5 กันยายน วันที่โลกสร้างสองตำนานเพลง | Sanook Music

5 กันยายน วันที่โลกสร้างสองตำนานเพลง

5 กันยายน วันที่โลกสร้างสองตำนานเพลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้จะเป็นความบังเอิญ แต่ก็เป็นความบังเอิญที่มีความหมาย เมื่อวันที่ 5 กันยายนของทุกปีเป็นอีกหนึ่งวันที่สำคัญของวงการเพลงทั้งไทยและสากล

ทั้งคู่อาจไม่รู้จักกัน อาจไม่เคยพบกัน แต่พรสวรรค์และความสามารถของบุคคลทั้งสอง คือแรงบันดาลใจให้กับคนดนตรีรุ่นหลังให้ก้าวตาม นอกเหนือจาก "ความเชื่อ" ที่ว่า ดนตรีย่อมมีวันเปลี่ยนแปลงได้

เรากำลังพูดถึงบุคคลสำคัญแห่งวงการเพลงโลกและวงการเพลงไทย ที่มีวันคล้ายวันเกิดตรงกันพอดีในวันที่ 5 กันยายน หนึ่งคืออัจฉริยะทางดนตรีที่พลิกโฉมหน้าดนตรีร็อคและสลัดความเชื่อเดิมๆ เพราะดนตรีร็อคไม่ได้มีเพียงแค่ร็อคแอนด์โรลอีกต่อไป

เฟรดดี เมอร์คิวรี และ เต๋อ เรวัติ พุทธินันท์ คือบุคคลของวันนี้ที่เราอยากกล่าวถึง

Queen

ราชันย์ในนามราชินี

มีคำกล่าวลอยๆ ว่า หาก เฟรดดี เมอร์คิวรี ไม่จากไปในขณะที่ยังครองความยิ่งใหญ่ วงควีนก็คงจะไม่มีทางกลายเป็นตำนานได้ และปัจจุบันก็คงจะยังสร้างสีสันตามวัยอันสมควรเหมือน เดวิด โบวี่ แต่เมื่อเขาจากไป แม้แต่โลกก็ยังหยุดรำลึกถึง เดอะ บีทเทิลส์ และ จอห์น เลนนอน ไปชั่วคราว

นั่นเป็นคำกล่าวของคนที่ไม่เคยสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของวงควีนอย่างแท้จริง

แฟนเพลงร็อคหัวนอกชาวไทยเคยบัญญัตินิยามหนึ่งไว้ให้กับ เฟรดดี เมอร์คิวรี ว่าเป็น "ราชันย์ในนามราชินี" ตามเอกลักษณ์ของวงควีนที่มีภาพลักษณ์กรุยกราย ฉูดฉาด ประหลาด แต่เท่! แม้แต่การแสดงคอนเสิร์ตก็ไม่เคยออกมาแบบธรรมดา จึงต้องยกย่องว่า เฟรดดี เมอร์คิวรี เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ เพื่อเป็นศิลปินขนานแท้ทั้งรูปกายและภายในจิตวิญญาณ



สายเลือดชาวเปอร์เซียของ ฟารอค บัลซาร่า (ชื่อจริงของเขา) ผ่านแนวคิดทั้งการเมืองการปกครองจนต้องอพยพจากแทนซาเนียมาสู่การใช้ชีวิตใน ประเทศอังกฤษ เพื่อที่จะค้นพบว่าศิลปะและดนตรีคือสิ่งที่เปิดมุมมองใหม่ๆ และเป็นพรสวรรค์ที่ถูกค้นพบ และนับจากวันที่ ควีน เริ่มขยายความสำเร็จจากอังกฤษสู่ระดับโลก หลายคนคงอยากจดจำช่วงเวลาแห่งความสำเร็จสูงสุดเมื่อปี 1974 ไว้เป็นอมตะ

Bohemian Rhapsody จากอัลบั้ม A Night At The Opera ในปี 1975 ถูกกล่าวขวัญถึงว่าเป็นงานเพลงโอเปร่าร็อคที่เปลี่ยนโลกไปอย่างสิ้นเชิง ตามมาด้วยการขยับสู่ก้าวที่แข็งแกร่งของอัลบั้ม A Day At The Race (1977), News of The World (1978), Jazz และ Live Killers (1979) หลายเพลงกลายเป็นเพลงฮิตอมตะ ทั้ง Killer Queen, Somebody To Love, Don't Stop Me Now หรือ Crazy Little Thing Called Love

แต่ก็อาจไม่เท่ากับบทเพลงที่ไม่มีวันตายซึ่งหลายคนรู้จักกันดีอย่าง We Will Rock You และ We Are The Champion จนมีคำถามว่า กองเชียร์ฟุตบอลอังกฤษและสนามกีฬาทั่วโลกจะเงียบเหงาหรือมีสีสันไปในทิศทางไหน หากขาดเพลง We Will Rock You เป็นเพลงเชียร์ฮึกเหิมปลุกใจ และไร้ซึ่งความอมตะของ We Are The Champion สำหรับผู้ชนะ

ปลายยุค 70s เฟรดดี้ กลายเป็นนักร้องนำวงร็อคที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด เฟรดดี้ตัดสินใจเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเองจากสไตล์แกล็มร็อค เขาตัดผมสั้น โกนเครา แต่ไว้หนวด แล้วสวมใส่ชุดหนัง สร้างความตื่นตะลึงให้กับแฟนเพลงพอสมควร

ควีนเริ่มต้นทศวรรษที่ 80s ด้วยอัลบั้มฮิต "the game" มีซิงเกิ้ลที่ขึ้นอันดับ1 และเป็นเพลงฮิตที่ชื่นชอบสำหรับขาแดนซ์อย่าง "another one bite of dust"ที่ประสบความสำเร็จทั้งตัวอัลบั้มและทัวร์คอนเสิร์ต ควีน ตัดสินใจสานต่อความสำเร็จกับเพลงเต้นรำด้วยอัลบั้มที่เน้นหนักเพลงแดนซ์ อย่าง "hot space"กลายเป็นอัลบั้มที่สร้างสถิติความล้มเหลวที่สุดในประวัติศาสตร์ ควีนยิ่งกว่าอัลบั้ม "queen II"เสียอีก ทางวงเรียกเสียงตอบรับกลับคืนได้สำเร็จในปี 1984 "thework"และ ปี1986"a kind of magic" และตอกย้ำด้วยการโชว์ในระดับลืมหายใจด้วยคอนเสิร์ตlive-aid ในปี1985,ขณะเดียวกันความนิยมในอเมริกาต่อควีนเริ่มลดถอยลง เฟรดดี้จึงใช้เวลาช่วงนี้ออกโซโล่อัลบั้มชุดแรกของเขา mr.bad guy

ปลายยุค 80s เฟรดดี้ตรวจพบว่าติดเชื้อ เอดส์ เขาพยายามประคองอาการไว้และตั้งใจทำงานกับควีนต่อไปอีก2อัลบั้ม 1989the miracle.1991innuendoและยังออก2 ซิงเกิ้ล งานเดี่ยวของตัวเองอีก "the great pretender" "time" และอีก1อัลบั้มเดี่ยว "barcelona"เป็นอัลบั้มเพลงป๊อป พบ โอเปราที่เขาทำร่วมกับ montserrat caballe' ,ปี1991 เชื้อเอดส์เริ่มรุมเร้าหนัก วันที่23 พฤศจิกายน เฟรดดี้ตัดสินใจแถลงข่าวอาการของเขาต่อสื่อมวลชนเรื่องอาการป่วยของเขาและวันถัดไปเฟรดดี้ก็เสียชีวิตที่บ้านในกรุงลอนดอนในวันที่ 20 เมษายน1992

หากวันนี้เขายังมีชีวิตอยู่ เฟรดดี เมอร์คิวรี จะมีอายุครบ 67 ปี

เรวัต พุทธินันท์

เต๋อ เรวัติ พุทธินันท์ นักปฏิวัติเพลงไทยให้ผลิบาน

"ผมไม่ได้คิดว่าคนไทยจะต้องฟังเพลงแบบที่ผมคิดทั้งหมด ผมเพียงคิดแต่ว่า ผมจะเป็นคนหนึ่งที่นำเสนออาหารจานใหม่ให้แก่สังคมไทย นี่คือความคิดของผม"

จากบทสัมภาษณ์ เรวัต พุทธินันทน์ ในนิตยสารอิมเมจ ฉบับเดือนเมษายน 2538 สะท้อนว่าผู้ชายคนนี้ไม่ได้มีความกระหายอยากแบบนักธุรกิจที่ตีค่าทุกเวลาเป็นเงินทอง แต่ดนตรีคือศิลปะที่มอบความสุขและจินตนาการสู่ผู้ฟังจากศิลปิน นักร้อง และสูตรเคมีที่ลงตัวนี้คือสูตรหนึ่งที่ผลักดัน แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์ ให้เติบโตอย่างน่าสนใจ ควบคู่ไปกับแนวทางธุรกิจที่มี ไพบูลย์ ดำรงค์ชัยธรรม เป็นผู้คุมเกม จนกลายเป็นธุรกิจมูลค่าหมื่นล้านสะท้านเมืองไทย

แต่ในวันที่เรวัติยังอยู่ เขาคือผู้ที่ทำให้ดนตรีคือศิลปะที่ไม่ยอมถูกย่อยสลายด้วยกลไกตลาด

นั่นคือส่วนสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งในผลงานของเรวัตตลอดช่วงเวลาที่เขาทำงานในวงการเพลง นั่นคือการผลักดันให้อาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ในยุคหนึ่งอาชีพร้องรำทำเพลงถูกมองว่าเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน ทว่าการถือกำเนิดของ แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์ และการทำเพลงในรูปที่แตกต่างและมีคุณภาพจนได้รับความนิยมอย่างสูงของเรวัต ได้ทำให้อาชีพนี้ได้รับการยอมรับ ทั้งยังทำให้อาชีพนักดนตรีกลายเป็นธุรกิจแห่งความบันเทิงที่มีมูลค่าทางการตลาดมหาศาลไม่แพ้ธุรกิจแขนงอื่น

"ผมทำงานที่หัวจิตหัวใจสำหรับวันข้างหน้าเท่านั้น ผมไม่ได้เป็นศาสดา ไม่ได้เป็นเซียน ผมเพียงตั้งใจทำงาน เป็นคนมีคุณภาพในตัว มีจิตใจที่ดีกับผู้อื่น ไม่เกเรคนอื่น แล้วผมก็ทำงานของผมไป ทำเมื่อไหร่ผมก็ร้อยตลอด" (จากนิตยสารจีเอ็ม ตุลาคม พ.ศ.2536)

บทเพลงที่เรวัติเขียนขึ้น ก็เป็นบทสะท้อนอีกด้านหนึ่งของสัจธรรม ไม่ว่าจะเป็นเพลง ยิ่งสูงยิ่งหนาว, ตะกายดาว หรือ คงจะมีสักวัน สิ่งที่เรวัติพูดถึงคือเรื่องทันสมัย ไม่มียุค ไม่มีอดีต ไม่มีปัจจุบัน ไม่มีรักช้ำน้ำตานองไม่ร้องไห้ฟูมหาย แม้แต่เพลงที่ดูเหมือนจะเป็นเพลงขายอย่าง เจ้าสาวที่กลัวฝน ก็ยังแฝงปรัชญาเล็กๆ ให้ขบคิด ทุกเพลงของเรวัตจึงติดอยู่ในแก่นของความรู้สึกและความทรงจำของคนฟังตลอดเวลา

เรวัต พุทธินันท์

ในแง่ของการเป็นผู้ให้ เรวัตคือผู้มองเห็นแววความเป็นศิลปินในตัวใครต่อใครนับไม่ถ้วน ลองหลับตานึกถึงชื่อของ เบิร์ด ธงไชย แม็คอินไตย์, คริสติน่า อากีล่าร์ ,ทาทา ยัง, แหวน ฐิติมา สุตสุนทร, นันทิดา แก้วบัวสาย , อัสนี-วสันต์ โชติกุล, นูโว, ไมโคร แม้กระทั่ง มาช่า วัฒนพาณิช ชื่อเหล่านี้มีใครบ้างที่หายสาปสูญไปจากสารบบเพลงไทยในปัจจุบัน คำตอบก็คือ ยังไม่มี!

และการเติบโตของศิลปินเหล่านี้ สะท้อนวิสัยทัศน์และความแหลมคมในการเฟ้นหาดาวประดับวงการของเขา

"เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ และมีหน้าที่ดูแลคน เราต้องให้ความยุติธรรมกับทุกคน การที่เราจะรักใครมากใครน้อย เป็นเรื่องของความรู้สึก ซึ่งทุกคนจะมีไม่เหมือนกัน แต่ตราบใดที่เราเป็นหัวหน้าและผู้นำคน เราต้องเก็บความรู้สึกไว้ในใจ และให้ความยุติธรรมกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จะทำให้คนทำงานมีความสุข สบายใจ และมีกำลังใจที่ดี ซึ่งจะนำพาให้องค์กรนั้นอยู่ได้อย่างสงบสุข และเติบโตอย่างมีคุณภาพ"

หากวันนี้ เรวัต พุทธินันท์ ยังอยู่ เราคงไม่อาจรู้ได้ว่าเขาจะมีความรู้สึกอย่างไรต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจเพลงและดนตรีที่เปลี่ยนไป คุณค่าของศิลปินกับการบรรจงสร้างสรรค์ทุกขั้นตอนในสตูดิโอก่อนจะบันทึกเสียงจัดจำหน่ายเป็นเทปคาสเซ็ทสักหนึ่งม้วนหรือซีดีคุณภาพสูงสักหนึ่งแผ่น กลายเป็นความเสียเวลาของผู้บริโภคที่รอคอยไม่ได้ ถึงกับต้องแข่งกันบีบอัดทุกย่านเสียงออกมาเป็นไฟล์ดิจิตอลคุณภาพต่ำ

การปั้นศิลปินผ่านเวทีประกวดก่อนจะจับแต่งตัว แปะยี่ห้อ แพ็คใส่กล่องออกจำหน่ายเหมือนอุตสาหกรรมสำเร็จรูป ทำลายความงดงามของศิลปะดนตรีไปมากน้อยเพียงใด คนรุ่นใหม่ย่อมไม่มีวันรู้

แต่สิ่งที่เรารู้คือ วงการเพลงไทยอาจไม่ถึงคราวตีบตันได้เร็วขนาดนี้ หากผู้ชายที่ชื่อ เรวัต พุทธินันท์ ยังไม่ทิ้งวงการเพลงไทยไปก่อนเวลาอันควร

Fact File เรวัต พุทธินันท์

- อัลบั้ม เต๋อ 1 ในปี 2527 คืออัลบั้มที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดของ แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์ ในยุคบุกเบิก และกลายเป็นต้นแบบของการผลิตผลงานเพลงที่มีลายเซ็นของแกรมมี่ฯ เป็นเอกลักษณ์กำกับอยู่ในยุคต่อมา

- ด้วยความที่มีเงาเสียงแหบพร่าละม้ายคล้าย ร็อด สจ๊วต เรวัต มักถูกขอให้ร้องเพลงของ ร็อด สจ๊วต อยู่เป็นประจำสมัยที่ยังเป็นสมาชิกของวง โอเรียนเต็ลฟังก์ และนั่นทำให้เขาเบื่อและเข็ดขยาดกับเพลงของ ร็อด สจ๊วต ไปตลอดกาล

- เรวัต เคยทำเพลงประกอบโฆษณาก่อนจะร่วมเป็นทีมก่อตั้งแกรมมี่ฯ หนึ่งในเพลงประกอบโฆษณาฝีมือเรวัตที่หลายคนคุ้นเคยดี คือเพลงประกอบโฆษณา กูลิโกะ

- อัลบั้มแรกของวง FLY คืออัลบั้มสุดท้ายที่ เรวัต พุทธินันนท์ ร่วมดูแล

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต และ Getty Images

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ 5 กันยายน วันที่โลกสร้างสองตำนานเพลง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook