Market Outlook – บล.ฟาร์อีสท์

Market Outlook – บล.ฟาร์อีสท์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Market Outlook          Special Report     SET Index ... จะเป็นทวิภาคในเดือน มิ.ย.54 หรือไม่?           เราค่อนข้างพอใจกับการเคลื่อนไหวของ SET Index ในเดือน พ.ค.54 เนื่องจากเป็นไปในทิศทางที่เราคาดการณ์ไว้ในรายงานฉบับก่อนว่า เดือน พ.ค.54 จะเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นไทยเผชิญความผันผวนอีกครั้ง เนื่องจากความต่อเนื่องของการปรับขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี 54 ทำให้ส่วนต่างของดัชนีตลาดหุ้นไทยเทียบกับเป้าหมาย (upside potential) เริ่มลดน้อยถอยลงตามลำดับ นั่นหมายความว่า นักลงทุนบางส่วนเริ่มมองหาเหตุผลต่างๆ ในการขายทำกำไรระยะสั้น (profit taking) ตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นตามปกติ เพียงแต่ว่า ทุกครั้งที่เกิดย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกกังวลใจต่อนักลงทุนเสมอ           ...แต่เรายังไม่เห็นว่า เหตุผลต่างๆ สำหรับการขายทำกำไรเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีนัยทางลบเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงปัจจัยพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจไทยหรือแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทย จนถึงขั้นที่ไม่สามารถเข้าลงทุนได้อีก           ในทางตรงข้าม เรากลับมองว่า การปรับฐานระยะสั้น (การอ่อนตัวลงของดัชนีตลาดหุ้นหรือราคาหุ้น) จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนระยะกลาง-ยาวในการเข้าลงทุนใหม่ (หลังกลุ่มเก่ามีการขายทำกำไรออกมา) เมื่อเทียบกับช่วงที่ดัชนีตลาดหรือราคาหุ้นมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่อง (ซึ่งตามมาด้วยอาการหนักใจของนักลงทุนไม่น้อยที่ว่า ซื้อหุ้นในราคาที่สูงขึ้นตลอดเวลา)           นอกจากนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง 1Q54 และการเติบโตของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนงวด 1Q54 ยังแสดงภาพที่เป็นบวกตามคาดการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำไรสุทธิที่แข็งแกร่งและโดดเด่นของกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก (big cap.) ในตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นไปตามคาด (และบางส่วนยังแข็งแกร่งกว่าคาด) เมื่อเทียบในรูป y-o-y และ/หรือ q-o-q โดยสามารถสรุปประเด็นหลักได้ดังนี้           (1) สภาพัฒน์ฯ รายงานว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ของไทยงวด 1Q54 มีการขยายตัวระดับ 3% y-o-y และ 2% q-o-q สอดคล้องกับคาดการณ์ของตลาด โดยได้แรงหนุนที่แข็งแกร่งจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศ           (2) ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) สำหรับงวด 1Q54 ออกมาแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 207,098 ล้านบาท (+29% y-o-y) ซึ่งตัวเลขกำไรสุทธิดังกล่าวคิดบนฐานของบริษัทที่มีงบการเงินงวด 1Q54 ตามรอบบัญชี ม.ค.-มี.ค.54 เท่านั้น โดยมีกลุ่มพลังงานทำกำไรสุทธิสูงสุดในตลาดถึง 80,900 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 37,987 ล้านบาท           (3) ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI สำหรับงวด 1Q54 ออกมาแข็งแกร่งเช่นกัน โดยมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 1,086 ล้านบาท (+126% y-o-y)             เดือนมิถุนายน 2554 ...เรามองเป็นโอกาสซื้อช่วงต้น ก่อน SET Index จะปรับขึ้นปลายเดือน             จะเห็นได้ว่า เดือน พ.ค.54 SET Index มีการเคลื่อนไหวในทิศทางผันผวนตามคาด ส่วนมุมมองที่เรามีต่อเดือน มิ.ย.54 เห็นว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังอาจมีการเคลื่อนไหวผันผวนได้อีกในช่วงครึ่งแรกของเดือน แต่ในที่เหลือของเดือนคาดว่า ตลาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยมีเป้าหมายที่ระดับ 1,100 จุด (อาจบวกหรือลบจากเป้าหมายอีกเล็กน้อย) โดยเราเห็นว่า ปัจจัยผลักดันที่สำคัญต่อดัชนีในทางบวกจะมาจาก           (1) SET Index ได้แกว่งตัวผันผวนก่อนหน้านี้ (โดยเฉพาะเดือน พ.ค.54) ซึ่งเราเชื่อว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้สร้างฐานที่มั่นคงมากขึ้น ทำให้เป็นไปได้ว่าที่จะเห็นโอกาสการปรับตัวเพิ่มขึ้นในลำดับต่อไป           (2) Election Rally เรามองว่า ประเด็นดังกล่าวจะเป็น catalyst ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จิตวิทยาการลงทุนเชิงบวกที่จะช่วยผลักดันการลงทุนที่มากขึ้น (เมื่อเข้าใกล้วันที่ 3 ก.ค.54) เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.54 ซึ่งอยู่ในช่วงสุญญากาศทางการเมือง (ภายหลังการยุบสภา)           (3) คาดแนวโน้มการปรับพอร์ตการลงทุนของต่างชาติเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น           (4) ปัจจัยลบจากต่างประเทศ ได้แก่ ปัญหาวิกฤติหนี้ยูโรโซน (กรีซ เริ่มปะทุอีกครั้ง ซึ่งอาจตามมาด้วยประเทศเดิมๆ ที่เคยเป็นปัญหาในปี 2553), การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ยังไม่แข็งแกร่งมากนัก และการถดถอยทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วง 2Q-3Q54 …คาดว่าจะเข้ามากดดันการปรับขึ้นเพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่ที่สุดแล้ว จะกลายเป็นปัจจัยที่หนุนต่อการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย (รวมถึงไทย) ในระยะต่อไป เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติคงมองออกว่า ยังหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยและให้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดหุ้นเอเชียได้ยากในสถานการณ์ที่เป็นอยู่             ทั้งนี้ ประเด็นที่สำคัญสำหรับการเลือกตั้งก็คือ นโยบายการบริหารเศรษฐกิจและนโยบายพรรคการเมืองที่เข้าสู่สนามเลือกตั้งว่าจะเป็นที่ต้องการของประชาชนหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้มีการคาดหมายกันโดยทั่วไปว่า จะเป็นการแข่งขันที่สำคัญของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ 2 พรรค (ได้แก่ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์) ในการเข้ามาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง โดยมีพรรคการเมืองขนาดกลางถึงเล็กเป็นตัวแปรว่าจะโน้มเอียงไปทางใด ซึ่งในมุมมองของเราเห็นว่า นโยบายทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญประการหนึ่งที่มีผลต่อการพิจารณาเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในพรรคการเมืองที่ลงสนาม เนื่องจากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (สรุปอย่างง่ายๆ ก็คือ เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ) ทำให้รู้สึกว่า ได้รับผลกระทบต่อการครองชีพที่มากขึ้น อีกทั้งเป็นไปได้ว่า ประชาชนกำลังมองหาพรรคการเมืองที่เสนอแนวทางปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่พิจารณาอยู่ในใจ             กลยุทธ์การลงทุน           เรายังคงเชื่อมั่นต่อความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ซึ่งเป็นบวกต่อความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการอ่อนตัวของเศรษฐกิจไทยในงวด 2Q54 เมื่อเทียบกับ 1Q54 โดยมีเหตุผลสำคัญจาก (1) ผลกระทบตามฤดูกาล (เนื่องจากไตรมาส 2 มักเป็นช่วงที่มีวันหยุดมากกว่าปกติของปี ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางลดลง q-o-q) (2) ผลกระทบบางส่วนจากการลดลงของภาคการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ สืบเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่และสึนามิในญี่ปุ่น แต่เราเห็นว่าเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น           ดังนั้น มุมมองของเราต่อตลาดหุ้นไทยระยะ 3 เดือนข้างหน้ายังเป็นบวก โดยคาดว่าอานิสงส์จากการเลือกตั้งใหม่จะช่วยหนุนจิตวิทยาการลงทุนที่ดีในตลาดหุ้นไทยต่อไป นอกเหนือจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่คาดว่ายังคงเติบโตดีและมีเสถียรภาพ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อยังสูงอยู่ก็ตาม แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้พยายามสกัดปัญหาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.00% ในขณะนี้           เรายังคงเป้าหมาย SET Index ที่ระดับ 1,200 จุดเช่นเดิม ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในเดือน มิ.ย.54 เราแนะนำให้นักลงทุนระยะกลาง-ยาวทยอยซื้อ (สะสม) หุ้นปัจจัยพื้นฐานดีในช่วงตลาดปรับฐานของเดือนนี้ แต่ต้องยอมรับว่า ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยยังมีอยู่ในช่วงสั้น ดังนั้น การขายทำไรบางส่วน (ไม่เกิน 30% ในพอร์ต) ในช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมากยังเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อเข้าซื้อใหม่ในช่วงการปรับฐานระยะสั้นของดัชนี           สำหรับนักเก็งกำไร ยังเน้นให้ยึดกรอบการเคลื่อนไหวเป็นรายวันเป็นหลักต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการแบกรับความเสี่ยงและเงินลงทุนของนักลงทุนในกลุ่มนี้           เราคงยังให้น้ำหนักการลงทุนไปที่หุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูง (big cap.) ... ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากลำบากสำหรับนักเก็งกำไรในการลงทุนช่วงตลาดปรับฐาน ทั้งนี้ เรายังคงให้น้ำหนักในหุ้นปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง, แนวโน้มกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องในปี 2554, มีเงินปันผลตอบแทน (dividend yield) สม่ำเสมอ โดยให้ลงทุนกลุ่มพลังงาน, ปิโตรเคมีและโรงกลั่น (PTTEP, PTT, BANPU, TOP, PTTCH, IVL, AGE, LANNA และ BCP), ธนาคารพาณิชย์ (KBANK, SCB, BAY และ KTB), กลุ่มอาหาร (CPF, TUF และ KSL), กลุ่มพาณิชย์ (CPALL และ ROBINS), กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (SCC)             *รายงานฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ Stock Review ประจำเดือนมิถุนายน   2554             Analyst : Parin kitchatornpitak           parin.k@fes.co.th           02-648-1120             โดย บล.ฟาร์อีสท์ จำกัด ประจำวันที่ 3 มิ.ย. 2554

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook