ถามบอดี้สแลม ธรรมชาติ สิ่งสามัญ และค่ายมวยดาบกานต์
ออกตัวแรงจัดสำหรับเพลง เรือเล็กควรออกจากฝั่ง ซิงเกิ้ลใหม่ในอัลบั้มชุดที่ 6 dharmajāti (ดัม-มะ-ชา-ติ) ของวง บอดี้สแลม ที่กวาดยอดวิวจากการเปิดตัวทั้งเพลงและมิวสิควิดิโอพร้อมกันไปเมื่อต้นอาทิตย์ (11 พ.ย.) จนถึงวันนี้ล่้าสุดทะลุ 3 ล้านวิวไปแล้ว
"เราไม่เคยรู้กระแสตอบรับเร็วแบบนี้มาก่อน แต่ตอนนี้เรามาอยู่ในยุคดิจิตอลเต็มตัวได้เห็นกระแสเป็นรายชั่วโมง ก็ดีใจมากที่มีคนอยากจะฟังเพลงอยากจะดูเอ็มวีของเราเยอะขนาดนี้ ไม่ใช่เฉพาะวงที่ดีใจแต่ทีมงานทุกคนก็มีความสุขด้วย เรารู้สึกว่าเดี๋ยวนี้แค่ไม่ถึงวันที่เราปล่อยเพลงไปก็จะรู้ว่าทุกคนรู้สึกยังไงมันเป็นความรู้สึกที่ดีอีกแบบนึงครับ"
เรือเล็กควรออกจากฝั่ง พูดถึงอะไร ?
"เรือเล็กควรออกจากฝั่ง เนื้อหาเพลงเป็นการให้กำลังใจสร้างพลังงานดีๆ แต่มันก็มีเรื่องราวของความคิดสร้างสรรค์ในแง่ของการสร้างเนื้อเพลงด้วย ซึ่งได้ แมงโก้ ทีม มาช่วยแต่งเนื้อร้องที่ พูดถึงคนเราต้องออกไปทดสอบตัวเองบ้าง ออกไปแพ้บ้างก็ได้ ไม่ใช่แค่มีคนเตือนว่ามันยาก มันอันตรายแล้วก็ไม่ออกไปเลย แบบนั้นมันง่ายเกินไปสำหรับชีวิต มันน่าจะสนุกกว่าถ้าเราได้ท้าทายตัวเองบ้างในบางครั้ง"
"คนเราถ้าอยากจะเป็นคนเต็มคน มันก็ควรจะมีบาดแผลบ้าง" นี่คือสิ่งที่ ตูน อธิบายสรุปรวบอย่างเข้าใจได้ง่ายที่สุด เหมือนกับชื่อเพลงที่ได้มาจาก ออฟ บิ๊กแอส ส่วนสัญลักษณ์ เครื่องหมาย ≠ ไม่เท่ากับ ของอัลบั้มนี้ มันคือความไม่สมบูรณ์ ความไม่แน่นอน ความไม่สวยงาม ซึ่งมันก็เป็นธรรมชาติ และธรรมชาตินั่นเองที่สวยงาม
ใช้นักมวยเด็ก เปรียบบทเรียนชีวิต
ไม่ใช่แค่ตัวเพลงที่หลายคนอยากจะเข้าถึงในความหมายที่ลึกซึ้ง มิวสิควิดีโอเพลงนี้ ก็แฝงแง่คิดอย่างแยบยลด้วยเช่นกัน โดยมีนักมวยรุ่นเล็กเป็นตัวดำเนินเรื่องราว
"เป็นเรื่องราวของพี่น้อง 2 คนที่เป็นนักมวยตัวจริง จากค่ายมวยดาบกานต์ ซึ่งเป็นค่ายมวยที่ฝึกเด็กๆ ให้พวกเขามีรายได้ และเด็กพวกนี้ก็ชกมวยหาเลี้ยงครอบครัวจริงๆ ไม่ใช่นักแสดงที่มาเล่นเป็นนักมวย คนน้องเป็น loser คือทำอะไรก็แพ้แข่งอะไรก็แพ้คนพี่ตลอด จะซ้อมจะวิดฟื้นก็ทำได้น้อยกว่า โดนเพื่อนล้อต่างๆ นานา พอไปขึ้นเวทีชกจริงก็แพ้ เปรียบเหมือนน้องเป็นเรือลำเล็กที่ได้ออกไปเผชิญกับคลื่นลม ได้รู้ว่าเมื่อลมแรงต้องรับมือกับมันยังไง ซึ่งพี่ก็ได้คอยให้กำลังใจและน้องก็กลับมาลุกขึ้นอีกครั้งเพราะชีวิตยังต้องสู้ต่อไป ซึ่งน้องสองคนนี้เล่นได้ดีมาก แววตาสื่ออารมณ์ได้อย่างชัดเจน เพราะการถ่ายทำเป็นเรียลลิตี้ พี่ผึ้ง สาลินี เขมจรัส ผู้กำกับ ไปตามเก็บภาพจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในค่ายมวยและบนเวที
ทำไมต้องค่ายมวยดาบกานต์
ใครที่เคยติดตามรายการ คนค้นคน เมื่อประมาณ 2 เดือนก่อน น่าจะพอจำได้ว่า มีอยู่ตอนหนึ่ง ที่ทางรายการ ได้พาไปเยี่ยมค่ายมวยเล็กๆ ท่ามกลางความเสื่อมโทรมของแฟลตที่อยู่กันอย่างแออัดย่านบางนา ห้อมล้อมไปด้วยป่ากก น้ำคลำ และกลิ่นขยะอันคละคลุ้ง และในความเสื่อมโทรมของที่นี่ ยังมีตำรวจน้ำดีคนหนึ่ง ที่ไม่ได้ทำงานเพื่อแลกกับเงินเดือนในแต่ละเดือน และจากการเป็นตำรวจ ทำให้ ดาบกานต์ ได้รับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ของวัยรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ ล้วนมาจากการใช้เวลาให้หมดไปกับอบายมุขต่างๆ ซึ่งมาจากสภาพครอบครัวที่ต้องหาเช่ากินค่ำ สิ่งยั่วยุจากสังคม ตำรวจชั้นผู้น้อยนายนี้ จึงใช้เวลาที่เหลือจากราชการ สร้างค่ายมวยเล็กๆ ขึ้นมาด้านหลังแฟลต ภายใต้ชื่อว่า ค่ายมวยศิษย์ดาบกานต์ ถ้าดูจากสภาพที่นี่ไม่น่าจะใช้คำว่าค่ายมวย แต่ค่ายมวยนี้ สร้างขึ้นจากความตั้งใจ และความหวังดีของดาบตำรวจ ที่ไม่ได้มุ่งหวัง ที่จะสร้างนักชกที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่สังเวียนมวยแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างคนให้เป็นคน
นอกจากดาบกานต์แล้ว ยังมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกหลายคน ที่มาช่วยฝึกปรือฝีมือให้กับเด็กๆ แต่ละคนล้วนมาจากต่างสาขาอาชีพ ไม่มีค่าจ้างรางวัล แต่ทุกคนมีหัวใจดวงเดียวกัน คือความหวังที่จะเห็นเด็กๆ เป็นคนดีของสังคม ข้อจำกัดหลายอย่างที่ดาหน้าเข้ามาเป็นบททดสอบ แต่ดาบกานต์ยังคงก้าวเดินต่อไป เขาใช้ทุนทรัพย์ของตัวเอง และเงินจากผู้ปกครองบางคน มาช่วยกันซ่อมแซมอุปกรณ์และสถานที่ เพื่อให้เด็กๆ ได้มาซ้อมมวยในช่วงเย็น หลังจากที่กลับจากโรงเรียน เพื่อให้เขามีเวลาว่างน้อยที่สุด และจะได้ห่างไกลจากเกมและยาเสพติด ก่อนที่มิวสิควิดีโอจะนำผู้ชมไปรู้จักกับนักมวยรุ่นเล็ก ผลผลิตจากสังเวียนสร้างคนดีแห่งนี้
เมื่อถึงเวลา บอดี้สแลม ก็ต้องเติบโต
การทำงานเพลงของบอดี้สแลมยังคงลักษณะเหมือนเดิม คือการนำส่วนที่ดีที่สุดในการทำแต่ละเพลงมารวมกันเป็นเพลง ความท้าทายที่ก้าวเข้ามาพร้อมๆ กัน คือความคิดที่อยากจะสอดแทรกความเป็นมืออาชีพในขั้นตอนของการผลิตด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการได้ร่วมงานกับทีมงานชาวต่างชาติ และหอบผลงานไปผลิตกันถึงต่างแดน
"อัลบั้มนี้บอดี้สแลมมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ ไมค์ เฟรเซอร์ (Mike Fraser) ซึ่งเป็นมิกซ์เอ็นจีเนียร์รุ่นใหญ่ เคยทำงานกับ Metallica, Aerosmith, AC/DC ซึ่งตอนแรกเราก็มองทีมงานไว้จำนวนหนึ่ง ลิสท์รายชื่อมา 2-3 คน พอทีมงานติดต่อไปคนที่เราอยากได้ก็คิวแน่นมากและแพงมากด้วย แต่ก็ได้คุณไมค์ข้ามาดูแลในที่สุด
คือเราโชคดีมาก เพราะตอนที่เราส่งเพลงไป เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะทำให้หรือเปล่า แต่เขาก็ตอบกลับมาว่าเขาโอเค เราก็ดีใจมากครับ งานที่ได้ออกมามันเกินความคาดหมายของพวกเราไปเยอะเลยครับ แทบไม่ต้องแก้ไขอะไรเลย"
อยากคืนสู่สามัญ
ตั้งแต่ชื่ออัลบั้ม การใช้สัญลักษณ์ การนำเสนอคอนเซปท์ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีความหมายแอบแฝงอยู่ทั้งสิ้นเพื่อกลั่นกรองอัลบั้มชุดที่ 6 ให้ออกมาอย่างที่ควรจะเป็น และในห้วงเวลาที่เหมาะสม
"ดัม-มะ-ชา-ติ (dharmajati) dharmajāti เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าธรรมชาติ จริงๆ ตอนแรกจะใช้ชื่อว่า ธรรมชาติ แต่กลัวว่าคนจะตีความหมายธรรมชาติแค่ ป่า เขา ลำเนา ไพร หรือว่าแค่ต้นไม้ แต่สิ่งที่จะสื่อคือมันมีความเป็นนามธรรมอยู่ คือ มันมีความไม่แน่นอน ซึ่งมันน่าจะทำให้หลาย ๆ คนได้รู้สึกแล้วก็จินตนาการได้ว่ามันมีความเป็นนามธรรมด้วยครับ ส่วนสัญลักษณ์เครื่องหมายไม่เท่ากับ ≠ เครื่องหมายไม่เท่ากับมันเป็นสัญลักษณ์ของความไม่สมบูรณ์ ความไม่สวยงาม ซึ่งความไม่สมบูรณ์ ความไม่สวยงามเนี่ยมันเป็นธรรมชาติ และธรรมชาตินั่นเองที่สวยงาม"
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ