ปิดตำนานเวทีสยามกลการ ปิดตำนานผู้สร้างนักร้องคุณภาพเมืองไทย | Sanook Music

ปิดตำนานเวทีสยามกลการ ปิดตำนานผู้สร้างนักร้องคุณภาพเมืองไทย

ปิดตำนานเวทีสยามกลการ ปิดตำนานผู้สร้างนักร้องคุณภาพเมืองไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สยามกลการส่วนหนึ่งของนักร้องคุณภาพแห่งเมืองไทย ที่แจ้งเกิดจากเวทีสยามกลการในแต่ละยุคสมัย

ไม่เพียงแต่เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย แต่การจากไปของ คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ยังเป็นเสมือนอีกหนึ่งการปิดตำนานเวทีประกวดร้องเพลงสยามกลการอย่างถาวร ชนิดที่เรียกได้ว่าเหลือไว้เพียงแต่ความทรงจำให้คนร่วมรุ่นได้หวนรำลึกเท่านั้น

สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตไม่ทันยุคปี 2530 อาจนึกไม่ออกว่า เวทีสยามกลการคืออะไรและทรงคุณค่าแค่ไหน แต่หากจะบอกว่า เวทีประกวดร้องเพลงสยามกลการ คือเวทีที่จัดขึ้นเพื่อการประกวดร้องเพลงถ้วยพระราชทานชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ก็คงจะพอเข้าใจได้ถึงความยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าของเวทีนี้

การประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีมาช้านานกว่า 20 ปี จัดขึ้นโดยกลุ่มสยามกลการ ด้วยการผลักดันของ คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้ซึ่งไม่เพียงแต่จับกลุ่มธุรกิจยานยนต์อย่างสยามนิสสันจนประสบความสำเร็จในขณะนั้น แต่ยังนำความชอบส่วนตัวในเรื่องของเสียงเพลงและดนตรีสร้างสรรค์กิจกรรมนี้ขึ้นจนปรากฏเป็นรูปเป็นร่างครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2526 จนกระทั่งถึงปี 2538 จากนั้นเวทีประกวดร้องเพลงสยามกลการก็ค่อยๆ ลดบทบาทลง จนเหลือเพียงเวทีนักร้องยุวชนชิงแชมป์ประเทศไทยในที่สุด

ในยุคแห่งความรุ่งเรืองของเวทีสยามกลการนั้น ว่ากันว่า เป็นเวทีประกวดร้องเพลงเพียงหนึ่งเดียวของไทยที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และยกระดับมาตรฐานศิลปะการร้องเพลงของเมืองไทยให้สูงทัดเทียมนานาชาติ ดังปณิธานเริ่มต้นของดร.ถาวร พรประภา ผู้ล่วงลับ แม้จะมีข่าวลือเกี่ยวกับอุปสรรคภายในองค์กรที่เรียกว่าเป็น "ศึกสายเลือด" แห่งสยามกลการเกิดขึ้นเป็นพักๆ แต่ตลอดระยะเวลา 15 ปีแห่งความรุ่งเรืองของเวทีนี้ จำต้องยกความดีให้กับ คุณหญิง พรทิพย์ที่ไม่เคยล้มเลิกเวทีนี้ นับตั้งแต่ Nissan Award มาเป็น Subaru Award จนมาถึงยุคของ KPN Award ในปัจจุบัน

เวทีในตำนาน แหล่งปั้นซูเปอร์สตาร์เมืองไทย

ในช่วงปีพ.ศ. 2527-2535 ต้องถือว่าเป็นยุคทองของเวทีประกวดร้องเพลงสยามกลการโดยแท้ เพราะนอกจากการประกวดจะได้รับความนิยมอย่างสูงจนมีการถ่ายทอดสดรอบชิงชนะเลิศแล้ว ผลพวงจากการประกวด ยังก่อกำเนิดศิลปินหน้าใหม่ประดับวงการเพลงเมืองไทย และจำนวนหนึ่งในนั้น กลายเป็นซูเปอร์สตาร์เบอร์หนึ่งซึ่งยังทรงอิทธิพลมาจนถึงทุกวันนี้

อรวี สัจจานนท์ (นักร้องดีเด่นประเภทเพลงไทยสากล พ.ศ. 2526)
รวิวรรณ จินดา (นักร้องยอดเยี่ยมประเภทเพลงสากล พ.ศ. 2527)
ธงไชย แมคอินไตย์ (นักร้องดีเด่นประเภทเพลงไทยสากล พ.ศ. 2527)
ประเชิญ บุญสูงเนิน (เจินเจิน) (นักร้องดีเด่นประเภทเพลงไทยสากล พ.ศ. 2527)
หม่อมหลวงสราลี กิติยากร (นักร้องดีเด่นประเภทเพลงไทยสากล พ.ศ. 2527)
อิสริยา คูประเสริฐ (นักร้องยอดเยี่ยมประเภทไทยเพลงสากลและนักร้องดีเด่นประเภทเพลงสากล พ.ศ. 2528)

พรพรรณ ชุณหชัย (เจนนิเฟอร์ คิ้ม) เวที นิสสัน อวอร์ด ปี 1993


นันทนา บุญหลง (นักร้องดีเด่น พ.ศ. 2530)
นนทิยา จิวบางป่า (นักร้องยอดเยี่ยม พ.ศ. 2531)
ศิริพร อยู่ยอด (นักร้องดีเด่น พ.ศ. 2532)
เสาวนิตย์ นวพันธ์ (นักร้องดีเด่น พ.ศ. 2532)
มนตรี แพร่ศิริพุฒิพงศ์ (นักร้องดีเด่น พ.ศ. 2532)
ธุรดี อารีรอบ (นักร้องยุวชนดีเด่น พ.ศ. 2533)
นงนุช สมบูรณ์ (เจเน็ต เขียว) (นักร้องดีเด่น พ.ศ. 2533)
ลลิตา ตะเวทิกุล (นักร้องยุวชนยอดเยี่ยม พ.ศ. 2533)
ธิติมา ประทุมทิพย์ (นักร้องยุวชนดีเด่น พ.ศ. 2534)
สมา สวยสด (นักร้องยอดเยี่ยม พ.ศ. 2535)
อมิตา มาเรีย ยัง (ทาทา ยัง) (นักร้องยุวชนยอดเยี่ยมประเภทเพลงสากล พ.ศ. 2535)
พันโท ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วิภู กำเนิดดี (นักร้องยอดเยี่ยม พ.ศ. 2536 (ยศร้อยตรีในปีที่ได้รับรางวัล))
นันทพร สว่างแจ้ง (แนนซี่) (นักร้องยุวชนดีเด่นประเภทเพลงสากล พ.ศ. 2538)
ปนัดดา เรืองวุฒิ (นักร้องดีเด่น พ.ศ. 2538)

อมิตา มาเรีย ยัง (ทาทา ยัง) กับเพลง One Night Only ที่ใช้ประกวดรุ่นยุวชนชิงแชมป์ฯ เมื่อปีพ.ศ. 2535

จากสูงสุด สู่จุดตกต่ำ

เป็นเรื่องที่น่าใจหาย เมื่อการเปลี่ยนผ่านแห่งยุค จะนำมาซึ่งความเสื่อมถ่อยของเวทีประกวดร้องเพลงที่ได้ชื่อว่าเป็นเวที "รางวลัพระราชทาน" เพราะหลังจากที่คุณหญิงพรทิพย์วางมือ พร้อมส่งไม้ต่อให้ กรณ์ ณรงค์เดช บุตรชายคนเล็กเข้ามาสานต่อ พร้อมกับปรุงโฉมหน้ารายการใหม่ หวังจะให้ทันสมัยสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่กลับกลายเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงและหมดสิ้นความขลังไปอย่างไม่น่าเชื่อ

ภายหลังการประกวดในปี พ.ศ.2545 (ปี ค.ศ. 2002) การประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยได้หยุดและเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการประกวดภายในโรงเรียนสอนดนตรี KPN แทน แม้ว่าจะมีการใช้ชื่อการประกวดเดิมก็ตาม แต่รูปแบบไม่ได้มาตรฐาน ในการจัดประกวดร้องเพลง เคพีเอ็น อวอร์ด ในหลายๆ ปี ถูกเปลี่ยนรูปแบบจากเวทีประกวดไปในเชิงของรายการเรียลลิตี้โชว์ จุดขายเปลี่ยนไปจากการค้นหานักร้องคุณภาพ เป็นการเสริมเรื่องราวดราม่า การโหวต การส่ง SMS เข้ามาแทนที่ จนคุณค่าของเวทีที่เคยมีมนต์ขลังในอดีต ไม่ต่างอะไรกับธุรกิจบันเทิงไปแล้วในปัจจุบัน

จึงเป็นที่น่าเสียดาย หากมรดกอันล้ำค่าที่คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้ล่วงลับ จะไม่กลับมาเป็นอย่างเก่า อีกไม่ช้านาน หากความนิยมของเคพีเอ็น อวอร์ด ถึงคราวเสื่อมถอย เกียรติยศอันงดงามของการประกวดร้องเพลงถ้วยพระราชทาน ก็คงจะถึงจุดสิ้นสุดที่ไม่มีวันหวนกลับมาอีกเลยก็เป็นได้

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ปิดตำนานเวทีสยามกลการ ปิดตำนานผู้สร้างนักร้องคุณภาพเมืองไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook