เครือข่ายครอบครัวหนุน วธ. ยกเครื่องเรตติงทีวี
7 พ.ค. - เครือข่ายครอบครัว หนุน กระทรวงวัฒนธรรม จัดเรตรายการทีวีใหม่ เตรียมยื่นหนังสือ "นิพิฏฐ์-องอาจ-กสทช." 9 พ.ค.นี้ พร้อมเสนอเป็นเจ้าภาพเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดหาจุดร่วมระหว่าง ผู้ประกอบการ ภาครัฐ และเครือข่าย ด้านนักกฎหมาย ชี้เลขาฯ กสทช. มีอำนาจสั่งระงับละครไม่เหมาะสมได้
นางอัญญาอร พาณิชพึ่งรัช หัวหน้าเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอให้ทบทวนการจัดเรตติงใหม่ โดยให้มีการกำหนดช่วงเวลาการออกอากาศให้สอดคล้องกับเนื้อหารายการโทรทัศน์ ว่า ทางเครือข่ายครอบครัวสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการที่ภาครัฐ โดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม หรือนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลเรื่องสื่อ จะออกมาผลักดันเรื่องการจัดช่วงเวลาให้สอดคล้องกับการจัดเรตติง เพราะเป็นเรื่องที่เครือข่ายครอบครัวเรียกร้องกันมานานมาก เพราะการผลักดันเรื่องช่วงเวลาจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้ระบบเรตติงมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ตนไม่อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาให้สัมภาษณ์แล้วเงียบหายไป แต่อยากให้ดำเนินการอย่างจริงจัง เบื้องต้นทางเครือข่ายครอบครัว จะออกมาร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผล โดยในวันจันทร์ที่ 9 พ.ค. ตนพร้อมด้วยแกนนำเครือข่ายครอบครัว จะเดินทางเข้าพบ นายนิพิฏฐ์ พร้อมทั้งมอบเอกสารที่ได้ดำเนินการผลักดันการจัดระบบเรตติงให้เหมาะสมกับช่วงเวลาให้เป็นแนวทางในการดำเนินการอย่างเร่งด่วนด้วย
นอกจากนี้ เครือข่ายฯ จะยื่นหนังสือให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ดูแลเรื่องสื่อโดยตรง ได้แก่ นายองอาจ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพราะที่ผ่านมากรมประชาสัมพันธ์ จะต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ แต่พอไม่มีอำนาจหน้าที่ ก็ต้องส่งต่อไปที่ กสทช. และก็ขาดการดูแลมาหลายปี จนมาถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เครือข่ายครอบครัว พร้อมเป็นเจ้าภาพ ในการจัดประชุม เพื่อหารือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจะเชิญผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้แทนสถานีโทรทัศน์ ผู้เขียนบท หน่วยงานภาครัฐ และตัวแทนเครือข่ายครอบครัว มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เพื่อหาแนวทางร่วมในการกำหนดการดำเนินการจัดเรตติง
หัวหน้าเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวด้วยว่า กรณีที่มีเด็กเลียนแบบพฤติกรรมจากตัวละครเรื่องดัง จนทำให้แม่กระโดดน้ำตายเพราะน้อยใจลูกนั้น ตนไม่อยากเอามาผูกโยงกับละคร แต่มองว่าเด็กอาจจะมีภาวะทางอารมณ์ ด้วยสาเหตุจากที่แม่ดุด่า ส่วนจะโทษว่าเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมละครดังหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากพื้นฐานพฤติกรรมของเด็กว่าเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งอาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงอยู่แล้ว เมื่อชมละครที่มีเนื้อหารุนแรง ก็อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่รุนแรงยิ่งขึ้น หรือหากเด็กมีพฤติกรรมเหมือนเด็กทั่วไป ไม่ก้าวร้าว เมื่อชมละครก็อาจจะอยากเลียนแบบการกระทำของตัวละครได้
ด้านนายสงขลา วิชัยขัทคะ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า กรณีการจัดเรตติงทีวี กำหนดโดยอาศัยประกาศหรือระเบียบหรือกฎเดิมของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่มีสภาพเป็นกฎหมายแล้ว ดังนั้น ขณะนี้จึงใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ปี 2551 ที่ให้อำนาจของ กสทช. แต่เนื่องจาก กสทช.ยังไม่เกิด เมื่อไม่มี กสทช. บทเฉพาะกาลได้ให้อำนาจเลขาธิการสำนักงาน กสทช. ซึ่งมีอำนาจสามารถสั่งระงับการเผยแพร่ได้ รวมถึงให้ยกเลิกได้ ตามมาตรา 37 ของกฎหมายดังกล่าว - สำนักข่าวไทย