แกรมมี่ เข้มลิขสิทธิ์ และความหงุดหงิดของ เสก โลโซ
ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่วุ่นวายไม่แพ้คดีไหนๆ เมื่อในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสข่าวว่า ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ย่านอโศก จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถูกโวยว่าขูดรีดค่าลิขสิทธิ์กับวงดนตรีที่นำเพลงในสังกัดไปเล่นตามงานแสดงต่างๆ เป็นจำนวนมหาศาล ก่อให้เกิดการรวมตัวกัน "แบน" ไม่เล่น ไม่ร้อง ไม่แสดงเพลงของแกรมมี่กันอยู่ในตอนนี้
เสก ของขึ้น แกรมมี่ ว่ายังไง ?
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้ปรากฏข้อความบนแฟนเพจเสก โลโซ ทางเฟซบุค อันดุเดือดอีกครั้ง คราวนี้ เสก โพสต์ข้อความด่ากลุ่มที่ไปตามไล่เก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงอย่างเจ็บแสบว่าเป็นพวก สันขวาน แถมยังถามย้ำต่อไปว่ามีสิทธิ์อะไรไปจับคนฟังที่เปิดเพลงสนับสนุน พร้อมไล่ให้เอาเวลาไปดูพวกขายแผ่นผีละเมิดลิขสิทธิ์ดีกว่า แถมยังท้าทายแบบไม่เกรงใจต้นสังกัดตัวเองด้วยว่า "ใครอยากเอาเพลงผมไปเล่นเอาไปเลย ไม่มีใครกล้าจับ ผมรวยแล้ว"
ข้อความของ เสก โลโซ ย้ำกระแสข่าวเรื่องการจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงของค่ายแกรมมี่ฯ ที่จู่ ก็กลับมาเอาจริงเอาจังอีกครั้งในช่วงนี้ ด้วยเฉพาะเรื่องมูลค่าการจัดเก็บที่ใครต่อใครก็บอกว่า สูงเกินกว่าที่จะรับได้
หมัดหนึ่งที่ท้าทายแกรมมี่เต็มๆ คือการโพสท์ข้อความตอบกลับแฟนเพจของ เสก ที่สงสัยว่าการซื้องานเพลงที่มีลิขสิทธิ์มาเปิดในร้านทำไมจะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ด้วยทั้งที่ก็ซื้อของแท้ แล้วทำไมพวกที่ขายแผ่นปลอมถึงไม่โดนจับ ซึ่งเจ้าตัวก็ได้โพสต์ข้อความตอบไปว่า
"นี่เป็นเรื่องที่บ้านเราต้องแก้ไขกัน เป็นเสียงเล็กๆ ของแฟนเพลงและผู้สนับสนุนงานของผม น้องเขาพูดถูก "มีงจะไปจับทำห่าอะไรแฟนเพลงที่สนับสนุนมึง มึงต้องไปจับไอ้คนขายของละเมิดลิขสิทธิ์โน่น ไอ้สันขวาน!!!" และที่น้องถามมาพี่จะตอบว่าเพลงของพี่เอาไปเปิดฟรีได้เลย ศิลปินอื่นพี่ไม่ทราบ>>>ผมมีความคิดว่าเพลงมันคือสิ่งที่ถูกสร้าง มาให้ความสุขคนแต่ถ้าไปคิดแต่เรื่องเงินเรื่องธุรกิจขนาดจะเปิดฟังยังต้องเสียเงินค่าเปิดทั้งๆ ที่เขาเองก็ใช้เงินเขาซื้อมานี่ไม่ไหว มันจะเลอะเทอะไปกันใหญ่"
จากโพสท์นี้มีแฟนคลับเข้ามาแสดงความเห็นกันหลายราย ส่วนใหญ่มองในมุมของผู้บริโภคว่า เป็นการขู่บังคับอย่างไม่ได้รับความเป็นธรรมจากทางแกรมมี่ หลายคนเข้ามาให้กำลังใจและชื่นชมที่เสกออกมากล้าพูดเรื่องนี้ทั้งที่ตัวเองก็อยู่ในสังกัดของค่ายที่กำลังเป็นข่าว ซึ่งคราวนี้ก็ไม่แน่ใจว่า ทางแกรมมี่จะส่งคนออกมาชี้แจงแก้ต่างข้อความของเสก โลโซ ต่อไปหรือไม่
ลิขสิทธิ์เพลง เรื่องใหม่ของคนไทย แต่ค่ายเพลงจริงใจแค่ไหน
แน่นอนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ค่ายเพลงอย่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ย่อมมองว่าตัวเองยืนอยู่บนความ "ถูกต้อง แต่ไม่ถูกใจ" ของผู้บริโภคและคนฟัง การนำเพลงที่มีลิขสิทธิ์ไปเล่นและร้องย่อมต้องมีการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ แต่เป็นเพราะอุตสาหกรรมเพลงไทยไม่ใส่ใจเอาจริงในเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อคิดที่จะทำโดยไม่มีการชี้แจงให้ผู้บริโภคทั่วไปเข้าใจ ความรู้สึกว่าถูกค่ายเพลง "เอาเปรียบ" จนถึงประตูบ้านย่อมเกิดขึ้น
"สมัยก่อนอาจจะไม่เคยได้จัดเก็บ พอมีการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ขึ้นมา ก็ต้องทำความเข้าใจกันนิดนึงว่า การนำเพลงคนอื่นไปใช้หาประโยชน์ หารายได้อะไรต่างๆ ขึ้นมา หรืออาจจะไม่ใช่รายได้ที่เป็นตัวเงินก็ตาม อย่างเช่นการมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน ก็อยู่ในความหมายของคำว่า การนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือใช้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า ตรงนี้ก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์เขา เพราะมันเป็นสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์พึงมีพึงได้" พิเศษ จียาศักดิ์ กรรมการและฝ่ายวิชาการด้านลิขสิทธิ์ สมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย กล่าวทำความเข้าใจถึงการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่ค่ายเพลงต้องการสื่อถึงผู้ฟัง ซึ่งถูกนำไปตีความกันผิดๆ หลายครั้ง บ้างก็ว่าซื้อแผ่นแท้แต่เปิดให้ลูกค้าฟังในร้านอาหารก็ไม่ได้ หรือเปิดร้านเสริมสวยสปาแต่จะเพลงเพราะๆ ของแกรมมี่ขับกล่อมลูกค้าก็ทำไม่ได้เช่นกัน
สะท้อนว่าน่าจะมียังมีฝั่งใดก็ฝั่งหนึ่งกำลังตีความผิดๆ ในเรื่องของการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์จนเกิดความสับสนอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้
หมอลำไม่เอาแกรมมี่
เรื่องการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เริ่มบานปลายไปในกลุ่มวงดนตรีหมอลำและวงดนตรีรับจ้างจนมีการรวมกลุ่มกันเป็น 70 วงดนตรีในนามของ ชมรมดนตรีแห่งประเทศไทย ออกมาประกาศยืนยันจะไม่จ่าย ไม่เล่น และไม่ให้ศิลปินของค่ายแกรมมี่ขึ้นเวทีของชมรมทั่วประเทศเนื่องเพราะรู้สึกว่าการเรียกจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงของค่ายแกรมมี่ฯ นั้นไม่เป็นธรรม
"ส่วนที่บอกว่าจะไม่จ่าย ไม่เล่น และไม่ให้นักร้องแกรมมี่ขึ้นเวที ผมนับถือเขานะ เพราะถ้าคุณไม่เล่นเพลงเรา คุณก็ไม่ต้องจ่ายเรา มันเป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่แล้ว ส่วนที่จะไม่ให้ศิลปินเราขึ้นเวที หรือไม่ให้ใช้เวที แสง สี เสียงของคุณ คุณต้องคุยกับผู้จัดงานว่าจะเอากันแบบนี้หรือเปล่า ขอฝากทางผู้จัดงานด้วยว่าเงื่อนไขแบบนี้ทางผู้จัดงานเห็นด้วยหรือไม่ ผมขอฝากไว้ว่า เพลงเป็นหัวใจของการแสดงสด คุณไปทุ่มเรื่องแสงสีเสียงเวทีให้อลังการได้ แต่คุณไม่มีการพูดหรือนึกถึงเรื่องลิขสิทธิ์เพลงเลย ผมว่ามันงงนะครับ เรื่องลิขสิทธิ์เพลงนี้ต่างประเทศทำกันมานานแล้ว แต่บ้านเรายังเป็นเรื่องใหม่อยู่ ยังไงขอย้ำว่าเราพร้อมเจรจาเป็นรายๆ หรือรวมกันมาเพื่อเจรจาก็ได้ เพราะนี่เป็นประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย" กษม อดิศัยปัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนธุรกิจเพลงบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บอกถึงเหตุผลและอัตราการเก็บในครั้งนี้
"เพลง เกิดขึ้นมาเพื่อฟังเป็นการส่วนตัว แต่ถ้าเอามาทำการค้าเจ้าของสิทธิ์ต้องได้ผลประโยชน์ด้วย GMM ตกลงกับนักร้อง ถ้าเขานำเพลงไปร้องบนเวทีนักร้องก็ต้องเจียดรายได้ให้กับผู้สร้างสรรค์ คนอื่นก็เหมือนกันเมื่อเอาเพลงไปใช้ทางการค้าก็ต้องถูกเก็บด้วย
การเก็บ ก็ต้องให้ผู้ใช้งานอยู่ได้ อัตราที่เราเสนอคือ 0.5% ของค่าจ้างวงต่อครั้ง/เพลง ถ้ามีการใช้ประจำก็มีส่วนลดอีก หรือเหมา ก็แล้วแต่รายไป ต้องมาคุยกันซึ่งก็มีเข้ามาคุยผู้ใช้ไหวที่เท่าไหร่ เช่น วงระเบียบวาทศิลป์ แก่นนครบันเทิงศิลป์ ฯลฯ เราดูเจตนาของผู้ใช้มากกว่า เราไม่ได้เก็บแบบเอาเปรียบอย่างที่เป็นข่าว วงที่มีรายได้น้อย เราเก็บน้อยแต่ขอให้มาคุยเช่น วงอิเล็กโทน เราเก็บวันละ100 บาท เล่นกี่เพลงก็ได้ 30 วันก็ 3,000 บาท ถ้าไม่ไหวก็มาคุยกัน เราพร้อมหาทางออกช่วยเหลือ เรามีเพลงทุกแนวไม่เฉพาะเพลงของ GMM แกรมมี่"
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการบ้างไหมผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ เพลงบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บอกว่า
"ให้รวมกลุ่มกันเข้ามาคุย เราดูเจตนาของผู้ประกอบการว่าตั้งใจจะทำให้ถูกต้องหรือไม่ ต้องเข้าใจกันก่อน เรามอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินการ ช่วงนี้เราอยู่ในช่วงเจรจากับทุกคน ผู้ที่รับมอบอำนาจจากเราไปดำเนินการจับกุม เขาไม่ได้มีเงินเดือนจากเรา ฉะนั้นเขาก็พร้อมทำ ผู้รับมอบอำนาจไม่มีหน้าที่เจรจา การที่ออกมาโต้ตอบว่าจะไม่ใช้เพลงเรา ไม่จ่ายเรา ไม่ให้นักร้องเราขึ้นเวทีเป็นสิทธิ์ของเขา ผู้จัดงานเป็นผู้เช่าเวทีแล้วคุณทำแบบนี้มันถูกต้องไหม GMM ไม่ได้กระทบ ผู้จัดงานกับเวทีต้องคุยกันเอง เวที เครื่องเสียง เครื่องไฟ ไม่ใช่ผู้ใช้งานเพลง ผู้ที่ใช้งานเพลงคือ นักร้อง นักดนตรี"
ฟังดูเหมือน แกรมมี่ กำลังผลักภาระไปให้วงดนตรีเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้? เพราะมีวงดนตรีอีกหลายวงที่บอกว่า แกรมมี่เก็บค่าลิขสิทธิ์สูงเกินไปจนอยู่ไม่ได้ ยิ่งถ้าทุกค่ายเก็บเหมือนช่วงที่ไล่เก็บตามร้านคาราโอเกะจนเป็นล่ำเป็นสัน สุดท้ายก็จะมีอีกหลายวงดนตรีที่ต้องเลิกอาชีพนี้เพราะรายได้ยังแทบไม่พอ แถมยังต้องแบ่งให้ค่าลิขสิทธิ์มหาศาลอีก
"ผู้สร้างสรรค์ (นักแต่งเพลง) ให้เราดูแลผลประโยชน์ เมื่อมีใครนำงานนั้นไปใช้ประโยชน์ทางการค้าเราก็ต้องเก็บ"
แกรมมี่ยังอ้างว่า ลำพังค่าแต่งเพลงอย่างเดียว นักแต่งเพลงไม่มีวันอยู่ได้แน่ในยุคนี้ การจัดเก็บจึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเจ้าของผลงานเพลงตัวจริง อย่าไปมองว่าค่ายกำลังเอาเปรียบใคร
"รายได้ของคนแต่งเพลงจะมาจากผู้ที่นำเพลงไปใช้ ซึ่งเป็นการแบ่งรายได้มาสู่ผู้แต่ง หลายวงต่อรองกับเรา เราก็ช่วยเหลือเราพร้อมเจรจา เราทำการค้า เพลงที่พวกคุณนำไปร้อง เราโปรโมทมาจนดัง ลูกค้าเขาชอบก็มาจ้างวงคุณ ไม่ใช่พวกคุณมาใช้เพลงของเราแล้วทำให้เพลงเราดัง ถ้าทุกค่ายเพลงเก็บ คุณก็ต้องดูว่าการแสดงของคุณใช้เพลงเหล่านั้นไหม ถ้าไม่ได้ใช้ก็ไม่ต้องไปจ่าย เรากำหนดขึ้นมาตามการใช้งานจริง เราให้วิธีคิดเขาก่อนถ้าเขาใช้เยอะมีการเหมาจ่าย ถ้าใช้เพลงเดียวก็ 0.5% อีกอย่างเราไม่ได้เก็บเจ้าภาพ เราเก็บผู้ใช้ ถ้าร้องฟรีไม่มีการจ้าง เราก็ไม่ได้ไปเก็บ
หลายวงบอกว่าต้นทุนสูง ความเป็นจริง "ลิขสิทธิ์เพลง" คือหัวใจของการแสดงสด คุณไปทุ่มเรื่องแสงสีเสียงเวทีกันเป็นล้านๆ แต่ไม่มีการพูดถึงลิขสิทธิ์เลย ทั้งที่ถ้าไม่มีเพลงคุณคงไม่ต้องใช้แสงสีเสียง เราไม่ได้ไปทำลายวิถีชุมชน ถ้าเราเก็บโหดห้ามร้องเก็บตามฐานจริงนั่นซิทำลาย เราเก็บแล้วคุณต้องเลิกวงมันเป็นไปไม่ได้ พวกคุณเป็นคนหล่อเลี้ยงชีวิตคนแต่ง พวกคุณต้องเอาลิขสิทธิ์เป็นต้นทุนของคุณด้วย เรามีหลักการวิธีคิด ซึ่งเราค้าขายกันทุกอย่างช่วยกัน อย่าตั้งธง เดินเข้ามาคุยกันดีกว่า“
อีกประการหนึ่งคือจำนวนเงินที่ต้องแลกค่ากับลิขสิทธิ์ ถึงแม้จะมีการออกมาแก้ข่าวแล้วว่าตัวเลขหลักแสนแลกกับค่าลิขสิทธิ์เพลงไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่สรุปสุดท้ายก็ต้องจ่ายอยู่ดี จะมากจะน้อยก็ต้องพิจารณากันไป
อย่างไรก็ดี ชาวคณะหมอลำทั้งหลายก็เสียความรู้สึกกับพ่อค้าหน้าเลือดค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่าง แกรมมี่ ไปเสียแล้ว ในเมื่อรายได้จากการเล่นหมอลำแต่ละครั้ง ต้นทุนก็สูงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเวที อุปกรณ์แสง-สี-เสียง ยิ่งถ้ากับคณะหมอลำเล็กๆ กำไรยิ่งหาแทบไม่มี ดังนั้นจึงมีการนำเสนอทางออกให้ค่ายเพลงพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป อย่าเหมารวม จนทำให้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านวิถีท้องถิ่นที่เขาสืบทอดกันมานานต้องล่มสลายเพราะคำว่าลิขสิทธิ์เท่านั้น