UNSC แนะไทย-เขมรเจรจา หยุดยิงถาวร

UNSC แนะไทย-เขมรเจรจา หยุดยิงถาวร

UNSC แนะไทย-เขมรเจรจา หยุดยิงถาวร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นางมาเรีย ลุยซา ริเบียโร วิออตติ (Maria Luiza Ribeiro Viotti) ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ออกแถลงการณ์ ภายหลังการประชุมร่วมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กัมพูชาและอินโดนีเซียในฐานะคนกลางในการไกล่เกลี่ย ระบุ สมาชิกทั้ง 15 ชาติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขอเรียกร้องให้ ทั้งไทยและกัมพูชา แสดงความยับยั่งชั่งใจสูงสุด และหลีกเลี่ยง การกระทำใดๆ ที่อาจซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวลง รวมถึงขอเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายจัดทำข้อตกลงหยุดยิงถาวร ซึ่งทางคณะมนตรีขอสนับสนุนข้อตกลงนี้อย่างเต็มที่ และเรียกร้องให้แก้ปัญหาอย่างสงบผ่านวิธีการเจรจา

โดยในวันเดียวกันนี้ คณะมนตรีความมั่นคงฯ ยังได้เผยสรุปผลการประชุมลับร่วมกับ นายมาร์ตี นาตาเลกาวา (Marty Natalegawa) รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และ กัมพูชา โดยทางคณะมนตรีความมั่นคง แสดงความสนับสนุนสำหรับการดำเนินงานของอาเซียน เกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทย และ สนับสนุนให้จัดตั้งกลุ่มบุคคลที่คอยทำหน้าที่สานต่อภายใน พร้อมคาดว่าจะมีการหารือเกี่ยวกับปัญหาในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

ด้าน นายมาร์ตี นาตาเลกาวา กล่าว ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยและกัมพูชา ต่างออกเสียงสนับสนุนให้มีการแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจา การหยุดยิงถาวร และ สนับสนุนบทบาทของอาเซียนในกรณีความขัดแย้ง พร้อมยืนยันว่า จะมีการนำปัญหานี้เข้าหารือ ในที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอาเซียน ที่กำลังจะเปิดฉากขึ้นในสัปดาห์หน้า ที่กรุงจาการ์ต้า โดยประเด็นหลัก คือการหากลไกที่จะนำไปสู่การหยุดยิงอย่างถาวร รวมถึงแผนแม่บทสำหรับความพยายามทางการทูตเพื่อแก้ไขความขัดแย้งอย่างยั่งยืน

ขณะที่ถ้อยแถลงของ นายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ต่อ ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงฯ กลับมีการกล่าวหาว่าประเทศไทยเป็นประเทศ'ก้าวร้าว' และใช้อาวุธหนักโจมตีกัมพูชา ร่วมถึงระเบิดพวง ซึ่งถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาสากล ทั้งยังได้เรียกร้องให้ทางคณะมนตรีความมั่นคงฯ ส่งผู้สังเกตการณ์หรือกองกำลังรักษาสันติภาพ หรือคณะพิสูจน์ความจริงลงพื้นที่ และขอเรียกร้องให้ส่งคำตัดสินไปตีความที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศใหม่อีกครั้ง เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของไทย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook