เตือน! ระวังโรคปอดบวมหน้าฝน ตายแล้ว 325คน
กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้สูงอายุและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระวังเป็นโรคปอดบวมในช่วงฤดูฝน หากป่วยเป็นไข้หวัดแล้วอาการไม่ดีขึ้น ยังมีไข้สูง ไอ หายใจหอบ ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที ปี 2554 นี้พบผู้ป่วยแล้วกว่า 50,000 คน เสียชีวิต 325 คน
(19 พ.ค.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสภาพที่มีฝนตกชุก ในช่วงนี้ อากาศมีความชื้นสูง อาจทำให้คนที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจได้ง่าย ที่น่าห่วงก็คือโรคปอดบวม ซึ่งโรคนี้เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมด มักพบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ในปี 2553 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคปอดบวม จำนวน 166,459 คน เสียชีวิต 1,114 คน ส่วนในปี 2554 ตั้งแต่ 1 มกราคม - 9 พฤษภาคม 2554 พบผู้ป่วยแล้ว 54,705 คน มากสุดเป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีร้อยละ 40 รองลงมากลุ่มอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 29 และมีผู้เสียชีวิต 325 คน
สำหรับโรคปอดบวมเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อได้หลายชนิด เช่นแบคทีเรียและเชื้อไวรัส โดยปอดบวมที่เกิดจากเชื้อไวรัส มักจะมีสาเหตุมาจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ส่วนปอดบวมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อยคือเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนอี (Streptococcus pneumoniae) และฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae ) ผู้ป่วยจะมีอาการ ไข้สูง ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจหอบ มีเสมหะมาก มักจะเกิดตามหลังโรคไข้หวัด 2-3 วัน ส่วนในเด็กเล็ก ๆ อาจจะมีอาการไอเพียงเล็กน้อย ส่วนมากเด็กมักจะมีอาการตัวร้อนจัด หายใจหอบจนซี่โครงบุ๋ม และมักจะมีประวัติเป็นหวัดหรือไข้หวัดมาก่อน ถ้าเด็กมีอาการตัวเขียวและอ่อนเปลี้ยมาก ควรที่จะพาเด็กไปหาหมอโดยเร็ว หากรักษาช้า หรือได้รับยาไม่ถูกต้อง อาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น หนองในเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบ ฝีในปอด ที่สำคัญการเสียชีวิตส่วนหนึ่งมาจากการได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า การป้องกันไม่ให้ป่วยด้วยโรคปอดบวม ต้องหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้าหลายชั้นให้ร่างกายอบอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีและใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ถ้าเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่คนแออัด หมั่นล้างมือให้สะอาดภายหลังสัมผัสสิ่งของหรือผู้ป่วย โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากร่างกายอ่อนแอ .-สำนักข่าวไทย