กมธ.วุฒิฯ ชี้ผู้บริหารซานติก้าส่อรอดคุกหากพิสูจน์ไม่เกี่ยวคืนเพลิงไหม้
ประธานกมธ.ตำรวจวุฒิสภาชี้ผู้บริหารซานติก้าส่อรอดคุกไม่ถูกดำเนินคดี หากพิสูจน์ได้ไม่เกี่ยวข้องคืนเพลิงไหม้ ระบุปัญหาดำเนินคดีขณะนี้คือ "ใครหล่ะ" เป็นคนทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ ส่วนนายตำรวจใหญ่ถือหุ้นไม่ผิดหากรับเงินปันผลปกติ พ่อเหยื่อวอนรัฐ-ตำรวจ เร่งติดตามคดีหาคนผิด
นาย สมัคร ชวภานันท์ ประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ วุฒิสภา ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้บริหาร"ซานติก้าผับ" ว่า ในทางคดีอาญาการที่พนักงานสอบสวนจะตั้งข้อหากับบุคคลใดนั้น จะต้องมีการสอบสวน รวบรวมหลักฐานให้แน่ชัดก่อน แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างที่พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานว่าเหตุเพลิงไหม้ ที่เกิดขึ้นในวันนั้นเป็นการกระทำของบุคคลกลุ่มใด เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ เป็นเจ้าของผับ หรือลูกค้าที่เข้ามาเที่ยวในคืนนั้นจึงอยู่ในขั้นตอนรวบรวมหลักฐาน
"เบื้องต้นหากผู้บริหาร หรือคณะกรรมการของผับ สามารถพิสูจน์ได้ว่าตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำ ให้ผู้บริหารไม่มีความผิดตามกฎหมายก็ได้ ซึ่งเบื้องต้นตำรวจตั้งเพียงข้อหา อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าใช้บริการนั้น เนื่องจากสามารถพิสูจน์หลักฐานอาจจะจากอายุของผู้เสียชีวิต หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในคืนที่เกิดเหตุ"นายสมัคร กล่าว
ประธานกรรมาธิการการตำรวจ วุฒิสภา กล่าวอีกว่า เบื้องต้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหา อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าใช้บริการ นั้นคิดว่าถูกต้องแล้ว ส่วนข้อหาอื่นก็ต้องรอการพิสูจน์ หรือรวบรวมหลักฐานให้เป็นที่แน่ชัดซึ่งต้องให้เวลาในการดำเนินงาน ปัญหาในการดำเนินคดีในขณะนี้คือ "ใครหล่ะ" เป็นคนทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าของผับ หรืออาจจะเป็นลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในคืนนั้น
สำหรักกรณีที่นายตำรวจระดับรองผู้บังคับการปราบปราม เข้าไปถือหุ้นภายใน"ซานติก้า ผับ"นั้น นายสมัคร กล่าวว่า สามารถกระทำได้เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ห้ามให้เจ้าหน้าที่เข้าไปเป็นหุ้นส่วน แต่ต้องพิจารณาอีกว่าตำรวจท่านนั้นเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารงาน หรือไม่ ถ้าหากเข้าไปยุ่งเกี่ยวในการดำเนินงาน ดูและ หรือเข้าไปบริหารด้วยตนเองก็ต้องมีความผิดตามกฎหมาย แต่ถ้าหากเข้าไปเป็นหุ้นส่วนโดยที่เสียเงินตามที่เป็นหุ้นส่วน และรอรับเงินปันผลก็คิดว่าไม่มีความผิดใด
"ส่วนกรณีที่ว่าผับแห่งนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องดูว่านายตำรวจท่านนั้นทราบมาก่อนหรือไ เพราะถ้าหากทราบแต่ยังเข้าไปเป็นหุ้นส่วนอันนี้ก็มีความผิดเช่นกัน"นายสมัคร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ ซานติก้า ผับ อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าใช้บริการอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายเพราะมีนายตำรวจเป็นหุ้นส่วนจึงทำให้ ตำรวจในพื้นที่ไม่กล้าเข้าไปจับกุมดำเนินการ นายสมัคร กล่าวว่า หากขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายไม่ ว่าจะเป็นใครก็ตามที่เข้ามาเป็นหุ้นส่วน ตำรวจเจ้าของพื้นที่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามนั้น มีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสถานบันเทิงนั้นเราก็ต้องทำ ซึ่งการที่สถานบันเทิงแห่งนี้อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าใช้บริการในความเป็นจริงแล้วเป็นหน้าที่ของตำรวจเจ้าของพื้นที่ โดยตรงที่จะเข้าไปตรวจสอบ แต่คำถามคือทำไมเจ้าหน้าที่ถึงปล่อยให้สถานบันเทิงเปิดให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปใช้บริการ
เมื่อถามว่าการที่ผู้ประกอบการยังคงเปิดสถาน บันเทิงต่อทั้งที่ไม่ได้รับอนุญาตเป็นเพราะช่องว่างของกฎหมายหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า คิดว่าตัวกฎหมายหมายไม่ได้เกิดช่องโหว่ หรือช่องว่างแต่อย่างใด เพราะคนที่บังคับใช้กฎหมายต่างหากที่เป็นปัญหาในขณะนี้ เพราะผู้บังคับใช้กฎหมายปฏิบัติตามกฎหมายบังคับไว้หรือไม่ ถ้าหากปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดปัญหาต่างๆจะไม่มีทางเกิดขึ้น แต่ถ้าหากผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะเกิดปัญหาขึ้นแน่นอน และคนก็จะมาคิดว่ากฎหมายมีช่องว่าง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวกฎหมาย แต่ขึ้นอยู่กับผู้บังคับใช้กฎหมาย
"ผมอยากฝากถึงผู้บริหารสถาน บันเทิงว่าถ้าพูดตามหลักกฎหมายขณะนี้อาจจะยังไม่มีความผิด แต่ถ้าหากพูดถึงความมีคุณธรรม หรือจริยธรรม การกระทำของผู้บริหารน่าจะยื่นมือเข้ามาช่วยในเรื่องของค่าใช้จ่ายต่อผู้ที่ ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตบ้าง หรือเข้ามาเยี่ยมพูดคุยกับญาติของผู้ป่วยให้กำลังใจ ตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ผู้บริหารน่าจะกระทำก่อนในเบื้องต้น" นายสมัคร กล่าว
เมื่อเวลา 10.00 น. บรรยากาศที่สถาบันนิติเวช รพ.รามาธิบดี เต็มไปด้วยความโศกเศร้าเสียใจของบรรดาญาติๆ ของผู้เสียชีวิต จำนวน 4 ราย ที่ถูกส่งตัวมาจากศูนย์การแพทย์ รพ.กรุงเทพ ประกอบด้วย 1.น.ส.วิราวรรณ ถนอมปัญญาทรัพย์ อายุ 30 ปี 2.นายยุทธนา สินไพบูลย์ผล อายุ 26 ปี 3.นายทรงพล โปธา (ไม่ทราบอายุ) และ 4.น.ส.วิระฉัตร เทียนทอง อายุ 24 ปี ต่างพากันเดินทางมารับศพกลับไปเพ็ญกุศลจนแน่นตึกนิติเวช รพ.รามาธิบดี
นาย ศักดิ์สิทธิ์ เทนทอง อายุ 54 ปี นักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้เดินทางมาพร้อมกับ นางธัญญาลักษณ์ เทียนทอง ภรรยา และ น.ส.เกศสุรีย์ เทียนทอง บุตรสาวคนโต เพื่อมารับศพ น.ส.วิระฉัตร ซึ่งเป็นบุตรสาวคนเล็ก โดยมีคณาจารย์ และเพื่อนๆ ที่เคยเรียนด้วยกันจากภาควิชาศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทามาช่วยกันแต่งหน้าศพเป็นครั้งสุดท้ายด้วย
นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า ลูกตนเป็นศิลปินชอบถ่ายภาพมาก ทำงานอยู่เบื้องหลังวงการบันเทิงมาตั้งแต่สมัยเรียนยังไม่จบ เคยเดินทางไปออกค่ายช่วยเหลือสังคมตามโครงการของรัฐบาลหลายครั้ง ซึ่งในวันเกิดเหตุก็ได้เดินทางไปใช้กล้องถ่ายรูปเก็บบันทึกภาพการตกแต่งร้าน ซานติก้าผับ ก่อนเพลิงไหม้ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการทำงานในอนาคตด้วยไม่คิดว่าจะต้องมาเสียลูกสาวซึ่ง กำลังมีอนาคตที่สดใสไปอย่างนี้
นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อวานนี้ได้ปรึกษากับแพทย์แล้วว่าหากใช้เครื่องช่วยหายใจยื้อชีวิตลูกสาว ต่อไปก็คงไม่เกิดประโยชน์ เพราะสมองตายไปหมดแล้ว หากมีปาฏิหาริย์ที่ทำให้รอดมาได้ ก็จะกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ซึ่งตนไม่อยากให้ลูกทรมานต่อไปอีก จึงตัดสินใจให้แพทย์เอาเครื่องช่วยหายใจออกหลังจากใช้เวลายื้อชีวิตอยู่นาน 3 วัน
เบื้องต้นต้องออกค่ารักษาพยาบาลไปก่อน จำนวน 100,000 บาท และต้องเซ็นต์ชื่อยอมรับสภาพหนี้จำนวน 390,000 บาท เอาไว้กับฝ่ายการเงินของศูนย์การแพทย์ รพ.กรุงเทพ จึงจะสามารถนำศพลูกสาว ออกมาผ่าชันสูตรได้
ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมสถานบันเทิงไม่ยอมต่อ ประกันภัย ผมอยากให้ภาครัฐบาล และทางตำรวจช่วยติดตามคดีนี้ให้รวดเร็วที่สุด เพื่อหาคนมารับผิดชอบ และอยากให้สถานบันเทิงทุกแห่งวางมาตรการความปลอดภัยให้ดีกว่านี้ ส่วนในตอนนี้นอกจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่ยื่นมือมาช่วยค่าทำศพรายละ 5,000 บาทแล้ว ผมก็ยังไม่เห็นหน่วยงานใดจะเข้ามาให้การช่วยเหลือบ้างเลย หลังจากรับศพลูกสาวออกไปแล้วก็จะนำไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิด ณ บ้านร่องกาศ หมู่ 2 อ.สูงเม่น จ.แพร่ เป็นเวลา 7 วัน ก่อนเคลื่อนย้ายไปฌาปนกิจที่ฌาปนกิจสถานบ้านร่องกาศต่อไปนายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว