มยอดการสตรีมมิ่งและดาวน์โหลดของบทเพลงนั้นๆ ซึ่งจะทำให้ค่ายเพลงนั้นๆ ได้รับค่าลิขสิทธิ์เพลงเพิ่มขึ้น และทำให้ศิลปินเจ้าของบทเพลงมีโอกาสไปโปรโมทผลงานตามรายการต่างๆ มากขึ้น รายงานยังระบุด้วยว่าในเวลาต่อมา Cube Entertainment กับ FNC Entertainment ก็เข้าร่วมเพื่อร้องเรียนในเรื่องนี้ด้วย

ในเกาหลีใต้มีคำที่ใช้เรียกเพลงที่โด่งดังเพียงข้ามคืนด้วยวิธีการปั่นชาร์ตว่า ซาแจกิ ซึ่งเชื่อกันว่ามีบริษัทรับทำซาแจกิอยู่ 3-5 แห่งในเกาหลีใต้ ที่คอย "รับงาน" จากบริษัทบันเทิงเพื่อ "ปั่น" เพลงให้ติดชาร์ต ชนิดที่พวกเขาสามารถปั้นเพลงของศิลปินหน้าใหม่ให้ฮิตได้ภายในระยะเวลา 4-5 วันเท่านั้นโดยคิดค่าจ้างสำหรับศิลปินที่ดังอยู่แล้วเพลงละ 300,000 ดอลลาร์ ส่วนเพลงของศิลปินหน้าใหม่สามารถติดชาร์ตท็อป 20 ได้ในเวลา 4-5 วันด้วยค่าจ้าง 500,000 ดอลลาร์ ซึ่งกระบวนการนี้มักจะทำขึ้นในช่วงเช้ามืดที่ไม่ค่อยมีใครสังเกต โดยผู้ปั่นจะสร้างบัญชีของผู้ฟังแบบสตรีมมิ่งเพื่อทำการปั่นยอดเพลงให้มี จำนวนการฟังเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นครั้งในวันเดียว ซึ่งผิดหลักความจริงที่ว่าเพลงหนึ่งเพลงสามารถเปิดวนในวันหนึ่งได้ไม่เกิน 500 ครั้งเท่านั้น

ล่าสุดทางกระทรวงวัฒนธรรม, กีฬา และการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ ได้ออกมาตรการรับมือการปั่นชาร์ตเพลง ด้วยการแนะนำให้เพิ่มการให้ความสำคัญกับยอดดาวน์โหลดมากกว่ายอดการสตรีมมิ่ง ซึ่งการดาวน์โหลดที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงกว่าถึง 20 เท่า น่าจะทำให้ค่ายเพลงทำการทุจริตได้ยากขึ้น ซึ่งหากพบว่าเพลงไหนมีการจัดตั้งคะแนนนิยม ก็จะมีการริบค่าลิขสิทธิ์ของบทเพลงนั้นๆ ทันที

ฝ่ายโฆษกของ YG ที่เป็นต้นสังกัดของ 2NE1, Psy และ G-Dragon ยังมองว่า เรื่องนี้กำลังทำลายความน่าเชื่อถือของการจัดอันดับความนิยมเพลงเกาหลีใต้ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อยอดการดาวน์โหลดเพลงแบบถูกกฎหมายผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของอุตสาหกรรมดนตรีในขณะนี้

ขณะที่สื่อชื่อดังอย่าง Ilgan Sports อ้างว่า บ่อยครั้งที่ปรากฏการณ์ซาแจกิในวงการเพลงเกาหลีใต้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ แต่มาจากการทุ่มเงินของต้นสังกัดเอง

ตามข้อมูลทีมงานปั่นกระแสเพลงฮิตจะถือล็อกอินและคูปองสำหรับการฟังเพลงผ่านอินเทอร์เน็ตจำนวนมากเอาไว้อยู่ในมือ และพวกเขาก็มักจะเลือกก่อการในเวลาเช้าตรู่ที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงหลับนอนกันอยู่ ซึ่งตามปกติหากเพลงมีความยาวเฉลี่ยประมาณ 3 นาที แต่ละล็อกอินก็น่าจะฟังเพลงได้วันละประมาณ 480 ครั้งเท่านั้น แต่จากการสอบสวนระบุว่าบางแอ็กเคาท์ของอาชญากรในวงการเพลงสามารถฟังเพลงได้เป็นหลักหมื่นครั้ง จึงเชื่อได้ว่าน่าจะมีการใช้วิธีแฮกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยมีข่าวว่าด้วยวิธีลักษณะนี้ค่ายเพลงแห่งหนึ่งสามารถดันงานเพลงของศิลปิน ในสังกัดให้ทะยานจากอันดับ 160 ขึ้นไปสู่อันดับ 28 ได้ในเวลาอันสั้น เช่นเดียวกับศิลปินอีกรายที่ผลงานเพลงพุ่งแรงจากอันดับ 260 สู่ 30 อย่างง่ายดาย

เรียบเรียงข้อมูลจาก ไทยพีบีเอส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook