มีเดียมอนิเตอร์พบประชาชนสับสนหน่วยควบคุมสื่อ-เรตติ้งล้มเหลว

มีเดียมอนิเตอร์พบประชาชนสับสนหน่วยควบคุมสื่อ-เรตติ้งล้มเหลว

มีเดียมอนิเตอร์พบประชาชนสับสนหน่วยควบคุมสื่อ-เรตติ้งล้มเหลว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีเดียมอนิเตอร์พบละคร “ดอกส้มสีทอง” สะท้อน 3 ปัญหาสังคมไทย ขณะที่ประชาชนสับสนหน่วยงานควบคุมสื่อ เรตติ้งล้มเหลว ผู้จัดใช้บทรุนแรงเรียกคนดู แนะให้ความรู้เท่าสื่อแก่เด็ก หลังสำรวจพบไม่มีการเปิดสอนชั้นประถม-มัธยม ส่วนมหาวิทยาลัยเปิดสอนแค่ร้อยละ 9 

วธ. 10 พ.ค.-นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ มีเดียมอนิเตอร์ เปิดเผยว่า จากการที่ได้ติดตามข่าวสารการร้องเรียนความไม่เหมาะในการนำเสนอเนื้อหาละครเรื่องดอกส้มสีทอง สามารถสะท้อนปัญหาโดยสรุป ดังนี้ 1.สังคมยังขาดความรู้ความเข้าใจอำนาจในการควบคุมดูแลตรวจสอบรายการโทรทัศน์ เช่น การไปร้องเรียนที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) แล้วส่งลูกต่อนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถือเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะปัจจุบันเมื่อเกิด พ.ร.บ. การประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ 2551 ทำให้หน่วยงานรัฐอย่างกรมประชาสัมพันธ์ รัฐมนตรีที่กำกับดูแลสื่อ หรือ วธ.ไม่สามารถไปกำกับดูแลสื่อได้ เพราะหน่วยงานรับผิดชอบคือ กสทช. แต่ระหว่างที่ กสทช.ยังไม่เกิด จึงได้เห็นภาพวัฒนธรรมเดิม ๆ ที่หากจะร้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับสื่อต้องไปร้องที่ วธ. จริง ๆ แล้วถามว่า วธ.ทำได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ แต่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง

นายธาม กล่าวต่อว่า 2.ระบบเรตติ้งประกาศใช้มาตั้งแต่ปลายปี 2549 แต่ยังไม่สมบูรณ์และมีความผิดพลาด มีการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ แต่ไม่มีเส้นแบ่งขั้นเวลากันแน่นอน จึงได้เห็นดอกส้มสีทอง น.18+ ออกอากาศช่วง 20.30 น.หรือละครเกือบทุกช่อง ละครซิทคอม น.13+ น.18+ ออกอากาศช่วงเวลาบ่าย หรือช่วงเวลาเย็น 3.กรณีเนื้อหาความรุนแรงเรื่องเพศ ภาษา ความรุนแรงในละครดอกส้มสีทองถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สะท้อนให้เห็นว่า ผู้จัดละคร ผู้กำกับในปัจจุบันนิยมใช้ฉากเรื่องเพศ ภาษา ความรุนแรงเป็นจุดขาย ดึงเรตติ้งจากผู้ชม ส่วนผู้ชมทำได้แต่นั่งวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเพศ ภาษา ความรุนแรง แต่ยังไปไม่ถึงความรู้เท่าทันสื่อ หมายถึง ไม่สามารถอธิบายไปถึงโครงสร้างละครเรื่องนี้ว่าดี ไม่ดีอย่างไร ที่ไม่ดี อาจเกิดจากจินตนาการเรื่องเพศดูรุนแรงมาก แต่ในส่วนที่ดีไม่ได้พูดถึงกัน เพราะฉะนั้นจึงสะท้อนวุฒิภาวะของผู้ชม ผู้ปกครองยังดูสื่ออย่างผิวเผิน 

“ละครหลังข่าวคือช่วงเวลา 20.30 น.ในบ้านเราส่วนใหญ่จะเป็น น.13+ ส่วน น.18+ มีน้อยมาก จริงๆ แล้ว ละครทั่วไปอย่างน้อยที่สุดควรจะติดเรต น. 13+ ส่วนละครเป็นเรื่อง ๆ ควรจะเป็น น.18+ แต่มักจะติดเรตที่ น.13+ ไว้ บางเรื่องติดเรต ท ด้วย โดยเฉพาะละครซิทคอมบ้านเราก็มีปัญหาเรื่องการพูดมุกตลกที่มีแต่เรื่องอคติทางเพศ ชนชั้น เสื้อผ้าหน้าผม สูงต่ำดำขาว คนไทย คนจีน คนลาว คนอีสาน คนใต้ ซึ่งควรจะติดเรต น 13+ เป็นอย่างน้อย แต่เห็นละครซิทคอมบางเรื่องติดเรต ท ซึ่งเข้าใจว่าเรตติ้งที่ใช้ปัจจุบันเป็นระบบความสมัครใจ เมื่อเป็นความสมัครใจจะใช้ตรงหรือไม่ตรงกับเนื้อหาก็ได้ ไม่มีการกำกับดูแลซึ่งการจัดเรตติ้งละครนั้นขึ้นอยู่กับคน 2 กลุ่ม คือ 1.ผู้จัด ผู้กำกับละครเป็นผู้กำหนดเอง อย่างดอกส้มสีทอง ต้องรู้ว่าละครตัวเองมีเนื้อหา บทพูด การแสดงประมาณนี้ ก็ติดเข้าไป 2.กบว.ช่องเป็นผู้กำหนด แต่ตามความเป็นจริงแล้วการผลิตละครนั้น ผู้จัดจะไม่ส่งเทปมาให้ กบว.ช่องเซ็นเซอร์ กบว.จะเป็นผู้พิจารณาเนื้อหารายการโทรทัศน์เท่านั้น ดังนั้น ส่วนใหญ่ผู้จัดซึ่งเป็นบริษัทเอกชนข้างนอกจะเป็นผู้พิจารณาเรตติ้งเอง จึงจะไปโทษ กบว.ช่องอย่างเดียวไม่ได้ บางครั้งส่งเทปมาให้พิจารณาตอนต่อตอน อาจจะพิจารณาไม่ทัน เป็นปัญหาเรื่องระบบมากกว่า” นายธามกล่าว 

นายธามกล่าวด้วยว่า ขณะนี้เกิดการหลอมรวมสื่อ ผู้ชมสามารถเปิดชมละครจากอินเทอร์เน็ตในช่วงเวลาใดก็ได้ มีเคเบิลทีวีอีกนับ 100 ช่อง ยิ่งทำให้เกิดปัญหา ทางที่ดีที่สุดคือการให้ความรู้เท่าทันสื่อจะเป็นเด็กมีภูมิคุ้มกัน เมื่อจะดูละครเรตใด เวลาใด ก็จะรู้เองว่าวัยยังไม่เหมาะสมที่จะดู แต่ประเทศไทยภาครัฐ องค์กรสื่อสารมวลชน สถาบันการศึกษาไม่มีการรณรงค์ให้ความรู้เท่าทันสื่อแก่เด็ก สังเกตจากวิชารู้เท่าทันสื่อ ไม่มีการเปิดสอนในระดับประถม หรือมัธยมเลย มีแต่ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ส่วนระดับมหาวิทยาลัยจะเปิดสอนในคณะนิเทศศาสตร์บางมหาวิทยาลัย เมื่อเทียบกับจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งหมดมีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่เปิดสอนวิชานี้ ต่างจากสังคมอเมริกามีทั้งเรตติ้ง มีการกำหนดเวลาแน่นอน มีหน่วยงานกำกับดูแลโดยตรง ที่สำคัญประชาชนรู้เท่าทันสื่อ แต่ประเทศไทยไม่มีอะไรเลย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook