เมื่อศิลปินอินเตอร์ฉกลิขสิทธิ์เพลงกันเสียเอง!
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงอยู่คู่กับวงการดนตรีมานานหลายยุคสมัย แต่เมื่อการสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วทำให้ผลงานลอกเลียนถูกจับผิดได้ง่ายขึ้น ตรงข้ามกับการปราบปรามด้วยกฎหมายที่ยังไม่ได้ผล เนื่องจากบทลงโทษที่หละหลวมในหลายประเทศ
จังหวะที่ชวนติดหูและเอ็มวีสุดเซ็กซี่ ทำให้ Blurred Lines ซิงเกิลของนักร้องหนุ่ม โรบิน ธิก ถูกยกให้เป็นบทเพลงแห่งฤดูร้อนปี 2013 ทำยอดขายซิงเกิลในสหรัฐไปถึง 4 ล้านชุด และมีผู้เข้าชมผ่านเว็บไซท์ยูทูบเกือบ 140 ล้านครั้ง แต่สำหรับแฟนเพลงที่คุ้นเคยกับดนตรียุค 70 แล้ว เพลงนี้แทบไม่ต่างจาก Got to Give It Up เพลงดังของ มาร์วิน เกย์ ศิลปินโซลระดับตำนาน จนนำไปสู่การต่อสู้ในชั้นศาลระหว่าง โรบิน ธิก และครอบครัวของนักร้องผู้ล่วงลับเพื่อพิสูจน์การเป็นต้นตำรับในผลงานเพลง
ข้อกล่าวหาว่าขโมยความคิดในวงการเพลงยังเกิดขึ้นกับ Roar ซิงเกิลล่าสุดของ เคที เพอร์รี เมื่อแฟนเพลงตั้งข้อสังเกตว่ามีความเหมือนกับ Brave เพลงดังเมื่อต้นปีของ ซาร่า บาเรลเลส นักร้องสาวอีกคน ขณะที่มิวสิควิดีโอยังถูก ดิลลอน ฟรานซิส ศิลปินเพลงแดนซ์อ้างว่าขโมยความคิดการใช้อิโมติคอนแทนเนื้อเพลงมาในเอ็มวีของเขาอีกด้วย
สังคมออนไลน์ในปัจจุบันทำให้การลอกเลียนความคิดในวงการเพลงถูกเปิดโปงอย่างรวดเร็วกว่าในอดีต โดยเฉพาะการผลิตวีดีโอ mash up ซึ่งเป็นการนำเพลงที่มีความคล้ายคลึงกันมาตัดต่อรวมกันโดยฝีมือแฟนเพลง ทำให้เห็นความคล้ายคลึงได้ชัดเจนขึ้น ทั้งกรณีของ Coldplay ที่เพลง Viva La Vida ถูกชาวเน็ตมองว่ามีทำนองคล้ายกับ If I Could Fly ของมือกีตาร์ โจ แซทริอานี ส่วนสื่อในออสเตรเลียชี้ว่าเพลง Sitting on Top of the World ของ เดลต้า กูดเรม ไม่ต่างจาก Rebellion เพลงของวงอินดี้ Arcade Fire ขณะที่ วิล.ไอ.แอม ถูกแฟนเพลงตั้งคำถามหลายครั้ง ทั้งผลงานเดี่ยวและกับวง Black Eyed Peas ที่มักถูกพบว่ามีความเหมือนกับเพลงของศิลปินอื่น
เคป๊อป เมื่ออดีตจอมลอกโดนลอกเสียเอง
ในอดีตวงการเพลงเกาหลีใต้ถูกกล่าวหาว่ามีการลอกเลี่ยนความคิดจากศิลปินตะวันตก แต่ปัจจุบันเพลงดังของวงการ เคป็อป ถูกนำไปลอกเลียนโดยนักร้องต่างประเทศ และถูกพบโดยบรรดาแฟนคลับบนโลกออนไลน์ ทั้งกรณีของ La Materialista ศิลปินสาวชาวโดมินิกันนำเพลง I Am the Best ของ 2NE1 ไปร้องใหม่จนถูกแฟนเพลงประท้วงและแบนจากยูทิวบ์ในที่สุด หรือกรณีของแฟนคลับวง Super Junior เปิดโปงว่าเพลง Bonamana ถูกวงจากโมร็อคโคนำไปร้องโดยไม่ได้รับอนุญาต เหมือนกับกรณีของ แอนเดรีย บูคาแรม นักร้องสาวจากเอกวาดอร์นำเพลง Oh Yeah ของ MBLAQ ไปร้องใหม่โดยไม่เปลี่ยนแม้แต่ชื่อเพลง จนถูกแฟนคลับของวงบอยแบนด์ขู่ฆ่าแล้ว
แม้ว่าทางองค์การการค้าโลกจะกำหนดมาตรการควบคุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ แต่การใช้กฎหมายดังกล่าวในประเทศที่กำลังพัฒนายังคงไม่เข้มงวด ทำให้หลายครั้งที่ศิลปินที่ถูกจับได้ถูกลงโทษเพียงเล็กน้อย แต่การตกเป็นข่าวกลับช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับศิลปินรายนั้นเพียงชั่วข้ามคืน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในวงการเพลงยังคงมีอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
เรียบเรียงข้อมูลจาก ไทยพีบีเอส