ปิดตำนาน แฟต เรดิโอ ปิดตำนานเด็กแนวและยุคปฏิวัติอินดี้ของเมืองไทย | Sanook Music

ปิดตำนาน แฟต เรดิโอ ปิดตำนานเด็กแนวและยุคปฏิวัติอินดี้ของเมืองไทย

ปิดตำนาน แฟต เรดิโอ ปิดตำนานเด็กแนวและยุคปฏิวัติอินดี้ของเมืองไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แฟต เรดิโอ

"ทีมงานเริ่มย่ำนิ่ง คนฟังเริ่มเติบโต ดนตรีอินดี้กลายเป็นความสะเปะสะปะ และธุรกิจ" ทั้งหมดน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ แฟต เรดิโอ ต้องเดินมาสู่จุดที่ต้องหยุดการออกอากาศทางวิทยุโดยถาวร คงเหลือไว้เพียงแต่การจัดรายการเพลงในรูปแบบออนไลน์

24 ชั่วโมงสุดท้ายของการออกอากาศทางวิทยุเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่ควรต้องจดจำของ แฟต เรดิโอ เมื่อ ป๋าเต๊ด ยุทธนา บุญอ้อม กลับมานั่งเก้าอี้จัดรายการอีกครั้ง แต่ก็มีความหมายกับผู้ฟัง โดยเฉพาะแฟนๆ ที่เหนียวแน่นกับรายการทางหน้าปัดวิทยุมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ

หลังมีปัญหาทางธุรกิจจนต้องคืนคลื่นสถานีตั้งแต่ 10 โมงเช้า 25 ตุลาคม 2556 คลื่น Fat Radio สถานีวิทยุเพลงอินดี้ขวัญใจเด็กแนวที่ออกอากาศมานานกว่า13ปี ต้องมีอันยุติออกอากาศทางคลื่นวิทยุ 104.5 ไป ตั้งแต่เวลา 10.00น. ของวันที่ 25 ตุลาคม 2556 พร้อมหันไปจัดรายการออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ตแทน สอดคล้องกับที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่า ทางคลื่นอยู่ในภาวะของการรัดเข็มขัด นับตั้งแต่ประกาศจัดมหกรรมดนตรี แฟต เฟสติวัล ครั้งสุดท้าย รวมถึงมีการลดเงินเดือนพนักงานบางส่วนจากปัญหาทางธุรกิจเช่นกัน

ทั้งนี้ เฮนรี่ จ๋อง หรือ พงศ์นรินทร์ อุลิศ หัวเรือใหญ่คนปัจจุบันของคลื่น แฟต เรดิโอ เปิดเผยว่า เนื่องจากปัญหาทางธุรกิจของคลื่น ทำให้ต้องตัดการออกอากาศทางวิทยุซึ่งมีภาระค่าเช่าสถานี เหลือเพียงการจัดรายการในรูปแบบออนไลน์แทน

สำหรับบรรยากาศในวันสุดท้ายที่มีการออกอากาศทางวิทยุ ได้มีแฟนเพลงเข้าไปร่วมกันกล่าวข้อความอำลาและขอเพลงออกอากาศทางวิทยุเป็นครั้งสุดท้าย ขณะที่ทางเฟซบุค https://www.facebook.com/fatradio ทีมงานก็มีการกล่าวคำขอบคุณ พร้อมกับแจ้งว่า Fat Radio ไม่ได้ปิดตัว เพียงแต่ย้ายไปออกอากาศทางอินเทอร์เน็ตแทน และเชิญชวนให้แฟนๆ ตามไปฟังกัน


แฟต เรดิโอ

เหล่าหัวเรือใหญ่ของ แฟต เรดิโอ ในห้องส่งของการออกอากาศสดทางวิทยุครั้งสุดท้าย

12 ปี กับสัญญาณของความเปลี่ยนแปลง

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งในยุคหลังของ แฟต เรดิโอ คือการเปลี่ยนแปลงคลื่นจาก 104.5 แฟตเรดิโอ ที่คุ้นเคยมาแสนนาน มาเป็น 98 แฟตเรดิโอ เมื่อปีที่แล้ว ไล่เลี่ยกับมหกรรมดนตรีและศิลปะ เดอะ ลาสท์ แฟตเฟส ที่บ่งบอกว่าจะเป็นการจัดงานใหญ่ประจำปีครั้งสุดท้ายของแฟตด้วยเช่นกัน

ในครั้งนั้น ผู้บริหารคลื่นแฟต เรดิโอ อย่าง จ๋อง พงศ์นรินทร์ อุลิศ ให้เหตุผลว่า คลื่นแฟตกำลังต้องการมองหาอะไรใหม่ๆ ไม่ใช่เป็นเพราะการอิ่มตัว สอดคล้องกับที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า วงการเพลงอินดี้ที่เคยครึกครื้นก็เริ่มจะยืนอย่างลำบากบ้างแล้ว แม้ก่อนหน้านี้จะเคยออกมาโต้ข่าวว่าเหตุที่ย้ายหน้าปัดเพื่อเตรียมปิดคลื่นนั้นไม่เป็นความจริง แต่อวสานของแฟต เรดิโอ บนคลื่นวิทยุ ก็มาถึงจนได้ ส่วนเรื่องของการเปลี่ยนเลขคลื่นวิทยุจาก 104.5 แฟตเรดิโอ มาเป็น 98 แฟตเรดิโอ ผู้บริหารคลื่นสุดแนวชี้แจงถึงสาเหตุว่า เพื่อต้องการประหยัดต้นทุนในการผลิต เพราะอยากอยู่รอดต่อไปเรื่อยๆ ในฐานะของคลื่นวิทยุที่ค่อนข้างจะเป็นทางเลือกให้ผู้ฟัง และนี่คือหนทางหนึ่งที่เป็นผลดีกับทุกฝ่ายและสามารถรักษาเอกลักษณ์ของคลื่น แฟตเรดิโอ เอาไว้ได้

"ผมโชคดีที่พอคิดจะเปลี่ยนเลขคลื่นเพื่อประหยัดต้นทุน ทีมงานทุกคนเห็นด้วย พวกเขาขอแค่ให้คลื่นแฟตเรดิโอยังเป็นตัวของตัวเอง ในเมื่อเราไปเจอคลื่นที่มีต้นทุนถูกลง แล้วทำไมเราจะไม่ย้าย ในเมื่อทำเท่านี้ลูกน้องผมอาจจะมีเงินเดือนขึ้นก็ได้"

แฟต เรดิโอ

"เรื่องของกิจกรรมก็เหมือนกัน เราเป็นคลื่นวิทยุที่ชวนคนฟังทำอะไรไม่เหมือนชาวบ้าน เราพยายามบอกคนฟังว่า ให้มองหาอะไรใหม่ๆ เอากะลาที่อยู่เหนือหัวคุณออก แล้วหาใบใหม่ใส่เถอะ เราพูดอย่างนี้มาตลอด เหตุผลข้อที่สองคือ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เราทำแฟตเฟสด้วยความต้องการอยากจะพิสูจน์ว่า คนที่ชอบมองหาความแตกต่างมีอยู่จริงในโลก และครั้งแรกที่ทำเราสามารถเอาศิลปินซึ่งไม่ได้อยู่ในกระแสมาเล่นในมหกรรม ดนตรี และมีกระแสตอบรับดีมาเรื่อยๆ แต่ถึงวันหนึ่ง เราถามตัวเองว่า จะปล่อยให้ดีอย่างนี้ไปอีกกี่ปี เพราะถึงวันหนึ่งมันจะต้องไม่เวิร์กแล้ว"

พร้อมเสริมต่อว่า มหกรรมดนตรีแฟตเฟสติวัล แม้ช่วงหนึ่งจะได้รับกระแสตอบรับดี แต่คาดว่าเทศกาลอย่างนี้จะอยู่ได้อีกสัก 5 ปี สุดท้ายเหตุผลสำคัญคือ แฟตเรดิโอเป็นคลื่นวิทยุที่ชวนให้คนฟังมองหาอะไรใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกัน กลับทำแต่งานเก่าๆ เหมือนคนที่พูดอย่างทำอย่าง พอคิดได้อย่างนี้จึงตัดสินใจเลิกดีกว่า โดยการยกเลิกเทศกาลดนตรีครั้งนี้ ไม่ใช่เหตุผลที่แฟตเรดิโอกำลังเติบโตหรือมีโปรเจกท์ใหม่มากขึ้น อย่างที่หลายคนเข้าใจ

"แฟตไม่ได้โตขึ้นหรอก แต่คนทำต่างหากที่โตขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราวางแฟตไว้ให้เป็นคลื่นวิทยุของวัยรุ่นอายุ 15-25 ปี ฉะนั้นแฟตจะโตตามอายุอายุคนฟังไม่ได้ เพราะคนอายุ 15 ที่ฟังเราครั้งแรก วันหนึ่งเขาจะต้องโต แต่แฟตต้องกลับไปพูดประโยคเดิมๆ ให้คนอายุ 15 คนใหม่ฟัง ทำให้เราต้องบอกตัวเองว่า ห้ามคิดอะไรแก่ๆ ต้องมีความคิดที่สดใหม่ตลอดเวลา เจตนารมณ์ของคลื่นยังไม่เปลี่ยน เพียงแต่รูปแบบบางอย่างอาจเปลี่ยนไปบ้าง ในอนาคตเราอาจมีงานใหม่ๆ เข้ามา อย่างโปรเจกท์หนังซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังฟุ้งๆ อยู่ ส่วนเทศกาลดนตรีเราอาจจะจัดให้มีขนาดเล็กลง แยกย่อย แตกแขนงออกไป"

ปรากฏการณ์ แฟต เรดิโอ ที่พลิกวงการเพลงไทย

- ช่วง Bedroom ที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังรายการเปลี่ยนตัวเองเป็นศิลปินสมัครเล่นส่งผลงานมาให้ดีเจแนะนำในรายการ ทราบหรือไม่ว่าศิลปินอย่าง Scrubb ก็คือศิลปินที่แจ้งเกิดจากช่วง Bedroom ของ แฟต เรดิโอ มาแล้ว

- คอนเสิร์ต เล็ก ชิ้น สด คือคอนเสิร์ตที่เกิดขึ้นจากเสียงเรียกร้องของคนฟังที่อยากจะชมวงดนตรีที่ได้รับความนิยมทางคลื่นแฟต เรดิโอ แบบสดๆ ช่วงหนึ่งมีการออกอากาศคอนเสิร์ตแบบถ่ายทอดสดให้ได้ฟังกันด้วย ศิลปินอย่าง โยคีเพลย์บอย และ ทีโบน พวกเขาเคยผ่านเวทีนี้มาแล้วเช่นกัน

- นิตยสาร DDT คืออีกผลผลิตหนึ่งจาก "เจนเนอเรชั่นแฟต" ที่คลอดออกมาในจังหวะที่เพลงอินดี้บูมสุดขีด ด้วยคอนเทนท์เกี่ยวกับดนตรี ภาพยนตร์ และศิลปินนอกกระแสที่ตอบโจทย์อินดี้ไทยมากที่สุดในยุคนั้น กระทั่งปี 2552 ทางแฟตตัดสินใจชลอการผลิตนิตยสาร DDT แบบไม่มีกำหนด

- ช่วง หนังหน้าไมค์ กลายเป็นรายการวิทยุรายการเดียวที่เป็นขวัญใจคอหนัง

- วันบุษบาแห่งชาติ ถูกขนานนามว่าเป็นวันแห่งปรากฏการณ์ของคลื่นวิทยุที่น่าจดจำที่สุด เมื่อทุกดีเจในทุกช่วงรายการ จะพร้อมใจกันเปิดเพลง "บุษบา" เพียงเพลงเดียวตลอดทั้งวันเท่านั้น

อัลบั้มภาพ 23 ภาพ

อัลบั้มภาพ 23 ภาพ ของ ปิดตำนาน แฟต เรดิโอ ปิดตำนานเด็กแนวและยุคปฏิวัติอินดี้ของเมืองไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook